ESG Investing

ESG Investing การลงทุนอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

ย้อนกลับไปเมื่อตอนกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ผมเขียนบทความแรกในคอลัมน์ Alpha Pro ผมได้ให้มุมมองถึงผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19 กับการลงทุน ขณะที่บทความชิ้นต่อมา ก็เขียนเกี่ยวกับธีมการลงทุนที่น่าสนใจในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็มี ESG Investing ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance บทความนี้ ผมขอขยายความภาพของ ESG Theme ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นนะครับ

        กลับไปที่ Basic Investment หรือการลงทุนขั้นพื้นฐานที่ว่า เราทุกคนต้องการผลกำไรจากการลงทุนในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่โลกของเราใช้ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนมาจนถึงวันนี้ ดูเหมือนผลกำไรนี้จะเป็นเป้าหมายสูงสุดและเป็นตัวขับเคลื่อนโลกเราจนมาถึงปัจจุบัน

        แต่การคิดถึงเพียงแค่ด้านของผลกำไร (ในระยะสั้น) เพียงอย่างเดียว ดูเหมือนจะไม่เพียงพอและสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ต่อตัวบริษัทเอง แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ดังที่เราเห็นตัวอย่างมากมาย

        อย่างกรณี Electronic Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขยะเหล่านี้ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม นอกจากนี้ยังมีสารหนู กามะถัน อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

        กรณี Food Waste จากอาหารที่กินเหลือในระดับครัวเรือน เศษอาหารและวัตถุดิบเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายตามห้างร้าน ตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละปีจะมีคนอเมริกันทิ้งอาหารประมาณ 40 ล้านตัน ด้วยจำนวนนี้ หากจัดสรรอย่างดี สามารถนำไปเลี้ยงผู้คนที่ขาดแคลนอาหารได้ถึง 1 พันล้านคนทีเดียว

        หรือการที่นโยบายรัฐสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่กลับทิ้งคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่โตมากขึ้นในชุมชนเมือง ปัญหาที่ตามมาก็คือความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม (Inequality) ทั้งในแง่ฐานะทางสังคม ความมั่งคั่งทางการเงิน หรือรวมไปถึงโอกาสในสังคม

        สิ่งที่ผมยกตัวอย่างมานี้ จริงๆ แล้วก็มีคนจำนวนหนึ่ง (แต่จำนวนน้อยเหลือเกิน) ที่พยายามจะผลักดันแนวคิดและรณรงค์ให้เราใส่ใจต่อสังคมให้มากขึ้นกว่าเพียงแค่ผลกำไรในไตรมาสถัดไป

        แสงสว่างที่เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นก็คือ คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y (Millennial) และ Gen Z ที่รับข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างรวดเร็ว ทันโลกและวิเคราะห์สถิติเรื่องต่างๆ ผ่านทางสื่อในโลกอินเทอร์เน็ต เขาคาดการณ์อนาคตได้เร็ว ตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ Gen Z เป็นรุ่นที่กลัวอนาคต จึงมักเปรียบเทียบ หาข้อมูลเยอะ คิดเยอะ และสิ่งใดที่เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นกระบอกเสียงในโลกโซเชียลกลุ่มแรกๆ ในบางเรื่องด้วยเหมือนกัน

        ความที่คนรุ่นใหม่กำลังจะเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ความคิดเห็นของเขาจึงมีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น ทำให้การทำธุรกิจในวิถีเดิมๆ โดยไม่สนใจ Stakeholders รอบด้าน สนใจเพียงแค่ผลกำไรของบริษัท จะไม่ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร และสุดท้ายก็วกกลับเข้ามาส่งผลต่อผลประกอบการในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

        เราได้เห็นอย่างตัวอย่างกรณีคดีที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยหลายคดีหลายเหตุการณ์ ที่ถึงแม้บางเหตุการณ์จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคล ไม่ได้เป็นการกระทำในนามบริษัท ก็สามารถโดนกระแสสังคมกดดันจนทำให้บริษัทต้องออกมารับมือกับสถานการณ์ในยามวิกฤตนั้นด้วย

        มาถึงคำถามสำคัญว่า เราในฐานะนักลงทุนเราจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในธีม ESG Investing ได้อย่างมีนัยสำคัญจริงหรือ?

        ผมคิดว่า ก่อนจะไปตอบคำถามนั้น เราควรถามตัวเองก่อนว่า เราจะสนับสนุนหรือเข้าลงทุนในธุรกิจใดๆ เพียงแค่เพื่อผลตอบแทนระยะสั้นๆ? ถึงแม้บริษัทหรือธุรกิจนั้นจะไม่ได้ใส่ใจกับผลกระทบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ครับ ถ้าเราเลือกได้ เราก็คงไม่อยากสนับสนุน และมันคงจะดีมากๆ หากการสนับสนุนบริษัทที่มีกระบวนการกำกับดูแลให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable Company) ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย สามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างกัน รับฟังความคิดเห็นและความต้องการ

        เพื่อค้นหาประเด็นที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่องค์กรคาดการณ์หรือประเมินไว้เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้เกิดจากองค์กรคิดเองอยู่คนเดียว

        ในอดีตได้เคยมีการทำสถิติว่า ESG Investing หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงการกำกับดูแลตาม ESG Process นั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีหรือไม่ หากเทียบกับการเลือกลงทุนในดัชนีตลาดหุ้น ก็พบว่ายังไม่เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

        จนกระทั่งล่าสุด รายงานล่าสุดของ PricewaterhouseCoopers เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า หากลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่มี ESG Score สูงสุด 20% แรก นับตั้งแต่ต้นปี และผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมาที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการล็อกดาวน์และ Social Distancing พบว่าการลงทุนด้วยธีม ESG สามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาเดียวกัน

        อาจจะสั้นไปหน่อยในการวัดผลตอบแทนเพื่อการตัดสินใจ แต่เราก็เริ่มเห็นว่า การลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG) จะทำให้เรามั่นใจในการลงทุน และส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของเสียงเล็กๆ รวมถึงผลกระทบอื่นๆ ที่เจ้าของธุรกิจอาจไม่เคยใส่ใจมาก่อนครับ

 


ร่วมติดตาม และสื่อสารกับเราได้ทาง https://finno.me/alphapro-adB