What’s Next in 10 Years : ความท้าทายในทศวรรษถัดไปของงานสร้างเสริมสุขภาพ

ในทศวรรษถัดไป ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ล้วนทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ความท้าทายในการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยย่อมมีโจทย์ต่างๆ มากมายที่รอให้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการทบทวนบทเรียนบนเส้นทางสุขภาพที่เดินมาอย่างยาวนาน และกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ภายใต้ทิศทางในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2565-2574)

        แต่ขณะเดียวกันก็ได้คำนึงถึงความสอดคล้องของบริบททางสุขภาวะที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลต่อสถานการณ์ทางสุขภาพในปัจจุบัน ทั้งแนวโน้มของพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมสำคัญที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรอบด้าน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และภาคีเครือข่าย จนออกมาเป็นทิศทางการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในภาพรวม ที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และเราต้องก้าวไปให้ถึง ซึ่งจะมีประเด็นใดที่น่าสนใจบ้าง ชวนไปสำรวจความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษถัดไปด้วยกัน

1
ปัญหาการบริโภคยาสูบ 

        บุหรี่ทุกรูปแบบยังคงเป็นพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพที่ยังคงต้องให้ความสำคัญในทศวรรษถัดไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับทั้งตัวคนสูบและคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่มือหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งโรค NCDs เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 30% และในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 66% เป็น 76% เฉลี่ย 9,800 คนต่อปี ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นคือการป้องกันผู้บริโภคยาสูบหน้าใหม่ ลดผลกระทบของผู้คนจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ลดอัตราของผู้บริโภคยาสูบรายเดิมให้น้อยลง รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของกลไกการควบคุมยาสูบ ซึ่งจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากที่สุด

2
การบริโภคสุราและสิ่งเสพติด 

        เหล้าและสิ่งเสพติดยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ หรือแม้แต่โรค NCDs และปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลต่อเนื่องไปถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หากมองในภาพรวม การปล่อยปัญหานี้ให้เรื้อรังเป็นการทำลายทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ นั่นคือ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศักยภาพของแรงงานในระบบที่แย่ลง ต้นทุนในการรักษาบำบัดที่สูงขึ้น ความท้าทายในการลดอัตราการดื่มจึงเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งหัวใจหลักในการขับเคลื่อนงานอยู่ที่การป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมสร้างวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมปลอดเหล้า ส่งเสริมศักยภาพกลไกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งป้องกันและควบคุมสิ่งเสพติดอื่น ๆ

3
ภาวะขาดและเกินของโภชนาการ

        ประเด็นเรื่องอาหารนั้นสะท้อนปัญหาใหญ่ในสังคมได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ พัฒนาการของแต่ละช่วงวัย และปัญหาสุขภาพอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวคือการเพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล โดยสร้างการรับรู้และวัฒนธรร บริโภคที่ดีให้กับประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้เกิด ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ให้กับคนไทย

4
สนับสนุนกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ที่เพียงพอ 

        กลไกสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ดีที่สุด อีกทั้งวิธีนี้ยังใช้ต้นทุนต่ำที่สุดวิธีหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการผลักดันกิจกรรมทางกายให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายและเกิดการเผาผลาญพลังงานที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนันทนาการและกีฬา (Work-Transport-Recreation) ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมในทศวรรษหน้า ความท้าทายสำคัญคือการออกแบบกลไกและเครื่องมือในการสนับสนุนและกระตุ้นให้คนมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ เสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย (Active Environment) รวมทั้งพัฒนาระบบและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้คนมีกิจกรรมทางกาย (Active System) อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

5
ปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนน

        อุบัติเหตุเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งในประเทศไทย และมักเกิดขึ้นกับประชากรในช่วงอายุระหว่าง 15-49 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจสูงที่สุด กลายเป็นปัญหาการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ส่งผลต่อไปในวงกว้าง ซึ่งปัญหานี้มีความสัมพันธ์ในหลากหลายมิติเป้าหมายการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ของกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รวมทั้งการจัดการพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุ เป็นภารกิจที่ต้องลงมือแก้อย่างจริงจัง และอาศัยการร่วมมือของภาคีเครือข่ายการทำงานทุกภาคส่วน

