What Makes Us Human

‘สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์’ ว่าด้วยหลักแห่งวิถีการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมนุษย์

“เมื่อ 25 ปีก่อน ผมเข้ามาทำงานในจังหวัดพะเยาในฐานะเจ้าหน้าที่ UNAIDS แล้วเกิดข้อสงสัยว่า ‘ทำไมผู้คนที่นี่มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ดีมาก’ การทำงานร่วมกับชาวบ้านได้เปลี่ยนมุมมองในการทำงานของผม” – ดร.ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์

What Makes Us Human

หมอผู้ริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลง

        ดร.ฌอง-หลุยส์ ลองโบเรย์ (Jean-Louis Lamboray) เป็นอดีตผู้เชี่ยวชาญประจำองค์กร UNAIDS และผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน Constellation ซึ่งเชี่ยวชาญการสร้างการมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ เขาทำหน้าที่สำคัญคือกระตุ้นและเชื่อมประสานการแก้ปัญหาเอดส์ รวมถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ และส่งเสริมให้คนในชุมชนคอยสนับสนุนกันและกัน

        นอกจากนี้เขายังได้เข้าร่วมแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์ในประเทศไทย โดยเฉพาะความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเอดส์ของชุมชนในจังหวัดพะเยาที่อัตราผู้ป่วยเอชไอวีลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่เคยพบได้ที่ไหนมาก่อน

        เขาจึงบอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจระหว่างทำงานร่วมกับผู้ป่วย และส่งต่อความรู้ที่ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้แนวคิดของเขานั้นสามารถนำไปใช้สนับสนุน และแก้ปัญหาเรื่องการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาอื่นๆ ได้ต่อไป ผ่านการเขียนหนังสือ What Makes Us Human?

What Makes Us Human? สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์

        ส่วนหนึ่งของหนังสือ What Makes Us Human? สิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์ ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘พิมพ์ใจ’ หญิงสาวที่ต้องเก็บงำความลับบางอย่างไว้นานกว่า 18 ปี เพราะเธอคือผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ชาวบ้านในชุมชนไม่ให้การยอมรับ แต่เมื่อพ่อของเธอซึ่งทำงานด้านสาธารณสุขในหมู่บ้านคอยให้กำลังใจ และแนะนำให้เธอเชิญผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ มาเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาพ ทำให้ผู้ติดเชื้อค่อยๆ เข้าใจตัวเอง ส่วนคนในชุมชนเองก็เข้าใจผู้ติดเชื้อมากขึ้น จึงทำให้พิมพ์ใจและเพื่อนกล้าเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ

        เมื่อองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุน หรือ JICA มองเห็น จึงยื่นมือเข้าช่วย โดยให้กลุ่มผู้ติดเชื้อผลิตตุ๊กตาหมีส่งขายต่างประเทศ แม้การหารายได้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำหรับ 15 ปีก่อน เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการได้พบปะ ให้กำลังใจ และช่วยเหลือกันในกลุ่มผู้ติดเชื้อ

        ต่อมาชาวบ้านคนอื่นๆ เริ่มสนใจกิจกรรม จึงได้เข้าร่วมและเริ่มทำงานกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ทำให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น พิมพ์ใจจึงรับหน้าที่บริหารจัดการกลุ่ม เธอกับสมาชิกได้ไปศึกษาดูงานที่ภาคใต้เพื่อเรียนรู้วิธีจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เมื่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี จึงทำให้คนในหมู่บ้านค่อยๆ เข้าร่วมออมทรัพย์กับสหกรณ์ จากนั้นกลุ่มของพิมพ์ใจจึงยุติขอทุนจาก JICA เพราะชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

        เรื่องราวของพิมพ์ใจสะท้อนให้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไร้ข้อจำกัด เป็นที่ประจักษ์ผ่านการมองมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน จากหญิงสาวผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความทรมานใจ และไม่เป็นที่ยอมรับ เธอกลับกลายมาเป็นผู้นำคนสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้หมู่บ้านที่เธออาศัยอยู่ จนนำไปสู่การรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ของคนในชุมชน

        เรื่องราวของเธอจึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจและไขข้อข้อสงสัยที่ว่า ‘ทำไมผู้คนที่นี่มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ดีมาก’ ของดร.ฌอง นั่นเป็นเพราะคนในชุมชนเข้าใจและยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกัน การเปิดรับจุดแข็งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ไม่ตัดสิน ไม่แบ่งแยก หรือผลักพวกเขาออกสังคม แต่เปลี่ยนมุมการมองโลกและให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของเขาเหล่านั้นอย่างเท่าเทียม

