Care The Wild

หนึ่งคลิก หนึ่งต้น ‘Care The Wild’ โครงการปลูกป่าที่คืนสมดุลให้สิ่งแวดล้อมได้ภายในคลิกเดียว 

รู้ไหมว่าทุกๆ 6 วินาที ทั่วทั้งโลกกำลังสูญเสียพื้นที่ป่าขนาดเท่าสนามฟุตบอล  

        ป่านับว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิต ไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ต่างก็มีการพึ่งพิงอาศัยป่ามาอย่างยาวนานทั้งในการดำรงชีวิตและการคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ

        ท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่ร้อนระอุ ป่าเป็นตัวช่วยสำคัญในการเก็บกักคาร์บอนและลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ แต่ระยะหลังมานี้จำนวนพื้นที่ป่าทั่วโลกกลับมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์พบว่าในปี 2019 พื้นที่ป่าดิบชื้นในโลกหายไป 11.9 ล้านเฮกตาร์ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าปฐมภูมิหรือป่าดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติกว่า 3.8 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียป่าปฐมภูมิครั้งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ตั้งแต่ปี 2543-2561 

        สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรามีจำนวนพื้นที่ป่าทั้งหมด 102 ล้านไร่ หรือ 31.5% ของประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนคงที่มาตั้งแต่ปี 2557 แต่การจะคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมไว้ ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่า 40% หรือ 128 ล้านไร่ ซึ่งตัวเลข 40% นั้นแบ่งออกเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ 25% และเพิ่มพื้นที่ป่าสำหรับใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีก 15% เพื่อให้เกิดพื้นที่ป่าที่แท้จริง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันดูแลรักษาป่าให้คงอยู่ พร้อมเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการปลูกป่า 

        ทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นองค์กรหนึ่งที่ขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดริเริ่มโครงการ Care the Wild ‘ปลูกป้อง Plant & Protect’ กับการเดินหน้าขยายผืนป่า สร้างสมดุลระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม

คืนสมดุลให้ธรรมชาติด้วยการ ‘ปลูก’ และ ‘ป้อง’ 

        ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอกย้ำวิสัยทัศน์ To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone ด้วยการมุ่งขับเคลื่อนพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม พร้อมคำนึงถึงความสำคัญของการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลของโลกและการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)  

 

Care The Wild

 

        “การขยายตัวของเมืองทำให้พื้นที่ป่าลดลงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และประชาคมโลกจึงพยายามร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการทำให้อุณหภูมิโลกไม่สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากปัจจุบัน ไม่เช่นนั้น ภาวะโลกร้อนจะส่งผลร้ายอย่างถาวรจนนำไปสู่จุดที่ไม่สามารถคืนสมดุลให้แก่โลกได้” ดร. ภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าว

        นี่จึงเป็นที่มาของการมุ่งสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศด้วย โครงการ Care the Wild ‘ปลูกป้อง Plant & Protect’ แพลตฟอร์มการร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ ภาคีในเครือข่าย และประชาชนในการเพิ่มจำนวนต้นไม้และขยายผืนป่าให้ได้ 40% ผ่านรูปแบบการระดุมทุนปลูกต้นไม้และติดตามผลผ่านแอปพลิเคชัน Care the Wild 

        ปกติเวลาที่เราไปปลูกป่า ปลูกเสร็จอาจไม่รู้ผลเลยว่ากล้าเล็กๆ ที่เราปลูกไปนั้นอยู่รอดปลอดภัยดีหรือไม่ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้าใจในประเด็นนี้ดีจึงมีระบบนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของต้นไม้ สถานที่ปลูก วันเดือนปีที่ปลูก รวมถึงติดตามความคืบหน้าของผลการปลูกและการเติบโตของต้นไม้ทุกๆ 6 เดือนผ่านแอปพลิเคชัน แถมการร่วมปลูกป่าก็ง่ายนิดเดียวเพียงแค่เข้าแอปพลิเคชัน Care the Wild เพื่อบริจาคเงิน หลังจากนั้นทางโครงการก็จะประสานงานกับทางชุมชนในพื้นที่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ   

        “โครงการ Care the Wild มีเป้าหมายที่จะปลูกป่าจำนวน 500 ไร่ (100,000 ต้น) ร่วมกับองค์กรธุรกิจพันธมิตรภายในระยะเวลา 1 ปีแรกหลังเปิดโครงการ ซึ่งการปลูกป่าครั้งนี้จะสร้างผลลัพธ์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี องค์กรที่เข้าร่วมโครงการนอกจากจะเป็นภาคีในความร่วมมือเพื่อลดโลกร้อนแล้ว ยังสามารถร่วมทำงานพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน” ภากรเสริม

 

Care The Wild

 

        สำหรับบริเวณพื้นที่ในการปลูกป่านั้นทางกรมป่าไม้ภาคีหน่วยงานภาครัฐได้นำเสนอพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 717 ไร่  7 จังหวัด สำหรับเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีตั้งแต่ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน จ.ราชบุรี, ป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี, ป่าชุมชนบ้านใหม่ จ.เชียงราย, ป่าชุมชนบ้านนาหวาย จ.น่าน, ป่าชุมชนบ้านหนองปิง จ.กาญจนบุรี, ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง จ.นครราชสีมา และป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม เรียกว่าครอบคลุมแทบทุกภาคในประเทศไทย