6
สุขภาพจิต (Mental Health) 

        เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของผู้คนในยุคนี้ เนื่องจากสภาพสังคมมีความซับซ้อนและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง ที่สำคัญคือสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายมีความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ การผลักดันนโยบายสุขภาพจิตควบคู่กับการสร้างเสริมสุขภาพในด้านอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายในอนาคตที่ต้องให้น้ำหนักในการจัดการเป็นอย่างมาก เป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในอนาคตคือการทำงานเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาสุขภาพจิตในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงผ่านกลไกและเครื่องมือที่เหมาะสม

7
ปัญหามลพิษทางอากาศ

        ส่งผลสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ แม้แต่การหายใจเพื่อสูดอากาศเข้าไป ก็ล้วนมีผลต่อสุขภาพในร่างกายเราทั้งสิ้น ในปัจจุบัน ประเด็นมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยง 1 ใน 5 ร่วมกับพฤติกรรมการกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการไม่ออกกำลังกาย ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนมากที่สุด เป็นโจทย์ใหญ่ในอนาคตที่ สสส. ต้องมีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็ว ฝุ่นควันจากการคมนาคม การเผาของภาคการเกษตรในที่โล่ง และไฟไหม้ป่าการลดผลกระทบสุขภาพและความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ จึงต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการกับหลายภาคส่วน ในหลายมิติ ทั้งการลดปัญหามลพิษในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมเพื่อลดมลพิษจากสิ่งแวดล้อม

 

        ประเด็นปัญหาทางสุขภาพทั้ง 7 ประเด็นข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุหรี่ สุราและสิ่งเสพติด กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุทางถนน การขาดและเกินทางโภชนาการ ไปจนถึงเรื่องสุขภาพจิต และสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นท้าทายต่อการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษถัดไปของ สสส. ซึ่งอาศัยการร่วมมือกับเหล่าภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาวิธีการทำงาน ขยายผลการทำงาน และต่อยอดการทำงานโดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพในอนาคต แต่แน่นอนว่าประเด็นปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่ ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ สสส. จะยังคงทำหน้าที่ติดตามปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นพลวัตทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อรองรับต่อปัญหาสุขภาพของคนไทยในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

 

What’s Next in 10 Years

        “ตลอดมา สสส. มีต้นทุนการทำงานอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ต่อจากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งทำงานใน 3 ส่วนสำคัญ ส่วนที่ 1 การทบทวนเชิงประเมินยุทธศาสตร์การทำงานที่ผ่านมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมบนสภาวะปัจจุบัน ส่วนที่ 2 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งภายในและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะการสรรหา Young Generation ที่จะเป็นเลือดใหม่มาร่วมสานต่อ ต่อยอดการทำงานอย่างต่อเนื่อง และส่วนที่ 3 คือการมองหาสาเหตุสำคัญใหม่ๆ ที่มีผลต่อการลดทอนสุขภาวะของคนในแต่ละช่วงวัย เพื่อมุ่งสู่การป้องกันแก้ไขที่เหมาะสมตามบริบทปัจจุบัน”

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ | ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม, รก. ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.

 

        “การทำงานเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของ สสส. โดยเฉพาะในประเด็นที่กำลังถาโถมต่อชีวิตอย่างรุนแรง เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ได้ส่งผลกระทบที่สำคัญ เช่น อาการเจ็บป่วย การถดถอยทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในครอบครัว การเรียน การทำงาน ฯลฯ ที่สร้างความเครียด ความกังวล ความรู้สึก ‘ไม่โอเค’ กลายเป็นมลพิษทางใจและบั่นทอนพวกเราทุกคน ยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้คือ การสนับสนุนให้เกิดทุนพลังใจทางบวก ที่เน้นให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มีการมองโลกในแง่ดี มีพลังอึด ฮึดสู้ รวมทั้งต้องมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่จะสั่งสมพลังเพื่อสร้างให้เกิดปัญญา อารมณ์ดี มีความสุขในการแก้ปัญหาชีวิตในวันที่ ‘ไม่โอเค’ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิต”

ชาติวุฒิ วังวล | ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.

