เราเป็นคนหนึ่งที่หลงใหลในกลิ่นของน้ำหอม และมักใช้เวลาว่างแวะไปตามเคาน์เตอร์น้ำหอมในห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายเครื่องหอมต่างๆ เพื่อสัมผัสเอกลักษณ์ของการปรุงน้ำหอมจากแบรนด์ต่างๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะการได้เจอกับน้ำหอมที่มีกลิ่นถูกใจ แล้วยิ่งเวลาที่ใครหันมาถามว่าใส่น้ำหอมยี่ห้ออะไร เราจะยิ่งภูมิใจเป็นพิเศษ พร้อมกับมอบรอยยิ้มมุมปากให้แทนคำตอบ เพราะเรื่องอะไรจะให้ใครรู้ว่าเราใช้น้ำหอมยี่ห้อไหนกลิ่นอะไรง่ายๆ เดี๋ยวก็ซ้ำกันน่ะสิ
หลายๆ ครั้งในวันหยุดที่เราต้องการออกไปธุระใกล้ๆ บ้าน เช่น เอารถไปล้าง ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เกต ไปเดินเล่นตลาดนัด ไปเดินดูของมือสองในร้านสินค้าจากญี่ปุ่น บางครั้งเราก็ไม่อยากใส่น้ำหอมประจำที่มักใช้ใส่ไปทำงาน เพราะเปลือง (ฮา) การมีน้ำหอมที่ปรุงขึ้นมาเองด้วยกลิ่นที่เราชอบฉีดพรมเบาๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อมีคอร์สสอนการปรุงน้ำหอมนี้เกิดขึ้น เราก็ไม่พลาดที่จะไปลองเรียนและนำวิธีการนี้มาแชร์ให้กับคุณ
ความลึกลับนี้เชื่อมโยงกับเสน่ห์ของน้ำหอมแต่ละแบรนด์ เพราะในน้ำหอมหนึ่งขวดนั้นไม่ได้มีแค่กลิ่นหอมกลิ่นเดียว แต่เป็นการรวมกลิ่นต่างๆ ของส่วนผสมมาไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นกลิ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งตามมาตรฐานของน้ำหอมแล้วจะแบ่งเป็นสามองค์ประกอบด้วยกัน
Top Note
กลิ่นแรกที่ลอยฟุ้งออกมาจะเรียกว่าเป็นหน้าที่ของพนักงานต้อนรับก็ได้ เป็นกลิ่นที่จะหอมอบอวลอยู่ประมาณ 10-15 นาที แล้วจะค่อยๆ จางหายไป มีไว้สำหรับสร้างความประทับใจต่อคนฉีดโดยเฉพาะ
Middle Note
กลิ่นที่ตามออกมาหลังจากกลิ่น Top Note จางหายไป เป็นกลิ่นที่มีความสำคัญต่อน้ำหอมมากที่สุด เพราะกลิ่น Middle Note นี่แหละที่จะบอกว่าน้ำหอมขวดนี้มีเอกลักษณ์แบบไหน
Base Note
กลิ่นที่จะอยู่กับตัวเรานานที่สุด และเป็นกลิ่นที่จะผสมกับตัวเราจนเกิดเป็นกลิ่นใหม่ที่มีเอกลักษณ์แบบเฉพาะตัว กลิ่นนี้จะอยู่ได้ราวๆ 4-5 ชั่วโมง
เมื่อรู้พื้นฐานของน้ำหอมแล้ว ก็จะรู้ว่าน้ำหอมกลิ่นโปรดที่ใช้อยู่นั้นน่าจะมีส่วนผสมของกลิ่นจากอะไรบ้าง เช่น น้ำหอมที่เราใช้ประจำเวลาไปทำงาน เมื่อค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็พบว่ามีส่วนประกอบจากลิ้นจี่ ดอกบัว ผิวมะกรูดเป็น Top Note ส่วน Middle Note เขาบอกว่าเป็นกลิ่นของส้ม ดอกกุหลาบป่า และกลิ่นทะเล (คาดว่าคงเป็นส่วนผสมลับพวกน้ำทะเลหรืออ้วกวาฬที่มีราคาแพง) Base Note ก็จะมีกลิ่นของถั่ว และส่วนประกอบของอะไรสักอย่างที่เข้าใจยากซึ่งก็เข้าใจได้ว่าน้ำหอมแบรนด์แพงๆ ต้องมีส่วนประกอบที่นึกไม่ถึงพวกนี้แหละไว้เป็นสูตรลับเฉพาะตัว
เมื่อรู้คร่าวๆ แบบนี้แล้วว่าน้ำหอมที่เราชอบนั้นมีกลิ่นหลักๆ ของวัตถุดิบอะไรบ้างที่พอจะหาได้ เราก็ทดคำตอบเหล่านี้ไว้ในใจและเริ่มรู้วิธีการปรุงน้ำหอมกับอาจารย์ ‘เคนจิ’ – ฉัตรนิธิศวร์ จันทาพูน นักปรุงน้ำหอมชื่อดัง เจ้าของแบรนด์ Artisan Valley และเจ้าของบริษัท เฌอนารา จำกัด ซึ่งก็สอนวิธีสร้างขั้นตอนในการผสมน้ำหอมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้
เตรียมอุปกรณ์เริ่มต้นสำหรับการปรุงน้ำหอม
ขวดทดลองสำหรับใช้ปรุงน้ำหอม 1 ขวด , ขวดบรรจุน้ำหอมแก้วหนา 1 ขวด, สารละลายเจือจางและสารเร่งปฏิกิริยาการหมักหัวน้ำหอม, แอลกอฮอล์สำหรับผสมน้ำหอม, สีผสมน้ำหอม และสารตั้งต้นสำหรับการทำสูตรน้ำหอม 26 หมวดตามหลักสากล
เริ่มจากจัดลำดับโน้ตน้ำหอมต่างๆ ตามแนวทางที่ตั้งไว้
ทดลองผสมตามลำดับกลิ่นชนิดต่างๆ ด้วยการใช้สารตั้งต้นสำหรับการทำสูตรน้ำหอม โดยเริ่มจากกลิ่น Middle Note ใช้สารตั้งต้นไม่เกิน 40 หยด เช่น Iris, Jasmine, Orchid, Rose ใส่ลงไปในขวดทดลองสำหรับใช้ปรุงน้ำหอม
จากนั้นแต่งเติมกลิ่นด้วยกลิ่นตกแต่งที่เรียกว่า Modify Note ไม่เกิน 5 หยด เช่น Iceberg, Citrus, Dairy (ซึ่งกลิ่นจากทะเลที่เราสงสัยจึงพออนุมานว่าน่าจะอยู่ในข่ายของกลิ่น Iceberg) และตามด้วยกลิ่นประสาน (Blender Note) ไม่เกิน 20 หยด เช่น Linalool, Muguet เป็นต้น สุดท้ายคือกลิ่นพื้นหลัง (Fixative Note) ไม่เกิน 20 หยด เช่น Wood, Musk, Mossy แล้วคนส่วนผสมให้เข้ากัน
เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้วจึงนำส่วนผสมที่ได้ไปเติมสารเจือจาง แอลกอฮอล์ และสีผสมน้ำหอมตามต้องการ จากนั้นเติมสารเร่งปฏิกิริยาการหมักหัวน้ำหอมแล้วเทลงในขวดแก้วตอกฝา และตกแต่งขวดตามชอบใจ แต่อย่าเพิ่งเอามาฉีดในทันที เพราะคุณต้องบ่มน้ำหอมไว้อย่างน้อย 1 อาทิตย์ก่อนนำมาใช้จริง
ข้อสังเกตคือวัตถุดิบเหล่านี้อาจจะต้องเลือกหาให้ดี และแนะนำว่าน้ำหอมที่เราผสมเองในเบื้องต้นควรนำมาใช้ในวันที่ไม่ได้เป็นทางการนัก เช่น สำหรับออกไปเดินเล่น เดินซื้อของในซูเปอร์มาเกต หรือฉีดอยู่บ้าน เพราะแอลกอฮอล์นั้นหากมีสัดส่วนมากไปก็จะทำปฏิกิริยากับเสื้อสีขาวจนเกิดเป็นรอยด่างสีเหลืองบนเสื้อ เอาไว้ศึกษาส่วนประกอบของน้ำหอมเชี่ยวชาญกว่านี้ และได้วัตถุดิบมาผสมที่เหมาะสมจริงๆ เสียก่อนค่อยเอามาใช้งานจริงจัง ในขั้นต้น เราแนะนำว่าถ้าเจือจางให้มากขึ้นอีกนิดคุณสามารถเอาหลักการนี้ไปประยุกต์เป็นน้ำหอมสำหรับฉีดห้องได้ด้วย
น้ำหอมจะติดนานหรือไม่นานอยู่ที่ตัวคุณ
หลายๆ คนอาจพบว่าน้ำหอมขวดเดียวกันยี่ห้อเดียวกัน แต่เมื่อฉีดแล้วแป๊บๆ กลิ่นก็จาง แต่กับเพื่อนเราทำไมกลิ่นติดทนนานข้ามวันข้ามคืน อย่าเพิ่งไปโทษว่าน้ำหอมของคุณเป็นของปลอม (ถ้าคุณซื้อมันมาจากร้านที่เชื่อถือได้) เรื่องนี้อาจารย์เคนจิบอกเราว่าในแต่ละคนมีกลิ่นผิวกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนั้น ไม่ควรซื้อน้ำหอมหากยังไม่ได้ทดลองใช้กับผิวกายของตนเอง สำหรับเทคนิคการเลือกน้ำหอมให้ลองฉีดลงไปบนกระดาษทดลองกลิ่นที่อยู่ในร้าน เมื่อดมแล้วถูกใจก็ค่อยทดลองฉีดน้ำหอมบนตัวเพื่อจะได้รู้ว่ากลิ่นน้ำหอมนั้นเหมาะกับผิวกายของตัวเองหรือไม่ เพื่อที่เราจะไม่ต้องฉีดน้ำหอมลงบนตัวพร่ำเพรื่อจนกลิ่นตีกันไปหมดไม่รู้ว่ากลิ่นไหนเป็นกลิ่นไหน
ส่วนเทคนิคการฉีดน้ำหอมให้ติดทนนาน ก็ควรฉีดน้ำหอมที่จุดความร้อนต่างๆ บนร่างกาย นั่นคือจุดชีพจรต่างๆ เช่น ข้อมือ ข้อพับ หลังหู ข้อเท้า เป็นต้น จะทำให้กลิ่นฟุ้งกระจายดี ส่วนการฉีดมี 2 ลักษณะ คือการฉีดแบบ Indoor เป็นการฉีดน้ำหอมภายใต้ร่มผ้าเพราะจะมีเสื้อผ้าซับกลิ่นน้ำหอมทำให้กลิ่นไม่ไปรบกวนคนอื่น เหมาะกับการฉีดในวันที่ทำงานภายในสถานที่ต่างๆ เช่น ออฟฟิศ และการฉีดแบบ Outdoor คือการฉีดน้ำหอมบนผิวกายเพื่อให้คนอื่นได้กลิ่นมากขึ้น เหมาะกับการทำกิจกรรมภายนอกสถานที่
Special Thanks
กิจกรรม Up Moment with Signature Workshop โดยบัตรเครดิตกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ ซิกเนเจอร์ และบัตรเครดิตกรุงศรี ซิกเนเจอร์ โดยการเชื้อเชิญจาก ชีวิน ปราชญานุพร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด ที่มอบโอกาสให้เราได้เรียนรู้เทคนิคดีๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
ส่วนใครที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ แค่คุณเป็นสมาชิกบัตรเครดิตกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ ซิกเนเจอร์ และบัตรเครดิตกรุงศรี ซิกเนเจอร์ แล้วแลกคะแนนสะสมเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.krungsricard.com/signature โทร. 0-2296-5566 หรือ 0-2627-4788