ระยอง...ซ่อนสุข

4 เรื่องเล่ามุมมองใหม่ ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ ผ่านเลนส์และหนังสั้นในโครงการเส้นทางแห่งความสุขกับ GC

จากจุดตั้งต้นของโปรเจ็กต์ ‘เส้นทางแห่งความสุขกับ GC’ ที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดระยอง ก็ได้ถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการสร้างสรรค์หนังสั้นและถ่ายภาพ โดยได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งในชีวิต ณ เมืองระยอง เพื่อเล่าเรื่อง ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ ผ่านเลนส์และหนังสั้นในมุมมองใหม่ที่ยังไม่เคยถูกแนะนำให้รู้จักมาก่อน เพื่อให้ทุกคนได้สร้างจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในความหมายใหม่ๆ แก่เมืองแห่งความสุขนี้ 

 

ระยอง...ซ่อนสุข

 

        ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ เป็นหัวข้อของโครงการประกวดหนังสั้นและโครงการประกวดภาพนิ่ง ภายใต้โครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุขกับ GC’ ที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ทั่วฟ้าเมืองไทยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของจังหวัดระยองที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา โดยมีผลงานส่งเข้าประกวดในโครงการฯ ทั้งหมด 241 ผลงาน และได้ 4 สุดยอดผลงานที่ชนะเลิศในโครงการประกวดประเภทต่างๆ ที่สามารถสะท้อนความสุขและอัตลักษณ์ของคนพื้นถิ่นระยองในมุมที่แปลกใหม่แตกต่างจากเดิม 

 

ระยอง...ซ่อนสุข

ระยอง...ซ่อนสุข

‘Sound of Happiness’ โดยทีม The Wolffilm 

รางวัลชนะเลิศประเภท ‘หนังสั้น’ ระดับประชาชนทั่วไป

        สมาชิกทีม The Wolffilm ประกอบด้วย ‘นัท’ – บดินทร์ ไชยสมบัติ และ ‘แจง’ – สมกมล แซ่โลว้ ที่บรรเจิดพลุความคิดหนังสั้นของพวกเขาจากโจทย์ของคำว่า ‘ซ่อน’ ที่ไม่ใช่การมองเห็นแล้วไปหา แต่คือการได้ยินเสียงที่สร้างพลังดึงดูดให้ออกเดินทางค้นหาเสียงแห่งวิถีของความสุข ณ เมืองระยองในมิติที่แตกต่างออกไป ทำให้หนังสั้น ‘Sound of Happiness’ ของ The Wolffilm คว้ารางวัลชนะเลิศไปอย่างไร้ข้อกังขา

        “การที่เราเอาตัวเองไปอยู่ในสถานที่หนึ่งซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม เสียงจะผ่านหูของเราตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ไปโฟกัส อย่างฉากที่ผมชอบและถือเป็นฉากไฮไลต์ในหนังเรื่องนี้คือฉากในตลาดเช้า ช็อตนั้นได้มาเพราะผมนั่งกินต้มเลือดหมูอยู่ ขณะเดียวกับที่ผมเอาหูฟังขึ้นมาใส่ ซึ่งไมค์ยังเปิดทำงานอยู่ มันทำให้ผมได้ยินแอมเบียนต์ครบหมดเลย ตั้งแต่เสียงหม้อต้มเลือดหมูที่เดือดอยู่ เสียงป้าคนขาย เสียงคนใส่บาตรแล้วมีพระสวด และแสงตอนเช้าสะท้อนย้อนมาทางที่พระยืนพอดี ผมมองแล้ว… นี่แหละความสุขที่ซ่อนอยู่ คือการพาตัวเราไปอยู่ในที่ที่สวยงาม ที่เราอยู่แล้วมีความสุข จากนั้นเสียงก็เข้ามาเติมเต็มทุกอย่าง” นัทเล่าถึงบรรยากาศของหนังเรื่องนี้และการตีความสู่เรื่องเล่าของหนังที่มีแจงเป็นผู้ทำสคริปต์และเขียนบท 

 

ระยอง...ซ่อนสุข

 

