การหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนยุคนี้ว่า “กลยุทธ์หรือเครื่องมือการลงทุนใด ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว” เราจะสามารถใช้องค์ความรู้เดิมๆ ที่มีมาอยู่ก่อนหน้านี้ หรือ จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มันสร้างโอกาสบนมุมมองใหม่ๆ ที่อาจให้ผลตอบแทนเทียบเท่าหรือดีกว่าองค์ความรู้เดิมๆ
ที่จริงกับคำถามนี้ผมก็พอจะบอกได้ทันทีในตอนนี้เลยว่า ด้วยระยะเวลาในช่วงวิกฤตที่เราเผชิญกันอยู่ในเวลานี้ ยังถือว่าสั้นเกินว่าที่จะฟันธงได้ว่า เศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต และเพราะสถานการณ์ที่ประชากรโลกเจอร่วมกันนี้ เป็นสถานการณ์ที่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่เคยเผชิญกับมันมาก่อน ดังนั้น จึงยิ่งยากขึ้นไปอีกที่เราจะสามารถตอบคำถามได้แบบมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “กลยุทธ์หรือเครื่องมือการลงทุนใด ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว”
แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยกระแสของ Technology Disruption ที่เกิดมาก่อนหน้านี้ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา มันก็พอจะทำให้เราเห็นร่องรอยบางอย่าง ซึ่งผมขอบอกว่า นี่เป็นมุมมองส่วนตัวจากการสังเกตและวิเคราะห์ด้วยตัวเองว่า ธีมการลงทุนในระยะยาวหลังจากนี้ มีอะไรบ้างที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากเดิม
1. Diversified Portfolio หรือการกระจายความเสี่ยงในทุกประเภทสินทรัพย์ ทำให้คุณสามารถผ่านวิกฤตแบบเจ็บตัวน้อยได้เหมือนดังเช่นอดีต
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดฉากเกมส์สงครามการค้า ในปีนั้น สินทรัพย์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก มีเพียงแค่ ‘การถือเงินสด’ จนเป็นที่ถกเถียงในแวดวงนักกลยุทธ์มืออาชีพทั้งหลายว่า มันถึงจุดสิ้นสุดของการลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอเพื่อกระจายความเสี่ยงแล้วเหรอ เพราะไม่ว่าจะลงลงทุนในสินทรัพย์อะไร ในปี 2561 ก็ขาดทุนทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่พันธบัตรรัฐบาลซึ่งได้ชื่อว่าเสี่ยงต่ำและปลอดภัยที่สุด
แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า เหตุการณ์ในปี 2018 เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เพราะเมื่อเข้าสู่ปี 2019 ผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ก็กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติจนทำให้คำกล่าวหาที่มองว่า “เลิกกระจายความเสี่ยงเถอะ” นั้นค่อยๆ หายไป จนหลักฐานชิ้นสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับฐานเฉลี่ยลบมากกว่า 30% จากจุดสูงสุด เราอาจพบว่า มีแรงเทขายออกจากตราสารหนี้ภาคเอกชนด้วย เพราะไม่รู้ว่า โลกจะรับมือกับโรค COVID-19 ได้มากน้อยแค่ไหนในช่วงแรก แต่หากพอร์ตการลงทุนของเรา มีตราสารหนี้ภาครัฐและทองคำผสมอยู่ จะพบว่าพอร์ตการลงทุนของคุณลดความผันผวนและช่วยพยุงไม่ให้บาดเจ็บจากการปรับฐานรุนแรงในตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี และนี่คือสิ่งที่ผมเชื่อว่าเราควรทำต่อไปครับ
2. ESG หรือ Environmental, Social, and Governance จะถูกนักลงทุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ยกระดับความสำคัญของวิธีการที่บริษัทดำเนินงาน ทั้งในแง่ต่อสิ่งแวดล้อม พนักงาน และการกำกับดูแล ไปในทิศทางที่เข้าสู่มาตรฐานของ ESG เพิ่มขึ้น
สำหรับการจัดการองค์กรในประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น การมีนโยบาย Work From Home ที่เอื้อต่อรูปแบบการทำงานสมัยใหม่ และถือเป็นการทำ Social Distancing ไปในตัว เพื่อเลี่ยงให้พนักงานอยู่ในจุดเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงรายจ่ายที่แสดงถึงความฟุ้งเฟ้อในอดีต หากยังดำเนินต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความสัมพันธ์ในอนาคตกับลูกค้า หรือทำให้สามารถหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาในองค์กรได้ยากขึ้น สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่นักลงทุนจะให้น้ำหนักมากขึ้น และมีแนวโน้มที่นักลงทุนจะกดดันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของธุรกิจที่ไม่สอดรับกับ ESG ด้วยการให้น้ำหนักการลงทุนน้อยลง หรือ เลือกที่จะไม่ลงทุนเลย
สำหรับ ESG ในแง่ของภาพที่กว้างขึ้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแผนฟื้นฟูสำหรับภาครัฐ ด้วยแผนการที่จะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ การขนส่งที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อาหารที่ยั่งยืน และรวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก สิ่งนี้จะยังดำเนินต่อไป และนักลงทุนจะรับได้กับความล้มเหลวในระยะสั้น หากบริษัทหรือธุรกิจยังมีความพยายามที่จะรักษามาตรการ และให้ความสำคัญทั้ง Environmental, Social and Governance
3. Lower Rate buy High Risk = More Equity
ในยุคหลัง COVID-19 ที่หลายคนเรียกกันไปแล้วว่า เราจะอยู่ในยุคของ New Normal ซึ่งสิ่งปกติแบบใหม่ที่เรากำลังจะเห็นชัดๆ เลยก็คือเราจะเข้าสู่ยุคที่อัตราดอกเบี้ยจากเงินฝากและตราสารหนี้เข้าใกล้ศูนย์ หรือถึงขั้นติดลบในหลายๆ ประเทศ สาเหตุหลักมาจากมาตรการกระตุ้นจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยเลยทีเดียวกว่าที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาสู่ภาวะปกติหรือจุดเดิมในปี 2019 ได้ นั่นเท่ากับว่า แม้แต่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำก็ไม่อาจออมเงินไว้ในเงินฝากธนาคารหรือตราสารหนี้ภาครัฐได้อีกต่อไป เพราะแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และผลตอบแทนที่แทบจะไม่เหลืออะไร จะทำให้มีเม็ดเงินจากส่วนนี้ไหลออกมาหาผลตอบแทนในตลาดการเงินและสินทรัพย์ประเภทอื่น
ซึ่งสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูง (ในสายตาของนักลงทุนทั่วไป) ก็คือ ตลาดตราสารทุนหรือหุ้น และเราก็เห็นหลักฐานในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบางอย่างคือ เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับสามารถรีบาวด์กลับมาได้อย่างแข็งแกร่งโดยไม่แคร์ หรือ ไม่สนใจกับตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1930, อัตราการว่างงานของทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์, รัฐบาลก่อหนี้สาธารณะรวมกันมากกว่า 10% ของ GDP ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน นั่นก็เพราะสภาพคล่องที่ล้นโลก เงินทุนจึงไม่มีทางเลือกที่จะต้องไหลเข้าตราสารทุน เพื่อหาผลตอบแทนมาชดเชยกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดดิน
4. De-globalization
ในมุมมองของผม ผมเชื่อว่าการเกิดขึ้นของ COVID-19 คือ จุดสิ้นสุดของกระแสโลกภิวัฒน์ (Globalization) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การที่ Global Supply Chain ของโลกไปรวมตัวกันอยู่ที่ประเทศจีนเป็นฐานการผลิตที่สุดท้าย เมื่อเกิดวิกฤตการณ์อย่างเช่นรอบนี้ ความเสี่ยงที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นอีกด้านก็คือ เกิดการชะงักของฟากการผลิต ทำให้หลังจากนี้ ผู้ประกอบการทั่วโลกจะเริ่มออกแบบ Supply Chain ใหม่ให้อยู่ในระดับภูมิภาค หรือภายในประเทศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งแนวความคิดของโลกฝั่งเสรีนิยมซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ก็พุ่งเป้าโจมตีถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของบริษัทสัญชาติจีน การกล่าวอ้างว่าจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายไวรัส COVID-19 ที่กลายเป็นร่างกฎหมายขัดแข้งขัดขาบริษัทจีน ให้ค้าขายกับต่างชาติลำบากขึ้น หรือถึงขั้นอาจพิจารณาถอดหลักทรัพย์ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน การเคลื่อนไหวของ 2 มหาอำนาจภายใต้วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ ดูเหมือนจะรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่จีนเปิดประเทศมา แน่นอนว่าการค้าโลกจะหดตัวลงไปอีกนับจากนี้ และกระแส Globalization อาจจะลดลงมาเหลือเพียง Regionalization ก็เป็นได้
ในความเป็นจริงก็ยังมีอีกหนึ่งธีมการลงทุนที่น่าสนใจในระยะยาวก็คือ ‘Technology’ แต่ธีมการลงทุนนี้ ถึงไม่มีวิกฤต COVID-19 ก็อยู่ในสายตาของนักลงทุนกันอยู่แล้วนะครับ
จากทั้งหมด 4 ธีมการลงทุนในมุมมองของผม ผมว่าสิ่งที่เราต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนในฐานะของนักลงทุนก็คือ เราจำเป็นต้องมีเงินออมเพื่อการเกษียณในบั้นปลายชีวิตเท่าไหร่ มีเป้าหมายอะไรระหว่างทางก่อนการเกษียณไหม และที่สำคัญ วิกฤตช่วงที่ผ่านมา มันทดสอบเราแล้วครั้งหนึ่งว่า เรามีเงินสดหรือสภาพคล่องที่สามารถประคองตัวให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้สบายตัวขนาดไหน
เมื่อตอบคำถามในใจเหล่านี้ได้ครบ กำหนดเป้าหมายได้ชัด 4 ธีมการลงทุนนี้ ผมเชื่อว่าถ้าเรายึดหลักไว้ ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนของเราได้ในระยะยาวครับ
ร่วมติดตามและสื่อสารกับผู้เขียนและทีมงานได้ทาง https://finno.me/alphapro-adB