ในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงคริสต์มาส ตรุษจีน หรือสงกรานต์ของไทย สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตเห็นได้เลยก็คือการเดินทาง ‘กลับบ้าน’ ซึ่งอันที่จริงแล้ว การเดินทางกลับบ้านไม่ได้อยู่ในช่วงแรกที่เทศกาลเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมา เนื่องจากวันหยุดยาวส่วนมาก เกิดจากการเฉลิมฉลองเนื่องในเหตุการณ์ทางศาสนาหรือในแต่ละวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลเกิดจากการโยกย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ หรือการสร้างสังคมเมืองที่เรียกว่า ‘Urbanization’ อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่สร้าง ‘แรงงาน’ ขึ้นมา
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นการสร้างวัฒนธรรมร่วมครั้งใหญ่ให้กับมนุษย์ หรือการเกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘Mass’ ไม่ว่าจะเป็น ‘Mass Transit’, ‘Mass Media’ หรือ ‘Mass Consumption’ ต่างๆ ความหมายของการเติมคำว่า Mass เข้าไป ก็คือการสร้าง ‘Common’ หรือการมีอะไรร่วมกัน เพื่อที่เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนจำนวนมากๆ ได้ในครั้งเดียว
ทำเพลงเพลงเดียวแล้วสร้างความสุขให้คนได้หลักแสนหลักล้านคน ทำรถไฟฟ้าสายเดียวเพื่อทำให้คนเดินทางได้หลักแสนหลักล้านคน สิ่งเหล่านี้ตอบสนองต่อการเกิด Urbanization เนื่องจากผู้คนต่างเป้าหมาย ต่างวัฒนธรรม ย่อมมีความต้องการที่ต่างกัน การที่เราสามารถตอบสนองความต้องการ กินอิ่ม นอนหลับ มีความสุข ถ้าคิดแบบทุนนิยมก็คือทำให้พวกเขาทำงานได้เยอะขึ้น จากเทศกาลวันหยุดที่เป็นเพียงแค่การเฉลิมฉลองกันในท้องถิ่น ก็กลายเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนจากสังคมเมืองได้เดินทางกลับต่างจังหวัดในที่สุด
ในเมื่อการเกิด Urbanization ทำให้เกิดผลกระทบในหลายๆ มุมทั้งต่อชีวิตและต่อสิ่งแวดล้อม การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้การเดินทางช่วงเทศกาลลดลง แล้วคุณภาพอากาศก็ดีขึ้นมาจนเห็นได้ชัดจากดาวเทียม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเดินทางของมนุษย์นั้นสร้างรอยเท้าไว้บนโลกใบนี้อย่างเห็นได้ชัด
ถามว่ารอยเท้านั้นชัดแค่ไหน เคยมีงานวิจัยที่ศึกษา ‘Holiday Effect’ หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเดินทางในช่วงเทศกาลในไต้หวัน ในชื่อ Impact of Urbanization on the Air Pollution ‘Holiday Effect’ in Taiwan พบว่ายิ่งอัตราของ Urbanization มากแค่ไหน Holiday Effect ก็จะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้น
คำถามหลักของเราก็คือ พฤติกรรมการเดินทางกลับบ้านเหล่านี้ถ้ามันถูกทำให้ชัดเจนขึ้นจากการเข้ามาของการเกิด Urbanization และยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สภาพสังคมในอนาคต และการแทนที่แรงงานของ AI และ Robot จะช่วยลดการเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาล หรือทำให้คนสามารถทำงานจากถิ่นฐานของตัวเองได้หรือเปล่า?
