คำ ผกา

คำ ผกา: ‘สงกรานต์’ เป็นหน้าที่ที่ต้องสนุกให้สุดเหวี่ยง!

จะให้ฉันเล่าเรื่องวันสงกรานต์เหรอ? โอ๊ย มีเป็นร้อยๆ เรื่องที่จะเล่า บ้านของฉันที่เชียงใหม่ โดยเฉพาะในสมัยที่ตากับยายยังมีชีวิตอยู่นั้น สงกรานต์ถือเป็น big deal จริงๆ 

       สงกรานต์คืออะไร? สงกรานต์ถือการเถลิงศกใหม่ คือการขึ้นปีใหม่ สิ่งแรกที่เราจะต้องมีคือปฏิทินสงกรานต์ที่เป็นกระดาษโรเนียวขนาด A5 จะเริ่มพิมพ์ออกมาขายตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม การขายนั้นก็จะมีคนเดินถือออกมาเป็นปึกๆ ขายตามตลาด ท่ารถ แผ่นละ 1 บาท เนื้อหาปฏิทินปีใหม่กอปรไปด้วยชื่อเทพีสงกรานต์และฤกษ์ยามต่างๆ ของปีนั้น การทำนายฟ้าฝน โชคชะตา 

       ฉันจำได้แม่นเพราะยายจริงจังกับเนื้อหาในปฏิทินมาก ต้องเอามานั่งอ่านออกเสียงกันดังๆ แล้วอภิปรายถึงเรื่องราวต่างๆ ตามคำทำนาย และการเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

       นอกจากอ่านปฏิทิน เรายังต้องมีการทำความสะอาดบ้านขนานใหญ่ ขัดล้างทุกสิ่งอย่างให้เงางาม หมดจด ตั้งแต่รั้วบ้าน บันได ไปจนถึงตู้กับข้าว ที่นอน หมอน มุ้ง เอาออกมาซักให้หมด เคลียร์ตู้เสื้อผ้า เคลียร์ของในบ้าน อะไรที่ควรทิ้งก็ทิ้ง บางทีเราก็ทาสีบ้านใหม่ด้วย

       จบจากงานทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เป็นเรื่องการเตรียมอาหารเพื่อทำบุญ บ้านฉันทำโรงสีและเขียงหมู ซึ่งช่วงสงกรานต์อันเราเรียกว่าปีใหม่นั้นจะหยุดยาว ดังนั้น จึงต้องมีแผนว่าจะฆ่าหมูวันสุดท้ายก่อนหยุดยาวเมื่อไหร่ ต้องฆ่ากี่ตัว ระหว่างนี้ก็จะมีออร์เดอร์เนื้อหมูมาล่วงหน้าเยอะมาก เพราะอาหารงานบุญที่ทุกบ้านต้องทำคือแกงฮังเล จากที่เคยฆ่าหมูวันละ 2 ตัว ช่วงใกล้สงกรานต์ต้องฆ่าวันละ 3-4 ตัว งานทางโรงสีก็แทบไม่ได้พัก เพราะคนต้องนำข้าวเปลือกมาสีเก็บไว้ก่อนที่จะหยุด

       ก่อนสงกรานต์ บรรยากาศของบ้านจะคึกคัก เปี่ยมพลังอย่างที่สุด เหมือนเป็นช่วงที่ทุกคนทำงานหนักมากเป็นพิเศษ แต่ก็สนุกเป็นพิเศษ อารมณ์ดีเป็นพิเศษ เพราะในช่วงสงกรานต์ เราทุกคนจะเข้าใจตรงกันว่า มันช่วงเวลาที่เราจะอนุญาตให้ทุกคนมีความสุข อะไรที่เคยห้ามก็จะไม่ห้าม อะไรที่เคยเคร่งครัดก็จะหย่อนยานอนุโลมให้เป็นกรณีพิเศษ ที่สำคัญ ในช่วงสงกรานต์ นอกจากจะไม่มีการทำงานใดๆ แล้ว ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการงดด่าทอ จะไม่มีการอารมณ์เสีย หงุดหงิด

       ในความทรงจำของฉัน สงกรานต์คือห้วงเวลาที่เราได้รับอนุญาตให้มีความสุขมากเป็นพิเศษ มากกว่าปกติ เช่น ยายซึ่งปกติจะดุมาก และบังคับให้ฉันต้องทำงานตลอดเวลา แต่พอย่างเข้าเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เป็นต้นไป ยายจะเป็นคนบอกให้ฉันออกไปเล่นน้ำ ไม่ได้ให้ออกไปเฉยๆ แต่เกือบจะบังคับ สงกรานต์คือต้องเอาถังกาละมังไปไว้หน้าบ้าน ถ้ามีใครเดินผ่านต้องถูกเราสาดน้ำ และการที่ไม่ออกไปเอาน้ำสาดใครเลยนั้นดูจะเป็นความผิดด้วยซ้ำ 

       ต้องไป ต้องออก ต้องสาด ตัวต้องเปียก

       ใกล้ๆ สงกรานต์จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการช้อปปิ้งพร็อพสำหรับสาดน้ำด้วย เช่น กระป๋องกระแป๋งพลาสติก ขันน้ำพลาสติกสารพัดสี 

