ในบรรยากาศร้อนระอุของโลกออนไลน์ต่อข่าวสารต่างๆ ทั้งเหตุบ้านการเมือง และ Covid-19 ที่ทำเอาโลกออฟไลน์ซบเซา ธุรกิจ การท่องเที่ยว กิจกรรมต่างๆ พากันหยุดชะงัก รวมทั้งงานหนังสือแห่งชาติฯ ปีนี้ก็เช่นกัน ที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าต้องยกเลิกการจัดงานและย้ายฐานไปอยู่ออนไลน์แทน
แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัย และทุกฝ่ายต่างเข้าใจเหตุผลที่ต้องยกเลิกการจัดงานหนังสือในครั้งนี้ แต่ก็ยังมีผู้รักหนังสือจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่างานหนังสือเป็นมากกว่าการซื้อ-ขายที่การย้ายไปออนไลน์ทำแทนไม่ได้ และท่ามกลางความวิตกกังวล ยังมีเหตุผลที่ผู้คนควรออกมาเจอกัน
ด้วยเหตุนี้นั้น ‘SUMMER BOOK FEST: เทศกาลหนังสือฤดูร้อน’ จึงถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อให้นักอ่าน นักเขียน ได้ละทิ้งความโดดเดี่ยวชั่วคราวแล้วออกจากบ้านมาพบปะสังสรรค์ สร้างบรรยากาศใหม่ๆ ให้เมืองได้มีชีวิตชีวา ให้สมกับความสดใสในหน้าร้อน
aday BULLETIN ชวน ‘แป๊ด’ – ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้านหนังสือก็องดิด (Candide Books) และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด หนึ่งในร้านที่จะมาร่วมออกงาน ‘เทศกาลหนังสือฤดูร้อน’ พูดคุยถึงที่มาที่ไปของการรวมพลคนรักหนังสือที่จัดเทศกาลนี้ขึ้นมา และบทบาทของงานหนังสือที่ออนไลน์ทำแทนไม่ได้
ความรู้สึกเมื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ถูกยกเลิก
คราวที่แล้วที่งานหนังสือฯ ย้ายไปจัดเมืองทองฯ เป็นครั้งแรก เราไม่ไปเพราะมันไกล แต่พอครั้งนี้ก็ตัดสินใจไป เพราะในทางธุรกิจมันได้เงินสดแน่ๆ แต่ที่สำคัญคือการได้ไปเจอนักอ่านของเรา อย่างคราวที่แล้วพอไม่ไปก็จะมีคนถามว่าไปออกบูธหรือเปล่า เราก็เสียดาย ทั้งที่มันไกลมากจากคลองสาน แต่ก็ไป จ่ายค่าบูธเรียบร้อย เตรียมหนังสือทั้งจากสองสำนักพิมพ์ ก็องดิดบุ๊กส์และระหว่างบรรทัด ปรากฏว่าจู่ๆ ก็มีเรื่อง Covid-19 ขึ้นมา ผู้จัดงานก็ตัดสินใจไปออนไลน์ ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันเป็นทางออกของเขา เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมส่วนหนึ่ง
พูดตรงๆ ว่าเราก็ผิดหวังที่จะไม่มีงานหนังสือ ตั้งใจเตรียมไปไม่ว่าจะไกลแค่ไหนก็ตาม ในแง่หนึ่งเราก็เข้าใจสมาคมฯ ที่ตัดสินใจแบบนั้น แต่ในฐานะคนทำหนังสือ เราก็อยากเจอคนอ่านของเรา อยากพูดคุย การที่ได้ออกไปเจอกัน ได้สบตา พูดคุยกัน มันเป็นความสุขของเรา