        ความพิเศษคือแต่ละพื้นที่ของป่าชุมชนก็มีเอกลักษณ์ มีจุดเด่นด้านระบบนิเวศและการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนจึงสามารถเลือกพื้นที่สนับสนุนการปลูกไม้ได้หลากหลายและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน พร้อมเรียนรู้ระบบนิเวศร่วมกับชาวบ้านผู้รักษาป่าด้วยในเวลาเดียวกัน

ป่าเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินให้ชุมชน    

        ในส่วนของการดูแลป่าที่ทุกคนร่วมกันปลูกนั้น สำนักจัดการป่าชุมชนของกรมป่าไม้และชาวบ้านในชุมชน ถือเป็นตัวละครหลักที่ทำหน้าที่นี้ โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือกพันธุ์ไม้ปลูกให้ตรงกับระบบนิเวศ การใช้หลักเกษตรอินทรีย์สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ รวมถึงให้ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากป่า

        อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ก่อนปี 2557 ประเทศไทยเสียพื้นที่ป่าปีละ 8 แสน ถึง 1 ล้านไร่ แต่การผลักดันนโยบายหยุดยั้งการทำลายป่าของรัฐบาลปัจจุบันช่วยให้พื้นที่ป่าของไทยอยู่นิ่งที่จำนวน 102.48 ล้านไร่มาตั้งแต่ปี 2557 และจากภาพถ่ายดาวเทียมยังพบว่าบริเวณภาคกลางมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น

        ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดไว้ว่าประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 55% ของเนื้อที่ประเทศ โดยพื้นที่สีเขียวนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และป่าในเมือง ซึ่งป่าเศรษฐกิจนั้นหมายถึงป่าปลูกที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนเหมือนในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตรงนี้เองที่เป็นโจทย์สำคัญว่าทำอย่างไรให้พื้นที่ป่าสมดุลมากพอที่จะหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของประชาชนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

        “ป่าที่เราปลูกไม่ได้ให้ประโยชน์แค่สิ่งแวดล้อม แต่สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้ด้วย ในพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศไทย 11,327 ชุมชน เรากำลังจะประกาศเพิ่มให้ได้เป็น 15,000 ชุมชน ซึ่งในพื้นที่ 10 ล้านไร่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถที่จะลดรายจ่ายของประชาชนได้กว่า 1 พันล้านบาท และเพิ่มรายได้ให้อีก 2 พันกว่าล้านบาท และเรายังมีพื้นที่ให้จองปลูกได้อีก 2.68 ล้านไร่ เราจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ ได้มีส่วนร่วมเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่ป่าไปสู่เป้าหมาย 40% ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งตรงนี้เรามีกฎหมายรองรับอยู่แล้วคือ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมดูแลรักษาป่า” อรรถพลกล่าว

 

Care The Wild

 

        แนวคิดป่าเศรษฐกิจเป็นการใช้ประโยชน์จากป่าด้วยการเพาะต้นกล้าหรือนำพันธุ์ไม้ไปขายซึ่งสร้างรายได้กลับคืนชุมชนมาอีกทีหนึ่ง แต่นอกจากเรื่องของรายได้แล้วหน้าที่ป่าในการปรับสมดุลสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ทางโครงการ Care the Wild จึงทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวัดผลลัพธ์โดยเฉพาะ

        “เมื่อปีที่ผ่านมาเราเริ่มโครงการนำร่องที่ป่าชุมชนบ้านชัฎหนองยาว จังหวัดสุพรรณบุรี ทางโครงการก็ไปปลูกป่ากันแบบ Intensive ซึ่งก็คือการปลูกป่าในเชิงคุณภาพ มีการทำทำประเมินผลลัพธ์ร่วมกับทางชุมชน กรมป่าไม้ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ว่าป่าที่ปลูกนั้นจะต้องสามารถเติบโตได้อย่างสมบูรณ์จริงๆ ส่วนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเข้ามาช่วยในเรื่องของการวัดผลว่าเมื่อปลูกป่าไปแล้วพื้นที่ป่าเหล่านี้จะสามารถดูดซับคาร์บอนและลดโลกร้อนได้ในลักษณะไหนบ้าง” นันทนา บุญยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชนกล่าว

        อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการปลูกป่าคือความต่อเนื่องและยั่งยืน ทางโครงการจึงกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีในการดูแลกล้าให้เติบใหญ่จนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งยิ่งสร้างความมั่นใจเพิ่มว่าพื้นที่ป่าจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

Care The Wild

 

        สำหรับผู้ที่สนใจสามารถร่วมเป็น Active Sponsor – ทีมปลูกป้อง ด้วยการบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนในการปลูกไม้และดูแลป่าไม้ผ่านแอปพลิเคชัน ‘Care the Wild’ โดยเลือกพื้นที่ป่าและระบุยอดเงินบริจาคเพื่อปลูกไม้ ต้นละ 200 บาท ด้วยเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกต้องรอดและเติบโต 100% สำหรับองค์กรธุรกิจสามารถประสานมายังโครงการได้โดยตรงที่ [email protected] หรือดูข้อมูลเพิ่มเติม www.setsocialimpact.com และเฟซบุ๊ก SET Social Impact