ชยพล ทองสวัสดิ์

ความทรงจำสร้างกลิ่นของบ้าน และกลิ่นของบ้านก็คือกลิ่นของเรา

คุณเคยได้กลิ่นของบ้านไหม

1

       ทุกครั้งที่ผมได้กลับบ้าน สิ่งแรกที่ผมรู้สึกและสัมผัสได้เสมอหลังไขกุญแจเปิดประตูเข้าไปก็คือ กลิ่นของบ้าน

       กลิ่นอันคุ้นเคย กลิ่นที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วัยเด็ก       

       เมื่อมีกลิ่น ผมถึงสัมผัสได้ว่าบ้านมีชีวิต

       และเพราะผมเติบโตมากับกลิ่นที่ว่า นั่นจึงกลายเป็นกลิ่นของผมไปโดยปริยาย

       คุณคงคิดว่าผมบ้า หากได้รับรู้ว่าเมื่อสองปีก่อน เช้าสุดท้ายที่ผมอยู่บ้านก่อนจะย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ผมเดินไปล่ำลาต้นไม้ ดอกไม้ ที่ปลูกในสนามหญ้าของบ้านทุกต้น และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะลาบ้าน เตียงนอน ตู้หนังสือ สิ่งของต่างๆ ที่ผูกพันในบ้าน เพราะผมเชื่อว่ามันรับรู้ได้

       แม้กระทั่งหลังจากมาทำงานกรุงเทพฯ แล้ว ทุกครั้งที่ได้กลับบ้านที่เชียงใหม่ แรกสุด ผมต้องเดินป่ายแปะกำแพงบ้าน ต้นไม้ สิ่งของต่างๆ และเอ่ยทักพวกเขาเสมอว่า เป็นไงบ้าง กลับมาแล้ว 

       ผมว่าทักษะนี้ของผม เผลอๆ จะเหนือชั้นกว่า นายตำรวจหมายเลข 663จากภาพยนตร์เรื่อง Chungking Express ก็เป็นได้

       ‘นายตำรวจหมายเลข 663ที่รับบทโดยเหลียงเฉาเหว่ย มักสูบบุหรี่พลางพูดคุยกับสิ่งของ ตุ๊กตา ที่เขามีความทรงจำร่วมกับแฟนสาวแอร์โฮสเตสที่เลิกรากันไป ทิ้งให้เขาต้องอยู่ในห้องโทรมๆ ที่ติดกับ Central Mid-Levels Escalator บันไดเลื่อนที่ยาวที่สุดในโลกของฮ่องกงตามลำพัง

       ผมไม่ได้คุยกับแค่สิ่งของ แต่ผมคุยกับบ้านได้

       ผมคงไม่อาจรู้ได้ว่า บ้านมีความหมายกับคนอื่นๆ อย่างไร บางคนอาจเห็นเป็นเพียงที่ซุกหัวนอน บางคนอาจเห็นเป็นสถานที่แห่งหนึ่งสำหรับกลับไปพักผ่อน หรือกระทั่งบางคน มันอาจเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องการเฉียดกรายไปอีก

       แต่สำหรับผม บ้านคือความทรงจำ บ้านคือชีวิต บ้านก็คือผม

       ผมอยู่บ้านหลังเดิมที่เชียงใหม่มาตั้งแต่เกิด เติบโตมากับครอบครัวที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่เดิมในวัยเด็ก ที่บ้านจะมี แม่ น้าสาว ป้า พี่ชาย ผม ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง และแม่บ้านหนึ่งคนเสมอ ความทรงจำทั้งหลายในวันวัยนั้นล้วนบรรจุอยู่ในสมองของผม สิ่งของต่างๆ เรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ที่บ้าน และในรูปแบบของภาพถ่ายกล้องฟิล์ม หนังสืออัลบั้มภาพไม่รู้กี่เล่มต่อกี่เล่มทำให้ผมเชื่อมโยงกับความทรงจำเหล่านั้นได้ชัดขึ้น 

       รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำตา ของผู้คนในครอบครัวที่ยังดูอายุไม่มาก รวมถึงผมในวัยเด็ก ถูกบันทึกไว้ในภาพเหล่านั้น แน่นอน รวมถึงบ้านของผมในแต่ละมุม ที่เป็นฉากหลังในภาพแต่ละใบ

       เมื่อกาลเวลาผ่าน แต่ละคนในบ้านค่อยๆ ย้ายออกไปตามหน้าที่การงาน และครอบครัว

       เริ่มจากป้าของผมที่แต่งงานและย้ายไปอยู่อำเภอหางดง ลูกพี่ลูกน้องผมที่โตขึ้นและย้ายออกไปสร้างครอบครัว แม่บ้านที่ผลัดเปลี่ยนไปหลายคน พี่ชายที่ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ น้าสาวที่ไปอยู่ดูแลคุณตาและคุณยายที่บ้านที่หางดง (บ้านของป้า และบ้านของคุณตาคุณยายซึ่งสร้างใหม่ อยู่ในบริเวณเดียวกัน) ก่อนจะถึงคิวผมที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ

       บ้านจึงเหลือแค่คุณแม่ แต่ตามปกติแม่ก็จะหอบข้าวของขึ้นไปนอนบ้านคุณตาคุณยาย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 45 นาที เป็นประจำ ความโชคดีคือระหว่างที่ทำงานของแม่กับเส้นทางขึ้นไปบ้านคุณตาคุณยายนั้น มีเส้นทางที่สามารถใช้ลัดไปหากันได้รวดเร็วกว่าจากบ้านในเมือง ฉะนั้น บ้านที่หางดงถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางป่าเขา แต่ก็คึกคักไปด้วยกลุ่มแม่ๆ ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

       บ้านในตัวเมืองของผมจึงไม่มีใครอาศัยอยู่ นอกจากแม่บ้านที่แวะเข้ามาทำความสะอาดอาทิตย์ละสองครั้ง และแม่ที่นานๆ จะกลับมานอนที่บ้าน

       แต่ถึงกระนั้น กลิ่นของบ้านยามผมได้กลับไปเยือนก็ไม่เคยเปลี่ยน ถึงแม้วันนี้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปก็ตาม

 

2

       ตั้งแต่เกิดมาจนจำความได้ ไม่เคยมีปีไหนที่ผมไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวในช่วงวันสงกรานต์ 

       ตั้งแต่เกิดมาจนจำความได้ ไม่มีปีไหนที่สงกรานต์เชียงใหม่จะไม่แน่นขนัดไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศที่มาสาดน้ำ

       ยกเว้นปีนี้

       ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กของผมมีคนแชร์ภาพบรรยากาศในเมืองของเชียงใหม่บริเวณแถวคูเมือง หากเป็นปีก่อนๆ มันจะแน่นขนัดไปด้วยรถราที่แทบไม่ขยับเขยื้อน ผู้คนที่เดินเบียดเสียดสาดน้ำกัน ทั้งบนท้องถนน ริมถนนตามร้านรวงต่างๆ กระทั่งในน้ำคูเมือง แต่ภาพของปีนี้คือทุกอย่างเงียบเหงา ถนนโล่ง มีรถนับคันได้ที่วิ่งอยู่รอบคูเมือง เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของเชียงใหม่

       สมัยเด็ก ผมชอบเล่นสงกรานต์มาก ผมกับพี่ๆ น้องๆ จะนั่งรถกระบะที่แม่หรือน้าเป็นคนขับ เข้าสมรภูมิคูเมือง สาดน้ำกันดุเดือด จนเย็นย่ำถึงจะกลับบ้าน โตเป็นวัยรุ่นขึ้นมาหน่อยก็ออกตะลุยรอบคูเมืองกับเพื่อนๆ โดยการเดินเท้าเล่นน้ำรอบคูเมือง หรือไม่ก็แวะไปกระโดดกับคอนเสิร์ตหน้าห้างกาดสวนแก้ว