แล้วพฤติกรรมเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามโลกที่เปลี่ยนไปหรือเปล่า
ในอนาคต เรากำลังพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ตามไอเดียของหนังสือเรื่อง The Fourth Industrial Revolution ของ คลอส ชวับ หรือการเปลี่ยนนิยามของแรงงานให้อยู่ในอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมากกว่าแค่การทำงานในสายการผลิต หรืองานที่สามารถถูกแทนที่ด้วย AI หรือหุ่นยนต์ได้
พอเป็นเช่นนี้ นิยามของ Urbanization ก็จะเปลี่ยนไป จากการที่เรานำคนเข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อทำงานในโรงงาน กลายเป็นการนำคนเข้ามาอยู่ร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์
นั่นหมายความว่า เป็นไปได้หรือเปล่าที่คนเราจะมีอิสระในการ ‘เลือก’ ที่อยู่มากขึ้น ลองนึกภาพว่าเราอยู่ในโลกที่ผู้คนพร้อมสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แล้วการเดินทางมีความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง เครื่องบินที่ลดอัตราการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีอย่างไฮเปอร์ลูปที่ทำให้การเดินทางนั้นง่ายและสะดวกมากขึ้น การเลือกถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ก็จะสามารถห่างจากศูนย์กลางของการทำงานได้มากขึ้น
การเดินทางและคุณภาพชีวิตในเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวง
ในความเป็นจริง สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเราลองดูผังเมืองในเมืองที่เกิดขึ้นก่อนการมีรถยนต์หรือการเดินทางที่สะดวกสบาย เราจะพบว่าบริเวณที่อยู่อาศัยจะอยู่ใจกลางเมืองใกล้กับจุดธุรกิจสำคัญ ตัวอย่างเช่น เมืองในยุโรป ซึ่งชนชั้นสูงจะมีบ้านอยู่ในเมือง เพราะเดินทางไปทำงานได้สะดวกกว่า ในขณะที่เมืองในสหรัฐฯ ซึ่งเป็น Urbanization แบบใหม่ ชนชั้นสูงหรือคนร่ำรวยจะมีบ้านอยู่บริเวณขอบนอกของเมือง หรือ ‘Suburb’ เพราะสามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ ปัจจัยการพัฒนาคุณภาพชีวิตในเมืองให้สำคัญเท่ากันทั้งประเทศจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
เป็นไปได้หรือไม่ที่บางครั้งมนุษย์จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในเมือง โดยไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงาน แต่เป็นเพราะความสะดวกสบายและการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้นแล้ว หากเราต้องการจะสร้างการเกิด Urbanization แบบใหม่ การยกระดับคุณภาพชีวิตของเมือง เพื่อให้คนสามารถทำงานจากถิ่นฐานของตนได้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
ธุรกิจที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงและธุรกิจท้องถิ่น
ความแข็งแรงของธุรกิจท้องถิ่น จะสามารถช่วยให้คนไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองหรือเปล่า?
ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะการปกครองของรัฐก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างโครงวิธีการคิดให้ในแต่ละเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงเกิดธุรกิจของตัวเอง ซึ่งถ้าเราแก้ปัญหาเชิง Mass (ที่ต้องการคนมาทำงานกับเครื่องจักร สร้างการผลิตในระดับ Mass Production) แต่มีระบบอัตโนมัติที่สามารถสร้างธุรกิจการผลิต หรืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้เมืองขนาดเล็กมีศักยภาพในการผลิตที่ไม่แพ้เมืองใหญ่ ก็อาจจะช่วยลดการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ลง
ดังนั้น ที่เราลองหยิบยกมาพูดดู อาจจะมองได้เป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ ‘ทำอย่างไรให้คนไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงาน’ และ ‘การย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงานจำเป็นแค่ไหน’
แต่การที่คนไม่เดินทางกลับบ้าน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เดินทางเพื่อท่องเที่ยวหรือธุรกิจ เพราะแท้จริงแล้วการเดินทางเพื่อกลับบ้านในช่วงเทศกาลเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เหตุผลการเดินทางของมนุษย์ เป็นไปได้ว่าหากมนุษย์ไม่ได้เดินทางกลับบ้านหรือถิ่นฐาน แต่มนุษย์ก็ยังคงเดินทางเพื่อท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจอยู่ดี
ถ้าปัญหาจริงๆ ของเราคือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเราต้องการลดการเดินทางช่วงเทศกาลด้วยการวางรากฐานการทำงานให้กับมนุษย์ใหม่ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดอยู่ดี แต่จะช่วยในมุมอื่นๆ เช่น ลดการเกิดอุบัติเหตุ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องรอดู
สรุปแล้ว อนาคตของการกลับบ้านช่วงเทศกาลจะเป็นแบบไหน
เราอาจจะตอบไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้ว ‘การเกิด Industrial Revolution 4.0’ จะส่งผลในเชิงพฤติกรรมเกี่ยวกับเทศกาลของมนุษย์แบบไหน แต่เราก็มีปัจจัยที่น่าตั้งคำถามและคิดต่อ ตั้งแต่เรื่องของอิสระในการเลือกถิ่นฐานการทำงาน, การลดลงของแรงงานในสายการผลิต, การคมนาคมเดินทางที่สะดวกขึ้น รวมไปถึงการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวง
สุดท้าย ถ้าหากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคก่อนได้สร้างวัฒนธรรมและการเกิด Urbanization เราก็เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ก็น่าจะสร้างวัฒนธรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นด้วยเช่นกัน