ผู้เรียนหลักสูตร iCPCJ กับไอเดียแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ยึดหลักประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง สรุป 4 หลักประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ด่วน!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนทุกภาคส่วนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ไม่ว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ถูกกระทำหรือได้รับผลกระทบ ผู้กระทำความผิดหรือสร้างผลกระทบให้แก่ผู้อื่น ผู้รับทราบถึงประเด็นปัญหาภายใต้กระบวนการยุติธรรม ผู้พิทักษ์หรือผู้ดำรงความยุติธรรม รวมถึงผู้แก้ไขหรือพัฒนาศักยภาพผู้กระทำความผิด 

        อย่างไรก็ตาม จะมีคนจำนวนเท่าใดที่จะมองเห็นถึงแก่นแท้ของต้นกำเนิดในประเด็นปัญหาที่ยกมาข้างต้นนั้น จะมีสักกี่คนที่จะทำการเรียกร้องสิทธิด้านความยุติธรรมให้กับตนเองหรือคนรอบข้างโดยปราศจากความกลัวถึงผลกระทบที่จะตามมา หรือจะมีคนใดที่จะกล้าป่าวประกาศ (Blow the Whistle) เมื่อเห็นความอยุติธรรม 

        ดังนั้น การรวมกลุ่มของผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลาย บุคลากรจากองค์การระหว่างประเทศที่ทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และผู้นำองค์กรภาคเอกชน เป็นเสมือนการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งของการแก้ไขปัญหาโดย ‘มองให้ลึกถึงประเด็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย’ ที่สกัดจนได้ 4 ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจและต้องเร่งแก้ไขในสถานการณ์ปัจจุบัน 

        เนื่องด้วยทั้ง 4 ประเด็นปัญหานั้น ล้วนส่งผลต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น นโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กติดผู้ต้องขัง (Getting the Right Start: Recognizing the Rights of the Children of Prisoners) การช่วยเยาวชนผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม ด้วยเครื่องมือประเมินตามหลัก Good Lives Model (Supporting the effective reintegration of young offenders under with assessment tool under the ‘Good Lives Model’) บ้านพระพร ยุติธรรมนำร่องความร่วมมือ (Into the House of Blessing, a sandbox for collaborative justice) เปลี่ยนเหยื่อเป็นผู้ล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Winning the People’s battle against phone scams in Thailand) ซึ่งผู้เข้าร่วมหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (The Executive Programme for the Implementation of International Standards and Norms in Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ iCPCJ หลักสูตรเพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการของผู้เข้าร่วมหลักสูตร ซึ่งได้นำเอามาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศมาปรับใช้ในบริบทประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยยึดหลัก ‘กระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง’

 

คุณกรวิไล เทพพันธุ์กุลงาม และ คุณนารถ จันทวงศ์
ผู้นำเสนอโครงการในกลุ่ม นโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กติดผู้ต้องขัง

        “ถ้าเลือกได้อยากอยู่ใกล้ชิดลูก แต่ไม่ต้องการให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมเรือนจำ” คำกล่าวส่วนหนึ่งของผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกในเรือนจำ จากการลงพื้นที่ทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าว ที่ผู้นำเสนอโครงการในกลุ่ม นโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กติดผู้ต้องขัง ได้ยกขึ้นมานำเสนอถึงสิ่งที่สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับเด็กติดผู้ต้องขัง เด็กที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่เมื่อมีแม่ที่กระทำความผิดและถูกตัดสินให้ถูกจำคุกหรือกักขัง ในขณะที่ยังตั้งครรภ์หรือมีบุตรที่อายุยังไม่เกิน 3 ปี ทำให้เด็กเหล่านี้อาจถูกตีตราว่าเป็นลูกคนขี้คุก หรือทำให้เด็กดูแปลกแยกเมื่อกลับเข้ามาอยู่ในสังคมปกติ และอาจนำมาซึ่งปัญหาต่อๆ ไปในอนาคตเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเติบโตขึ้น ซึ่งมีผู้ต้องขังหญิงจำนวน 229 ราย จากผู้ต้องขังหญิงทั้งสิ้น 30,789 ราย ที่ต้องเผชิญปัญหานี้ เนื่องจากมีเรือนจำจำนวน 107 แห่ง จาก 143 แห่งที่สามารถรองรับเด็กติดผู้ต้องขังได้ 

        ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่ม นโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กติดผู้ต้องขัง ได้บอกเล่าถึงความต้องการของผู้หญิงอีกส่วนที่ถูกกักขังในเรือนจำและมีบุตรว่า บางคนขอเลือกที่จะใส่กำไล EM เพื่อจำกัดบริเวณ แต่ยังมีสิทธิ์ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดภายนอกเรือนจำ 

        อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังหญิงทุกคนกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เรือนจำได้ให้การดูแลเป็นอย่างดี มีสถานที่แยกในการอาศัย มีเครื่องใช้ให้ครบครัน นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่ม นโยบายส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กติดผู้ต้องขัง ยังหยิบยกประเด็น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และมาตรา 246 ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับจำเลยมีครรภ์และจำเลยที่มีบุตรแล้ว แต่ยังไม่ถึง 3 ปี ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาหรือจำคุกไว้ก่อน 

        อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการนำมาตรา 246 มาใช้ จึงเป็นที่มาของการคิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลโดยให้ประโยชน์สูงสุดกับเด็ก ซึ่งอาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า เด็กเหล่านั้น ควรได้รับการปฏิบัติตามแนวทาง non-custodial เฉกเช่นเด็กทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยยึดหลักประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก ซึ่งอาจทำได้โดย ติดต่อให้ญาตินำเด็กไปเลี้ยงดู 

        อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้ดูแล เด็กเหล่านั้นจะได้รับการดูแลในสถานที่รับเลี้ยงเด็กซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านี้มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคมต่อไปในอนาคต สรุปโดยภาพรวมได้ว่า ผู้ต้องขังหญิงควรได้รับการปฏิบัติตามแนวทาง non-custodial measures หรือมาตรการที่มิใช่การคุมขัง 

คุณธนะชัย สุนทรเวช
นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ การช่วยเด็กและเยาวชนผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม 
ด้วยเครื่องมือประเมินตามหลัก Good Lives Model

        ในขณะที่ผู้เรียนจากหลักสูตร iCPCJ อีกหนึ่งกลุ่ม ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ การช่วยเด็กและเยาวชนผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม ด้วยเครื่องมือประเมินตามหลัก Good Lives Model เนื่องจากผลการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลพบว่า มีจำนวนเยาวชนที่ถูกจับกุมและถูกปล่อยตัว แต่ก็กลับมากระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา 3 ปี สูงถึง 43% ทำให้ผู้เรียนศึกษากรอบแนวคิดของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เรียกว่า กรอบแนวคิด Risk-Need-Responsibility Model มาใช้แนวคิดหลักในการคิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อจัดการปัญหาของเยาวชนเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ 

        โดยกรอบแนวคิดนี้แสดงให้เห็นว่าเยาวชนบางกลุ่มที่กระทำผิดดังกล่าวมีแรงจูงใจต่ำในการที่จะปรับปรุงตนเอง กรมพินิจฯ จึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและนำมาซึ่งหลักการ Good Lives Model (GLM) ที่เป็นการค้นหาความต้องการของเป้าหมายในชีวิตรายบุคคลของเยาวชนผู้ก้าวพลาดซึ่งมีอายุไม่เกิน 24 ปีบริบูรณ์ก่อนเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึก ซึ่งมี 5 มิติ ดังนี้ ครอบครัว การศึกษา/การประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย/ระบบการดูแลของชุมชน การใช้เวลาว่าง/การคบเพื่อน การจัดการ/แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งได้มีการทำ Pilot test และได้ค่าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ 0.74 และจะถูกนำมาให้นักสังคมสงเคราะห์ได้ใช้ประเมินเยาวชนก่อนปล่อยให้กลับไปอยู่ในสังคมปกติ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ระยะรับตัว ระยะจำแนก ระยะฝึกอบรม และระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย 