จุดเริ่มต้นของเทศกาลหนังสือครั้งนี้ที่มาเสริมงานหนังสือฯ ซึ่งย้ายไปจัดออนไลน์
พี่จรัญ (จรัญ หอมเทียนทอง, สำนักพิมพ์แสงดาว) เขาเอ่ยปากชวนว่าจะจัดเทศกาลหนังสือที่สามย่านมิตรทาวน์ พอพี่จรัญชวนก็ตกลงทันที เพราะต่อให้จะมีร้านอยู่ที่คลองสาน ยังไงมันก็ไม่เท่างานหนังสือ
หลายคนบอกว่าหนังสือขายออนไลน์ก็ได้ ไม่ต่างกัน
เรารู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์เรา มันอาจตอบโจทย์สำนักพิมพ์ หรือคนที่ไม่อยากเดินทาง แต่ความที่เราอยู่กับออฟไลน์มาโดยตลอด แม้ร้านจะมีออนไลน์ช่วยเสริม ซึ่งมันก็ช่วยจริงๆ แต่ priority ของเราก็ยังเป็นหน้าร้าน ยังเป็นการได้เจอคน
ปกติทุกสำนักพิมพ์มันก็มีออนไลน์อยู่แล้ว เรายังนึกภาพไม่ออกว่าการที่ทุกสำนักพิมพ์มารวมกันในเว็บหนึ่งจะเป็นยังไง จะแยกหน้าบ้านหลังบ้านยังไง สมาคมฯ เขาพยายามจัดการ แต่มันก็ยังใหม่มากสำหรับเราทุกคนที่จะมีงานหนังสือออนไลน์ พอพี่จรัญชวนจัดอันนี้ เราเลยรู้สึกว่ามันตอบโจทย์เรามากกว่า
ถ้างานหนังสือไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อขายหนังสือ งานหนังสือทำหน้าที่อะไรนอกจากนั้น
มันคือการได้เจอคนอ่าน การได้พูดคุยกับหนังสือ เคยมีน้องที่ทำงานเป็นบาริสตาเขาบอกว่างานหนังสือสำหรับเขามันคือการเปิดแผนที่แล้วออกไปสำรวจหา การได้ออกไปหาหนังสือคืองานหนังสือสำหรับเรา
เรามักคิดว่าออนไลน์จะทำให้ได้เจอหนังสือมาก แต่มันเป็นข้อมูลที่วางไว้ให้เราแล้ว เราไม่มีทางจะเจอหนังสือแปลกๆ เลย แต่ถ้าไปงานหนังสือ ไปเจอหนังสือฝุ่นจับที่รอเราอยู่ อย่างพี่ทำร้านหนังสือก็จะมีร้านหนังสือเป็นหลุมหลบภัยตลอด ไม่สบายใจ อยากพัก ก็เข้าร้านหนังสือ แล้วเราก็มักเจอหนังสือที่รอเราอยู่ตลอดเลย ซึ่งเราไม่เจอแบบนี้ผ่านออนไลน์ที่คัดกรองหนังสือให้เราแล้วด้วยอัลกอริทึม หรือเราต้องเป็นคนเลือกเสิร์ชเอง ซึ่งอันนี้เรามองว่าเป็นข้อจำกัด มากกว่าจะเป็นข้อได้เปรียบ
การได้ ‘ออกไปเจอ’ มันสำคัญอย่างไร
มันคือการได้ explore คือความตื่นเต้น เป็นการผจญภัย เวลาไปงานหนังสือเราชอบไปบูธหนังสือเก่า บางทีก็เจอหนังสือที่เราเคยอ่านสมัยยังเด็ก หรือเล่มที่เราไม่เคยนึกถึงเลยซึ่งเราไม่รู้ได้เลยว่ามันจะอยู่ที่ไหน
การเสิร์ชพวกนี้เราก็ทำนะ แต่มันก็ผ่านกรอบเดิมของเราอยู่ ทุกวันนี้เราต่างมีโหลครอบแก้วในโลกออนไลน์ของเราแต่ละคน
เราก็ต้องตระหนักว่าสิ่งที่เราเจอมันก็ยังอยู่ในกรอบอัลกอริทึมที่กำหนดไว้อยู่ มันมีข้อมูลที่กำหนดอยู่แล้ว มันรู้ว่าเราชอบอะไรบ้าง หรือมีโฆษณาที่เขาเลือกแล้ว โลกออนไลน์มันเป็นอย่างนี้ มันบอกว่าเราชอบอะไร จนเราไม่รู้ว่านี่เราชอบหรือมันบอกให้เราชอบ