       จำไม่ได้แล้วว่าเลิกเล่นสงกรานต์ในคูเมืองตั้งแต่ตอนไหน แต่พักหลังผมมักใช้เวลาช่วงสงกรานต์ในการนอนเล่นสบายๆ อยู่บ้านเสียมากกว่า ตกเย็นก็ค่อยไปนั่งกินเบียร์กับเพื่อน และพอถึงวันครอบครัว พวกเราก็จะขับรถออกนอกเมืองไปหาคุณตาคุณยายเพื่อดำหัวกันทั้งครอบครัว

       อีกสิ่งที่ต้องทำเสมอทุกปีตอนอยู่เชียงใหม่คือ ช่วงสงกรานต์แม่จะเอาน้ำสะอาดใส่ถังน้ำ ผสมขมิ้น ส้มป่อย แล้วก็ใส่น้ำอบ เพื่อให้ผมกับพี่ตักอาบขันแรก โดยตักขึ้นมา อธิษฐาน และก็ราดลงมาตั้งแต่หัว เพราะเป็นการชำระล้างโรคภัยไข้เจ็บออกจากร่างกายตามความเชื่อของคนล้านนา ก่อนจะตามด้วยการอาบน้ำตามปกติ

 

3

       ปีนี้หลังจากที่รอคอยการจะได้กลับบ้านไปพบหน้ากับทุกคน ไปพบบรรยากาศที่เคยคุ้น ทุกอย่างก็ต้องสลายไป เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น

       ในวันที่ผมควรได้อยู่ใต้ชายคาบ้าน และล้อมรอบไปด้วยผู้คนอันเป็นที่รักเหมือนเช่นทุกปี ผมกลับต้องนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ กลางเมืองหลวงคนเดียว

       ไม่มีสงกรานต์ ไม่มีครอบครัว ไม่มีใคร 

       สิ่งหนึ่งที่ผมได้ครุ่นคิดทบทวนกับตัวเองก็คือ ในช่วงหนึ่งที่ผมเรียกร้องบอกตัวเองว่าต้องการออกจากบ้านเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อพบสิ่งใหม่ๆ คนใหม่ๆ ที่อยู่ใหม่ๆ เมื่อวันเวลาผ่านไป ผมกลับคิดถึงบ้านเหลือเกิน และอาจไม่ใช่แค่บ้าน ผมคิดถึงผู้คนที่เชียงใหม่ บรรยากาศที่เชียงใหม่ อาคารบ้านช่อง และ ‘กลิ่น’ ของเชียงใหม่ – ใช่ มันก็คือ ‘กลิ่น’ ของผมเช่นเดียวกัน

       คุณคงคิดว่าผมบ้า หากผมบอกคุณว่า ‘กลิ่น’ ที่เชียงใหม่ และ ‘กลิ่น’ ที่กรุงเทพฯ แตกต่างกัน

       ‘กลิ่น’ ที่ห้องในกรุงเทพฯ ของผม กับ ‘กลิ่น’ ที่บ้านก็ต่างกัน

       โชคดีที่ยุคนี้มีเทคโนโลยีที่ทำให้เราติดต่อกันได้แม้อยู่ไกลกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่เหงาจนเกินไป ถึงแม้ว่าภาพที่พร่าเลือนในโทรศัพท์จะเทียบไม่ได้กับการเจอหน้ากันจริงๆ เทียบไม่ได้กับการได้อยู่ร่วมชายคาที่เรียกว่าบ้านจริงๆ และที่สำคัญคือมันไม่มี ‘กลิ่น’ ที่คุ้นเคย ก็ตาม

       แต่อย่างน้อยที่สุด มันยังมีความทรงจำ

       ความทรงจำของบ้าน ความทรงจำของครอบครัว ความทรงจำของเชียงใหม่

       ผมเคยถามตัวเองเล่นๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผม

       คำตอบที่ผมตอบตัวเองเสมอก็คือ ‘ความทรงจำ’