สำหรับเรา บิลล์ เกตส์ น่าจะเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับโลกอีกคนที่ไม่ว่าจะพูดอะไรสักอย่างโลกเป็นต้องเงี่ยหูฟัง ส่งสัญญาณอะไรแต่ละครั้ง มีเหตุให้ทั้งวงการกระเพื่อมไหว เพราะถือเป็นอีกหนึ่งผู้ทรงอิทธิพลในโลกธุรกิจระดับตำนานเลยก็ว่าได้
ที่สำคัญเรื่องที่เขาพูดก็ไม่ได้มีแต่เรื่องธุรกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงสารพัดเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชีวิตและชวนคิดเสมอ สมกับเป็นผู้บริหารที่กระหายในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ ใครเคยดู ‘Inside Bill’s Brain’ สารคดีชีวิตที่เกาะติดชีวิตของเขาทางช่อง NetFlix น่าจะจำภาพที่เขาหอบหนังสือเล่มหนาๆ ใส่กระเป๋าไปหลายต่อหลายเล่ม เพื่อนำไปอ่านระหว่างช่วงของการพักเบรกประจำปี ที่เขาจะหลีกหนีโลกไปอยู่เงียบๆ กับหนังสือเหมือนคนจำศีล แต่เป็นการจำศีลเพื่อเพิ่มพูนและขัดเกลาปัญญาให้แหลมคมเพื่อจะได้ตัดสินใจในแต่ละเรื่องด้วยความเฉียบขาดและมองไกล
ปี 2021 นับเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับทุกคนอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นอีกปีที่มนุษย์ร่วมโลกของเราต้องเผชิญกับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ด้วยกันมาระลอกแล้วระลอกเล่า
และสำหรับบิลล์ เกตส์ ปีนี้นับเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเขามากขึ้นไปอีก เพราะอย่างที่ทุกคนทราบว่าเขาได้หย่ากับภรรยา เมลินดา เกตส์ คู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมากว่า 27 ปี ด้วย บันทึกที่เขาเขียนในบล็อกส่วนตัวอย่าง www.gatesnotes.com จึงเต็มไปด้วยหลากหลายเรื่องราว ทั้งการทบทวน มองย้อนหลัง และมองไปข้างหน้า กับโลกที่จะเปลี่ยนไปหลังจากปัญหาโรคระบาดคลี่คลาย และชีวิตต้องไปต่อ นี่คือการตกตะกอนความคิดที่เราเชื่อว่ามีประโยชน์กับคนที่คิดตามและคิดต่อ แน่นอน
ปีแห่งความแปลกประหลาด การระบาดของโรคโควิด-19 ชีวิตส่วนตัวหลังการหย่าร้าง
บิลล์ เกตส์ เขียนว่า ปี 2021 เป็นปีที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือออนไลน์เสียเป็นส่วนมาก เขาเองก็แทบไม่เจอหน้าค่าตาผู้คนแบบตัวเป็นๆ เลยตลอดปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เมื่อไหร่ที่มีช่วงพักเบรกประชุม เขาเป็นต้องออกไปเดินเล่นในสวนเพื่อจะได้มองเห็นอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง หลังจากเลิกงาน เขาจะเล่นไพ่บริดจ์กับเพื่อน (แน่นอนว่าออนไลน์) หรือคุยกับเพื่อนๆ แบบเห็นหน้าผ่านวิดีโอแชต มีแค่ช่วงที่เขาได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้นที่เขาออกไปเจอผู้คนได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตของผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักรไมโครซอฟต์คนนี้ คือ การอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ (เหมือนพวกเรานี่แหละ)
ขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกว่าปี 2021 ก็ดีในแง่ที่ทำให้คนทั้งโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันอย่างเห็นได้ชัด แม้เราจะไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอก แต่เราก็สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ได้ ทั้งสภาวะภูมิอากาศอันโหดร้าย และสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นให้เห็นวันแล้ววันเล่า “ทุกครั้งที่คุณเห็นข่าวใดก็ตามที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง มันจะเตือนให้คุณรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบกับตัวคุณที่บ้านอย่างไร” เขายกตัวอย่างตอนที่มีเรือขนส่งสินค้าติดคาอยู่ตรงคลองสุเอซ แล้วส่งผลให้ระบบการขนส่งสินค้ารวนกันไปทั่วโลก
Gates Foundation ที่มีปณิธานในการกำจัดความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ และลดความไม่เท่าเทียม ก็มีความก้าวหน้าในการทำงานเป็นอย่างดี พวกเขาสามารถค้นพบหนทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการรับมือและกำจัดโรคสำคัญๆ อย่างวัณโรค HIV โปลิโอ รวมทั้งให้ความสำคัญกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างโควิด-19 ด้วย นอกจากนั้นข่าวดีที่สุดสำหรับเขาอีกข่าวก็คือ การที่ WHO อนุมัติวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียเป็นครั้งแรกของโลก และมูลนิธิของเขามีส่วนในการช่วยสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยในขั้นตอนสำคัญๆ จนสามารถผลิตวัคซีนที่โลกรอคอยมานานได้สำเร็จ
เรื่อง Climate Change เป็นอีกเรื่องที่เขาให้ความสนใจ เห็นได้จากการที่เขาออกหนังสือเล่มล่าสุด ‘How to Avoid a Climate Disaster’ และเปิดตัว Breakthrough Energy Catalyst ที่เขาและกลุ่มนักลงทุนร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพื่อลงทุนในนวัตกรรมสีเขียวทั้งหลาย โดยมีเป้าหมายไปสู่ net-zero emissions หรือลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์
เขายืนยันว่าแม้เขาและเมลินดา อดีตภรรยา จะได้หย่าร้างกันไปแล้ว แต่พวกเขาจะยังคงร่วมกันทำงานในมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ต่อไป และยอมรับว่าการหย่าร้างเป็นช่วงเวลาที่แสนเศร้าสำหรับเขาอย่างแท้จริง และการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บวกกับลูกๆ ทั้งสามคนก็แต่งงานบ้าง ไปเรียนบ้าง เรียกว่าแยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเองกันหมด ทำให้บ้านเงียบขึ้นกว่าเดิมมาก ยิ่งทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากที่เขาต้องผ่านไป
เขาเชื่อว่า ปี 2022 จะมุ่งไปในทิศทางของการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 กันเสียที แม้ในปี 2021 เขาจะเคยเขียนไว้ว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น แต่ผลของการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส ก็ทำให้เกิดการสูญเสียเพิ่มขึ้น แต่ปีที่ผ่านมา ด้วยความทุ่มเทและการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้เห็นได้ชัดว่าทีมนักวิจัยได้ค้นพบสายพันธุ์โอมิครอนได้เร็วมากกว่าตอนที่พบเดลตา ซึ่งเป็นผลจากการทำงานอย่างหนักของนักวิจัยประกอบกับมีการลงทุนไปเป็นจำนวนมากในการค้นคว้าและวิจัยเพื่อรับมือกับการระบาดของโรค
ทำให้เขาเชื่อว่า ในปี 2022 โรคโควิด-19 จะเป็น endemic ในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วโลก และการพัฒนายาใหม่ๆ ในการรักษาโรครวมทั้งวัคซีนก็จะดีขึ้นกว่าเดิมด้วย เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเชื่อมั่นในเรื่องของการพัฒนาวัคซีนคือ ไม่เคยมีการพัฒนาวัคซีนที่รับมือกับโรคระบาดได้อย่างรวดเร็วภายในหนึ่งปี อย่างที่เกิดขึ้นกับโรคโควิด-19 เขาคิดว่าวัคซีนชนิด mRNA คือตัวเปลี่ยนเกม และจะทำให้การพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ ตัวต่อไปเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องที่เขาผิดหวังมากที่สุดเกี่ยวกับวัคซีนก็คือเรื่องของการกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับคนที่มีความเสี่ยงสูง ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เช่น บางพื้นที่คนที่มีความเสี่ยงต่ำ กลับได้วัคซีนเร็วกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงวัยหรือผู้มีโรคประจำตัว แบบนี้เขามองว่ามันไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย อนาคตเราควรจะหาทางกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้
Climate Change และโครงการต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
บิลล์ เกตส์ บอกว่ามีประโยคหนึ่งที่เรามักจะใช้กันที่มูลนิธิ นั่นก็คือ ความก้าวหน้าคือสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาเชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งมาร่วมมือกันและตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีกว่าเดิม มันอาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็วขนาดที่คุณต้องการให้เป็น แต่ถ้าหากคุณฉลาดมากพอ คิดให้มากพอ และมีคนที่มีแพสชันคอยผลักดัน แน่นอนว่าความก้าวหน้าจะต้องเกิดขึ้นในที่สุด
ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา สำหรับเขาถือว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบจากในอดีต ที่การพูดคุยกันยังเป็นเรื่องที่ว่า เรามีเครื่องมือมากพอที่เราต้องการในการแก้ปัญหาหรือเปล่า แต่พอมาปีนี้มีความเห็นตรงกันมากขึ้นว่าเรามีสิ่งที่เราต้องการมากเพียงพอ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดที่เราต้องการ และเราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหาหรือปิดช่องว่าง หากเราต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาภูมิอากาศแปรปรวนกันจริงๆ
เขารู้สึกดีใจที่เห็นผู้นำรุ่นใหม่ๆ มากขึ้นในการแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน รวมทั้งเรื่องของนวัตกรรมในการแก้ปัญหาก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2050 นอกจากนั้น ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา เขาทุ่มเวลาไปกับการพูดคุยเรื่องของเทคโนโลยีสีเขียวที่จำเป็นต้องมีราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ เพื่อให้คนทั่วโลกได้ใช้ ถ้าเราจะเพิ่มศักยภาพของนวัตกรรมเพื่อไปถึง zero carbon จริงๆ เราก็จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่ยังเป็นส่วนต่างระหว่างสิ่งที่เป็นตัวการในการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ เขาเรียกความแตกต่างที่ว่านั้นว่า Green Premium (ผู้สนใจสามารถหาอ่านต่อได้) และยืนยันว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในแผนรับมือกับปัญหา Climate Change
ชีวิตดิจิทัลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
บิลล์ เกตส์ มองว่า 2 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขนาดไหน หลายอย่างถูกเร่งให้เกิดขึ้นในวันนี้แล้ว ทั้งที่จริงๆ ต้องใช้เวลานานนับปี หรืออาจจะเป็นทศวรรษเลยก็ว่าได้ เขาทำนายไว้ว่า ในปีหน้าโลกของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปในสามประเด็นหลักๆ หรือเรียกได้ว่าเป็น big change เลยก็ว่าได้ เรื่องแรกคือ การทำงานในออฟฟิศ เพราะเห็นได้ชัดว่าสถานการณ์โรคระบาดทำให้เราเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องของ productivity และการเข้ามาทำงานในออฟฟิศอย่างสิ้นเชิง เส้นแบ่งของการระดมสมอง การประชุมร่วมกัน หรือแม้แต่การแวะคุยกันตามทางเดินในออฟฟิศ ก็ล้วนสลายหายไปหมดแล้ว ส่วนตัวแล้วเขามองเห็นโอกาสมากมายในการคิดใหม่ และค้นหาว่าอะไรที่ทำแล้วได้ผล อะไรทำแล้วไม่ได้ผล
แม้หลายบริษัทจะเริ่มออกนโยบายให้มีการทำงานจากบ้าน หรือทำงานที่ไหนก็ได้ บ้างก็เลือกวิธีไฮบริด คือเข้าออฟฟิศบ้าง ทำงานที่บ้านบ้างตามความเหมาะสม แต่อย่างไรก็ดี เขาก็ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดกันในเวลานี้ เพราะสถานการณ์โรคระบาดก็เริ่มคลี่คลายและทุกอย่างเริ่มกลับสู่สภาพปกติ จริงๆ แล้วเขาคิดว่าควรจะเป็นเวลาของการทดลองหาทางที่เหมาะสม หรือ A/B testing ในเรื่องของการทำงานแบบ remote work เช่น แบ่งให้ทีมหนึ่งลองทำงานทางไกล อีกทีมให้เข้าออฟฟิศ แล้วมาดูผลและหาจุดที่เหมาะสมในการทำงานสำหรับทุกคน เป็นต้น