ย้ายทุกอย่างขึ้นออนไลน์ไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย
เรารู้สึกว่าพี่จรัญเองก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน พูดตามตรงว่าไม่ใช่ทุกสำนักพิมพ์ที่จะถนัดออนไลน์ เรารู้จักบางสำนักพิมพ์ที่เน้นขายหน้าร้าน เราจะเอาเขาไปไว้ที่ไหน จะให้เขาลงออนไลน์อย่างเดียวเหรอ มันก็จะมีเรื่องคนเก่งไม่เก่งเรื่องข้อมูลอีก บางคนไม่เป็นเรื่องออนไลน์เลย ออนไลน์ใครบอกว่ามันเสมอภาค พี่ว่ามันเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง
ทางสมาคมฯ เขาบอกว่าเดี๋ยวต่อไปจะมีการช่วย แต่เรายังนึกไม่ออกว่าจะช่วยยังไง
ผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่องานหนังสือ หากคนคิดว่าจัดออนไลน์ก็พอ ไม่ต้องออกมาเจอกันก็ได้
ก็เป็นไปได้ แต่เราก็ยังเชื่อว่ามีคนที่อยากออกมาเจอกัน ต้องรอพิสูจน์ว่าออนไลน์มันช่วยหรือเปล่า อันนี้มีสองประเด็น ในแง่สำนักพิมพ์ออนไลน์อาจช่วย แต่สำหรับร้านหนังสือปกติในแง่ธุรกิจเราก็ได้น้อยกว่าสำนักพิมพ์อยู่แล้ว การที่เราไปขายเหมือนกับสำนักพิมพ์เราก็ลดได้น้อยกว่าอยู่แล้ว ได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าเพราะมันเป็นของเขา การย้ายไปออนไลน์ยังไงก็ไม่ใช่ทางออกของร้านหนังสือ
นอกจากจะเป็นพื้นที่ทำให้คนได้พบกัน คุยกัน เจอหนังสือใหม่ๆ ที่ทำให้ตื่นเต้น ไม่เคยเห็นเล่มนี้มาก่อน ร้านเราก็จะตั้งใจเรื่องนี้มาก คัดสรรหนังสือให้คนได้มาเห็นเล่มใหม่ๆ
เล่าถึงเทศกาลฯ เฉพาะกิจ การรวมพลคนรักหนังสือครั้งนี้
ถือว่าเป็นงานที่มาจัดเสริมช่องทางออนไลน์ มันไม่ใช่มหกรรมงานหนังสือแน่นอน เราใช้คำว่าเทศกาล ตั้งชื่อว่า ‘SUMMER BOOK FEST: เทศกาลหนังสือฤดูร้อน’ น่ารักไหม มันก็จะมีบรรยากาศ lively คอนเซ็ปต์ของเขาคือ …พี่อ่านให้ฟังเลยแล้วกันนะ (หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาอ่าน)
“เป็นเทศกาลหนังสือที่เน้นความสดใส ในสภาวะที่ทุกคนกำลังกังวลกับความป่วยไข้ เราอยากให้ทุกคนนึกถึงหาดทราย สายลม แสงแดด และความสนุกที่เราจะใช้ไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูร้อน แสงแดด-ความร้อน เป็นสิ่งที่เชื้อโรคต่างๆ หวาดกลัว เราอยากให้คนที่ตัดสินใจออกจากบ้านมาที่งานนี้ นึกถึงความสนุก…”
แต่ละสำนักพิมพ์เขาก็จะมีคอนเซ็ปต์ของเขา อย่างแซลมอนก็อาจจะมีจับปลาหน้าร้อน มันเป็นคอนเซ็ปต์แบบนี้ เราเองก็ต้องคิดหาอะไรให้เป็นซัมเมอร์
