ผู้นำที่ดี

วิกฤตเผยผู้นำที่ดี สามผู้นำหญิงที่โลกรักและต้องการ

“สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบทำระหว่างช่วงเวลาที่ต้องกักตัวอยู่บ้านนี้ คือการเปิดดูคลิปจากผู้นำดีๆ แล้วจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในประเทศนั้น”

        หนึ่งในความเห็นของผู้รับฟังไลฟ์จาก จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ซึ่งฉีกภาพผู้นำเก่าที่ไม่ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าว เปลี่ยนมาเป็นการไลฟ์พูดคุย ตอบคำถาม ให้กำลังใจประชาชนอย่างเป็นกันเองในชุดอยู่บ้าน ไร้ทีมงานโปรดักชันใหญ่ใดๆ

 

ผู้นำที่ดี

A: Accessible Leadership — ผู้นำที่เข้าถึงได้ อยู่เคียงข้างกันเสมอในทุกสถานการณ์

        ไม่เพียงแต่ฉากที่เปลี่ยนไป หากท่าทีของอาร์เดิร์นเองที่เปลี่ยนภาพผู้นำว่าต้องกำยำ เข้มแข็ง จริงจังในทุกสถานการณ์ มาเป็นผู้นำที่เข้าถึงง่าย มีอารมณ์ขันพอให้ผ่อนคลายตามกาลเทศะที่เหมาะสม ยอมรับอย่างจริงใจในเรื่องที่ยังไม่รู้ เปิดเผยในแผนที่กำลังดำเนินอยู่ สร้างความหวังพร้อมปลุกพลังผู้คนไปพร้อมกันว่าพันธกิจนั้นจะสำเร็จลงได้ก็ต่อเมื่อทุกคนร่วมมือกัน ผู้นำอย่างเธอเพียงสื่อสารข้อเท็จจริงและประสานผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ให้มาทำงานร่วมกัน

        ในคืนวันที่อาร์เดิร์นออกมาไลฟ์นั้น emoji รูปหัวใจเด้งขึ้นเต็มหน้าจอ นอกจากคอมเมนต์ที่ว่าชอบเปิดดูคลิปจากผู้นำดีๆ นั้น ยังมีอีกความเห็นหนึ่งที่บอกว่า เป็นการฟังแถลงจากผู้นำที่ช่างทำให้รู้สึกอบอุ่น ราวกับมีแม่มาห่มผ้าให้ฟังก่อนเข้านอน

        ความเข้าถึงได้และอยู่กับผู้คนเสมอของอาร์เดิร์นนั้นเป็นที่กล่าวขาน (มีคอมเมนต์ในไลฟ์ที่ชาวออสเตรเลียนเข้าไปโพสต์ว่า อยากให้เธอมาดูแลออสเตรเลียบ้าง แล้วชาวนิวซีแลนด์ตอบกลับไปว่า ไม่ให้!) ทั้งในครั้งนี้ที่เธอริเริ่มสื่อสารกับผู้คนเองเสมอโดยไม่ต้องรอให้ถาม จัดวงเสวนาตอบคำถามให้กับเด็กๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะ หรือครั้งสำคัญที่โลกจดจำเธอได้หลังจากเหตุกราดยิงในมัสยิด เมืองไครส์ตเชิร์ช ที่เธอออกมากล่าวข้อความสำคัญว่า เธอจะไม่กล่าวถึงชื่อของคนร้าย เพราะการเป็นที่รู้จักเป็นสิ่งที่เขาต้องการ และเราจะไม่ให้สิ่งนั้นแก่เขาอย่างเด็ดขาด จนกลายเป็นมาตรฐานของการสื่อสารประเด็นรุนแรงต่อไป

 

ผู้นำที่ดี

B: Brave Leadership — ผู้นำที่กล้าหาญ ตัดสินใจเด็ดขาด เผชิญหน้ากับความจริง 

        “If only the world learnt from Taiwan…” —ถ้าเพียงแต่โลกเรียนรู้จากไต้หวัน…

        ไต้หวัน ประเทศที่จัดว่าเสี่ยงมากที่สุดในการติดเชื้อโรคระบาดด้วยที่ตั้งประเทศอยู่ติดกับประเทศจีน แต่กลับเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด และหยุดการเติบโตผู้ติดเชื้อได้เร็วที่สุด มาตรการทั้งหลายที่เราเริ่มทำกันในวันนี้ สามเดือนหลังจากเคสแรกเมื่อปลายปี ล้วนเป็นมาตรการที่ไต้หวันได้เริ่มทำตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเลยด้วยซ้ำ ด้วยการนำที่เด็ดขาดของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-Wen) ที่ตั้งศูนย์บัญชาการกลางรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อทำงานเชิงรุก ป้องกันการระบาดอย่างทันที โดยที่ ไช่ อิงเหวิน ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อสารข้อมูลสำคัญ และตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ซึ่งเธอได้แสดงให้เห็นว่า ในสภาวะที่คับขันนั้นเธอเลือกชีวิตของประชาชนมาเหนือสิ่งใด ซึ่งทำให้ผู้คนเข้าใจได้ว่ามาตรการที่เด็ดขาดนี้อาจมีผลกระทบตามมา แต่เมื่อมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว ผู้คนก็พร้อมจะทำตามอย่างเคร่งครัดไปด้วยกัน

        นอกจากมาตรการเชิงรุกที่รวดเร็วและเด็ดขาด การสื่อสารของ ไช่ อิงเหวิน ยังได้รับความชื่นชมว่าชัดเจน เชื่อถือได้ อีกทั้งท่าทีใจเย็น ไม่ตระหนกของเธอยังทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ หรือแม้กระทั่งนักลงทุนต่างชาติในไต้หวันออกมาบอกว่าพวกเขาเชื่อมั่นในการจัดการของ ไช่ อิงเหวิน และเหตุสุดวิสัยครั้งนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาเสียความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในไต้หวันต่อไป ในทางตรงกันข้าม กลับยิ่งเชื่อมั่นในเสถียรภาพของไต้หวันภายใต้การนำของไช่ อิงเหวิน

        และล่าสุดวันที่ 1 เมษายน 2563 ไช่ อิงเหวิน ก็ได้แสดงความเป็นผู้นำครั้งสำคัญอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อประชาชนไต้หวันอีกต่อไป แต่เพื่อประชาคมโลก ด้วยการประกาศผ่านทวิตเตอร์ของเธอว่า

        “ในการที่จะปกป้องตัวเราเองนั้น หนทางเดียวที่เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้คือทำงานร่วมกันทั้งโลกเพื่อที่จะหยุดยั้งการระบาด” และเธอมีสามคำที่อยากจะมามอบให้ทุกคนวันนี้คือคำว่า Taiwan-Can-Help ‘ไต้หวันช่วยได้’ และ Taiwan is Helping ‘ไต้หวันกำลังช่วย’ 

        โดยสามขั้นตอนแรกของการช่วยเหลือคือ หนึ่ง บริจาคหน้ากากอนามัย 10 ล้านชิ้นแก่ประเทศที่ต้องการ สอง เพิ่มการผลิตยาต้านโรคมาลาเรีย (มีการศึกษาว่าอาจช่วยรักษา COVID-19 ได้) และสาม แบ่งปันอุปกรณ์ตรวจสืบหาโรค และไต้หวันยินดีที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระดับโลกต่อไป

 

ผู้นำที่ดี
Image: www.ft.com/content/dacd2ac6-6b5f-11ea-89df-41bea055720b

C: Calm and Courteous Leadership — ผู้นำที่ใจเย็น และอ่อนโยน 

        “…ข้าพเจ้าทราบว่าการปิดทุกอย่างดังกล่าวมา ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลแคว้นเห็นพ้องต้องกันนั้น ได้แทรกแซงชีวิตและความเป็นประชาธิปไตยของเรา เป็นการจำกัดเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในสาธารณรัฐของเรา 

        “แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันกับท่านทั้งหลายว่า สำหรับข้าพเจ้าที่ได้ต่อสู้อย่างหนักหน่วงมายาวนาน เพื่อให้ได้เสรีภาพในการเดินทางและเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ การจำกัดสิทธินี้เป็นเพียงมาตรการในสถานการณ์จำเพาะอย่างยิ่ง ในระบอบประชาธิปไตยที่เราไม่พึงกระทำการตามอำเภอใจ และจะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น เพราะในเวลานี้ เป็นวิธีที่ขาดไม่ได้ในการรักษาชีวิตคน”

        อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็เป็นผู้นำหญิงอีกคนที่ได้รับความชื่นชมเช่นกัน ในวันที่เธอออกมากล่าวคำปราศรัยแนวทางการรับมือกับ COVID-19 ผ่านโทรทัศน์ทั่วประเทศ โดยออกตัวว่า นี่เป็นเรื่องจริงจัง (“Er ist ernst” – This is Serious) และแม้เรื่องที่เธอกำลังจะต้องแจ้งให้ทราบอาจไม่ทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ แต่การสื่อสารด้วยข้อเท็จจริงโปร่งใสนั้นเป็นส่วนหนึ่งของหลักการประชาธิปไตย 

        นอกจากสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แมร์เคิลยังได้แสดงความขอบคุณ ความเห็นอกเห็นใจไปยังเจ้าหน้าที่ทั้งแพทย์ พนักงานร้านขายของ แคชเชียร์ บุรุษไปรษณีย์ ฯลฯ ที่กำลังทำงานที่หนักและสำคัญที่สุดในการอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถหยุดอยู่กับบ้านเพื่อหยุดยั้งการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

        ว่ากันว่า สภาวะคับขันคนเรานั้นจะแสดงธาตุแท้ออกมา เมื่อถูกผลักให้ยืนอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องตัดสินว่าจะเลือกอะไร ซึ่งแมร์เคิลได้แสดงความชัดเจนกับมาตรการที่แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของเธอนั้นเป็นการตัดสินใจที่ใช้ ‘ชีวิต’ ของผู้คนเป็นที่ตั้ง การตัดสินใจที่แสดงให้เห็นว่าคุณค่าใดที่เธอรักษาไว้สูงสุดเหนืออุดมการณ์ เหนือความมั่งคั่งของประเทศ และนั่นคือคุณค่าสากลของความเป็นมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งความสำคัญของเศรษฐกิจที่เธอได้ชี้แจงถึงแผนที่จะตามมา พร้อมขอให้ทุกคนอดทนไปด้วยกัน เพราะแผนการที่จะต้องทำนั้นมันไม่ง่าย แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการทำให้เป้าหมายรอดไปด้วยกันนั้นสำเร็จ

        ทั้งแมร์เคิล อาร์เดิร์น และ ไช่ อิงเหวิน ยอมรับว่าเธอไม่รู้ว่ามาตรการนี้จะต้องใช้ไปนานเท่าไหร่ ยอมรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาร์เดิร์นในช่วงแรกนั้นกราฟผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้น นั่นเป็นเพราะมีการตรวจเกิดขึ้น ขอให้ทุกคนอย่าตื่นตระหนก ซึ่งการบอกความจริงที่แม้อาจจะขมขื่นไปบ้าง แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่จริงแท้ ตรงไปตรงมา ก็ทำให้ผู้คนรู้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรในระยะยาว ดีกว่าถูกปลอบประโลมด้วยสัญญาไม่จริง คำลวงแสนหวาน สบายใจเพียงแค่ระยะสั้นๆ แต่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น หนำซ้ำจะแย่ลงกว่าเคย 

        “It is in times of crisis that good leaders emerge.” —ช่วงวิกฤตคือเวลาที่ผู้นำที่ดีจะปรากฏ

        หากจะมีคุณค่าอะไรบ้างในช่วงเวลาวิกฤต นั่นก็คงเป็นการเผยให้เห็นทั้งธาตุแท้ เพื่อนแท้ และผู้นำที่แท้ ซึ่งทั้งสามอย่างนั้นล้วนสัมพันธ์กัน ในความหมายที่ว่าผู้นำที่ดีนั้นเป็นดั่งเพื่อนที่อยู่เคียงข้างกันไปในเวลาลำบาก และหนทางที่เขาเลือกดำเนินในสภาวะคับขันก็จะบอกได้ว่าในวันที่อาจต้องละทิ้งทุกอย่างนั้นคุณค่าอะไรกันที่เขาเลือกจะยึดถือเอาไว้ – อำนาจหรือความรัก เงินตราหรือชีวิต 

        ใช่ ทั้งสองอย่างนั้นล้วนสำคัญ แต่สถานการณ์คับขันจะเผยให้เห็นว่าเขาจัดลำดับความสำคัญอย่างไร อะไรคือคุณค่าสุดท้ายที่เขาเลือกที่จะประคองไว้ แม้อาจต้องปล่อยให้บางสิ่งหลุดลอยไปบ้างชั่วคราว

 

        “เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตไร้ผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ จัดการ และจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความร่วมมือกันระดับโลกได้”

        ยูวาล โนอาห์ ฮาลารี กล่าวเอาไว้ในบทความ ‘In the Battle against Coronavirus: Humanity Lacks Leadership’ ยูวาลใช้คำว่า ‘leadership’ ความเป็นผู้นำ แทนคำว่าผู้นำ เพราะแม้เราต่างจะมี ‘ผู้นำ’ ในขอบเขตประเทศของเราแล้ว นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเรารู้สึกถึงความเป็นผู้นำแต่อย่างใด และยูวาลยังใช้คำว่า ‘humanity’ มนุษยชาติ ที่ไม่จำกัดอยู่ที่คนชาติใดชาติหนึ่ง หากหมายถึงความเป็นมนุษย์ที่เป็นสากล

         ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มระบาด เราต่างเห็นผู้นำในแต่ละประเทศออกมาสื่อสารกับประชาชนของพวกเขาในท่าทีที่แตกต่างกันไป ความน่าสนใจไม่ใช่แค่เพียงผู้นำแต่ละคนนั้นเลือกจะสื่อสารอะไร และเราเห็นอะไรบ้างจากผู้นำแต่ละคน แต่เรายังได้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกนั้นกำลังโหยหาผู้นำแบบไหน ผู้นำแบบไหนที่โลกกำลังต้องการ และดูเหมือนว่าเธอทั้งสามกำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับความเป็นผู้นำหลังจากนี้ไป

 

ผู้นำที่ดี

 

        ในหนังสือ The Leader, The Teacher, and You เขียนโดย Siong Guan Lim และ Joanne H. Lim ศาสตราจารย์สาขาผู้นำและการเปลี่ยนแปลงแห่งมหาวิทยาลัย Lee Kuan Yew School of Public Policy ประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวไว้ว่า ความเป็นผู้นำนั้นต้องให้คุณค่ากับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ (process over result), ความร่วมมือมากกว่าวิสัยทัศน์ (collaboration over vision) และการประสานงานมากกว่าสั่งงาน (facilitation over assignment) 

        เพราะหากผู้นำนั้นให้คุณค่าในทางตรงกันข้าม สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ตามมาก็คือการแตกแยก การแก่งแย่งชิงดี และความไม่ไว้ใจกัน ดั่งเช่นผลกระทบทางสังคมที่ดูว่ากำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เมื่อผู้คนเริ่มเกิดการหวาดกลัวคนต่างชาติ (xenophobia) ในเมื่อผู้นำยังออกมาแปะป้ายตัดสินว่าชาติใดเป็นตัวการให้เกิดไวรัสนี้ หรือการแตกหัก แบ่งแยกกัน (isolationism) เมื่อผู้นำคนเดิมมัวแต่สนใจความอยู่รอดของประเทศตัวเอง

        “ก็แล้วใครเขาจะไปทำตามผู้นำที่มีคำขวัญประจำใจว่า ‘ฉันก่อน’ (Me First) ล่ะ?” – ยูวาล โนอาห์ ฮาลารี

        ซึ่งทั้ง จาซินดา อาร์เดิร์น, อังเกลา แมร์เคิล และ ไช่ อิงเหวิน ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้นำที่ดีที่มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าถึงได้ ชัดเจน ตรงไปตรงมานั้น ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจจนสามารถทำให้ผู้คนพร้อมมีส่วนร่วมในกระบวนการมุ่งไปสู่เป้าหมายพร้อมกันได้มากเพียงใด และนอกจากหลายบทเรียนที่โลกได้เรียนรู้จากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ โลกก็ดูจะได้เรียนรู้อีกบทเรียนสำคัญเช่นกันว่าผู้นำยุคใหม่แบบไหนที่โลกต้องการ

 

        และหวังว่าเมื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไป

        เราจะตัดสินใจได้ว่าควรจะเลือกสนับสนุนผู้นำแบบไหน

        ให้ผู้นำที่ดีไม่เป็นเพียงจินตนาการ

        ไม่ต้องคอยแอบชื่นชมผู้นำเพื่อนบ้านอีกต่อไป 

 


อ้างอิง: