คำถามที่ทุกคนเฝ้าถามกันในช่วงเดือนมีนาคมที่ยาวนานแสนนาน ว่าเมื่อไหร่โลกจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม
ไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้ได้หรือไม่
ไม่รู้ว่านี่คือคำถามที่ถูกต้องแต่แรกหรือไม่
เพราะคำตอบที่แน่นอนที่สุดนั่นคือ
โลกไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม…
เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปสู่โลกก่อนโควิดได้
ยูวาล โนอาห์ ฮาลารี ผู้เขียน Sapiens ได้เขียนบทความ ‘The World After Coronavirus’ โดยในบทความนี้เขาได้กล่าวเอาไว้ถึง ‘โลกหลังโควิด’ ที่ดูเหมือนว่าเรากำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัย เลือกขีดเส้นพรมแดนประเทศชาติให้ชัดขึ้นหรือเลือกความร่วมมือระดับโลก ในบทความนี้ ยูวาลไม่ได้ให้คำตอบไว้ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วโลกเราจะหันไปทางไหน แต่สิ่งที่เขาบอกไว้คือ
“สุดท้ายแล้วพายุจะผ่านไป แต่สิ่งที่เราเลือกในตอนนี้จะเปลี่ยนชีวิตของเราไปอีกนานหลายปี”
a day BULLETIN แปลบทความชิ้นสำคัญนี้มาให้อ่านกัน เพื่อให้เราได้ตระหนักกันถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของช่วงเวลานี้ และเห็นว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรล้วนขึ้นอยู่กับทางเลือกของพวกเราทั้งหลายตอนนี้เท่านั้น
“มนุษยชาติกำลังเผชิญกับวิกฤตระดับโลก วิกฤตที่หนักหนาที่สุดในยุคสมัยของเรา การตัดสินใจของผู้คนและรัฐบาลต่างๆ ที่กำลังจะเลือกปฏิบัติในช่วงเวลาอันใกล้นี้จะส่งผลต่อโลกของเราต่อไปอีกหลายปี การตัดสินใจทั้งหลายช่วงนี้จะไม่เพียงส่งผลต่อระบบสาธารณสุข แต่ยังรวมถึงระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เราต้องดำเนินการโดยด่วนและเด็ดขาด ในขณะเดียวกันเราต้องคำนึงถึงผลต่างๆ ที่จะตามมาในระยะยาวจากการกระทำของเราในวันนี้
“ยามใดที่ต้องตัดสินใจระหว่างทางเลือกสองทาง เราต้องถามตัวเองเสมอ ไม่ใช่แค่ว่ามันจะทำให้เรารอดพ้นจากความเสี่ยงเฉพาะหน้าได้หรือไม่ แต่ยังต้องถามว่ามันจะส่งผลให้เกิดโลกแบบไหนหลังจากพายุร้ายนี่ผ่านพ้นไป
“ใช่ พายุนี้มันจะผ่านพ้นไป มนุษยชาติต้องรอด พวกเราส่วนใหญ่จะยังคงมีชีวิตอยู่ – แต่เราจะอยู่ในโลกที่ต่างออกไป
“มาตรการเร่งด่วนระยะสั้นจะเป็นการรักษาชีวิต นั่นเป็นธรรมชาติของเรื่องเร่งด่วน มันเร่งกระบวนการประวัติศาสตร์ การตัดสินใจในช่วงเวลาปกติที่อาจต้องใช้การครุ่นคิดเป็นปีต้องถูกเร่งให้เร็วขึ้นในไม่กี่ชั่วโมง เทคโนโลยีที่ยังไม่พร้อมหรืออาจเป็นอันตรายถูกกดดันให้นำมาบังคับใช้ เพราะว่าความเสี่ยงของการไม่ทำอะไรเลยนั้นอาจร้ายแรงยิ่งกว่า หลายๆ ประเทศกลายเป็นหนูทดลองในห้องทดลองทางสังคมขนาดใหญ่ มันจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทุกคนทำงานจากที่บ้าน และสื่อสารกันจากระยะไกล จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องทำการสื่อสารผ่านออนไลน์ ในสถานการณ์ปกตินั้น รัฐบาล ธุรกิจกิจการต่างๆ หรือคณะกรรมการการศึกษาไม่มีทางตกลงที่จะทดลองเรื่องเช่นนี้ร่วมกันแน่ๆ แต่นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
“ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ เราเผชิญหน้ากับทางเลือกที่สำคัญสองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือทางเลือกระหว่างการควบคุมอย่างเข้มงวดจากทางการหรือการรวมพลังกันของประชาชน ส่วนเรื่องที่สองคือการแยกขาดกันของแต่ละชาติหรือการร่วมมือร่วมใจกันระดับโลก”
ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด
“เพื่อที่จะหยุดยั้งการระบาด ประชากรทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด มีสองหนทางที่จะทำสิ่งนี้ได้ หนึ่ง คือให้รัฐบาลควบคุมผู้คน และสอง คือลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎ
“ในวันนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เทคโนโลยีสามารถทำให้เราสามารถควบคุมพฤติกรรมผู้คนได้ตลอดเวลา เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว หน่วย KGB ไม่สามารถติดตามชาวโซเวียต 240 ล้านคน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พวกเขาไม่แม้แต่จะหวังว่าจะประมวลข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยซ้ำ หน่วย KGB ในตอนนั้นทำได้เพียงพึ่งพาสายลับและการวิเคราะห์ แต่สายลับก็ไม่สามารถติดตามประชาชนทุกคนไปทุกหนแห่งได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลต่างๆ สามารถใช้ระบบเซนเซอร์ที่ติดอยู่ทุกหนแห่งและอัลกอริทึมทรงพลังแทนที่จะต้องใช้สายลับมนุษย์
“เพื่อที่จะหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา รัฐบาลหลายประเทศได้เริ่มใช้เครื่องมือช่วยติดตามต่างๆ เคสที่เห็นได้ชัดที่สุดคือประเทศจีน ด้วยการติดตามโทรศัพท์ของผู้คน ใช้ประโยชน์จากกล้องที่ตรวจจับหน้าได้จำนวนนับร้อยล้านเครื่อง และบังคับให้ผู้คนตรวจอุณหภูมิและเช็กสุขภาพตัวเองทุกวัน การทำเช่นนี้นั้นไม่เพียงแต่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทางการจีนสามารถระบุได้ว่าใครอาจเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัส แต่ยังสามารถติดตามการเคลื่อนไหวและระบุได้ว่าพวกเขาไปสัมผัสใครมาบ้าง นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีแอพพลิเคชันอื่นๆ อีกมากมายที่ออกมาเตือนประชากรพวกเขาถึงระยะใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ
“เทคโนโลยีประเภทนี้ไม่ได้ถูกจำกัดใช้แค่ในเอเชียตะวันออกเท่านั้น เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีประเทศอิสราเอล ก็ได้อนุมัติให้หน่วยงานความมั่นคงอิสราเอลใช้เทคโนโลยีการตรวจตราติดตามที่ปกติจะสงวนไว้ใช้แค่ในการป้องกันการก่อการร้าย เพื่อนำมาใช้ติดตามผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส เมื่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องปฏิเสธมาตรการนี้ในตอนแรกนั้น เนทันยาฮูก็ตอบกลับว่า นี่เป็นมาตรการฉุกเฉิน
“คุณอาจจะคิดว่าทั้งหมดนี้นั้นไม่เห็นจะมีอะไรใหม่เลย ในช่วงปีที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ก็ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนเพื่อติดตามและควบคุมผู้คนกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ระวังให้ดี การระบาดครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของการควบคุมตรวจตรา เปลี่ยนการตรวจตราในวงกว้างให้กลายเป็นเรื่องปกติ”
“ก่อนหน้านี้ เวลาที่นิ้วคุณสัมผัสหน้าจอและเริ่มคลิกเข้าลิงก์อะไรสักอย่าง รัฐบาลก็อยากรู้แล้วว่าคุณนั้นเลือกดูอะไร แต่ด้วยไวรัสโคโรนา ความสนใจของพวกเขาก็เปลี่ยนไป รัฐบาลอยากรู้มากกว่าว่าอุณหภูมิและความดันร่างกายของคุณนั้นตอนนี้สูงเท่าไหร่