อธิบายคนที่มองว่าการจัดงานช่วงนี้คือการไม่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร
ผู้จัดเขาจริงจังเรื่องมาตรการความปลอดภัยมาก ลงทุนซื้อเครื่องเทอร์โมสตัท (Thermostat – เครื่องสำหรับควบคุมอุณหภูมิ) วันละสองหมื่น สิบวันก็สองแสน มีการสแกนอุณหภูมิคนมางาน ใครไม่ผ่านไม่ให้เข้า นอกจากนี้ทุกบูธก็จะมีเจลล้างมือ มีหน้ากากแจก และปกติสามย่านมิตรทาวน์เขาก็มีการฉีดพ่นยาสม่ำเสมออยู่แล้ว
เราพยายามให้คนเชื่อมั่นในการออกมา เรารู้สึกว่าไม่อย่างนั้นเราจะตายกันหมดแล้วถ้าไม่ออกมาเจอกัน ผู้ประกอบการทั้งหลายจะตายกันหมดเพราะทุกคนกลัว อย่างร้านเรานักท่องเที่ยวอาจลดลง แต่คนไทยกลับเยอะขึ้นกว่าปกติ เรารู้สึกว่าคนยังต้องการที่ไป
เรารู้สึกว่าในภาวะแบบนี้เราจะซึมเศร้าเอาง่ายๆ เปิดไปทางไหนก็เจอข่าวที่ทำให้เรากลัวขึ้นเรื่อยๆ เวลาอ่านข่าวออนไลน์มากๆ มันวิตกกังวลนะ โซเชียลมีเดียมันโหมความกลัว สำคัญคือเราป้องกันไว้ดีกว่า เราใส่หน้ากากออกมาเจอกันก็ได้
รัฐบาลช่วยเราไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องออกมาเจอกันด้วยการตระหนักรู้วิธีป้องกันอย่างสูงสุด แต่จะกลัวจนทำให้เราไม่เจอกันเลยไม่ได้
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านไป มีงาน Lit Fest มีนาคม-เมษายนนี้มีเทศกาลหนังสือฤดูร้อน คิดว่างานหนังสือเล็กๆ แบบนี้จะเป็นรูปแบบใหม่ของการจัดงานหนังสือหรือไม่
อยากให้เป็นแบบนั้น เรารู้สึกว่าต่อไปงานหนังสือใหญ่ๆ จะไม่มีแล้ว มันจะมีงานเล็กๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ มันทำให้คนมาเจอกันมากขึ้น มีงานเล็กๆ เรื่อยๆ ให้ได้เจอกันบ่อยขึ้น
เรายังเชื่อในออฟไลน์อยู่ ไม่อย่างนั้นร้านหนังสือเราคงอยู่ไม่ได้ ถ้าคนไม่ออกมาเจอกัน มันยังมีคนที่ตั้งใจมาร้าน กลับจากต่างประเทศต้องมาร้านหนังสือ หรือบางคนที่มาเดตกันในร้านหนังสือ เราก็แอบดูอยู่บ่อยๆ เห็นแล้วมีความสุขนะ คนมาเดตเลือกหนังสือกันกะหนุงกะหนิง เราอยู่ในบรรยากาศแบบนี้เรารู้เลยว่าทนทำออนไลน์แบบเดียวไม่ได้ หรืออย่างที่นี่มีเปิดตัวหนังสืออยู่บ่อยๆ มีตั้งแต่เปิดตัวหนังสือขายคู่เบียร์ ไปจนหนังสือวิชาการ
งานหนังสือไม่ใช่แค่ขายหนังสือ ร้านหนังสือก็เช่นกัน
แน่นอน มันเป็นแบบนี้มาตลอด ว่าร้านหนังสือนั้นขายหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ สมัยเรียนเราชอบไปงานหนังสือ งานเสวนา อย่างที่นี่วันที่คนมาเยอะที่สุดคือวันที่ ทราย เจริญปุระ กับ เอิน กัลยกร มาคุยกันถึงเรื่องโรคซึมเศร้าผ่านหนังสือชื่อ ซึมเศร้า…เล่าได้ คนมากันเยอะล้นหลามมาก บางคนไม่เคยออกจากบ้านก็ออกมาคุยเรื่องแบบนี้ คุยไปร้องไห้ไป เรารู้สึกว่านี่แหละร้านหนังสือ มันทำให้คนออกมาเจอกันมาร่วมทุกข์สุขด้วยกัน
เยอะอีกครั้งก็ตอนที่ธนาธรมาคุยเรื่อง Game of Thrones ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมชุด A Song of Ice and Fire ของ จอร์จ อาร์อาร์ มาร์ติน วันนั้นก็คนเยอะมาก ทะลักออกนอกร้าน เราเป็นคนจัดงานยังไม่ได้คุยกับเขาเลย
ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในร้านหนังสือก็ร่วมบันทึกปรากฏการณ์ทางสังคมบางอย่าง
มากเลย เรารู้สึกว่าร้านหนังสือต้องเท่าทันสังคม ต้องรู้ว่าสังคมต้องการอะไร ขายหนังสืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต่อไปเราอาจเริ่มขายเบียร์ ไม่ต่อไปแหละ เริ่มมีหนังสือขายคู่เบียร์แล้ว (ฮา)
เมื่อก่อนมีร้านชื่อ Book And Beer ของอาจารย์นพพร สุวรรณพานิช สมัยเรียนเราจะไปตลอด เรารู้สึกว่าโลกมันเหวี่ยงกลับไปกลับมาตลอดเวลา เมื่อก่อนร้านหนังสือจะเป็นอิสระที่แต่ละร้านมีคาแรกเตอร์ชัดเจน แล้วก็มีร้านแฟรนไชส์เกิดขึ้น แล้วตอนนี้ก็เริ่มกลับมาเห็นร้านที่เป็นอิสระมากขึ้น เทรนด์แบบนี้มันกลับมาแล้ว
เช่นกัน มีคนเคยแชร์ว่า ปีสองปีนี้ออนไลน์มันท่วมท้นจนมันอาจไม่ตอบโจทย์อีกแล้ว โลกมันกำลังหมุนกลับมาออฟไลน์
เจ้าของสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ร้านหนังสือปรับตัวกันเยอะแล้ว อยากฝากให้ผู้อ่านร่วมปรับเปลี่ยนไปด้วยกันอย่างไรบ้าง
อย่ากลัวโรค อย่าให้โรคมาทำให้เราไม่เจอกัน เราเชื่อว่าคนอ่านยังอยากเจอนักเขียน ยังอยากมาเจอหนังสือที่เขาชอบ ถ้ามีมาตรการป้องกันที่แน่นอน อย่ากลัวค่ะ เราอยากเจอคนอ่านมาก เรายังอยากพูดคุยกัน เวลาเราทำหนังสือเราไม่เคยเจอกันเลย ทำเสร็จเราก็อยากเห็นสีหน้าคนอ่านเวลาได้เจอหนังสือเรา งานหนังสือมันเป็นงานโดดเดี่ยว เราต่างคนต่างโดดเดี่ยวเวลาอ่านและเขียน ละทิ้งความโดดเดี่ยวชั่วคราวแล้วออกมาพบกัน
หนังสือสามเล่มที่อยากชวนอ่านในเทศกาลหนังสือฤดูร้อน
1. ศิลปินผู้ตกหลุมรักหนังสือ เขียนโดย โอ๊ต มณเฑียร
2. ไทเปมีน้ำตาโปรยปรายเป็นบางแห่ง เขียนโดย นัท ศุภวาที
3. เสรีนิยมยืนขึ้น เขียนโดย ปราบดา หยุ่น
เทศกาลหนังสือฤดูร้อน SUMMER BOOK FEST
วันที่จัดงาน: 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2563 เวลา 10.30 – 21.30 น. ณ มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์
Dress Code: เสื้อผ้าสีสันสดใสเหมาะกับฤดูร้อน
ติดตามรายละเอียดที่ Facebook: Summerbookfest Twitter: @summerbookfest