        “ผลงานของทีมเราสามารถรณรงค์และร่วมส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักระยองผ่านมุมมองใหม่ในมิติอื่นๆ ทั้งด้านโบราณสถานที่ยังคงมีร่องรอยศิลปะยุคเก่าของวัดให้เห็น ด้านวิถีชีวิตพื้นถิ่นก็ยังคงมีอยู่ รวมถึงวิถีชุมชนที่หลายคนยังไม่รู้จัก ทำให้ระยองมีเสน่ห์ที่น่าดึงดูดให้มาท่องเที่ยว อีกทั้งชาวระยองน่ารักมากค่ะ” 

        เพราะชื่นชอบระยองกันขนาดนี้นี่เอง ทำให้บทปิดท้ายของ Sound of Happiness ที่ว่า ‘ความสุขของผู้ต้อนรับ… ความสุขของผู้มาเยือน’ จึงเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข

 

ระยอง...ซ่อนสุข

‘The Law of Happiness’ โดย พัชราภรณ์ มาลัยทอง

รางวัลชนะเลิศประเภทหนังสั้น ระดับนักเรียน นักศึกษา 

        เพราะความสุขของเมืองระยองที่ใครๆ รู้จักก็คือ ‘ทะเล’ เช่นเดียวกับ ‘ไข่ปลา’ – พัชราภรณ์ มาลัยทอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้ไม่เคยเดินทางมาเยือนเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ ทำให้รู้จักว่าระยองมีดีแค่เพียงทะเล แต่ในวันที่ไข่ปลาต้องค้นหาความหมายใหม่ๆ ของเมืองระยองผ่านหนังสั้นของตัวเองก็พบว่าเธอต้องฉีกกฎเดิมๆ มุมเดิมๆ แล้วออกเดินทางสร้างกฎใหม่เพื่อการค้นพบมุมมองใหม่ของระยอง 

 

ระยอง...ซ่อนสุข

ระยอง...ซ่อนสุข

 

        “สำหรับ ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ หนังสั้นเรื่องแรกของเราคือการตั้งกฎใหม่ในการเดินทางเพื่อให้มีความสุข ออกนอกเส้นทางเดิมๆ ด้วยการมาเที่ยวระยองที่ไม่ใช่ทะเล เลยได้ชื่อเรื่องว่า ‘The Law of Happiness’ ที่มีบทสรุปว่า ชีวิตต้องเดินทางออกไปข้างนอกบ้าง ออกนอกเส้นทางบ้าง ไม่ใช่อยู่แต่ในกรอบ การไปเที่ยวระยองครั้งนี้เราจึงเลือกไปที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน เช่น ทุ่งโปรงทอง ปอดของจังหวัดระยอง แล้วก็หมู่บ้านทะเลน้อย ไปกินผักกระชับที่เราไม่เคยกิน ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก เป็นหนังสั้นที่อยากให้ทุกคนดูแล้วอยากไปลองเที่ยวแบบที่เราได้ไป ไปสัมผัสวิถีชาวบ้าน ไปเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันน่าทึ่ง ไปสัมผัสมุมมองใหม่ๆ เที่ยวระยองแบบใหม่ สำหรับเรา นี่คือการทำหนังครั้งแรกกับระยองในมุมมองที่เราเห็นแล้วมีความสุข คือมุมมองแบบ The Law of Happiness” 

 

ระยอง...ซ่อนสุข

ระยอง...ซ่อนสุข

‘สุขกาย…สุขใจ’ โดย กิติพร แซ่ค่ง 

รางวัลชนะเลิศประเภทภาพนิ่ง ระดับประชาชนทั่วไป

        ‘หยง’ – กิติพร แซ่ค่ง พนักงานบริษัทผู้หลงรักการถ่ายภาพ โดยเฉพาะการถ่ายแลนด์สเคปและวิถีชีวิตของคน แต่สำหรับระยองแล้ว หยงได้สารภาพว่าเธอรู้จักที่นี่ผ่านการท่องเที่ยวแค่เกาะเสม็ดมาโดยตลอด จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้ามาระยองเพื่อลงเรือไปเกาะเสม็ดเท่านั้น ไม่เคยแวะเวียนที่ไหนแต่อย่างใด ทว่าในวันที่เจอข่าวการประกวดหัวข้อ ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ ได้กลายเป็นความท้าทายที่ทำให้หยงออกเดินทางค้นหาคำตอบ… ที่นี่มีดีมากกว่าเกาะเสม็ด

 

ระยอง...ซ่อนสุข

 