       สิ่งที่เราต้องทำช่วงสงกรานต์คือเล่นน้ำ สาดน้ำให้สนุกที่สุดเท่าที่จะสนุกได้

       วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสังขารล่อง คือวันส่งท้ายปีเก่า ยายจะตื่นมาจุดประทัดไล่ปีเก่าอย่างครึกโครม จริงจัง วันนี้เราจะชำระล้าง ไหว้ผีสางเทวดาในบ้าน รวมทั้งผีประจำอุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากินทั้งหมด ตั้งแต่ลานฆ่าหมู โรงสี มีดเชือดหมู ฯลฯ  

       วันที่ 14 เมษายน เป็น ‘วันเน่า’ วันนี้ห้ามพูดอะไรที่ไม่ดี เป็นวันทำอาหาร ทำแกงฮังเล ห่อขนมจ็อก หรือขนมเทียน  

       วันที่ 15 เป็นวันพญาวัน ต้องแต่งตัวด้วยชุดใหม่ที่สวยที่สุดไปวัด เอาอาหารไปถวายให้สมาชิกในบ้านที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นวันเที่ยว

       อีกนั่นแหละ ที่ยายก็ต้องซีเรียสว่าวันนี้เป็นวันเที่ยวนะ ห้ามอยู่บ้าน ทุกคนต้องเที่ยว ทุกคนต้องมีความสุข ซึ่งบ้านของฉันจะเอารถกระบะ เอาถังน้ำมันสองร้อยลิตรขึ้นรถ ใส่น้ำจนเต็ม แล้วขนเด็กๆ ขึ้นรถเพื่อไปเที่ยวเล่นน้ำ โดยมากจะไปตามน้ำตกต่างๆ ผู้ใหญ่ห่อข้าวเตรียมไปปิกนิก เด็กๆ ก็สนุกตั้งแต่ขึ้นรถแล้ว เพราะจะได้เล่นสาดน้ำอย่างบ้าคลั่งไปตลอดทาง

       ผู้ใหญ่อีกส่วนหนึ่งก็จะเปิดไหเหล้าที่หมักและต้มไว้ (กะว่าเปิดตอนสงกรานต์พอดี) จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตากินเหล้ากันไป ช่วงสงกรานต์เราจะเห็นคนเมาเหล้านอนอยู่ข้างถนนบ้าง ไปสลบตามบ้านชาวบ้านชาวช่องบ้างเยอะแยะไปหมด แต่ทุกคนก็จะรู้สึกว่าสงกรานต์ก็ต้องเป็นแบบนี้ จะไม่มีการตำหนิด่าทอใดๆ

       วันที่ 16 เป็นวันปากปี คือการเคลื่อนเข้าสู่ศกใหม่แล้วจริงๆ อย่างเป็นทางการ ความสนุกสนานบ้าคลั่งต่างๆ จะจบลงโดยละม่อม ไม่มีการสาดน้ำ กินเหล้า เหมือนเป็นช่วงเวลาให้พักฟื้นและเตรียมใจว่า เออ ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงจะกลับมาแล้วนะ หมดเวลาสนุกอย่างไร้ขีดจำกัดแล้วนะ 

       ฉันชอบวันที่ 16 มากที่สุด มันเหมือนเป็นวันแห่งความสุข สงบ เงียบ สะอาด ไม่มีใครเคร่งเครียดรีบร้อนจากมหกรรมการทำแกงฮังเลห้ากิโล ทำขนมจ็อกเป็นร้อยๆ ห่อ เราแทบไม่ทำอาหารเช้าหรือเที่ยง แค่เอาอาหารเหลือๆ มาทำแกงโฮะ แล้วตลอดวันนั้นทุกกิจกรรมจะดำเนินไปอย่างช้าและสงบมาก บ่ายๆ เราจะออกไปหาขนุนอ่อน บ้านเราไม่มีก็ไปหาจากบ้านคนอื่น เพราะวันนี้ในมื้อเย็นเราต้องทำแกงขนุน เชื่อว่าขึ้นศกใหม่ กินขนุนแล้วจะได้รับการอุดหนุนส่งเสริมไปตลอด

       สำหรับฉัน แกงขนุนเหมือนเป็นเครื่องหมายแห่งการออกจากการเฉลิมฉลองทั้งปวงไปสู่ความสามัญธรรมดาของชีวิตจริง จากแกงฮังเลอันร่ำรวย ไปสู่แกงพื้นเมืองพื้นๆ ที่เรากินในชีวิตประจำวัน เป็นการเคลื่อนตัวเข้าสู่โหมดชีวิตจริงอย่างกลมกล่อม ไม่ต้องตื่นมาร้องไห้ว่า โอ๊ย ต้องกลับไปทำงานแล้ว

       เย็นวันที่ 16 ที่เมาก็ต้องหายเมา ที่แฮงก์ต้องหายแฮงก์ พักฟื้นตัวเอง รวบรวมเรี่ยวแรงไว้ต่อสู้กับความเป็นจริงและชะตากรรม รอความสุขไร้ขีดจำกัดรอบใหม่ในปีหน้า 

       การมาถึงของสงกรานต์อีกรอบจึงเป็นสิ่งพิเศษยิ่งนัก

       ที่แน่ๆ สงกรานต์ หรือปีใหม่ของบ้านฉัน ไม่มีเรื่องการรดน้ำรวยรินในอุ้งมือคนแก่ ไม่มีเรื่องวันครอบครัว ไม่มีเรื่องวันผู้สูงอายุอะไร

       มีแต่ความสนุก และหน้าที่ที่จะต้องสนุกให้สุดเหวี่ยงที่สุดเท่าที่จะสนุกได้