 

        “ระบบบริการสุขภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคตต้องเผชิญความท้าทายกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมทั้งจริงเท็จ เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันและบริการสุขภาพ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อทิศทางความต้องการบริการและอัตรากำลังของบุคลากรสุขภาพที่ไม่สมดุลกัน ดังนั้น ระบบบริการสุขภาพต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพทั้งระดับบุคคล ระดับครอบครัว ตลอดจนชุมชนจริงและชุมชนเสมือน จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่หลากหลาย”

พญ. ขจีรัตน์ ปรักเอโก | ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส.

 

        “หลายปีที่ผ่านมา ทีมส่งเสริมสุขภาวะองค์กรได้ทุ่มเทกับการสร้างเครือข่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราจะสานต่อจากสิ่งที่ทำ และจะปรับแนวทางให้ตอบโจทย์ใหม่ ตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งอยู่ตลอด เส้นทางจากนี้ก็จะปรับการวางแผนทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 10 ปี ได้แก่ Effectiveness ปรับการวางแผนการงาน ทำให้สร้างผลกระทบที่ตอบโจทย์ตรงขึ้น มากขึ้น ไวขึ้น ด้วยทรัพยากรที่น้อยลง Partnership Model Development ขยายเครือข่ายไปในทุกภาคส่วนที่เป็นองค์กรหลัก ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และความยั่งยืน และสุดท้าย Leveraging การวัดผล ขยายผล การต่อยอด และการนำแนวทางทางใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อผลักดันผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในด้านความสุขส่วนบุคคล องค์กร และสังคมไทย ในทุกมิติของ Happy 8”

พงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ | ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.

 

        “ด้วยบทบาทของ ThaiHealth Academy เราถือเป็นน้องใหม่ของ สสส. ที่มิได้ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะเชิงรุกเหมือนกับส่วนงานอื่นๆ ใน สสส. แต่เราทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในทศวรรษหน้า ThaiHealth Academy จึงมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่หนุนเสริมภาคีเครือข่ายองค์กรภาคสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน พัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานของ สสส. หรือบุคคลที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดพื้นที่เรียนรู้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ขยายฐานผู้รับประโยชน์ สอดรับกับเทคโนโลยีในอนาคต และพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกัน เพราะเราคือคำตอบของการเรียนรู้ด้านสุขภาวะเพื่อทุกคน”

รศ. ดร. นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ | ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

 

 

        “ความท้าทายต่อสังคมไทยในเวลานี้คือทำอย่างไรให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เราสร้างทางเลือก กระตุ้นให้เข้าใจและตื่นตัว แต่ปัญหาคือในกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มคนอายุยังน้อยจะไม่ตระหนักถึงสุขภาพมากนัก เพราะเป็นวัยที่มีพลัง แข็งแรง ชอบความท้าทาย หรือแม้แต่ในกลุ่มคนวัยทำงานก็ตาม ทุกคนไม่ชอบให้ใครมาสั่งหรือบังคับ การดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นจากความยินดีของบุคคลที่ต้องการปรับเปลี่ยนด้วยตัวเอง ดังนั้น เราจึงต้องค่อยๆ โน้มน้าวให้เขาปรับเปลี่ยน ใช้เหตุผล ข้อมูลวิชาการ พฤติกรรมเชิงสังคม สภาพแวดล้อมรอบตัว ค่อยๆ ปรับ ค่อยสร้างๆ ‘ไม่มีทางที่วันเดียวจะเปลี่ยนโลกได้’ ฉันใดก็ฉันนั้น แต่หากทุกคนเข้าใจ มีเป้าหมายเดียวกัน ก็ต้องช่วยกันผลักดัน สนับสนุนให้สุขภาวะที่ดีเกิดขึ้น”

ภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ | ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข (Sook Enterprise) สสส.