“ลองคิดกันดูว่า หากต้องให้รัฐบาลที่ไม่น่าไว้ใจบังคับให้ประชาชนใส่กำไลชีวภาพ (biometric bracelet) ที่ตรวจจับอุณหภูมิร่างกายและการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่รัฐบาลจะเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้และนำไปประเมิน ซึ่งอัลกอริทึมนั้นจะรู้ว่าคุณป่วยก่อนที่คุณจะป่วยเสียอีก และมันจะรู้ด้วยว่าคุณไปไหนมา ไปพบใคร นี่อาจทำให้การระบาดของโรคลดลงอย่างมหาศาล ระบบเช่นนั้นอาจจะสามารถหยุดการระบาดได้ในไม่กี่วัน ฟังดูดีใช่ไหมล่ะ
“แต่แน่ละ ข้อเสียก็คือมันจะให้ความชอบธรรมกับระบบการตรวจจับที่น่ากลัวโดยทันที ยกตัวอย่างว่า ถ้าผมคลิกดูข่าวจาก Fox แทน CNN นั่นก็อาจบอกข้อมูลความเชื่อทางการเมืองหรือแม้กระทั่งลักษณะนิสัยผมได้ทันที แต่ถ้าคุณสามารถตรวจจับได้ถึงอุณหภูมิร่างกายของผม ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจในขณะที่ผมกำลังดูคลิปบางอย่าง คุณอาจจะรู้ถึงกระทั่งวิธีที่จะทำให้ผมหัวเราะ วิธีที่จะทำให้ผมร้องไห้ หรือแม้กระทั่งวิธีที่จะทำให้ผมโกรธ โกรธเอามากๆ
“อย่าลืมว่าความโกรธ ความสุข ความเบื่อ และความรักนั้นก็เป็นปรากฏการณ์ทางร่างกายไม่ต่างจากไข้หรืออาการไอ นั่นหมายความว่า เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจจับการไอก็สามารถตรวจจับการหัวเราะได้เช่นกัน ถ้าหน่วยงานต่างๆ และรัฐบาลเริ่มใช้ประโยชน์จากข้อมูลชีวภาพของพวกเราแล้วล่ะก็ พวกเขาจะรู้จักเราดีกว่าเรารู้จักพวกเราเอง และพวกเขาก็จะไม่แค่ทำนายความรู้สึกเราได้ล่วงหน้า แต่สามารถควบคุมความรู้สึกเราได้และขายอะไรให้เราก็ได้ – ไม่ว่านั่นจะเป็นสิ่งของ หรือนักการเมืองก็ตาม การตรวจจับทางชีวภาพนั้นจะทำให้ ‘แคมบริดจ์อนาไลติกา’ กลายเป็นเรื่องเก่าจากยุคหินไปเลย ลองจินตนาการดูว่าเกาหลีเหนือในปี 2030 หากทุกคนต้องใส่กำไลชีวภาพตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าคุณฟังสุนทรพจน์จาก ‘ท่านผู้นำ’ แล้วกำไลตรวจจับได้สัญญาณความรู้สึกโกรธจากคุณได้ คุณก็จบเห่
“ในกรณีมาตรการขอควบคุมติดทางชีวภาพชั่วคราวในช่วงเวลาฉุกเฉินนั้น หลายคนอาจคิดว่ามันจะถูกยกเลิกไปเมื่อช่วงเวลาฉุกเฉินจบลง แต่มาตรการชั่วคราวมีนิสัยแย่ๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ มันมักจะมีชีวิตยืนยาวกว่าช่วงเวลาฉุกเฉินเสมอ ยกตัวอย่างประเทศของผม อิสราเอล ที่เคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในปี 1948 ช่วงสงครามประกาศอิสรภาพ ซึ่งให้ความเป็นธรรมกับมาตรการเร่งด่วนต่างๆ ทั้งการควบคุมสื่อ การยึดที่ดิน หรือแม้แต่การทำพุดดิ้ง (ผมไม่ได้ล้อเล่น) สงครามประกาศอิสรภาพนั้นจบไปนานแล้ว แต่มาตรการเหล่านั้นยังคงอยู่ต่อไป (พ.ร.ก. ฉุกเฉินว่าด้วยการทำพุดดิ้งนั้นเพิ่งถูกยกเลิกไปในปี 2011)
“แม้วันที่ยอดการติดเชื้อไวรัสโคโรนานั้นจะลดลงเป็นศูนย์ แต่รัฐบาลที่หิวกระหายข้อมูลต่างๆ ก็ยังสามารถอ้างได้ว่าพวกเขาต้องการจะเก็บระบบติดตามข้อมูลทางชีวภาพพวกนี้ไว้เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้นเป็นระลอกที่สอง ที่ผ่านมาเราได้ต่อสู้กันอย่างมากเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเรา แต่วิกฤตไวรัสโคโรนาครั้งนี้อาจเป็นฟางเชือกสุดท้าย ที่ผู้คนต้องเลือกระหว่างความปลอดภัยและสุขภาพ และถ้าพวกเขาต้องเลือก ส่วนมากพวกเขาก็จะเลือกสุขภาพเสมอ
“การที่ขอให้คนต้องเลือกระหว่างสุขภาพและความปลอดภัยนั้น อันที่จริงแล้วเป็นปัญหาด้วยตัวของมันเอง เพราะว่ามันเป็นทางเลือกที่ผิด เราควรจะต้องได้ทั้งความเป็นส่วนตัวและสุขภาพที่ดี เราสามารถเลือกสุขภาพของเราได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถหยุดยั้งการระบาดครั้งใหญ่ได้อีกเช่นกัน ไม่ใช่ผ่านการปล่อยให้รัฐบาลเผด็จการสามารถออกมาตรการควบคุมเราได้ แต่ผ่านการเสริมสร้างพลังให้กับผู้คน
“ในอาทิตย์ที่ผ่านมา มีความพยายามร่วมกันที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เช่น ในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ใช้แอพพลิเคชันติดตามอยู่บ้าง พวกเขาก็ได้อาศัยการตรวจผู้ติดเชื้ออย่างจริงจัง รายงานที่โปร่งใส และความร่วมมือกันของผู้คนที่เกิดขึ้นได้เพราะความไว้ใจ จากการที่ได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนมาโดยตลอด
“การควบคุมรวมศูนย์และการลงโทษอย่างรุนแรงนั้นไม่ใช่หนทางเดียวที่จะทำให้คนปฏิบัติตามระเบียบต่างๆ ได้ เมื่อผู้คนได้ข้อมูลแท้จริง เมื่อผู้คนไว้วางใจเจ้าหน้าที่และพร้อมใจเปิดเผยข้อมูล เมื่อนั้นผู้คนก็จะสามารถร่วมมือกันทำสิ่งที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องมี ‘Big Brother’ พี่ใหญ่ที่คอยมาสอดส่อง ควบคุมตลอดเวลา รัฐที่ประชาชนมีข้อมูลถึงพร้อม และริเริ่มยินยอมให้ข้อมูลได้ด้วยตนเองนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐที่เต็มไปด้วยประชาชนที่ไม่แยแสถูกควบคุมกว่ามาก”
“ยกตัวอย่างเรื่องของการล้างมือ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญของสุขลักษณะมนุษย์ การกระทำง่ายๆ นี้ช่วยชีวิตหลายล้านคนในแต่ละปี ก่อนหน้าศตวรรษที่ 19 ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบความสำคัญของการล้างมือนี้ แพทย์และพยาบาลยังทำการผ่าตัดโดยไม่ล้างมือกันอยู่เลย แต่ปัจจุบันนี้ผู้คนล้างมือกันเป็นประจำ เพราะพวกเขารู้ความจริง พวกเขารู้ว่าการล้างมือจะช่วยฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขากลัว ‘soap police’ เสียเมื่อไหร่
“แต่การที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติตาม และเกิดการร่วมมือกันได้นั้นจำเป็นต้องมีความไว้ใจ ผู้คนต้องไว้ใจวิทยาศาสตร์ ไว้ใจเจ้าหน้าที่และสื่อ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นักการเมืองไร้ความรับผิดชอบบางคนได้ทำลายความน่าเชื่อถือในวิทยาศาสตร์ ในเจ้าหน้าที่ และในสื่อ และตอนนี้เอง พวกนักการเมืองเหล่านั้นก็จะพยายามใช้หนทางไปสู่ความเป็นเผด็จการ โดยอ้างชุ่ยๆ ว่าคุณไม่สามารถไว้ใจ แล้วหวังว่าผู้คนจะทำสิ่งที่ถูกต้องได้หรอก
“โดยปกติแล้ว ความไว้ใจที่ถูกทำลายมายาวหลายปีไม่สามารถถูกกอบกู้ขึ้นมาในข้ามคืนได้ แต่นี่ไม่ใช่เวลาปกติ ในช่วงวิกฤต จิตใจนั้นเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว คุณอาจเคยทะเลาะกับพี่น้องอย่างรุนแรงมายาวนาน แต่เมื่อเกิดเหตุเร่งด่วนขึ้น คุณก็ค้นพบความไว้ใจ ความผูกพันมหาศาล และรีบรุดหน้าเข้าช่วยเหลือกัน แทนที่จะสร้างระบบตรวจตราควบคุมในช่วงเวลานี้
“มันไม่สายเกินไปที่เราจะใช้เวลานี้สร้างความไว้ใจของผู้คนขึ้นมาใหม่ ให้เชื่อในวิทยาศาสตร์ เชื่อในรัฐ และสื่ออีกครั้ง เราควรต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน แต่ต้องเป็นเทคโนโลยีที่เสริมสร้างพลังให้ผู้คน ผมยินดีมากที่จะให้คนตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและอัตราการเต้นของหัวใจผม แต่ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องถูกนำไปใช้สร้างรัฐให้ทรงพลังแข็งแกร่ง ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลเหล่านั้นควรจะต้องนำกลับมาใช้เพื่อให้ผมได้มีข้อมูลที่ดีเพียงพอเพื่อที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง หรือไม่ก็เป็นข้อมูลที่ทำให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบได้กับการตัดสินใจใดๆ ที่พวกเขาเลือกไป
“การระบาดของไวรัสโคโรนาจึงเป็นบททดสอบใหญ่ของความป็นพลเมือง ในอนาคตอันใกล้นี้ เราแต่ละคนควรเลือกที่จะไว้ใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทางการแพทย์มากกว่าทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดต่างๆ หรือนักการเมืองที่มัวแต่หาประโยชน์ใส่ตนเอง ถ้าเราตัดสินใจพลาดไป เราอาจจะพบว่าพวกเราได้ลงนามอนุมัติให้เสรีภาพของเราหลุดลอย หลงคิดไปว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะรักษาสุขภาพของเราได้”
เราต้องการแผนระดับโลก
“การตัดสินใจที่สำคัญอย่างที่สองคือ เราต้องเลือกระหว่างการตัดขาดระหว่างประเทศ หรือการร่วมมือร่วมใจกันระดับโลก ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถจัดการทั้งปัญหาการระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาใหญ่ระดับโลกได้
“อย่างแรกและสำคัญที่สุดคือ ในการที่เราจะต่อสู้กับไวรัส เราจำเป็นที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทั้งโลก นั่นคือความได้เปรียบเดียวที่มนุษย์มีเหนือไวรัส ไวรัสโคโรนาในจีนและในสหรัฐฯ ไม่สามารถแลกข้อมูลกันได้ว่าพวกมันจะแพร่เชื้อให้มนุษย์อย่างไร แต่จีนสามารถแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ ได้หลายบทเรียนว่าพวกเขารับมือกับไวรัสนี้อย่างไร สิ่งที่แพทย์อิตาเลียนในมิลานค้นพบสามารถช่วยหลายชีวิตในอิหร่านได้ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ในขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรลังเลที่จะตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างๆ พวกเขาก็สามารถขอข้อมูลจากเกาหลีใต้ได้ เพราะเกาหลีใต้เคยผ่านการต้องตัดสินใจเรื่องยากมาก่อนพวกเขา และการที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ เราจำเป็นที่จะต้องมีสปิริตการร่วมมือกันระดับโลก และความไว้ใจกัน
“ประเทศต่างๆ ควรยินดีที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างเปิดเผย ถ่อมตนขอความเห็นจากกันและกัน และควรจะไว้ใจในข้อมูลที่ได้มา นอกจากนี้แล้วเรายังต้องการความร่วมมือกันระดับโลกที่จะกระจายเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะชุดตรวจไวรัสและเครื่องช่วยหายใจ แทนที่จะปล่อยให้แต่ละประเทศต้องหาทางจัดการกันเอง และกักตุนอุปกรณ์เท่าที่พวกเขาจะหาได้ ความร่วมมือกันระดับโลกนั้นจะเร่งกระบวนการผลิต และทำให้แน่ใจได้ว่าเครื่องมือที่จำเป็นจะถูกกระจายกันอย่างเท่าเทียมและเพียงพอ
