มหา’ลัยเถื่อน

บทเรียนจากมหา’ลัยเถื่อนปี 7 การเรียนรู้ที่มีหัวใจ มหา’ลัยที่มีชีวิต

“ถ้าสมัยเรียนสนุกได้ขนาดนี้จะดีขนาดไหน”

        กวี นักแปล ผู้เรียน และผู้ร่วมสอน รวิวาร โฉมเฉลา เปรยขึ้นมาหน้าโรงละครมะขามป้อมอาร์ตสเปซ1 อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ ‘มหา’ลัยเถื่อน’ ได้ถือกำเนิด เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่เจ็ด

        โรงละครตรงข้ามทุ่งนาเงียบลงทันควันต่างจากห้าวันที่ผ่านมา ทุกอาคารอึกทึกไปด้วยเสียงพูดคุยกันตั้งแต่โรงอาหารยันสะพานไม้ไผ่ มวลความตื่นเต้นทะลักไปด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเรียนตั้งแต่ ‘เถื่อนทอล์ก’ ยามเช้า ‘เถื่อนทำ’ ยามบ่าย จน ‘เถื่อนเสรี’ ยามค่ำคืนที่นาฬิกาบอกเวลาเช้าวันใหม่ก็ยังไม่เลิกรา…

        ความอยากรู้ อยากเรียนหลั่งทะลักออกมา กระหายโหยหาอยากซึมซับทุกอย่างเข้าไป จนอดสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่า นั่นสินะ ถ้าการเรียนสนุกขนาดนี้จะดีขนาดไหน…

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        “เดินไปหาสิ่งที่เราอยากรู้ และทำความรู้จักกับมัน สร้างบทสนทนา เกิดความรู้สึก และสื่อสารออกไป ให้เรื่องที่ควรรู้ได้รับรู้ เรื่องที่อยากเรียนได้เรียน เรื่องที่อยากเล่าได้เล่า”

        หนึ่งในเถื่อนทอล์กจากโครงการ ‘Feeltrip’2 ‘สาธารณะศึกษา’ นิยามความหมายใหม่เปลี่ยนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เปิดให้ผู้เรียนเลือกพื้นที่เอง ตั้งคำถาม หาคำตอบในพื้นที่นั้นเอง แล้วค่อยมาสะท้อน ถอดบทเรียนร่วมกัน

        “เมื่อผู้เรียนไม่ใช่นักเรียน แต่เป็นผู้ค้นพบความรู้ และเป็นผู้ถ่ายทอด เมื่อนั้นความเคารพจะเกิดขึ้น”

        ‘อ้อย’ – ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ แลกเปลี่ยนตัวอย่างผ่านโครงการ ‘นักสืบสายน้ำ’3 ของมูลนิธิโลกสีเขียวที่พาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ผู้ออกนอกห้องไปสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพผ่านสายน้ำลำธารในท้องถิ่น จนเห็นทั้งความสัมพันธ์และสำคัญของสายน้ำต่อสรรพชีวิต เรียนรู้จนรู้สึกรัก เห็นค่าจนอยากรักษา ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ที่ได้มากลับชุมชนต่อไป

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        “นิทานเรื่องเดียวมันพาเราเรียนได้หมดเลย ทั้งชีวิต ศิลปะการแสดง วัฒนธรรม ไปจนถึงกลุ่มสาระวิชาต่างๆ”

        ‘Learning Through Creative Drama’ หนึ่งในคลาส ‘เถื่อนทำ’ จาก ‘ครูแพท’ – ผศ.ดร. ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ พาเรานั่งๆ นอนๆ ฟังนิทาน หนูกระโดด นิทานโบราณของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง ที่ว่าด้วยการเดินทางตามหาภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของหนูตัวน้อยที่เมื่อได้ลองฝึกย่อเข่าแล้วถีบตัวไปให้ไกลตามคำสอนของเจ้ากบ จนเห็นยอดเขาไกลลิบๆ เพียงแวบเดียว เจ้าหนูก็เชื่อสนิทใจว่าภูเขายิ่งใหญ่นั้นศักดิ์สิทธิ์และเริ่มเดินทางออกตามหา

        นิทานปกรณัมเรื่องเดียวที่ขยายห้องเรียนจนไร้ขอบเขต พาเราออกเดินทางไกลไปเรียนรู้วัฒนธรรมอินเดียนแดงที่เชื่อในความสำคัญของทุกชีวิตในธรรมชาติ และพาเราย้อนกลับมาเดินทางใกล้ๆ ในใจของเราเอง เริ่มถามตัวเองว่าภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเราอยู่ที่ไหน มีพันธกิจยิ่งใหญ่ที่เราพร้อมใช้ชีวิตเดินทางตามหาหรือไม่ และศาสตร์การแสดงจะช่วยเราได้อย่างไร การแสดงที่ช่วยให้เราสวมบทบาทแปลงร่างเป็นกระทิง หมาป่า พญาอินทรีย์ หรือแม้กระทั่งตัวตนในอนาคตที่เราใฝ่ฝัน เชื่ออย่างสนิทใจว่าเราเป็นสิ่งนั้นแล้ว ไม่ต้องแสดง เพียงแค่เป็นไป… ค่อยๆ กลายเป็น… จนลมหายใจหนักเบาเป็นจังหวะเดียวกันกับตัวตนที่ใฝ่ฝัน

        การร่ายรำไปกับชีวิตภายในและโลกภายนอกผ่านศาสตร์การละครที่สอนให้รู้ว่าเราเป็นอะไรก็ได้ และฝึกให้ใช้ชีวิตสอดคล้องไปกับผู้อื่นได้เช่นกัน รู้จังหวะรับส่งเมื่อไรซีน (scene) เขาที่เราต้องโอบอุ้มให้พื้นที่ชีวิตอื่นได้เฉิดฉาย เมื่อไรถึงคราเราที่แม้จะจำบทไม่ได้ ก็ขอแค่ให้ฟังเสียงข้างในของตัวละครนั้นให้ชัด แล้วปล่อยกายเคลื่อนไหวไป ปล่อยใจให้เป็นไป ไม่ต้องแสดง แกล้งเป็น, เพียงเป็น…

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        เถื่อนทอล์กตอนเช้า เถื่อนทำตลอดทั้งบ่าย แต่ความอยากรู้ อยากเรียนก็ยังไม่หาย เถื่อนเสรียามค่ำคืนเลยกลายเป็นห้องเรียนเก็บตก ใครมีเรื่องอยากสอนก็สอน ใครยังตาสว่างไม่อยากนอนก็มาต่อกันในเถื่อนเสรีที่มีตั้งแต่บอร์ดเกม4, ศิลปะการป้องกันตัวไอคิโด, ‘Elephant in Our Room’5 การทำความเข้าใจความขัดแย้งในองค์กร, อินเดียนศึกษาเรื่องเล่าจาก Barefoot College6 หรือจะเช็กสุขภาวะภายในโดย หมอต้า ณ สมดุลย์7 ที่จัด ‘เถื่อนรีทรีต’ ช่วงกลางวันยังไม่พอ ต่อกลางคืนเลยแล้วกัน

        “จะจ่ายยารักษาเฉยๆ ก็ได้ แต่มันยังไม่พอ เขาต้องศึกษาแล้วไปพัฒนาต่อ…”

        หมอต้าเอ่ยหลังแมะมือตรวจเราทีละคน พูดคุย หาเหตุผลว่าอาการป่วยๆ เปื่อยๆ นั้นนอกจากบอกสภาวะกายแล้ว ยังสะท้อนสุขภาวะภายในใจอย่างไร การพูดคุยปรึกษาแบบญาติมิตรที่ไม่เคยเจอจากหมอคนไหน ความสัมพันธ์กาย-ใจที่ได้ยินมานานเพิ่งได้รับการอธิบายให้เข้า (ถึง) ใจก็คราวนี้

        ชีวิตองค์รวมที่ประกอบไปด้วยสมดุลธาตุทั้ง 4 (หมอต้าว่าจริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น แต่เอาแค่สี่ก่อนแล้วกัน) ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ไม่ใช่ว่าเกิดวันไหน ตกฟากเมื่อไหร่แล้วจะกลายเป็นธาตุนั้นไปตลอดชีวิต หากเราล้วนประกอบสร้างขึ้นมาจากทุกธาตุ และต้องการสมดุลของธาตุ – จะมากน้อยต่างกันไปตามสถานการณ์ที่เผชิญ

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        “ดื่มน้ำนี่รู้กันอยู่แล้ว แต่ลองหาอะไรที่ทำแล้วชื่นใจทำดูบ้าง…”

        หมอต้าตรวจกายแล้ว พาพูดคุยสำรวจใจ ให้คำปรึกษาที่สะท้อนว่านอกจากการรักษาที่รู้ๆ กัน ดินแน่นไป ไฟร้อนจัด ให้ดื่มน้ำนั้นช่วยกายได้ แต่อย่าลืมหาอะไรที่ทำให้ ‘ชื่นใจ’ ในเมื่อดินที่แน่นไปอาจมาจากความอึดอัดข้างในที่สะสมจากพฤติกรรมที่ทำมานาน เช่น ระเบียบจัด วินัยแน่นตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน ทำงานโต้รุ่งไม่พักผ่อน ฯลฯ ที่หากไม่สะท้อนฟังใจบ้าง ก็ง่ายที่จะยึดติดคิดว่าวินัยแน่นๆ นั้นดี แต่พฤติกรรมใดก็ตามที่มากไป ย่อมส่งผลต่อการเสียสมดุลภายใน จนปรากฏออกภายนอกได้ทั้งนั้น

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        “เราต้องเปลี่ยนความคิดว่า เอางานมาก่อน ดูแลตัวเองทีหลัง เพราะถ้าเราพังไปแล้ว จะงานไหนๆ ก็ทำไม่ได้ทั้งนั้น”

        เถื่อนทอล์ก ‘การเดินทางภายในของคนทำงานขับเคลื่อนสังคม’ โดย ‘ครูอั๋น’ – ดร. อดิศร จันทรสุข ที่ชวนคนทำงาน เหล่านักสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายให้หันกลับมาดูสุขภาพกายใจตัวเอง ให้ self-care ไม่เป็นแค่เรื่องที่ทำก็ดีไม่ทำก็ได้ แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ให้การดูแลตนเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการเห็นแก่ส่วนรวมเช่นกัน เมื่อเห็นความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตอย่างแท้จริงแล้ว สมดุลกาย-ใจไม่ใช่แค่เรื่องของเรา หากเป็นสุขภาวะของทุกคน ที่ต่างเป็นจุลชีพของนิเวศสังคมที่เราอยู่ร่วมกัน

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        “สิ่งที่ระบบการศึกษาขาดหายคือการใช้ความรู้ส่วนรวมผสานเข้ากับความรู้ส่วนตัว การพบกันระหว่างโลกภายในและโลกภายนอกที่จะทำให้มนุษย์เผยศักยภาพสูงสุดของตนเองออกมา”

        ดร. วรรณดี สุทธินรากร ที่สลับบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยมานั่งเรียนร่วมไปกับทุกคนได้ประมวลมหา’ลัยเถื่อนด้วยทฤษฎี Existentialism อธิบายว่าทำไมการเรียนรู้ที่นี่จึงสนุก ปลุกทุกอณูความรู้สึกได้ขนาดนี้ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ความหมายจะปรากฏขึ้นมาเมื่อมีอิสรภาพในการเลือกเผชิญหน้ากับประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง ให้ตัวตนภายในได้ปะทะโลกภายนอกจนเกิดความเข้าใจโลกใหม่ ความเถื่อนในของมหา’ลัยนี้จึงไม่ใช่อะไรนอกไปจากความเป็นอิสระ เสรี ที่ดึงธรรมชาติความเป็นมนุษย์กลับมาอีกครั้ง

 

มหา’ลัยเถื่อน

 

        “เราพูดกันมามากเรื่องการศึกษาเก่าที่ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ไม่ทันโลก ไม่ ไม่ ไม่อะไรสักอย่าง คำถามคือแล้วเราจะสร้างพื้นที่ใหม่เพื่อมาแทนพื้นที่เก่าที่เราไม่เชื่อนั้นได้อย่างไร”

        ‘ก๋วย’ – พฤหัส พหลกุลบุตร ตั้งคำถามต่อผู้เข้าร่วมว่าหลังจากได้เข้าร่วม ได้สัมผัสถึงศักยภาพมนุษย์ที่ไร้ขอบเขตยามมีอิสรเสรี เราจะร่วมขยายพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ให้กลายเป็นห้องเรียนปกติ ที่ใครก็เข้าถึงได้ ไม่จำกัดอยู่แค่ในมหา’ลัยเถื่อน กลางเชียงดาวอย่างนี้ได้อย่างไร

        ให้ความพิเศษของมหา’ลัยเถื่อนกลายเป็นเรื่องปกติ

        ให้ความเถื่อนมีความหมายว่าอิสรเสรี ไร้พันธนาการกักขังความคิด

        ให้การเรียนรู้ทุกที่มีหัวใจ ให้ทุกมหาวิทยาลัยมีชีวิต

 


อ้างอิง:

ขอบคุณรูปภาพจากเพื่อนร่วมมหา’ลัยเถื่อน และทีมงานมะขามป้อมอาร์ตสเปซ