ถ้าคุณมีความฝัน และอยากประสบความสำเร็จในสิ่งที่คุณสนใจ เวทีประกวดคือพื้นที่ที่เปิดให้คุณได้ลองลับคมฝีมือของตัวเอง และในหลายๆ ครั้งเวทีประกวดยังเป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในชั่วข้ามคืน
สำหรับวงการออกแบบก็เช่นกัน ครั้งหนึ่งนักศึกษาสาวนามว่า แคโรลีน เดวิดสัน (Carolyn Davidson) แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตต (Portland State University) ได้รับโจทย์ให้ออกแบบโลโก้แก่บริษัทผลิตรองเท้ากีฬาแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมางานออกแบบนี้ได้พลิกผันให้บริษัทแห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องกีฬาระดับโลกอย่าง NIKE – นี่คือความมหัศจรรย์ของงานออกแบบตราสัญลักษณ์ ที่ดูง่ายดายและแสนจะเบสิก หากแต่กระบวนการคิดช่างซับซ้อนและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เล่าให้ใครฟังก็ต้องรู้สึกทึ่ง
เช่นเดียวกับที่ adB ตาเป็นประกายเมื่อสนทนากับ ‘โจ’ – วัชระ มุนินทรวงศ์ นักออกแบบผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด ออกแบบตราสัญลักษณ์ (LOGO) กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน หรือ Capital Market Development Fund (CMDF) ซึ่งเขาได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดเบื้องหลังโลโก้ที่เขาออกแบบ จากรูปทรงของ ‘เหรียญกษาปณ์’ ‘กราฟแท่งเทียน’ และการนำตัวอักษร ‘C’ ที่ตัวอักษรแรกของกองทุนแห่งนี้มาวิเคราะห์ ตีความ และร้อยเรียงออกมาเป็นโลโก้ที่สวยงาม ใช้งานง่าย และเต็มไปด้วยความหมาย
ก่อนอื่นอยากให้คุณแนะนำตัวเอง รวมถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการออกแบบที่ผ่านมา
ผมชื่อ ‘โจ’ ครับ เริ่มอาชีพนักออกแบบกราฟิกตั้งแต่เรียนจบจากสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ตอนนี้ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ร่วมกับ Shake & Bake Studio ซึ่งงานที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ก็คืองานที่เกี่ยวกับการออกแบบอัตลักษณ์องค์กร (Identity Design) เป็นหลักครับ
โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจการศึกษาเรื่องการออกแบบอัตลักษณ์ก็มาจากคลาสเรียนที่มหาวิทยาลัย เราได้ศึกษาเกี่ยวกับงานของ Pentagram บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจทางด้านการออกแบบระดับโลก ซึ่งออกแบบแทบจะทุกอย่าง มีทั้งงานอัตลักษณ์องค์กร, สื่อสิ่งพิมพ์, หนังสือ, สถาปัตยกรรม, ออกแบบผลิตภัณฑ์, ตกแต่งภายใน และเว็บไซต์ เชื่อว่าอย่างน้อยพวกเราก็น่าจะเห็นผ่านตากันมาบ้าง เช่น Windows, Victoria & Albert Museum, Citi Bank และ Yahoo ซึ่งกระบวนการคิดกว่าจะออกมาเป็นโลโก้ที่เราเห็นจนชินตาอยู่ทุกวันนี้ มันมีวิธีคิดที่ซับซ้อนและฉลาดมาก จนทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจ เขาคิดได้อย่างไร
และอีกโลโก้หนึ่งที่ชอบมาก คือโลโก้ NIKE ที่สัญลักษณ์ Swoosh มีความเรียบง่ายและน่าจดจำ แถมยังฟังก์ชันกับการนำไปใช้งานต่อได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือโลโก้นี้ออกแบบด้วยฝีมือของนักศึกษาด้วยซ้ำ จนต่อมามันกลายเป็นโลโก้ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก ซึ่งจริงๆแล้ว โลโก้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงาน Identity Design แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการ represent ความเป็นแบรนด์นั้นๆ เพราะฉะนั้น การทำให้ง่ายต่อการจดจำ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะมักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นประสบการณ์ของเรากับแบรนด์นั้นๆ เสมอ
