หากพูดถึง ‘ถาปัดการละคอน’ ภาพแรกที่ชัดเจนที่สุดคือความเก๋า ความกล้า และความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านิสิต คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รวมตัวกันเริ่มต้นทำเรื่องเล่นๆ ให้กลายเป็นเรื่องจริงจังที่สนุก ตลก และสะท้อนสังคมได้ในคราวเดียวกัน
ตลอดระยะเวลามากกว่า 4 ทศวรรต ที่ ‘ถาปัดการละคอน’ สร้างภาพจำอันเป็นเอกลักษณ์ผ่านละครเวที ทำให้ละคอนถาปัดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนิสิต ซึ่งเปิดพื้นที่กว้างให้ทุกคนแสดงออกทางความคิดอย่างมีชั้นเชิง ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวและเรื่องเล่าของ ‘ถาปัดการละคอน’ ที่สั่งสมและถ่ายทอดมาจากตัวตนของเด็กสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ จนทำให้เกิดเป็นละครเวทีนอกกรอบที่ไม่เคยอยู่ในแบบแผนเหมือนละครเวทีทั่วๆ ไป
‘ละคอนถาปัด’ ละคร (โดย) เด็กสถาปัตย์ จุฬาฯ
ในแรกเริ่ม ละคอนถาปัดเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อความบันเทิงและหารายได้ให้กับกิจกรรมอื่นๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยชื่อ ‘ละคอนถาปัด’ เกิดจากการจงใจสะกดคำให้ผิดไปจากไวยากรณ์เพราะต้องการสื่อเป็นนัยว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำในนามคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ หากแต่เป็นในนามเหล่านิสิตที่รักความสนุกสนานและต้องการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์
‘ละคอนถาปัด’ จึงเริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 จากละครที่มีชื่อเรื่องว่า ‘ลืมบอกแม่’ แต่ด้วยวิธีการนำเสนอผ่านเนื้อเรื่องและมุกตลกที่โดดเด่น แปลกใหม่ รวมถึงความสนุกสนานและมุกตลกที่สร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้คนต่างพูดถึงละคอนถาปัดจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นวงกว้าง กลายเป็นแรงผลักดันขนานดีที่ทำให้นิสิตยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจผลิตผลงานละคอนถาปัดอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี
เนื้อหาที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม้เด็ดของละคอนถาปัด
โรมิโอจูเลียต (2517, 2518) สามก๊ก (2519, 2520) ก็อดฟาเธอร์ (2552) สโนไวท์ (2553) หรือแม้แต่ ทวิภพ (2559) ต่างเป็นเรื่องราวที่ละคอนถาปัดเคยหยิบยกมาตีความใหม่เพื่อสร้างเป็นละครเวทีแล้วทั้งสิ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าไม่ได้มีวิธีการเลือกเนื้อเรื่องมาแสดงในแต่ละปีแบบตายตัว เพราะใจความสำคัญของละคอนถาปัดอยู่ที่การล้อเลียนและมุกตลกเชิงสร้างสรรค์ เพื่อใช้สะท้อนประเด็นต่างๆ ของสังคมไทยในรูปแบบที่ดูทีเล่นทีจริง เช่น ปัญหาสังคม การศึกษา ประเด็นข่าวดังในช่วงนั้น รวมถึงการเมืองที่เป็นเหมือนไม้เด็ดของละคอนถาปัด
สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการสะกิดกับคนดูเบาๆ ว่า ประเด็นปัญหาที่ถ่ายทอดผ่านมุกตลกซึ่งดูสนุกสนานนั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ละคอนถาปัดจึงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่นำพาเรื่องราวต่างๆ มานำเสนอผ่านการแสดง เพื่อหวังสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ชมแต่ละคนตีความและคิดต่อไปในรูปแบบของตนเอง
3 เดือน แห่งการสร้างสรรค์ 20 ฝ่ายร่วมมือกันสู่จุดหมายหนึ่งเดียว
โดยทั่วไปแล้ว ละคอนถาปัดใช้เวลาเตรียมการประมาณ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการปิดเทอมใหญ่ก่อนขึ้นปีการศึกษาใหม่ โดยมีนิสิตในชั้นปีที่ 4 เป็นแม่งานใหญ่ ส่วนชั้นปีอื่นๆ เป็นลูกมือ
ขั้นตอนการทำงานและการเตรียมละครนั้น ก็ไม่เหมือนการทำงานทั่วๆ ไป เพราะเป็นการทำงานแบบพี่สอนน้องมากกว่า ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะ คนทำงานไม่รู้สึกตึงเครียด ทุกคนกล้าออกความเห็นในเรื่องต่างๆ เพื่อทำให้ละครเวทีออกมาดีที่สุด
