Surgical Mask

Surgical Mask: หน้ากากแห่งห้องผ่าตัด กับคำถามที่ว่าคนธรรมดาควรสวมหน้ากากออกจากบ้านหรือไม่

หน้ากากที่ขาดแคลนมากที่สุดตอนนี้ ก็คือหน้ากากสีฟ้าหรือสีเขียวที่เราเห็นคุ้นตา จริงๆ หน้ากากแบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Surgical Mask หรือบางทีก็เรียกว่า Medical Mask หรือ Procedure Mask ส่วนในไทย เราจะเรียกว่า ‘หน้ากากอนามัย’

        ถ้าดูจากคำ จะเห็นได้เลยว่า ความหมายของหน้ากากในภาษาอังกฤษนั้นบ่งบอกถึงความจำเพาะของมันค่อนข้างมาก เช่น หมายถึงหน้ากากที่ใช้ในกระบวนการผ่าตัดหรือใช้ในทางการแพทย์ แต่พอเป็นภาษาไทย คำว่า ‘อนามัย’ ทำให้เรานึกถึงเพียงแค่ความสะอาด – หลายคนจึงคิดว่าพอใส่หน้ากากนี้เข้าไปแล้ว จะทำให้ตัวเองสะอาด ปลอดเชื้อ หรือเป็นหน้ากากที่ ‘ป้องกันตัว’ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมด

        Surgical Mask เป็นหน้ากากที่มีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใส่ในระหว่างผ่าตัดหรือรักษาพยาบาล แต่ไม่ใช่เพื่อ ‘ป้องกันตัว’ หน้ากากนี้มีไว้เพื่อ ‘ป้องกันคนไข้’ เพื่อไม่ให้แบคทีเรียและฝอยละอองต่างๆ จากระบบทางเดินหายใจของผู้ใส่ กระจายแพร่ไปสู่ผู้ป่วยที่ตนกำลังดูแลรักษาอยู่ต่างหาก

        Surgical Mask ไม่ได้ถือกำเนิดมาด้วยเป้าหมายเพื่อป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อโรคที่แพร่กระจายได้ทางอากาศ จึงมีประสิทธิภาพน้อยกว่าหน้ากากประเภท Respirators (ที่เราพูดกันไปเมื่อตอนที่แล้ว) อย่างเช่นหน้ากาก N95 ซึ่งอันนั้นถือกำเนิดมาในตอนแรกเพื่อ ‘ป้องกันตัว’ ผู้ใส่จากแก๊สพิษจากศพตามความเชื่อโบราณ แต่ต่อมาก็เพื่อป้องกันผู้ใส่จากฝุ่นขนาดเล็ก และกระทั่งจากเชื้อโรคที่เล็กจิ๋วระดับไวรัส แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งานอย่างที่ว่าไปแล้ว

        คำถามที่ว่า แพทย์พยาบาลใช้หน้ากากแบบ Surgical Mask กันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นคำตอบที่ไม่แน่ชัดนัก แต่ที่มีปรากฏครั้งแรกก็คือในปี 1897 เมื่อเริ่มมีการพูดถึงหน้ากากแบบนี้ แต่ประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้ผ้ากอซแบบชั้นเดียว โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการติดเชื้อในขณะผ่าตัด (เรียกว่า Surgical Sepsis)

        แม้ย้อนไปถึงปี 1897 คือร้อยกว่าปีก่อน ก็มีการสาธิตให้เห็นแล้วว่า ลำพังแค่การพูดธรรมดาๆ ก็อาจทำให้เกิด ‘ดร็อปเล็ต’ (Droplet) หรือละอองที่อาจมีเชื้อโรค – โดยเฉพาะแบคทีเรีย, แพร่ติดออกมาได้ ดังนั้น ความนิยมในการใช้หน้ากากขณะผ่าตัดจึงเริ่มขึ้น เพราะเริ่มเกิดการตระหนักถึงอันตรายจากลมหายใจของมนุษย์ในเวลาที่ต้องผ่าตัดขึ้นมา โดยวงการแพทย์ประเทศแรกที่ตระหนักเรื่องนี้ ก็คือวงการแพทย์ในเยอรมนี มีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาหลายชิ้น เช่นงานของ Johann von Mikulicz Radecki หรือ C. Fluegge หรือ W. Huebner เป็นต้น (ถ้าสนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถนำชื่อไปเสิร์ชต่อได้)