“เช่นที่เราเคย ‘nationalise’ อุตสาหกรรมการผลิตสำคัญในช่วงสงคราม ในสงครามต่อสู้กับไวรัสนี้ เราอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นการ ‘humanise’ กระบวนการผลิตสำคัญเช่นเดียวกัน ประเทศที่รวยกว่าและเจอเคสน้อยกว่าควรยินดีที่จะส่งเครื่องมือสำคัญไปยังประเทศที่ยากจนและเจอเคสจำนวนมาก ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจว่าเมื่อวันหนึ่งหากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว ประเทศต่างๆ ก็จะช่วยเหลือเขาเช่นกัน
“การร่วมมือกันระดับโลกยังสำคัญในเรื่องของเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากธรรมชาติของระบบห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจแล้ว ถ้ารัฐบาลแต่ละประเทศมัวแต่จัดการกันเอง ไม่มีใครสนใจใคร ผลลัพธ์นั้นจะต้องยุ่งเหยิง และทำให้วิกฤตแย่ไปกันใหญ่แน่ๆ เราจำเป็นที่จะต้องมีแผนระดับโลกร่วมกัน และเราต้องทำอย่างเร็วที่สุด
“อีกความร่วมมือระดับใหญ่คือข้อตกลงเรื่องการเดินทาง การชะงักการเดินทางระหว่างประเทศยาวนานหลายเดือนจะก่อให้เกิดความยากลำบากแน่ๆ และจะขัดขวางการร่วมกันหยุดการระบาดของไวรัสนี้ด้วย ประเทศจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือกันในการที่อย่างน้อยจะอนุญาตให้บางอาชีพสามารถเดินทางได้ เช่น นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ สื่อ นักการเมือง นักธุรกิจ ซึ่งจะสามารถทำได้หากมีข้อตกลงร่วมกัน และมีการตรวจเช็กร่วมกันระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
“ความโชคร้ายก็คือ จวบจนกระทั่งตอนนี้ ประเทศต่างๆ ยังแทบไม่ทำในสิ่งเหล่านี้เลย ความร่วมมือที่เป็นอัมพาตได้ชะงักความเป็นหนึ่งชุมชนโลกเดียวกันไว้ ดูเหมือนว่าเราไม่มีผู้ใหญ่ที่พึ่งได้เลย หลายคนอาจหวังว่าเราจะได้เห็นการประชุมใหญ่ของผู้นำระดับโลกที่จะมาหารือร่วมกัน ผู้นำ G7 มีการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กันในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้มีแผนชัดเจนใดๆ ออกมาจากที่ประชุม
“ในวิกฤตระดับโลกที่ผ่านมา เช่น ในวิกฤตการเงินในปี 2008 และการระบาดของอีโบลาในปี 2014 สหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจะรับบทบาทเป็นผู้นำโลกนี้ แต่รัฐบาลชุดนี้ดูจะละทิ้งบทบาทนั้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง พวกเขาบอกอย่างชัดเจนว่า สนใจก็เพียงแต่ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องของอนาคตมนุษยชาติใดๆ
“ถ้าตำแหน่งว่างที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้นี้ไม่ถูกเติมเต็มโดยประเทศใดๆ มันจะไม่ได้ยากแค่หยุดยั้งการระบาด แต่ผลของมันจะส่งพิษร้ายไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอีกหลายปีต่อจากนี้ จริงอยู่ที่ทุกวิกฤตนั้นมีโอกาส เราต้องมีความหวังว่าการระบาดครั้งนี้จะช่วยให้มนุษยชาติเข้าใจได้ถึงพิษร้ายของความแตกหัก ไม่สามัคคีกันระดับโลก
“มนุษยชาติจำเป็นที่จะต้องเลือก เราจะเลือกหนทางที่จะแตกหัก หรือจะเลือกเดินไปสู่ความร่วมมือร่วมใจกัน ถ้าเราเลือกที่จะแตกหัก หนทางนี้จะไม่ใช่แค่ขยายความวิกฤตให้ยาวนานขึ้น แต่จะส่งผลร้ายเป็นหายนะที่แย่กว่านี้อีกในอนาคต แต่ถ้าเราเลือกที่จะสามัคคี ร่วมมือกัน นี่จะไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะต่อไวรัส แต่จะเป็นชัยชนะต่อการระบาดทั้งหมดที่อาจโจมตี ทำลายล้างมนุษยชาติในศตวรรษที่ 21 นี้ได้”
อ้างอิง: www.ft.com/content/19d90308-6858-11ea-a3c9-1fe6fedcca75