แน่นอนว่าการผลิตละครเวทีเรื่องหนึ่ง นอกจากฉากหน้าหรือนักแสดงที่อยู่บนเวทีแล้ว ส่วนสนับสนุนหรือ ‘หลังบ้าน’ ก็สำคัญเหมือนกัน หากไม่มีไฟ นักแสดงคงต้องแสดงในที่มืดๆ หากไม่มีเสียงประกอบ ละครคงจืดชืดดูพิกล หรือหากไม่มีสปอนเซอร์ ก็คงจะไม่มีเงินทุมสนับสนุนมาใช้พัฒนาละครให้ดีเท่าภาพในความคิดได้
ทั้ง 20 ฝ่ายของละคอนถาปัด แม้จะมีวิธีการทำงานต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือจุดหมายที่ต้องการผลักดันละคอนถาปัดให้ออกมาเป็นละครที่ดีที่สุดในทุกๆ ปี หากใครชอบเสียงดนตรียินดีเชิญที่ฝ่ายเสียง หากใครใคร่ในการเขียน ยินดีเชิญที่ฝ่ายบท หรือแม้แต่ใครที่ชอบดูแลผู้อื่น ก็มีฝ่ายสวัสดิการที่พร้อมรองรับ แต่ละฝ่ายต่างเปิดโอกาสให้นิสิตได้ลองสัมผัสการทำงานจริงๆ โดยมีพี่ๆ คอยสอนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
จากการออกแบบอาคารสู่การออกแบบฉากเวทีละคร
ขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กสถาปัตย์ฯ แล้ว การออกแบบบ้านหรืออาคารสถานที่ย่อมเป็นเรื่องที่นิสิตคณะนี้ต่างรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี การนำความรู้ในชั้นเรียนมาใช้ในการออกแบบฉาก ย่อมทำให้ผลงานมีความโดดเด่นและน่าสนใจเสมอ ใครจะคิดว่าฉากหนึ่งฉากที่อยู่ตรงหน้า เพียงแค่พลิกกลับด้านออกมา ก็จะปรากฏเป็นฉากต่อไปขึ้นได้ในชั่วพริบตา
การออกแบบฉากจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการทดลองแบบสุ่ม เพราะฝ่ายที่ดูแลการสร้างฉากจะใช้เวลาออกแบบอย่างละเอียดละออในทุกๆ จุด ข้อต่อ การหมุน การพับ ฉากทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากการออกแบบหุ่นจำลองสามมิติผ่านโปรแกรมต่างๆ ซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นฉากที่มีมิติซับซ้อน สามารถประยุกต์ใช้งานได้ในหลายโอกาส และสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกเห็น เช่นฉากละครเวทีเรื่อง มู่หลาน (2556) ทวิภพ (2559) และแดจังกึม (2560)
โปรดักชันร้อยล้านที่สร้างสรรค์โดยเหล่านิสิต
แสงสปอตไลต์สีตระการตาส่องกระทบม่านผ่านควันบางๆ ก่อนจะฉายไปยังตัวละครตัวบนเวที หรือหิมะโปรยปรายคลุ้งส่งกลิ่นหอมปกคลุมไปทั่วทั้งโรงละคร ล้วนเริ่มต้นมาจากความสร้างสรรค์ของเหล่านิสิต คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ที่ต้องการนำเสนอโปรดักชัน (Production) ด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือเงื่อนไขบางอย่าง และทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังช่วยถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร ณ ช่วงเวลานั้นๆ ออกไปสู่ผู้ชมด้วย
อย่าง แดจังกึม (2560) ตามเนื้อเรื่องจำเป็นต้องมีหิมะ แต่ด้วยข้อจำกัดของสถานที่ทำให้ไม่สามารถติดตั้งเครื่องทำหิมะได้ นิสิตจึงต้องแก้ไขปัญหาโดยการปรับเปลี่ยนบทในฉากนั้นไปในทางที่ตลกขบขัน ให้ตัวละครคนเข้าไปฉีดหิมะกลางเวทีแทน มองเผินๆ อาจจะดูเหมือนการแก้ปัญหาอย่างกำปั้นทุบดิน แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้ชมให้ผลตอบรับที่ดี เป็นความตลกที่คาดไม่ถึงจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
นอกจากนี้ในละคอนถาปัดยังใช้เลือกเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรดักชันด้วย เช่น การใช้เทคนิค Mapping ฉายฉากที่เคลื่อนไหวได้ลงบนฉากหลัง ซึ่งเกิดจากการศึกษา ค้นคว้า และทดลองหาคำตอบเพื่อผลลัพท์ที่ดีที่สุดในทุกๆ ครั้ง ทำให้โปรดักชันของถาปัดการละคอนได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของคำว่าละครโดย ‘นิสิต’ ไปไกลโขทีเดียว
‘Tryout’ เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจมาเล่นละคร
จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างที่พลาดไม่ได้ของละคอนถาปัดคือการ Tryout ของนักแสดง ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีแค่ในละคอนถาปัดเพียงที่เดียวเท่านั้น การ tryout ได้ชื่อมาจากความหมายในเชิง มาลองดู มาลองทำ มาลองแสดงกัน โดยท้ายที่สุดแล้วทุกคนที่เข้าร่วม tryout จะมีสิทธิ์ได้แสดงทุกๆ คน ไม่เหมือนกับในละครเวทีอื่นๆ ที่มีการตระเตรียมบทไว้ล่วงหน้าแล้วค่อยคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมกับบทนั้นๆ อีกที แต่ในถาปัดการละคอน แต่ละบทจะถูกออกแบบให้เข้ากับนักแสดงที่มีแต่ละคน