ส่วนประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผมส่วนใหญ่จะเป็นงานออกแบบประเภท Identity Design เช่น ออกแบบ Identity บริษัท PanAsia, โลโก้โรงแรม Ezdan Palace ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์, โลโก้โรงแรม Arnoma Grand Bangkok และงานพวก Pictogram ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบกับระบบป้ายต่างๆ เช่น Major Cineplex, Pranda Headquarters
คุณทราบข่าวคราวของการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ของ CMDF จากที่ไหน และโดยส่วนตัวคุณเป็นนักออกแบบที่ชอบล่ารางวัลตามเวทีประกวดต่างๆ หรือเปล่า
ถามว่าเป็นนักล่ารางวัลตามเวทีประกวดหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่นะครับ ในชีวิตนี้ผมเคยส่งงานตัวเองไปประกวดอยู่เพียง 3-4 งานเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เพราะจะมีอาจารย์ที่คอยส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานประกวดออกแบบมาให้นักศึกษา งานไหนที่เราเห็นแล้วรู้สึกว่าเข้าท่า น่าลองประกวด เราก็จะลองทำงานส่งไปดู ซึ่งหลายๆ ครั้งอาจารย์ก็สนับสนุนนักศึกษาโดยกำหนดโจทย์การบ้านของวิชานั้นๆ ให้ตรงกับโจทย์ของงานประกวดเลย นักศึกษาทุกคนจะได้ลองส่งผลงานไปทดสอบฝีมือกันได้ง่ายๆ
และรางวัลจากเวทีนี้ (รางวัลชนะเลิศจากการประกวดร่วมออกแบบตราสัญลักษณ์ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน – CMDF) ซึ่งต้องบอกว่ารู้สึกยินดีและดีใจมาก ที่ผลงานซึ่งออกมาจากความตั้งใจของเราเข้าตากรรมการผู้ตัดสิน แล้วผมเองได้ทราบข่าวการประกวดนี้จากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแชร์อยู่ในเฟซบุ๊กของเขาครับ พอเราเห็นว่าโจทย์น่าสนใจ น่าจะให้ประสบการณ์ที่ดี เราก็เลยลองส่งไปดู
โจทย์ที่ว่าคืออะไร และคุณมีกระบวนการคิดอย่างไรกว่าจะออกมาเป็นโลโก้อย่างที่เราเห็นอยู่ตอนนี้
โจทย์ของการออกแบบตราสัญลักษณ์ CMDF หลักๆ คือต้องการให้สื่อถึงโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความรู้ และความร่วมมือของตลาดทุน เพราะ CMDF เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทย ผมเลยลองศึกษาดูว่าอะไรเป็นสิ่งพื้นฐานทางการเงินที่คนทั่วไปเข้าใจและใช้งานกัน สุดท้ายจึงได้รูปแบบของโลโก้ที่มาจากรูปทรงของเหรียญกษาปณ์ ซึ่งผมก็พยายามหาวิธีที่ทำให้เหรียญดูมีความน่าสนใจมากขึ้น ตอนนั้นนึกถึงภาพที่เคยดีดเหรียญให้หมุนบนพื้น มันดูมีการเคลื่อนไหว รู้สึกว่าเป็นฟอร์มที่น่าสนใจดี ก็เลยพัฒนาออกมาเป็นโลโก้ในที่สุด ส่วนขอบที่ดูเป็นเส้นๆ ของโลโก้ก็มาจากลักษณะของกราฟแท่งเทียนที่นักลงทุนมักจะใช้ในการวิเคราะห์หุ้นเข้ามาผสมผสานด้วย แล้วก็จัดวางเป็นรูปตัว C ซ้อนกัน จนได้เป็นรูปทรงของเหรียญ และใช้สีเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อให้สะท้อนความเชื่อมโยงกับตลาดทุน
คุณมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการเงินการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และองค์ความรู้ที่มีส่งเสริมการตีโจทย์ในการออกแบบอย่างไรบ้าง
ผมเป็นคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องการลงทุนอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ลงทุนเยอะเหมือนกับคนที่เป็นนักลงทุนเต็มตัว เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่สนใจและเป็นนักลงทุนมือสมัครเล่นแล้วกัน แต่ถามว่าความรู้ที่เราพอมีติดตัวอยู่บ้างเป็นข้อดีต่อการตีโจทย์งานออกแบบนี้หรือไม่ ผมคิดว่ามีส่วนช่วยอยู่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามในฐานะคนทำงานออกแบบ ทุกครั้งที่ทำงานออกแบบ ผมจะยึดแนวคิดว่าเราจะต้องทำความรู้จักลูกค้าของเราให้ดีที่สุด ควรจะตัองศึกษาทำความรู้จักเขาให้มากเข้าไว้ นอกจากนั้นคือใช้เซนส์คาดเดาความต้องการของลูกค้า ว่าเขาต้องการลักษณะไหนร่วมด้วย ในกรณีที่ผมออกแบบโลโก้ให้ CMDF ผมจึงพยายามคิดจากมุมมองของนักลงทุนในหุ้น เวลาเขาจะซื้อขายหุ้น เขาต้องดูอะไรบ้าง เช่น ตัวเลข กราฟต่างๆ และเราจะออกแบบให้มันสื่อความหมาย รวมถึงยังมีความสวยงามน่าจดจำได้อย่างไร นี่คือข้อสำคัญในการทำงานของผม
นักออกแบบที่ดีและการออกแบบที่ดีในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร
สำหรับการเป็นนักออกแบบที่ดี ผมยังยึดในหลักการที่ว่าเราจะทำงานออกมาให้ดีและเต็มที่ที่สุด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่เต็มที่กับมัน สุดท้ายเราจะกลับมาเสียใจเอง แล้วก็มานั่งบ่นว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ระยะเวลาในการคิดและออกแบบด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะจ้างด้วยเงินมากหรือน้อย เราก็ยังต้องเต็มที่กับมัน อย่างน้อยก็รู้สึกดีกว่าทำให้เสร็จๆ ไป
ส่วนเรื่องการออกแบบที่ดีในมุมมองของผมคือต้องมีวิธีคิดในการออกแบบอย่างน้อยสามหลักใหญ่ๆ คือ หนึ่ง—ต้องสวยงามน่าจดจำ สอง—ต้องตอบโจทย์ลูกค้าและองค์กร และสาม—ต้องตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันการใช้งาน ซึ่งทั้งสามข้อนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบที่นับเป็นงานศิลปะจะต้องให้ความสำคัญกับความสวยงามเป็นอันดับหนึ่ง และนอกจากสวยงามแล้วจะต้องมีความหมาย ที่สำคัญคือตอบโจทย์การนำไปใช้งานได้จริง ไม่ใช่ว่าสวยงามแต่นำไปใช้งานจริงไม่ได้ มีปัญหาเวลาเอาไปใช้กับสื่อต่างๆ ก็ไม่มีประโยชน์ แบบนี้ผมถือว่ายังเป็นงานออกแบบที่ไม่ดีเท่าไหร่
ผมชอบเปรียบเทียบการออกแบบคล้ายกับอาหารว่าเห็นแล้วน่ากิน จัดจานสวยแต่รสชาติไม่อร่อย ก็เหมือนกับโลโก้สวยดี แต่ใช้งานจริงไม่ได้ ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ก็คงไม่เวิร์ก แต่เรื่องรสชาติก็เป็นรสนิยมของแต่ละคนเหมือนกัน บางคนชอบกินเปรี้ยว บางคนชอบกินหวาน อร่อยเขากับอร่อยเราก็คงไม่เหมือนกันอยู่แล้ว โลโก้นี้เราว่าดี แต่ลูกค้าไม่ชอบ สุดท้ายก็ต้องทำรสชาติที่ ‘กลมกล่อม’ คือรสที่เจ้าของแบรนด์กับเราชอบ และยังตอบโจทย์ธุรกิจได้ดีที่สุด
เวทีประกวดมีส่วนผลักดันวงการออกแบบอย่างไร
เวทีประกวดมีข้อดีตรงที่มันเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ลองของ โดยเฉพาะคนที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เวทีประกวดคือเวทีที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และขัดเกลาฝีมือ ฝึกการวิเคราะห์โจทย์ลูกค้า และถ้าชนะการประกวดขึ้นมายังมีเงินรางวัลที่เป็นส่วนสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาฝีมือต่อไปด้วยครับ