 

        “เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมทั้งระบบ เราต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากสภาวะของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าเดิม สิ่งที่เราต้องทำคือเน้นการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างระบบนั้นขึ้นมา”

สุรางครัตน์ สร้อยสนธิ์ | ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการ สสส.

 

        “ปัจจัยที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในหลายประเทศริเริ่มโครงการ Smart Health ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพที่ชาญฉลาด สสส. ในฐานะองค์การสร้างเสริม สุขภาพของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราจะส่งเสริม ปรับใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริม สุขภาพในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป”

สุหัทยา จิระนันทิพร | ผู้อำนวยการฝ่ายติดตามและประเมินผล สสส.

 

        “ในขณะที่ยุคดิจิทัลครองเมือง ซึ่งความพิเศษของเทคโนโลยีดิจิทัลคือสามารถเปลี่ยนสิ่งเดิมๆ ‘ให้ทันสมัยและทรงพลังได้มากขึ้น’ ดังนั้น ความท้าทายของ สสส. คือทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสมผสานกับงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ กลายเป็นงานสร้างเสริมสุขภาพที่ทันสมัย ทรงพลัง และทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม”

วิภาดา วงศ์เจริญวิทยา | ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน สสส.

 

        “ความท้าทายของ สสส. คือการสร้างความแตกต่างและการวางบทบาทในการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งต่อคุณค่าต่อประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา 20 ปี สสส. มีองค์ความรู้ต่างๆ มากมาย ที่ได้มาจากการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และเราสามารถจัดกลุ่มองค์ความรู้เหล่านี้ให้เหมาะสมต่อผู้รับบริการต่างๆ ได้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับองค์กรในแวดวงสุขภาพ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่ สสส. มี ให้ไปสู่กลุ่มผู้รับบริการต่างๆ ได้”

รวิศม์ วงษ์สมาน | ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สสส.

 

        “เราทำงานที่ท้าทายตลอดเวลา สิ่งที่มีผลโดยตรงต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยพิบัติ ฝุ่นพิษ PM2.5 โรคระบาดใหญ่ ไปจนถึงความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง สสส. ต้องเป็นผู้นำการร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อรับมือกับ ‘ผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ’ และแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดอย่างแท้จริง เพื่อความยั่งยืน”

ธัญญธร ยงศรีพิพัฒน์ | ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน สสส.

 

        “ทุกๆ วันของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพไม่มีอะไรตายตัว สิ่งที่ไม่คาดคิด เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งจากธรรมชาติอย่างโรคอุบัติใหม่ พฤติกรรมมนุษย์ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม แต่คน สสส. พร้อมรับมือกับทุกความท้าทาย เพราะเราเชื่อมั่นว่าองค์กรเล็กๆ อย่าง สสส. ที่จับมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเหมือนที่เคยทำมาตลอด 20 ปี และจะ ‘ทำ’ ต่อไปไม่ว่าจะอีกกี่ปี”

กาญจนา บงกชรัตน | ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร สสส.

 

        “ในมุมของคนทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ เราต้องการทำงานเชิงรุก มองไปข้างหน้า มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสถานการณ์ หมั่นพัฒนาทักษะความสามารถของตนเองสม่ำเสมอ เติมไฟ เติมพลังของการมีจิตสาธารณะ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มีใจเปิดกว้าง ช่วยเหลือสังคม ที่สำคัญต้องกลับมาดูแลกายและใจของตนเอง คนของ สสส. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการปัญหาสุขภาพได้”

ศิรินภา สถาพรวจนา | ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานบุคคล สสส.