TIJ

UN Crime Congress ความร่วมมืออาเซียน ป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา

โลกในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี แม้จะสร้างผลกระทบในเชิงบวก แต่ก็กลับก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมแฝงที่ตามมาหลายรูปแบบ ปัญหาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบ เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติก็มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น อย่างกรณีที่หลายประเทศเริ่มใช้สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ก็ยังมีช่องโหว่สำหรับการก่ออาชญากรรมผ่านระบบออนไลน์ซึ่งยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนมาควบคุม การป้องกันอาชญากรรม หรือการหาทางจัดการปัญหา จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีและหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อการป้องกันอาชญากรรม: ประสบการณ์จากการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ACCPCJ)

        “ความร่วมมือกับต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วนมากที่สุด เพื่อหาแนวทางในการป้องกันอาชญากรรม และจัดการกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เช่น การค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศโดยใช้เทคโนโลยี อาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จริง แต่ส่วนใหญ่มีต้นทางจากต่างประเทศ ไร้พรมแดน และมีการพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างมาก ส่งผลกระทบทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล เราจึงต้องร่วมมือกันดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์

พิเศษ สอาดเย็น

ดร. พิเศษ สอาดเย็น

        สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคู่ขนานออนไลน์ หัวข้อ ‘ความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพื่อการป้องกันอาชญากรรม: ประสบการณ์จากการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา’ ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมจากประเทศไทย สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย และรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมอภิปรายความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา 

        โดยการประชุมคู่ขนานออนไลน์นี้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – Crime Congress) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น 

        ซึ่งการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice – ACCPCJ) จัดขึ้นโดยกระทรวงยุติธรรมไทย ร่วมกับ TIJ มาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 การประชุม ACCPCJ เป็นการประชุมที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASEAN Senior Law Officials’ Meeting – ASLOM) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (Senior Officials Meeting on Transnational Crime – SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Senior Officials’ Meeting for the ASEAN Socio-Cultural Community – SOCA) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ แนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับการเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการทางกฎหมาย ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบัน

วิสัยทัศน์สำคัญในอาเซียน คือไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

        วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พูดถึงการประชุมคู่ขนาน ACCPCJ ครั้งนี้ว่า เป็นการอภิปรายถึงความก้าวหน้าของความร่วมมือในอาเซียน ที่สืบเนื่องมาจากการประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 2 และขานรับกับ Kyoto Declaration ที่ได้มีการประกาศในช่วงเปิดงาน UN Crime Congress ว่าด้วยการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโรดแมปให้กับทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้นำไปปรับและหาแนวทางปฏิบัติต่อไป

วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที

วงศ์เทพ อรรถไกวัลวที

        “ประชาคมนานาชาติแสดงเจตจํานงทางการเมืองที่ชัดเจน ต้องการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมให้เข้มแข็งขึ้นภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากนี้ ภายใต้กรอบแนวคิดนี้ เราจึงมุ่งหารือถึงความร่วมมือภายในภูมิภาคอาเซียนว่าควรจะเป็นไปอย่างไร” วงศ์เทพกล่าว

        ด้าน สุวรรณสาม อัน ผู้อำนวยการสำนักข้อตกลงและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้แสดงความเห็นขานรับและสนับสนุนทั้งในด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรม และการต่อสู้กับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติแบบบูรณาการ และยังกล่าวถึงความคืบหน้าสำคัญที่ประชาคมอาเซียนร่วมมือกันจัดการกับปัญหาดังกล่าว คือ (1) ที่ผ่านมาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน APSC ได้จัดประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศภาคีอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers Meeting – AMM) เพื่อหารือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก และกำหนดนโยบายร่วมกันในการรับมือกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ และ (2) ประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักกำลังร่วมมือกันหารือเพื่อปรับแก้กฎหมายที่ใช้ในการป้องกันและจัดการกับปัญหาดังกล่าว

สุวรรณสาม อัน

สุวรรณสาม อัน

        อีกหนึ่งตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียนอย่าง มาดามสุไรนี ชาร์บาวี รองอธิบดีอัยการ สภาอัยการ และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย ประเทศบรูไน ได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านการป้องกันอาชญากรรมเบื้องต้น คือ การเข้าร่วมการประชุมเพื่อลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย (ASEAN Convention on Counter Terrorism) และยังกล่าวว่า การประชุม ACCPCJ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล เพราะการประชุมนี้ช่วยให้หลายภาคส่วนในอาเซียนมีเวทีในการกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาแบบบูรณาการ สำหรับจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ตามวิสัยทัศน์สำคัญในอาเซียน คือไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สุไรนี ชาร์บาวี

มาดามสุไรนี ชาร์บาวี

เราต้องมีแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการที่จะดูแลปัญหาเฉพาะด้าน

        อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงในที่ประชุมคือ การขาดแพลตฟอร์มที่เหมาะสมในการหารือเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้ในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อผลักดันความร่วมมือให้เกิดประสิทธิผลภายในประชาคมอาเซียน โดย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ประเทศไทย กล่าวในประเด็นนี้ว่า 

        “ความยุติธรรมทางอาญาไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในแต่ละประเทศ แต่เรามีทั้งศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ แม้แต่ในประเทศเดียวกัน ก็ยังไม่เคยมีเวทีหรือแพลตฟอร์มอย่างเป็นทางการที่จะดูแลปัญหาเฉพาะด้านนี้” 

วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ

        ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ยังได้ระบุถึงปัญหาความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ประเทศสมาชิกอาเซียนหรือ ASLOM ประสบคล้ายคลึงกัน คือ กระบวนการในการรับรองข้อตกลงค่อนข้างช้า เนื่องจากมีกฎเกณฑ์รองรับค่อนข้างมาก ในกรณีที่ข้อตกลงอาจผ่านเกณฑ์หรือข้อกำหนดแล้ว ก็ต้องมีเกณฑ์อื่นๆ มารองรับอีก ซึ่งสิ่งนี้ทำให้กระบวนการล่าช้า ทำให้บางครั้งในคดีเกี่ยวเนื่องข้ามชาติ ผู้ต้องโทษต้องรอถึง 5 ปี หรือมากกว่านั้น จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในประเทศปลายทางได้ ด้วยเหตุนี้ TIJ จึงพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือโดยการดำเนินงานกับ ASLOM เพื่อสร้างเวทีการประชุมอย่าง ACCPCJ ในฐานะแพลตฟอร์มที่จะใช้ในการผลักดันความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนในหลายประเทศของภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนนี้ด้วย 

ความท้าทายใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบ

        หลายประเทศยังไม่มีกฎหมายเท่าทันกับคดีหรือเคสใหม่ๆ ที่เป็นผลพวงจากการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี อย่างคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัลได้ แม้ว่าในประชาคมอาเซียนมีผู้ใช้สกุลเงินนี้มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกก็ตาม ดังนั้น ประชาคมอาเซียนควรหารือกันเพื่อหาแนวทางในการรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ จูเลียน การ์ซานี รองผู้อำนวยการ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office of Drugs and Crimes – UNODC) ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก มองว่า 

        “ปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้คริปโตเคอร์เรนซีมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก เงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ ถูกแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดนผ่านระบบและการแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินดิจิทัล เราจึงต้องหามาตรการในการรับมือกับเรื่องนี้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือมาตรการใดๆ ทางกฎหมายออกมารองรับ และการสั่งห้ามใช้หรือหยุดใช้งานคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นระบบที่เกิดขึ้นออนไลน์” 

        โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่มากขึ้น เพราะในช่วงการแพร่ระบาด ผู้คนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น แนวโน้มที่จะเกิดอาชญากรรมในรูปแบบขององค์กรข้ามชาติ ผ่านโลกออนไลน์ก็มากขึ้นด้วย แนวทางแก้ปัญหาที่จำเป็นคือ การความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ หลักฐานเชิงประจักษ์ และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากประชาคมอาเซียน ญี่ปุ่นยังเป็นผู้เล่นสำคัญในการส่งเสริมและให้ความร่วมมือในหลายๆ ด้านกับอาเซียน ในด้านการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยญี่ปุ่นได้ดำเนินงานร่วมกับ UNODC มาโดยตลอด

การผลักดันเพื่อลดช่องว่างของกฎหมายและความแตกต่างในด้านภาษาของแต่ละประเทศ

        โยชิมิตสุ ยามาอุชิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น ได้กล่าวในที่ประชุมครั้งนี้ถึงความพร้อมของญี่ปุ่นในการกระชับความร่วมมือกับอาเซียนที่มีมากขึ้น ความคืบหน้าล่าสุด เช่น การที่ญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ซึ่งรวมถึงการให้ทุนสนับสนุนและการฝึกอบรมแก่บุคลากรในการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านความยุติธรรมทางอาญาระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน เช่น โครงการลดความแออัดในเรือนจำ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ในเรือนจำ และยังมีความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น อย่างสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (The United Nations Asia and Far East Institute for the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders – UNAFEI) ในด้านการช่วยเหลืองานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation Department – ICD) ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือด้านการยุติธรรมทางอาญากับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจกา (Japan International Cooperation Agency – JICA)

 

สุวรรณสาม อัน

โยชิมิตสุ ยามาอุชิ

        “ญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มนี้ในระดับปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการประชุมและแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคดีความและระบบกฎหมายต่างๆ”  โยชิมิตสุกล่าว

        อย่างไรก็ตาม ข้อท้าทายสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนเพื่อจัดการกับปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น กฎหมายแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ข้อจำกัดด้านภาษา ความพร้อมทางด้านองค์ความรู้ของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และความพร้อมของเครื่องมือหรือนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยังคงเป็นงานท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องพยายามดำเนินงานผลักดันให้แต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป 

        ท้ายสุด ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงหัวใจของการดำเนินงานและเป็นบทสรุปในการประชุมครั้งนี้ว่า “TIJ เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และเห็นได้ชัดว่าความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนไม่เพียงทำให้ความยุติธรรมนั้นมีความครอบคลุมแต่ยังทำให้ความยุติธรรมนั้นเป็นไปได้สำหรับทุกคนด้วย”