        นอกจากการพัฒนา GLM แล้วนั้น ยังได้มีการพัฒนาแคตตาล็อกเครือข่ายเพื่อให้ได้ผู้สนับสนุนและดูแลเยาวชนว่าเครือข่ายที่สำรวจ มีศักยภาพที่จะดูแลและสนับสนุนเยาวชนในด้านใดบ้าง และมีความคาดหวังว่า GLM จะสามารถนำไปใช้ในภาคส่วนอื่นๆ ได้ในอนาคต 

        เมื่อพูดถึงเยาวชนที่เคยกระทำผิดและยังมีการกระทำผิดซ้ำ หลายคนอาจมองข้ามการดำเนินงานหรือการบูรณาการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรม แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวแทนกลุ่มบ้านพระพร ยุติธรรมนำร่องความร่วมมือ จึงได้นำเสนอให้ “บ้านพระพร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ช่วยเหลือผู้พ้นโทษทั้งชายและหญิง รวมไปถึงการให้ความอุปการะเด็กที่มีพ่อแม่อยู่ในเรือนจำ โดยจากการลงพื้นที่พบว่าบ้านพระพรมีความพร้อม เพราะสามารถบริหารจัดการและดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี” โดยบ้านพระพรได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ 

 

คุณขัตติยา รัตนดิลก ตัวแทนกลุ่มบ้านพระพร ยุติธรรมนำร่องความร่วมมือ

        นอกจากนี้ บ้านพระพรยังมีทีมงานคอยติดตามดูแลผู้พ้นโทษ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างดี เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เกี่ยวกับความพร้อมของภาคเอกชนที่มีแนวปฏิบัติตามมาตรฐานและบรรทัดฐานสหประชาชาติที่อยากนำเสนอให้ภาครัฐได้เห็นถึงศักยภาพ โดยมีเป้าหมายในการลดจำนวนเด็กและเยาวชนที่ต้องเข้าสู่สถานควบคุม ลดความเสียเปรียบสะสมในการใช้ชีวิต ลดความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพิ่มโอกาสในการได้เด็กดีกลับคืนสู่สังคม ซึ่งต้องการให้เยาวชนผู้กระทำความผิดได้มีชีวิตที่ดี โดยต้องมี สติปัญญาที่ดี ความคิดที่ดี การศึกษาที่ดี งานที่ดี สภาพจิตใจที่ดี กำลังใจที่ดี ทักษะทางสังคมที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดี สุขภาพที่ดี งานอดิเรกที่ดี ที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ชีวิตที่ดี บ้านพระพรจึงเป็นภาคเอกชนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นสถานที่ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดรูปแบบใหม่ของการให้โอกาสเด็กและเยาวชนผู้ก้าวพลาดสู่การพัฒนาที่มั่งคั่งยั่งยืน

        อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรม คือ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือการหลอกโอนเงินทางออนไลน์ ที่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหาเรื้อรังซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 2,500 ล้านบาท จากเหยื่อ 10,000 คน ภายในระยะเวลา 3 เดือน แต่สามารถอายัด เงินคืนมาได้เพียง 3% เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์สามารถดำเนินการหลอกเหยื่อและโยกเงินเข้าบัญชีได้ ผ่านบัญชีม้าภายใน 20 นาที ในขณะนี้เหยื่อและเจ้าหน้าที่ภาครัฐใช้เวลา 3 ชั่วโมง ประเด็นสำคัญ คือ ประชาชนหลายคนขณะนี้ยังตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ ผู้นำเสนอกลุ่ม ‘เปลี่ยนเหยื่อเป็นผู้ล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ จึงมองว่า ประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทจากเหยื่อเป็นผู้ล่า โดยการศึกษาข้อมูลของกลุ่ม ‘เปลี่ยนเหยื่อเป็นผู้ล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ได้เห็นถึงปัญหาว่ากลุ่มใดที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุด ซึ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย ข้อจำกัดด้านการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่ได้ใช้สื่อทางเทคโนโลยี 

        ดังนั้น ในเกมรับ จึงได้เสนอร่างกฎหมายติดอาวุธเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสร้าง Infographic ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ ส่วนในเกมรุก ได้เสนอนวัตกรรมในการล่อซื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยการร่วมมือกับ Whoscall ให้สร้างปุ่ม forward สายต้องสงสัยให้กับตำรวจ PCT แบบเรียลไทม์ รวมไปถึงการสร้างเบอร์ Virtual ขึ้นมา 1,000 เบอร์และปล่อยขายในตลาดมืดเพื่อให้กลุ่มมิจฉาชีพไปซื้อ ซึ่งทุกสายที่โทรเข้าจะถูกส่งเข้าตำรวจ PCT ด้วยความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จนทำให้วันหนึ่งเหยื่อในประเด็นนี้จะรู้เท่าทันและไม่หลงเชื่ออีกต่อไป โดยจะทำให้แก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้หมดหนทางในการกระทำทุจริตต่อเหยื่อในสังคม

        ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพยายามเชื่อมโยงเอามาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติมาประยุกต์ใช้ในการคิดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทย หรือปัญหาที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมไทย จากผู้เรียนจากหลักสูตร iCPCJ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับสูงที่มาจากหลากหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยมุ่งหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้จะสะท้อนไปถึงผู้เกี่ยวข้อง ให้มีส่วนร่วมและอาจหยิบบางประเด็นไปเพื่อปรับประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป

        ดังนั้น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐาน และบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม’ หรือ ‘iCPCJ’ จึงถือเป็นพื้นที่ในการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรได้กลั่นกรองความคิด และนำเสนอทัศนคติ ข้อเสนอ และแนวทางแก้ไขที่น่าสนใจเพื่อการนำไปสู่การอนุวัติมาตรฐาน และบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ที่ปรึกษา TIJ และประธานที่ปรึกษาหลักสูตร iCPCJ

        ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ และประธานที่ปรึกษาหลักสูตร iCPCJ ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของ ‘เวทีสาธารณะว่าด้วยการส่งเสริมความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ โดยมีสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เป็นพันธมิตร อีกทั้ง TIJ ยังเป็นเครือข่าย UNPNI ซึ่งเป็นเครือข่ายของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดย TIJ มีเป้าหมายที่จะเป็นสะพานในการเชื่อมองค์ความรู้ในส่วนของ International Standards and Norms ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไปสู่สากล และพร้อมเปิดรับความรู้ของสากลกลับมาผลักดันกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย 

        ซึ่ง TIJ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเฉกเช่นนานาประเทศ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วนได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีกรอบความคิด people-centred justice ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นธงนำเพื่อให้หลักสูตรเกิดประโยชน์สูงสุด ยิ่งไปกว่านั้น หลักสูตรดังกล่าวได้มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับสากลเข้าร่วมบรรยาย รวมถึงได้ผู้บริหารในกระบวนการยุติธรรมเข้ามามีส่วนร่วมกันคิดเครื่องมือในการปรับระบบงานโดยใช้รูปแบบ Design Thinking, System Thinking และ Future Thinking โดยมีความคาดหวังว่าหลักสูตรนี้จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างง่ายขึ้นและยั่งยืน

คุณ Jeremy Douglas
ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ
ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค (UNODC) และที่ปรึกษาหลักสูตร iCPCJ

        คุณ Jeremy Douglas ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค (UNODC) และที่ปรึกษาหลักสูตร iCPCJ กล่าวถึง การกำหนดทิศทาง มาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นความท้าทายของ TIJ และ UNODC ในการนำเอาข้อกำหนดหรือตราสารต่างๆ เหล่านี้มาอนุวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมาศึกษาบริบทของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม หลักสูตร iCPCJ ยึดถือหลักการในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม เป็นการส่งเสริมสังคมที่มีสันติภาพ และมีความเท่าเทียมกันในแง่ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องนี้ในระดับโลก

ดร. พิเศษ สอาดเย็น
ผู้อำนวยการ TIJ

        บทสรุปจาก ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ ได้ชื่นชมผู้เข้าร่วมหลักสูตร iCPCJ ในการร่วมกันทำงานอย่างหนัก โดยได้เห็นข้อเสนอแนะที่น่าสนใจและสะท้อนมุมมองที่ลงลึกจากความเข้าใจในปัญหาในหลากหลายมิติ และเป็นการสร้างเวทีสาธารณะนี้ให้ดูมีคุณค่าสำหรับประชาชน ทำให้เป็นพื้นที่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสมองปัญหาท้าทายในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาเรื่องหลักนิติธรรม ความเป็นธรรมต่างๆ และมีส่วนแสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นนั้นสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ลึกซื้ง ยิ่งไปกว่านั้น การนำเสนอทุกประเด็นสร้างให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้ โดยคาดว่าจะได้มีโอกาสจัดหลักสูตรนี้อีกต่อๆ ไป

        คุณนาโอกิ สุกาโน เจ้าหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา UNODC ได้ร่วมแสดงความยินดีสำหรับการจัดงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นโครงการที่กระตุ้นความคิดภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งโครงการประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้เป็นรูปธรรมเพื่อกระทำได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ก็ยังพบกับปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เช่นกัน โดยประเทศญี่ปุ่นก็ยังหาแนวทางการแก้ปัญหาเช่นกัน นอกจากนี้ การเยี่ยมชมเรือนจำ และบ้านพระพร เป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ในการที่แสดงให้เห็นว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนามาตรฐานและบรรทัดฐานใหม่ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร และจะสนับสนุน iCPCJ และ TIJ ต่อไป

        คุณโสมนัส เจือศรีกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากรเพื่อการยุติธรรมและผู้อำนวยการหลักสูตร iCPCJ ได้กล่าวถึงเจตนาที่จะสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับให้ทุกคนในกระบวนการยุติธรรมได้รับประโยชน์จาก TIJ จากองค์ความรู้ที่ TIJ มี และได้ขอบคุณไปถึงพันธมิตรสำคัญอย่าง UNODC ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, คุณนาโอกิ สุกาโน, คุณ Jeremy Douglas, ดร. พิเศษ สอาดเย็น ที่ปรึกษาหลักสูตร รวมถีงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกๆ หน่วย และหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าร่วมหลักสูตร iCPCJ โดยจะนำผลไปขยายต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมั่นใจว่าจะมีรุ่นต่อไปอย่างแน่นอน 

        เมื่อทุกท่านถูกขนานนามว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการงานยุติธรรม ท่านจึงนับเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น หากยังมีประชาชนที่ยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ทางหลักสูตรจึงมีความเหมาะสมเพื่อให้ท่านได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ ได้ถูกนับว่าเป็นปัญหาระดับชาติ การเข้าร่วมหลักสูตร iCPCJ จึงเป็นหลักสูตรที่พร้อมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่านทุกภาคส่วน ได้มีส่วนเข้าร่วมเพื่อขบคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ เพื่อให้พบประเด็นปัญหาของประชาชนในสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรมใหม่ๆ หรือประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ณ เวลานั้นๆ ดังนั้น การเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร iCPCJ จะนำมาซึ่งความร่วมมือในการ ‘ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมสร้างแนวทาง ร่วมเพิ่มพลังกระบวนการยุติธรรม’     


เรื่อง: adB Team | ภาพ: TIJ