        “เราอยากเห็นระยองในมุมที่ไม่ได้อยู่ในสื่อโฆษณา อยากเห็นระยองที่ไม่ใช่เกาะเสม็ด ไม่ใช่แค่รูปปั้นสุนทรภู่ แล้วก็ไม่ใช่ร้านอาหารทะเลที่อยู่ริมหาด เราอยากทำความรู้จักระยองมากกว่านั้น เลยตีโจทย์ 2 โจทย์คือ ‘ระยองมีอะไร’ กับ ‘ระยองซ่อนสุขอะไร’ ซึ่งระยองโชคดีมากๆ ที่มีอุตสาหกรรม มีเกษตรกรรม มีผลไม้ขึ้นชื่อโดยเฉพาะทุเรียน และมีประมง

        ความซ่อนสุขคือความสุขของประชากรในเมืองนี้ที่มีงาน มีรายได้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้คิดถึงวิถีชีวิต เลยปรึกษาเพื่อนที่เป็นคนระยองแท้ๆ ก็ได้คำแนะนำให้มาดูฟาร์มหอยแมลงภู่และหอยนางรมที่อยู่หลัง ปตท. สถานที่ที่ทุกคนมองข้ามความงดงาม ไม่ค่อยมีใครรู้จัก พอได้พิกัดก็ปักหมุดแล้วขับรถออกเดินทางมุ่งหน้ามาสู่ฟาร์มหอยแห่งนี้” และภาพคนพายเรือ คนเก็บหอยนางรม ชุมชนที่อยู่บนฝั่ง โดยฉากหลังเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เป็นบรรยากาศแห่งความสงบสุขที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวระยองอีกมุมหนึ่งในชื่อภาพ ‘สุขกาย…สุขใจ’ กลายเป็นภาพที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ ครั้งนี้

 

ระยอง...ซ่อนสุข

‘ครอบครัวประมง’ โดย วรรษชล เที่ยงแท้ 

รางวัลชนะเลิศประเภทภาพนิ่ง ระดับนักเรียน นักศึกษา 

        เพราะเรียนสาขาศิลปะการถ่ายภาพ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทำให้ ‘ฝน’ – วรรษชล เที่ยงแท้ เป็นสายส่งภาพเข้าประกวดในหลายๆ งานตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 แต่ความสำเร็จจนคว้ารางวัลชนะเลิศครั้งแรกที่เธอสุดภาคภูมิใจคือภาพ ‘ครอบครัวประมง’ ในโครงการ ‘ระยอง…ซ่อนสุข’ ครั้งนี้ ภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวประมงและเป็นภาพถ่ายเล่าเรื่องวิถีชีวิตของคน ซึ่งเป็นแนวถนัดสุดโปรดของฝนนั่นเอง 

 

ระยอง...ซ่อนสุข

ระยอง...ซ่อนสุข

 

        “เป็นความบังเอิญมากค่ะที่มาเจอชุมชนประมงที่นี่ ในขณะที่ฝนกำลังตระเวน กำลังเดิน กำลังขับรถ ซอกแซกไปพื้นที่ต่างๆ ของระยอง ฝนก็เจอที่นี่ที่เชื่อว่าทุกคนมองผ่าน เพราะเป็นชุมชนที่อยู่หลังร้านอาหาร หลังโฮมสเตย์เล็กๆ เป็นชุมชนที่เหมือนซ่อนอยู่ เลยไปถามหาความสุขในชุมชนที่ถูกซ่อนไว้ในนี้ แล้วก็ได้ภาพ ‘ครอบครัวประมง’ นี้มา ภาพที่สื่อถึงความสุขอย่างชัดเจน เป็นชุมชนชาวประมงเล็กๆ ที่ซ่อนความสุขของเด็กๆ และวิถีชีวิตประมงแท้ของชาวระยอง ที่เชื่อว่าใครเห็นภาพนี้ก็พร้อมจะยิ้มไปกับพวกเขา เห็นมุมเล็กๆ ของความสุขในระยองที่แตกต่างออกไป” 

 


Rayong Time Ago

        Rayong Time Ago คือซีรีส์คอลัมน์เล่าคอนเซ็ปต์มรดกที่มีชีวิต (Living Heritage) ของจังหวัดระยอง ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสถานที่เก่าแก่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ โดยมีจุดตั้งต้นจากโปรเจ็กต์ที่ร่วมมือกันระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC