เพราะการออกแบบที่ดี นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสินค้าให้ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมากแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าสามารถจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งก็มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
เมื่อเรื่องนี้สำคัญ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ริเริ่มโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีหรือ Design Excellence Award (DEmark) ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากองค์กรภาครัฐและเอกชนของประเทศญี่ปุ่น 2 องค์กรคือ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัล เพื่อให้การออกแบบนั้นเป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Circular Design Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก และมีผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อย โดยเราเลือกมานำเสนอเพียง 9 ผลงานดีไซน์เก๋ ไอเดียดี และใช้ได้จริงทั้ง 7 หมวดจากทั้งหมด 72 รายการ
DEmark Winner: ถุงยาง รักษ์โลก
กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย
บริษัท รับเบอร์ไอเดีย จำกัด / ออกแบบโดย: RBI Design team
เมื่อถุงผ้าทรงสี่เหลี่ยมสายหนาหน้าตาเดิมๆ ที่ทุกคนคุ้นเคยกำลังจะเอาต์ เหล่า RBI Design team จึงมองหาวัสดุทดแทนใหม่แทนผ้า พวกเขาจึงนึกถึง ‘ยางพารา’ ของไทยที่มีความทนทาน ยืดหยุ่น แถมยังเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย ย่อยสลายได้ นำกลับมารีไซเคิลก็ได้ และที่สำคัญช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของคนไทยอีกทาง
DEmark Winner: ไซน์-เล่น กล่องภาษามือไทย
กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์
ออกแบบโดย: อติพล ดีวงกิจ
จากการค้นหาข้อมูลของอติพล พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยินมากถึง 330,488 คน ซึ่งเขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในสังคมไทยผู้พิการทางการได้ยินจะมีจำนวนมากขนาดนี้ นั่นทำให้เราค้นหาข้อเท็จจริงต่อ และพบข้อมูลว่า กลุ่มผู้พิการทางการได้ยินจะเป็นกลุ่มปิด โดยจะเป็นกลุ่มที่คบกันเองภายในเท่านั้น จะไม่คบคนนอกกลุ่ม (คนปกติ) สาเหตุหลักๆ นั้นมาจากเรื่อง ‘การสื่อสาร’ เพราะการใช้ภาษาของคนกลุ่มนี้เป็นการใช้ ‘ภาษามือไทย’ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับคนนอกกลุ่มได้
อติพลเห็นว่าที่จริงแล้วควรนำเสนอมุมมองใหม่ของผู้พิการให้คนนอกกลุ่มให้รู้จักพวกเขามากขึ้น จึงออกแบบภาษามือเพื่อให้คนนอกกลุ่มได้เข้าใจมากขึ้น จนกลายมาเป็นไซน์-เล่น ภาษามือไทยที่มีสีสันคัลเลอร์ฟูล และเข้าใจได้ง่าย
กลุ่มบรรจุภัณฑ์สินค้า: Mulberry x Peaberry บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่เมล็ดกาแฟจากกระดาษสา
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ / ผู้ออกแบบ: Mae Fah Luang Design Team
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้กระดาษที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่เพื่อให้ได้ทั้งรักษ์โลก ย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย แถมดีไซน์ก็ต้องเก๋ ทำให้ทีมออกแบบของแม่ฟ้าหลวงนำไอเดีย Circular มาใช้ ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่เหลือจากการผลิตกระดาษและเศษฝ้ายจากโรงงานทอผ้าเพื่อไม่ให้เหลือเศษทิ้ง นำมาขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซรามิก ที่ช่วยลดเวลาการผลิตได้อีกทาง แถมยังได้เรื่องดีไซน์และลวดลายที่แตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากการผสมผสานของกระดาษและเศษฝ้าย ทำให้แต่ละกล่องมีความพิเศษในตัวเอง
กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์: ถักทอ เก้าอี้ไม้ผสมงานจักสาน
บริษัท พลูเริล ดีไซน์ จำกัด / ออกแบบโดย: พิบูลย์ อมรจิรพร
พิบูลย์ตั้งชื่อเก้าอี้ตัวนี้ว่า Loom Chair เป็นเก้าอี้ที่ช่วยบันทึกงานฝีมือของแต่ละชุมชนตั้งแต่การทอ การถัก การสาน โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมจากวัสดุที่หาได้ง่ายในแต่ละชุมชนนั้นๆ เมื่อกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นก็จะส่งกลับมาที่เขา เพื่อนำมาประกอบให้เป็นเก้าอี้สาน ดีไซน์เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยกลิ่นอายความน่ารักและอบอุ่นของชนบทไว้ได้อย่างครบถ้วน
กลุ่มกราฟิกดีไซน์: ซินญอริต้าในชุดผ้ากันเปื้อน หนังสือดีไซน์เก๋ที่เล่าเรื่องการเดินทางในประเทศเม็กซิโก
เรื่องและออกแบบรูปเล่ม: วิภาลักษณ์ ศิริพลานนท์
เพียงแค่เห็นหน้าปกก็อยากจะสัมผัสกลิ่นอายเม็กซิกันด้านใน เริ่มจากบทนำที่ออกแบบให้เหมือนหนังสือพิมพ์ขาวดำ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ผู้เขียนได้รับจาก ฟรีดา คาห์โล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อมูลเพื่อเดินทางไปประเทศเม็กซิโก เนื้อหาด้านในเน้นการจัดวางเลย์เอาต์ที่สนุกสนาน ผสานไปกับรูปถ่ายพร้อมเกร็ดข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมและชนเผ่าต่างๆ ในประเทศเม็กซิโกด้วยสีสันที่จัดจ้านสไตล์เม็กซิกันได้เต็มที่จนอยากจะดูหน้าสุดท้ายเร็วๆ
กลุ่มบรรจุภัณฑ์สินค้า: สุภาน้ำผึ้งพรีเมียม กล่องใส่ขวดน้ำผึ้งไอเดียมาจากเฟรมเลี้ยงผึ้ง
ออกแบบโดย: พร้อม ดีไซน์
Supha Bee Farm คือ 1 ใน 2 ของผู้ผลิตน้ำผึ้งในไทยที่มีฟาร์มเลี้ยงผึ้ง เพาะพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งด้วยตัวเอง จนได้น้ำผึ้งพรีเมียมพิเศษแท้ 100% ทางพร้อมดีไซน์ได้แรงบันดาลใจมาจาก Beehive Frame ซึ่งเป็นเฟรมสี่เหลี่ยมที่มีไว้เลี้ยงผึ้งจริงๆ นำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ให้ความรู้สึกถึงรังผึ้งจริงๆ
กลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายใน: อาสา ฟาร์มสเตย์
บริษัท ครีเอทีฟครูส์ จำกัด / ออกแบบโดย: จิรกิตติ์ พนมพงศ์ไพศาล
การออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาคารพื้นถิ่นหรือบ้านที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมดั้งเดิม การเปลี่ยนไปของวันเวลา ในจังหวัดเชียงราย รวมถึงอีกหลายๆ จังหวัด และเพื่อถ่ายทอดให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ จิรกิตต์จึงออกแบบและพัฒนารูปแบบผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประยุกต์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เน้นการอยู่อาศัย จนกลายเป็นอาสา ฟาร์มสเตย์ ที่มีจุดประสงค์หลักคือการเรียนรู้ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์การอยู่อาศัยอย่างเหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคต
ในเบื้องต้น ที่นี่จะแบ่งออกเป็นบ้านประเพณีชาวเหนือจำนวน 4 หลัง แต่ละหลังจะมีการระบายอากาศธรรมชาติ ช่วงฤดูร้อนก็จะรู้สึกเย็นสบายแต่เมื่อฤดูหนาวมาถึงก็จะรู้สึกอุ่นกำลังดี เพราะกำแพงสองชั้นก็จะทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันความเย็นจากภายนอกนั่นเอง
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล: โอโซนแอร์ เทคโนโลยีการทำความสะอาดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
บริษัท แอปอาร์ต (ไทยแลนด์) จำกัด / ออกแบบโดย: มิเกล พาเดรส กอนซาเลซ ประเทศสวีเดน
คอนเซ็ปต์ของงานดีไซน์ชิ้นนี้คือ ‘เราทำความสะอาดทุกอย่างในชีวิตของเรา ตั้งแต่เสื้อผ้า จานชาม และแม้กระทั่งตัวของเราเอง เราสนใจข่าวเกี่ยวกับมลพิษในทะเล ป่าไม้ และในเมืองที่เราอยู่ แต่ความจริงก็คือเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะมองเรื่องการทำความสะอาดในวิธีที่ต่างออกไปจากเดิม’
จึงนำไอเดียการใช้เทคโนโลยีการทำความสะอาดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติอย่างโอโซนแอร์ที่มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก เคลื่อนย้ายง่าย เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนได้ ขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสในอากาศ เป็นต้น
ที่มา: https://thinkappart.com/project/ozoneair-2
กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์: แปรงสีฟันและกริปป์ผู้สูงวัย ‘เซนนิตี้’
บริษัท โซลิดสเปราท์ จำกัด / ออกแบบโดย: อัครา เมธาสุข และนครินทร์ ไตรวิวัฒน์
จากศึกษาพบว่า เมื่อมนุษย์มีอายุมากขึ้น เยื่อบุในช่องปากจะเปลี่ยนไป เหงือกและเยื่อผิวภายในจะบางลง มีโอกาสเกิดการสะสมของเชื้อโรคมากขึ้น ในขณะที่กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือก็ไม่สามารถออกแรงหรือควบคุมทิศทางได้ดี ส่งผลไปยังการดูแลความสะอาดของช่องปากอาจจะไม่ดีได้เท่าที่ควร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ การอักเสบ และภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
ผู้ออกแบบเห็นความสำคัญต่อเรื่องนี้ จึงออกแบบแปรงสีฟันที่มีรูปร่างและขนาดจับที่กระชับมือ พร้อมมีอุปกรณ์เสริมสำหรับกระชับการจับแปรงสีฟัน เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลช่องปากของตนเองได้สมบูรณ์เหมือนตอนหนุ่มสาว ทำให้ผู้สูงอายุสนุกและมีความสุขกับการได้แปรงฟันอีกครั้ง นอกจากนี้หลังจากได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ผู้ออกแบบยังพบว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขา สามารถก่อประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ดี
ชมผลงานทั้งหมดได้ที่ https://demarkaward.net/th/demark_winner