เนื่องจาก tryout เปิดรับนิสิตทุกคนในคณะที่สนใจการแสดงโดยไม่ตัดสินความสามารถในการแสดงที่มีมาก่อน ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพัฒนาความสามารถให้ดีขึ้นไปได้อย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่า tryout จะเปิดรับให้กับทุกคนที่สนใจ แต่ด้วยการฝึกซ้อมที่ทั้งเข้มข้นและสนุกสนาน ทำให้ละคอนถาปัดมีนักแสดงที่ไม่ใช่แค่มากด้วยฝีไม้ลายมือ แต่ยังยืดหยุ่นสำหรับการแสดงแบบด้นสดเพื่อเพิ่มสีสันให้กับถาปัดการละคอนได้อีกด้วย
ภายใต้บทละครคือบทสะท้อนสังคมไทย
การคอรัปชัน ความเหลื่อมล้ำของสังคม การศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และประเด็นสังคมอื่นๆ อีกมากมาย ที่ละคอนถาปัดหยิบยกขึ้นมาพูดให้เป็นเรื่องตลกโปกฮาผ่านการแสดง แต่ความสนุกนั้นอาจเรียกว่าเป็นเพียงเปลือกของเนื้อความที่ต้องการจะสื่อ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วละคอนถาปัดต้องการนำเสนอแง่คิดและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านละคร อย่างที่ผ่านมามีการล้อเลียนประเด็นทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งบนเวทีอาจสร้างเสียงหัวเราะเพราะความขบขัน แต่เมื่อการแสดงจบลง ผู้ชมจะได้ทบทวนถึงสิ่งที่ละครพูดไว้อีกครั้งหนึ่งในบริบทที่ไม่มีความขบขันเข้ามาเกี่ยวข้อง
ละคอนถาปัดจึงไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องจริงจังให้สนุกขบขันเท่านั้น หากแต่เรื่องที่ตลกอยู่แล้ว ละคอนถาปัดก็สามารถนำมาผนวกเข้ากับเนื้อหาของเรื่องได้อย่างกลมกล่อม สร้างมิติทางอารมณ์ที่หลากหลายพร้อมกับให้แง่คิดให้แก่ผู้ชมไปได้พร้อมๆ กัน
สำหรับรายได้ส่วนใหญ่ของละคอนถาปัดจะนำไปแบ่งให้กับกิจกรรมต่างๆ ในคณะ แต่ในปีนี้ถาปัดการละคอนแบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งให้กิจกรรมการกุศล ทั้งการบริจาคเงินซื้อหนังสือให้กับห้องสมุด การบริจาคเงินเพื่อทำค่ายอาสาฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการสะท้อนว่าภายใต้ความเป็นสื่อบันเทิงนั้น ละคอนถาปัดก็ไม่ละทิ้งเจตจำนงในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น และการสร้างสังคมให้พัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ด้วยความเชื่อที่ว่าสังคมจะขับเคลื่อนได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในสังคมช่วยเหลือกันและกัน
ถาปัดการละคอน ปลุกพยัคฆ์โค่นมังกรเสนอ ‘เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้’
เตรียมพบกับละคอนถาปัดครั้งที่’62 ‘เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้’ นำเสนอเรื่องราวของเซี่ยงไฮ้ปี 1930 ในยุคที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพของความเป็นอนาธิปไตย ภายใต้การปกครองของเจ้าพ่อ ‘ฟงจิ้งเหยา’ ผู้กุมทุกความเป็นในเมืองเซี่ยงไฮ้แห่งนี้ กลับมีสองชายหนุ่ม ‘สี่เหวินเฉียง’ และ ‘ติงลี่’ ลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรมด้วยอุดมการณ์และความกล้าหาญ
ร่วมต่อสู้และพบกับ ‘เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้’ ในแบบฉบับของเด็กสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ได้ในวันที่ 4-5 และ 11-12 มกราคม 2563 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/tapadkarnlakorn ติดตามข่าวสารและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก ถาปัดการละคอน 62 : Arch CU Entertainment
เขียนและเรียบเรียงโดย: คีตา ฐาปนพันธ์นิติกุล นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาสถาปัตยกรรม
ฝ่ายเนื้อหา: วรัทยา เอื้อชัยนุวัฒน์ นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาสถาปัตยกรรม, วชิรวิทย์ เลิศสกุลทอง นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม, ธัชธรรม สีมาเอกรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาสถาปัตยกรรม