Zoom

ทำไมการใช้โปรแกรม Zoom ถึงดูดพลังของคุณ เราจะลดความเหนื่อยล้าลงได้อย่างไร

จินตนาการถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์นิ่งๆ มีเสียงสะท้อนออกมา ใบหน้าจำนวนมากจ้องมองมาที่คุณ มีทั้งการประชุมรวมและการประชุมส่วนตัวที่คนเบียดเสียดกันอยู่ในจอเดียว และเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น คุณอาจจะยังต้องแฮงเอาต์กับเพื่อนๆ หรือครอบครัวต่ออีกรอบ

        นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 เราวิดีโอคอลหากันมากขึ้นกว่าที่เคย โดยเฉพาะกับโปรแกรมสุดฮิตในช่วงนี้อย่าง Zoom และหลายคนพบว่ามันช่างเหนื่อยล้าเสียเหลือเกิน

        แต่อะไรกันแน่ที่ทำให้เราเหนื่อยล้า? 

        สำนักข่าวระดับโลกอย่าง BBC ได้ทำการพูดคุยกับ จานปิเอโร เพทริเกลียรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งสถาบัน INSEAD ซึ่งทำการสำรวจการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสถานที่ทำงาน และ มาลิสซา ชัฟเลอร์ รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคล็มสัน ผู้ซึ่งศึกษาความเป็นอยู่ที่ดีในสถานที่ทำงาน และประสิทธิผลของการทำงานเป็นทีม เพื่อค้นหาว่า แม้การคุยผ่านวิดีโอคอลจะช่วยให้เราได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง และยังเชื่อมโยงกันอยู่ แต่อะไรที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า และเราจะลด ‘ความเหนื่อยล้าจากการ Zoom’ ได้อย่างไร

วิดีโอคอลเรียกร้องสมาธิมากกว่าการพูดคุยแบบตัวต่อตัว

       การอยู่ในวิดีโอคอลหมายความว่าเราต้องพยายามอย่างหนักเพื่อประมวลผลสัญญาณที่ไม่ใช่คำพูด เช่น การแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียงและระดับเสียง และภาษากาย การให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้พลังงานมาก

        “จิตใจของเราอยู่ด้วยกัน ในขณะที่ร่างกายไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น”

        ความไม่ลงรอยดังกล่าว เป็นสาเหตุให้ผู้คนขัดแย้งกับความรู้สึก และนำมาซึ่งความเหนื่อยล้า เพราะไม่สามารถผ่อนคลายในการสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติได้

 

Zoom

ความเงียบที่ต่างจากการสนทนาต่อหน้า

        ความเงียบเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสร้างจังหวะที่เป็นธรรมชาติให้การสนทนาในชีวิตจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้นในกลุ่มวิดีโอคอล ก็กลับกลายเป็นการทำให้ผู้คนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีแทน เพราะผู้คนจะเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ การศึกษาโดยนักวิชาการชาวเยอรมันในปี 2014 แสดงให้เห็นว่า ความล่าช้าทางโทรศัพท์หรือระบบการประชุม ทำให้เรามีมุมมองต่อคนอื่นในทางลบ แม้กระทั่งความล่าช้าไปเพียงแค่ 1.2 วินาที ก็ทำให้ผู้คนคิดไปว่าคู่สนทนาสนใจหรือโฟกัสน้อยลงได้แล้ว

การอยู่ในกล้องทำให้เราเหนื่อยจากการถูกจับตามอง

         การที่เรามีตัวตนอยู่ในกล้องจะทำให้เราตระหนักถึงการถูกจับตามองอย่างมาก

        “เมื่อคุณกำลังประชุมทางวิดีโอ คุณรู้ว่าทุกคนกำลังมองคุณอยู่ ก็เหมือนคุณอยู่บนเวที มันจึงมีแรงกดดันทางสังคม และมีความรู้สึกเหมือนคุณต้องแสดงอะไรบางอย่าง ซึ่งการเป็นนักแสดงก็หมายถึงการแสดงอารมณ์มากขึ้น และกดดันมากขึ้น”

        นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องยากที่เราจะไม่มองหน้าตนเองยามอยู่บนกล้อง และนั่นทำให้เราพยายามตระหนักถึงพฤติกรรมของเราต่อหน้ากล้องมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเหนื่อยล้าขึ้นไปอีก

สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งเอื้ออำนวยให้ความเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้น

        ความเหนื่อยล้าจากการวิดีโอคอลใน Zoom อาจไม่สามารถนำมาพิจารณาได้เพียงปัจจัยเดียว แต่สถานการณ์ปัจจุบันของเรา ทั้งการล็อกดาวน์ การกักตัว การ Work From Home และอื่นๆ ต่างเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความเหนื่อยล้าเช่นกัน ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยต่างเชื่อความจริงที่ว่า ความรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องวิดีโอคอลอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนความเหนื่อยล้าได้

        “วิดีโอคอลเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจถึงคนที่เราขาดการติดต่อไปชั่วคราว มันเป็นความรู้สึกขุ่นหมองใจทุกครั้งที่คุณเห็นใครบางคนบนโลกออนไลน์ เช่น เพื่อนร่วมงานของคุณ และทำให้คุณคิดไปว่า ที่จริงเราควรได้อยู่ในที่ทำงานด้วยกันต่างหาก”

        ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเสริมว่าสิ่งที่พวกเขาได้ค้นพบคือ เราทุกคนต่างเหนื่อยล้า ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะเป็นอินโทรเวิร์ตหรือเอกซ์โทรเวิร์ต เราทุกคนต่างประสบกับการดิสรัปต์ครั้งใหญ่เช่นเดียวกันในช่วงโรคระบาดนี้

เมื่อความหลากหลายทางสังคมลดลง คนจึงอ่อนไหวต่อความรู้สึกด้านลบ

        มีความจริงในแง่ที่ว่า ก่อนหน้านี้ ชีวิต งาน เพื่อน ครอบครัว ที่เคยแยกจากกัน บัดนี้กลับเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน ทฤษฎีความซับซ้อนของตัวตน (The Self-complexity Theory) บอกว่าบุคคลนั้นมีหลายแง่มุม ทั้งบริบทที่ขึ้นอยู่กับบทบาททางสังคม, ความสัมพันธ์, กิจกรรม และเป้าหมาย ซึ่งทำให้เราพบความหลากหลายที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อแง่มุมเหล่านี้ลดลง เราก็ยิ่งอ่อนไหวต่อความรู้สึกด้านลบได้ง่ายขึ้น

        บทบาททางสังคมส่วนใหญ่ของเราเกิดขึ้นในหลากหลายที่ แต่ตอนนี้บริบทเหล่านั้นพังทลายลงแล้ว ลองจินตนาการดูว่าถ้าคุณไปที่บาร์ ซึ่งเป็นบาร์เดียวกับที่คุณได้พูดคุยกับอาจารย์ที่สอนคุณ ได้พบครอบครัวของคุณ หรือได้เดตกับใครสักคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเราถูกกักขังอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวของเรา ในบริบทของวิกฤตที่กระตุ้นความวิตกกังวลให้เกิดขึ้น และพื้นที่เพียงแห่งเดียวของเราสำหรับการปฏิสัมพันธ์กลับกลายเป็นเพียงหน้าจอคอมพิวเตอร์

 

Zoom

การ Zoom กับเพื่อนไม่ได้ทำให้ผ่อนคลายลงหรอกเหรอ?

        หลายคนล้วนเพิ่งเคยทำแชตกลุ่มใหญ่เป็นครั้งแรก ถึงแม้จะเป็นการทำอาหารผ่านวิดีโอคอล การเข้าร่วมประชุมงานผ่านวิดีโอคอล การเข้าร่วมปาร์ตี้วันเกิดเพื่อนผ่านวิดีโอคอล ถ้าการวิดีโอคอลเป็นเรื่องสนุก แล้วทำไมเราถึงรู้สึกเหนื่อย? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ไม่ว่าคุณจะเข้าร่วมวิดีโอคอลเพราะคุณ ‘อยาก’ หรือ ‘จำเป็น’ แต่หากคุณเห็นว่านั่นเป็นเหมือน ‘ภาระ’ ที่ต้องทำ ก็หมายถึงเวลาที่คุณต้อง ‘เปิด’ ตัวเองก็จะมากขึ้นตาม แทนที่จะได้หยุดพัก ดังนั้น การได้คุยกับเพื่อนด้วยวิธีการปกติ และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระ ย่อมจะทำให้คุณรู้สึกถึงความเป็นสังคมมากขึ้น และจะมีความรู้สึก ‘เหนื่อยล้าจากการ Zoom’ น้อยลง จากการสนทนาที่คุณได้เป็นตัวของตัวเองมากกว่าการอยู่ในวิดีโอคอลเป็นไหนๆ 

วิดีโอคอล ‘เหมือนคุณกำลังดูโทรทัศน์ และโทรทัศน์ก็กำลังดูคุณ’

        ในมุมหนึ่ง การวิดีโอคอลเป็นกลุ่มใหญ่อาจทำให้รู้สึกถึงประสิทธิภาพในภาคปฏิบัติที่มากเกินได้ เปรียบเทียบเหมือนผู้คนชอบดูโทรทัศน์เพราะสามารถปล่อยจิตใจให้คิดจินตนาการไปได้ แต่การวิดีโอคอลเป็นกลุ่มใหญ่นั้น ‘เหมือนคุณกำลังดูโทรทัศน์ และโทรทัศน์ก็กำลังดูคุณ’ มันทำให้รู้สึกไม่เป็นส่วนตัว เพราะพลังของคุณในฐานะปัจเจกบุคคลลดน้อยลง 

บรรเทาความเหนื่อยล้าจากการ Zoom ด้วยการจำกัดการใช้งาน

        ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการจำกัดการวิดีโอคอลเฉพาะเรื่องจำเป็นถือเป็นสิ่งสำคัญ การเปิดกล้องควรเป็นทางเลือก และโดยทั่วไปควรมีความเข้าใจมากขึ้นว่า กล้องไม่จำเป็นต้องเปิดตลอดการประชุมทุกครั้ง การหันหน้าจอของคุณไปด้านข้างแทนที่จะหันมาตรงหน้า อาจช่วยให้คุณมีสมาธิมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมกลุ่ม เพราะมันทำให้คุณรู้สึกเหมือนอยู่ในห้องที่ติดกัน มากกว่าอยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยได้

หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่มากเกินจำเป็นในการวิดีโอคอล 

        ในบางกรณี วิดีโอคอลอาจเป็นตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น เรื่องงาน แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การแชร์ไฟล์ที่มีโน้ตงานระบุชัดเจนเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการโอเวอร์โหลดของข้อมูล หรือการนำเสนอข้อมูลที่อาจจะมากเกินจำเป็น นอกจากนั้น การใช้เวลาพูดคุยสั้นๆ ในการถามไถ่ความเป็นอยู่ของแต่ละคนก่อนเริ่มประชุมก็สำคัญ เพราะเป็นวิธีที่จะเชื่อมโยงเรากับคนอื่นๆ และช่วยรักษาความไว้วางใจ รวมถึงลดความเหนื่อยล้าและความกังวลได้

 


ที่มา: www.bbc.com/worklife/article/20200421-why-zoom-video-chats-are-so-exhausting