แต่ที่แน่ๆ ภายในสองสามปีข้างหน้า การประชุมงานจะเปลี่ยนจากเดิมไปสู่โลกแบบ Metaverse ซึ่งล่าสุดทั้ง Facebook และ Microsoft ก็ได้แสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้กันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องประชุมแบบ 3D หรือใช้อวาตาร์ในการประชุม ซึ่งแปลว่าคุณต้องมีอุปกรณ์หลักเช่น แว่นตา VR และถุงมือที่เอาไว้จับเซนเซอร์เวลาที่ต้องเคลื่อนไหวมือไม้ระหว่างประชุม เรื่องการประชุมโดยใช้อวาตาร์นี้ ไมโครซอฟต์จะเริ่มปล่อยเวอร์ชันแรกให้ลองใช้กันภายในปีหน้าด้วย
Big change อีกเรื่องที่จะเกิดขึ้นก็คือ เรื่องของระบบการศึกษา การเรียนการสอนที่จะใช้เครื่องมือแบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นทั้งกับครูและนักเรียน ต่อไปจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่ช่วยการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบเสมือนจริง ให้มีการปฏิสัมพันธ์กันในห้องเรียนมากขึ้น เพราะเด็กเล็กๆ บางคนก็ไม่มีสมาธิเวลาที่ต้องนั่งจดจ่อหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา สำหรับครูเอง ก็อาจจะมีเครื่องมือที่สามารถกดไปแล้วรู้ได้เลยว่า เด็กคนนี้มีจุดอ่อนตรงไหน จะปรับปรุงการสอนอย่างไรดี
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากก็คือ การดูแลสุขภาพ หรือ health care ในอนาคตเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพแบบ Telehealth จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป แม้การแพทย์บางสาขาอาจจะจำเป็นต้องกลับสู่สภาพปกติที่ต้องเจอหน้าค่าตากัน แต่สาขาหนึ่งที่บิลคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเลยก็คือ behavioral health หรือสุขภาพที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะต่อไปเราจะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบนักบำบัดแล้ว แต่เราจะทำได้ง่ายๆ แค่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ และใช้เวลาคุยกับแพทย์สั้นยาวได้แล้วแต่เราต้องการ และที่สำคัญ เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่า การได้พบหมอแค่ 15 นาที ทั้งที่ต้องเสียเวลาเดินทางไปตั้งนาน เป็นเรื่องไม่คุ้มเอาเสียเลย แต่ตอนนี้ 15 นาทีผ่านการพูดคุยหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็เพียงพอแล้ว และคนไข้บางคนอาจจะรู้สึกสบายใจกว่าด้วยถ้าได้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองแทนที่จะไปพบแพทย์ที่คลินิก
รวมความแล้ว เขาคิดว่ายังมีเหตุผลให้เขามองโลกในแง่ดีได้อยู่ ไม่ว่าปีที่ผ่านมาจะยากลำบากแค่ไหน แต่เขาก็เชื่อว่าด้วยพลังของเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ นอกจากนั้น เขาก็ยังจะรักษานิสัยรักการเรียนรู้เอาไว้เหมือนเดิม เพราะช่วงที่เกิดโรคระบาด เขาก็นั่งดูวิดีโอเกี่ยวกับการศึกษามากมายในยูทูบ แถมยังสมัครสมาชิกแพลตฟอร์มการศึกษาอย่าง Wondrium เอาไว้ด้วย เพราะเขาเรียนรู้วิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นมากจากที่นี่ เช่น วิชาการทำแก้ว การดูนก และประวัติศาสตร์ต่างๆ
นี่คือเรื่องราวที่เราสรุปมาคร่าวๆ จากบล็อกของเขา และเราอยากให้คุณลองเข้าไปอ่านกันเต็มๆ กันอีกครั้ง เพราะเราคิดว่า บิลล์ เกตส์ เป็นผู้บริหารที่เอาจริงเอาจังเรื่องการเรียนรู้มากที่สุดคนหนึ่ง และบล็อกส่วนตัวของเขาก็มีเรื่องน่ารู้ให้อ่านอีกมากมาย
ภาพและที่มา: www.gatesnotes.com