จากเครื่องขยายเสียงสู่เครื่องบันทึกเสียง

        ดร.ฌองได้อธิบายต่ออีกว่าครั้งที่เข้าไปทำงานร่วมกับผู้คนในหมู่บ้าน เขาไม่ได้เข้าไปอย่างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเหมือนเครื่องขยายเสียงที่มุ่งเน้นจะให้ความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ไปแค่บอกว่าต้องทำอย่างไร แต่เขาเข้าไปเป็นเครื่องบันทึกเสียง หมายความว่าคอยรับฟังและพูดคุยกับชาวบ้านตามกระบวนการของ SALT ดังนั้น การพูดคุยและรับฟังนี้ทำให้ชาวบ้านและ ดร. ฌองรับรู้ถึงปัญหา และสามารถร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 

        การทำงานร่วมกับผู้ชาวบ้านในชุมชนนี้เองทำให้ ดร.ฌองเข้าใจถึงหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เขาเล่าว่าหากต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการมองเรื่อง ‘ความเข้มแข็งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์’ และต้อง ‘ไม่มองว่าผู้ติดเชื้อคือปัญหา’ ไม่วิตกกับสาเหตุของปัญหานี้มากเกินไปจนทำให้รู้สึกท้อ และหมดแรง แต่ควรสื่อสารกันอย่างเข้าใจ เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน และไม่ตัดสินผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย ก็จะทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น  

        “เมื่อเราต่างเชื่อมโยงต่อกัน สายใยความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้น เมื่อนั้นเราจะไม่ตัดสินเขา จากนั้นให้แรงบันดาลใจแก่เขาแล้วเขาจะลุกขึ้นเอง” 

SALT คือยาที่ต้องรับประทาน

        ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นโมเดลการทำงานร่วมกันของชุมชนกับองค์กร Constellation ซึ่งเรียกว่า SALT เป็นหลักที่ใช้ในการทำงานขององค์กรที่ประสานรวมกับหลักการทำงานของชาวบ้าน โดยมองเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์ การเคารพศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมของกันและกัน จนเกิดการร่วมคิดร่วมทำเพื่อการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หลักนี้ประกอบไปด้วย

        S: Support (สนับสนุน), Stimulate (กระตุ้น): การพูดคุยเชิงตั้งคำถามจะช่วยกระตุ้นให้เขาได้ฉุกคิดถึงจุดแข็งของตัวเอง เพื่อตอบโตปัญหาที่ชุมชนพบเจอ จากนั้นให้สนับสนุนจุดแข็งนั้นของเขา เพื่อให้เขาเผยสิ่งที่ตนรู้ออกมา

        A: Action (ลงมือปฏิบัติ), Appreciate (ชื่นชม), Analyse (วิเคราะห์): การชื่นชมจุดแข็งของคนอื่นโดยไม่ใช้ความรู้สึกตัดสิน ทำให้เขาสามารถวิเคราะห์ได้ว่าจุดแข็งของตนสามารถนำไปทำอะไรได้ ก็จะนำไปสู่การกำหนดวิธีเพื่อลงมือปฏิบัติต่อไป

        L: Link (เชื่อมโยง), Learning (เรียนรู้), Listening (รับฟัง): การเปิดอกพูดคุยพร้อมรับฟังซึ่งกันและกันคือวิธีแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้จากการมีปฏิสัมพันธ์

        T: Team (ทีม), Transform (เปลี่ยนแปลง), Transfer (ถ่ายทอด): การทำงานกันเป็นทีมโดยที่ไม่ได้ยึดถือว่าตัวเองมีความรู้มากกว่าแล้วคนอื่นต้องเชื่อฟังฉัน และไม่ใช้บรรัทดฐานของตนเองเป็นเกณฑ์วัดศักยภาพของเพื่อนร่วมทีม แต่เน้นการถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้คนในทีมขบคิดเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดของปัญหา นั่นจึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 

        นอกจากนี้ ดร. ฌองยังได้เปรียบเทียบหลักการ  SALT ว่าเป็นเสมือนยาที่ต้องรับประทานเข้าไป ไม่ใช่ยาที่ใช้ภายนอก และต้องกินประจำอย่างสม่ำเสมอจึงจะเห็นผลที่ชัดเจน ถ้าหากเรานำหลักการนี้ไปปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติหรือกิจวัตรประจำชีวิตก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ทที่ดีและมีประสิทธิภาพ 

        หลักการ SALT ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคมาลาเรีย หรือแม้กระทั่งปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาในขณะนี้ รวมไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ในสังคม

        ฉะนั้น SALT จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่น เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้น 

แล้วสิ่งใดเล่าทำให้เราเป็นมนุษย์

        ความเป็นมนุษย์อาจไม่ต้องใช้หลักการ SALT มาเป็นมาตรฐานเดียวเพื่อวัดว่าใครเป็นมนุษย์เสมอไป แต่สิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ก็คือการไม่แบ่งแยกว่าเราเป็นใคร เขาเป็นใคร แต่ยอมรับว่าเราทั้งหลายเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพียงแค่ถอดบทบาทและสถานภาพของตัวเองออกไป เพื่อให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอย่างเท่าเทียม