ไฟป่ากับการเมือง

การปลุกปั้นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ก่อร่างเป็นวิกฤตไฟป่าโลก

ความร้อนระอุตั้งแต่ 7 โมงเช้าในฤดูหนาว กับฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมหนาแน่นเต็มพื้นที่ กทม. เป็นสัญญาณใกล้ตัวที่กำลังบอกกับเราว่า ‘โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป’ 

        วิกฤตไฟป่าที่ปะทุขึ้นทั่วทุกมุมโลกตลอดปี 2019 ต่อเนื่องมาถึงปี 2020 แม้จะมีสาเหตุการเกิดไฟป่าแตกต่างกันออกไปแต่ละพื้นที่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลเชื่อมโยงมาจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศโลกอันเกิดจาก ‘ภาวะโลกร้อน’ 

        ในปัจจุบันโลกร้อนขึ้นแล้วราว 1.1 องศาเซลเซียส และรายงานการปล่อยมลพิษล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ยังระบุว่า ก่อนจะถึงศตวรรษที่ 22 อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มสูงขึ้น 3.9 องศาเซลเซียส 

        แน่นอน หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นด้วยอัตรานี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดยเฉพาะปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) มองว่ามีความเป็นไปอย่างมากที่โลกจะเปลี่ยนไปอย่างกู่ไม่กลับหากเราไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน ค.ศ. 2030 แต่ขณะที่โลกกำลังเดินเข้าสู่ยุคดิสโทเปียด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง ผู้นำบางประเทศกลับไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และเลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไว้แทนการเยียวยาภาวะโลกร้อน

 

        ในปีที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ ทำให้สหรัฐฯ เป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้ ทรัมป์มองว่าข้อกำหนดในการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมพยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสเป็นสิ่งที่ยากเกินไป เขาไม่ต้องการเอาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มาเสี่ยงกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนที่อาจส่งผลกระทบด้วย และในการประชุม G20 ครั้งที่ 14 ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ทรัมป์ตอกย้ำอุดมการณ์นี้ด้วยการชักจูงซาอุดีอาระเบีย บราซิล ออสเตรเลีย และตุรกี มาร่วมกันคัดค้านข้อบังคับจากข้อตกลงปารีส

        นอกจากนี้ กรณีไฟป่าในแอมะซอนที่บราซิลอันมีสาเหตุมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน ก็เป็นผลพวงมาจากรัฐบาลของประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู สนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถใช้ทรัพยากรในเขตป่าแอมะซอนได้อย่างเสรี ทั้งยังปล่อยปละละเลยการถางป่าอย่างผิดกฎหมาย พร้อมตัดงบประมาณด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติลงไปกว่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำงบประมาณนี้ไปใช้พัฒนาการคมนาคมและเขื่อนผลิตไฟฟ้าในเขตป่าแอมะซอนแทน 

        เหตุการณ์ไฟป่าที่ออสเตรเลียเองก็ถูกโยงเข้ากับนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรี สกอต มอริสัน มุ่งผลักดันให้ออสเตรเลียเป็นแชมป์การผลิตและส่งออกถ่านหินในตลาดโลก สวนทางข้อตกลงปารีสที่ออสเตรเลียตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 26-28% ภายในปี 2030 โดยนักสิ่งแวดล้อมมองว่าจำนวนนั้นไม่มากพอสำหรับประเทศพัฒนาแล้วเช่นออสเตรเลีย และเมื่อสื่อถามมอริสันว่าจะมีการปรับนโยบายเพื่อต่อสู้กับโลกร้อนที่ควรจะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ เขายังยืนยันที่จะดำเนินการตามนโยบายเดิมทุกประการ พร้อมกล่าวว่าเหตุการณ์ไฟป่าไม่ควรจะนำมาโยงกับนโยบายผลิตและส่งออกถ่านหิน เนื่องจากมีสถิติยืนยันชัดเจนว่าสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ 1.3% เท่านั้น

 

        อย่างไรก็ตาม การที่โลกร้อนขึ้นไม่สามารถกล่าวโทษได้ว่าเป็นผลมาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะทุกประเทศต่างล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหานี้ แต่ทางออกที่พอจะทำให้โลกที่ร้อนกลับมาเย็นขึ้นได้อีกครั้ง หรือพอจะบรรเทาสถานการณ์ได้ นานาชาติต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดตามข้อตกลงปารีส เพราะขณะนี้แม้จะยึดปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว แต่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) มองว่าสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แผนการที่วางไว้อาจใช้ไม่ได้ผล 

 


อ้างอิง: www.theguardian.com www.tnnthailand.com, www.unenvironment.org, www.eppo.go.th, www.posttoday.com, https://thematter.co, https://news.thaipbs.or.th, www.the101.world, https://spaceth.co