        แต่ Surgical Mask ไม่ได้เกิดมาปุ๊บก็มีหน้าตาเหมือนที่เราเห็นในปัจจุบันเลยทันที Surgical Mask มีวิวัฒนาการของมันเป็นลำดับมาเรื่อยๆ พร้อมกับการทดลอง การค้นคว้าวิจัย และการปรับปรุง จากตอนแรกที่ใช้ผ้ากอซชั้นเดียว ก็เริ่มมีการใช้ผ้ากอซสองชั้น

        รายงานชิ้นแรกที่มีการนำเอาผ้ากอซหลายชนิดมาทำเป็นหน้ากาก ปรากฏขึ้นในปี 1918 โดยมีการทดสอบหน้ากากสามชนิด คือใช้ผ้ากอซแบบหยาบ แบบละเอียดปานกลาง และผ้ากอซที่ละเอียดมาก คือเป็นผ้าที่ใช้ในการกรองนมเพื่อให้เกิดเป็นเนย เรียกว่า Butter Cloth โดยนำมาตัดเย็บเป็นหน้ากากรูปแบบเดียวกัน และนำมาซ้อนกันตั้งแต่ 2-10 ชั้น

        ข้อสรุปที่น่าสนใจมากก็คือ ไม่ว่าจะเอามาซ้อนกันกี่ชั้นก็ตาม ถ้าเป็นผ้ากอซเนื้อหยาบ (คือมีการทอให้ตาไม่ถี่) ก็จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าผ้ากอซที่มีความละเอียดสูง

        การใช้หน้ากากเป็นที่แพร่หลายนิยมกันมากในช่วงทศวรรษ 1930s ซึ่งจริงๆ เป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ในวงการแพทย์ก็ยังมีการคิดค้นหน้ากากประเภทที่เรียกว่า germproof ที่มีเป้าหมายป้องกันเชื้อโรคผ่านเข้าและออกได้ เช่น มีการนำเอาทองคำ 14 กะรัตมาทำเป็นตัวลวดเพื่อขึ้นเป็นเฟรมของหน้ากาก และนำกระดาษไขมาติดบังทั้งสองข้าง ซึ่งถือว่าเป็นหน้ากากที่หรูหราเอาการอยู่

        แต่หน้ากากเริ่มเสื่อมความนิยมลงในทศวรรษ 1940s เมื่อมีการคิดค้นยาปฏิชีวนะขึ้นมาใช้กันแพร่หลาย ทำให้วงการแพทย์ในตอนนั้นเห็นว่าหน้ากากอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมีตัวช่วยควบคุมการติดเชื้อแล้ว แม้หน้ากากทางการแพทย์จะไม่ได้หายไปไหน แต่ก็ไม่มีการคิดค้นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา

        อย่างไรก็ตาม พอเริ่มมีข้อมูลกันมากขึ้นเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ในท่่ี่สุดวงการแพทย์ก็รู้ว่า ‘ยามหัศจรรย์’ อย่างยาปฏิชีวนะนั้นไม่สามารถมาแทนหน้ากากได้ เพราะการป้องกันตั้งแต่ต้นไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ย่อมดีกว่าติดเชื้อแล้วค่อยไป ‘ฆ่า’ เชื้อเอาภายหลังแน่ๆ

        ดังนั้น พอถึงปลายทศวรรษ 1950s ความสนใจในหน้ากากทางการแพทย์จึงกลับมาใหม่ ทำให้เกิดการคิดค้นอะไรใหม่ๆ รวมไปถึงการทดสอบยืนยันประสิทธิภาพของหน้ากากที่ว่านี้ด้วย และย้อนกลับไปยืนยันการทดสอบในปี 1918 ว่าตัวกรองนั้นถ้าเป็นแบบหยาบๆ แม้จะซ้อนกันหลายชั้น ก็มีประสิทธิภาพสู้ตัวกรองที่มีความละเอียดไม่ได้ และพบด้วยว่า หน้ากากผ้ากอซแบบเดิมที่เคยใส่กันมายังมีประสิทธิภาพไม่มากพอ หน้ากากที่จะมีประสิทธิภาพได้ จะต้องแนบแน่นกับใบหน้า ไม่มีรอยต่อให้เกิดการรั่วไหลออกมา ต้องใส่คลุมลงมาถึงคาง โดยมีข้อแนะนำว่า ตัวกรองจะต้องเป็นผ้าที่มีความหนาแน่นอย่างน้อย 44×40 เส้นใยต่อหนึ่งนิ้ว

        Surgical Mask นั้นเปียกไม่ได้ ถ้าเปียกปุ๊บประสิทธิภาพจะลดลงอย่างมากทันที และมีคำแนะนำว่า เมื่อแพทย์ใช้หน้ากากนี้แล้ว ไม่ว่าจะนานหรือสั้นแค่ไหน ก็ต้องเปลี่ยน ห้ามนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งในที่สุด หน้ากากทางการแพทย์นี้ก็ได้วิวัฒนาการมาจนเป็นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และกลายเป็นของจำเป็นอย่างยิ่งในทางการแพทย์

ใส่หรือไม่ใส่: ข้อถกเถียงเรื่องหน้ากาก

        ถ้าคุณอยากป้องกันตัวเอง การใส่หน้ากากประเภท N95 ถือว่าเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพมากกว่าหน้ากากทางการแพทย์ เพราะเป้าหมายตั้งแต่ก่อเกิดมาของหน้ากากสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างที่บอกไปแล้วข้างต้น

        แต่ก็อย่างที่รู้กัน การใส่หน้ากาก N 95 นั้นเป็นเรื่องไม่สะดวกเอาเสียเลย เพราะทำให้เราหายใจลำบาก ยิ่งใส่นานก็ยิ่งลำบากขึ้นเพราะอนุภาคต่างๆ ไปเกาะที่เส้นใย แม้ทำให้การกรองดีขึ้น แต่อากาศก็ผ่านเข้ามาได้ยากขึ้นเช่นเดียวกัน

        เพราะฉะนั้น คนจำนวนมากจึงเลือกใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพราะมันหายใจสะดวกกว่า และเชื่อว่าช่วยป้องกันเชื้อโรคที่แพร่มากับอากาศได้ จนเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมา หน้ากากเหล่านี้ก็ขาดแคลน มีการกักตุน เก็งกำไร ขายกันในราคาสูงลิบลิ่ว ไม่มีใครสามารถซื้อหน้ากากนี้ได้ในราคา 2.50 บาท ตามที่รัฐกำหนดอีกต่อไป และต่อให้ราคาแพงถึงแผ่นละหลายสิบบาท หลายคนก็ยินดีควักกระเป๋าซื้อ

        ด้วยเหตุนี้ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ – ในภาวะที่หน้ากากขาดแคลนแบบนี้, เราจำเป็นต้องใส่หน้ากากหรือเปล่า?

        นี่คือเรื่องที่สับสนอย่างยิ่ง เพราะเกิดการถกเถียงกันขนานใหญ่ ทั้งการถกเถียงในองค์กรระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานควบคุมโรคระบาดอย่าง CDC (หลายคนบอกว่าเป็นการถกเถียงระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกด้วยซ้ำ) – ว่าเราต้องใส่หน้ากากหรือเปล่า

        ในตอนแรก องค์การอนามัยโลก (ที่มีวิธีคิดแบบตะวันตก) ออกมาประกาศว่าไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากแบบ Surgical Mask เพราะเป้าหมายของหน้ากากเป็นอย่างที่เราว่ากันมาทั้งหมด จึงควรสงวนเอาไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ดีกว่า แต่ในตอนหลัง ก็เปลี่ยนมาสนับสนุนให้ใส่หน้ากากเวลาออกจากบ้าน แม้เป็นหน้ากากผ้าก็ได้

        คำถามสำคัญจึงคือ ฐานคิดขององค์การอนามัยโลกอยู่ตรงไหน?

        เรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันมาตลอดก็คือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ มันสามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศ อย่างที่เรียกว่าแอร์บอร์น (Airborne) หรือเปล่า มัน ‘แขวนลอย’ อยู่ในอากาศได้ไหม ถ้าเราเดินหรือวิ่งไปบนถนน เจ้าละอองฝอยของไวรัสพวกนี้มันจะอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศ ทำให้เราเดินไปโดนมัน หรือมันจะเป็นเหมือนผีร้ายที่คอยลอยไล่ตามเราหรือเปล่า

        ดังนั้น ก่อนจะไปคุยเรื่องอื่น ต้องมาดูกันเสียก่อน ว่าคำว่า ‘ดร็อปเล็ต’ และ ‘แอร์บอร์น’ หมายถึงอะไร?

        ละอองฝอยที่เกิดจากการไอ จาม หรือแม้กระทั่งการพูด ที่เรียกว่า Respiratory Droplet หรือละอองฝอยที่มาจากระบบทางเดินหายใจนั้น ส่วนใหญ่คือน้ำที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะตกลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็วหลังจากถูกพ่นออกมา หลายฝ่ายนิยามว่า Respiratory Droplet จะมีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมโครเมตร (5 μm) แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้เล็กลงไปถึงระดับนั้น

        มีการศึกษาพบว่า ถ้าดร็อปเล็ตมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 มิลลิเมตร จะมีความเร็วตอนถูกพ่นออกมาจากปากและจมูกของเราราวๆ 28.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าการปั่นจักรยานเร็วๆ เสียอีก แต่ถ้ามันเล็กกว่านั้น ก็อาจมีความเร็วมากกว่านั้นได้ และแม้ความเร็วจะลดลงตามระยะทางที่เคลื่อนไป แต่ถ้าดร็อปเล็ตมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร ดร็อปเล็ต 95% ก็จะพุ่งไปด้วยความเร็วนั้นได้ไกลถึง 2 เมตร และบางงานก็บอกว่าดร็อปเล็ตที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร อาจพุ่งไปได้ไกลถึง 5.6 เมตร

        แต่ไม่ว่าจะพุ่งไปไกลหรือเร็วเท่าไหร่ ถ้าเป็นดร็อปเล็ต สุดท้ายมันก็จะตกลงบนพื้นผิวต่างๆ เสมอ เพราะว่ามันใหญ่เกินจะไปแขวนลอยอยู่ในอากาศ

        แล้วคำว่า ‘แอร์บอร์น’ ล่ะ มันหมายถึงอะไร?

        จริงๆ คำว่า ‘แอร์บอร์น’ เป็นคำที่กว้างกว่า ‘ดร็อปเล็ต’ เพราะมันหมายถึงอะไรก็ตามที่แพร่ไปในอากาศ แต่เพื่อไม่ให้สับสน จึงจะพูดถึงเฉพาะความหมายของแอร์บอร์นในทางการแพทย์ ที่แยกขาดจาก Repiratory Droplet

        ถ้าหากว่าละอองนั้นมันเล็กมากๆ (เช่น เล็กกว่า 5 ไมโครเมตร) พอมันถูกพ่นออกมาปุ๊บ ส่วนที่เป็นน้ำก็จะระเหยได้เร็วกว่า เพราะมันมีน้ำอยู่ปริมาณน้อยกว่า สิ่งที่เหลืออยู่ก็คืออนุภาคแห้งๆ ซึ่งอาจเป็นตัวไวรัสเอง หรืออาจเป็นฝุ่นจิ๋วต่างๆ ที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ก็ได้ อนุภาคแห้งๆ นี้เรียกว่า ‘แอโรซอล’ (Aerosols) ซึ่งถ้าหากเราเคยเรียนวิทยาศาสตร์สมัยมัธยม แอโรซอลจัดเป็นคอลลอยด์ประเภทหนึ่ง เหมือนฝุ่นที่พอเราเอาไฟฉายส่อง เราจะเห็นแสงไฟมีลักษณะเป็นลำ

        ดังนั้น ในทางการแพทย์ เวลาพูดว่าเชื้อโรคแพร่ได้แบบแอร์บอร์น จึงหมายถึงการแพร่ไปในลักษณะของ ‘แอโรซอล’ และนั่นเองที่ทำให้ในตอนแรก องค์การอนามัยโลกออกมาบอกว่าเวลาอยู่นอกบ้าน ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากก็ได้ เพียงแต่รักษาระยะห่างกันไว้ก็พอ เพราะเชื้อไม่ได้แพร่แบบแอร์บอร์น แต่แพร่แบบดร็อปเล็ต

        อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่เชื้อผ่านแอโรซอลอย่าง ดอน มิลตัน (Don Milton) จากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ก็บอกว่านั่นเป็นเรื่องแย่ ถึงขั้นเป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบด้วยซ้ำ เพราะเราเพิ่งรู้จักกับเชื้อโรคนี้มาไม่กี่เดือนเอง จะประกาศออกมาได้อย่างไรว่ามันไม่แพร่ด้วยวิธีแบบแอโรซอลหรือแอร์บอร์นแล้ว เพราะเราอาจต้องการการศึกษาเพิ่มเติมมากกว่านี้อีก

        ที่สำคัญ ทั้งมิลตันและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ บอกด้วยว่า การ ‘แยก’ ระหว่างดร็อปเล็ต กับการแพร่ผ่านวิธีแอโรซอลแบบที่เคยเป็นมานั้นเป็นเรื่องเก่าที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้น เช่น งานของ ลิเดีย โบโรอิบา (Lydia Bourouiba) จาก MIT ที่แสดงให้เห็นว่าการหายใจ การจาม และการไอ อาจทำให้เกิดกลุ่มก้อนของละอองฝอย ที่เรียกว่า ‘เมฆ’ (Cloud) ทั้งที่เป็นดร็อปเล็ตและที่เป็นแอโรซอลปะปนกันอยู่ คือมันไม่ได้เกิดแยกกัน และทั้งสองอย่างก็เคลื่อนที่ได้เร็วและไกลกว่าที่การศึกษาก่อนหน้าเคยทำนายเอาไว้

        เพราะฉะนั้น คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ แล้วไวรัสมันเดินทางไปในอากาศได้ไกลแค่ไหน รวมทั้งมันสามารถคงตัวอยู่ในอากาศได้นานแค่ไหน มันกระจุกกันอยู่ใน ‘เมฆ’ (ที่ีมีทั้งดร็อปเล็ตและแอโรซอล) อยู่หนาแน่นแค่ไหน และต้องหนาแน่นแค่ไหนถึงจะติดต่อมาถึงเราได้?

        คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทดลองกันอยู่ มีการทดลองมากมาย ประมาณว่าตอนนี้มีรายงานเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้หลายหมื่นชิ้นแล้วในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไป

        แต่เรื่องหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ต่อให้ไวรัสจะแพร่ไปในอากาศได้ ทว่าถ้าอยู่ในระยะที่ห่างกันมากขึ้น มันก็จะกระจายตัวเจือจางลง เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนในเมืองอู่ฮั่น ได้ทดลองเก็บตัวอย่างอากาศในที่สาธารณะหลายๆ แห่ง เพื่อนำมาดูว่าแต่ละที่มีไวรัสอยู่มากน้อยแค่ไหน เขาพบว่าแม้จะมี ก็มีในความเข้มข้นที่ต่ำมากๆ (เขาใช้คำว่า extremely low concentrations) ยกเว้นในบริเวณที่มีคนหนาแน่น เช่น หน้าห้างสรรพสินค้าหรือโรงพยาบาล แต่กระนั้น ในอากาศหนึ่งลูกบาศก์เมตร ก็มีอนุภาคของไวรัสอยู่ไม่ถึง 10-12 อนุภาค แต่กระนั้น เราก็ยังไม่รู้อยู่ดี ว่าต้องใช้ไวรัสความหนาแน่นเท่าไหร่ (หรือกี่อนุภาค) ถึงจะเริ่มทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทว่าเคยมีการศึกษาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส พบว่าต้องใช้ไวรัสที่มีความหนาแน่นมากกว่านั้นอีกหลายเท่าตัว

ควรสวมหน้ากากไหม เวลาออกจากบ้าน?

        ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ คำตอบคือควรสวมแน่ๆ โดยอาจสวมหน้ากากทางการแพทย์ธรรมดาๆ ก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นหน้ากาก N95 หรือหน้ากากประเภท Respirators (รวมถึงชุดพีอี) ในกรณีที่ต้องทำงานที่ก่อให้เกิดแอโรซอลในผู้ป่วย เช่น การสอดท่อหายใจ ฯลฯ หรือกระบวนการที่อันตรายกว่านั้น ซึ่งปัญหาก็คือ – อุปกรณ์เหล่านี้กำลังขาดแคลน

        แล้วสำหรับคนทั่วไปเล่า เราควรสวมหน้ากากไหม โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ที่เราก็รู้กันอยู่ว่ามันป้องกันเชื้อเข้าหาตัวเราได้ไม่มากนัก

        คำตอบสั้นๆ ก็คือ – ควร

        อย่างไรก็ตาม ถ้าหน้ากากมีจำกัด การสงวนไว้สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ (เช่น บุคลากรทางการแพทย์) ก็เป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลมากกว่า เรื่องนี้คือ ‘ข้อขัดแย้ง’ (Dilemma) ใหญ่ของการสวมหน้ากาก เพราะถ้าจะเพิ่มความปลอดภัยขึ้นมาในระดับหนึ่ง (แต่ไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์) ทุกคนก็ควรสวม แต่ในภาวะขาดแคลนหน้ากาก ก็ควรใช้หน้ากากเฉพาะที่กับคนที่จำเป็นเท่านั้น

        อย่างไรก็ตาม โควิด-19 มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอย่างหนึ่ง คือต่อให้เราได้รับเชื้อมาแล้ว ก็เป็นไปได้ที่เราจะยังไม่แสดงอาการเป็นเวลานาน (หรือไม่ก็แสดงอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่รู้ตัว) เราจึง ‘อาจ’ เป็นผู้แพร่เชื้อได้ ดังนั้น การใส่หน้ากากเอาไว้ก่อนยามที่ต้องอยู่ในที่สาธารณะหรือที่ที่มีผู้คนหนาแน่น จึงเป็นการรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น

        ที่สำคัญ เริ่มมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้นที่บอกว่า แม้หน้ากากผ้าแบบทำเองจะไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าหน้ากากทางการแพทย์ แต่กระนั้นก็ยังดีกว่าไม่สวมอะไรเลย มีการทดลองหนึ่ง แต่เป็นการทดลองกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ไม่ใช่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) ที่ลองเปรียบเทียบประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าแบบทำเองกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ พบว่าหน้ากากอนามัยกรองอนุภาคของไวรัสที่เกิดจากการไอของอาสาสมัครได้ 89% แต่ถ้าใช้หน้ากากผ้าตาถี่หน่อย จะกันได้ 72% และถ้าใช้ผ้าฝ้ายแบบที่ใช้ทำเสื้อยืด จะกันได้ 50% ซึ่งก็แปลว่ายังดีกว่าไม่ใช้นั่นเอง

        ในปัจจุบัน เราจะเริ่มเห็นการบังคับสวมหน้ากากในหลายที่ เช่น การเข้าซูเปอร์มาร์เกตในออสเตรเลีย คนที่จะต้องออกจากบ้านในสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยของเราด้วยที่มีกฎเกณฑ์บางอย่างออกมาควบคุมกำกับ

        หลักการสำคัญก็คือ เราต้องเข้าใจว่า หน้ากากทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้าที่เราใช้ จะช่วยป้องกัน ‘คนอื่น’ ไม่ให้ติดเชื้อที่เรา ‘อาจจะ’ มีอยู่ในตัว มากกว่าจะป้องกันตัวเราเองจากการรับเชื้อ แต่ถ้าอยากป้องกันตัวเองด้วย การใช้หน้ากากร่วมไปกับ Face Shield ก็จะได้ประสิทธิภาพสูงกว่า

        ตอนหน้า พบกับโลกแห่งหน้ากาก เมื่อหน้ากากกลายเป็นแฟชั่น และเหตุผลที่คนตะวันออกนิยมใส่หน้ากากมากกว่าคนตะวันตก

 

<<ตอนที่แล้ว          ตอนถัดไป>>>

 


อ่านเพิ่มเติม: