ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน แมดดี้ เมสเซอร์ (Maddie Messer) เด็กหญิงวัย 12 ปีที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ มีสุนัขแสนรัก และหลงใหลเกมมือถือยอดนิยมอย่าง Temple Run เธอใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการวิ่งไปตามเส้นทางต่างๆ ผ่านบึงน้ำและบุกป่าดงดิบเพื่อเก็บสมบัติและหนีเจ้าลิงคลั่งที่วิ่งไล่ตามด้านหลัง
แมดดี้มีความสุขกับการเล่นเกม เว้นแต่อย่างเดียวที่รู้สึกขัดใจเพราะตัวละครที่วิ่งบนหน้าจอนั้นเป็นผู้ชาย
แน่นอนว่าหากเลือกได้ เธอย่อมอยากเล่นตัวละครที่ตรงตามเพศเพื่อเพิ่มอรรถรส เสมือนหนึ่งว่าตัวเธอเองที่วิ่งอยู่บนหน้าจอ แต่ในสมัยนั้นตัวละครพื้นฐานของแทบทุกเกมจะเป็นผู้ชาย และถ้าอยากเล่นตัวละครหญิงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายต่อหลายครั้งที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายโดยไร้เหตุผล
เช่นในเกม Temple Run ตัวละครหลักที่ทุกคนจะได้เริ่มเล่นคือ Guy Dangerous นักผจญภัยชายผมแดงในชุดสีน้ำตาล แต่หากต้องการเล่นเป็นนักผจญภัยหญิงชื่อ Scarlet Fox เธอจะต้องจ่ายเงินในเกม 5,000 เหรียญ ซึ่งต้องเก็บหอมรอมริบจากการเล่นเกมราว 8 ชั่วโมง หรือควักค่าขนม 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อซื้อตัวละคร
แม้ว่านี่จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่สำหรับเด็กอายุ 12 ปีก็ถือว่าไม่น้อย ที่สำคัญกว่านั้นคือเธอรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากการกระทำที่ไร้เหตุผลเพราะมีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเล่นตัวละครที่ตรงเพศตนเอง ส่วนผู้ชายกลับไม่ต้องจ่ายสักแดงเดียว
ความคับข้องใจทำให้แมดดี้เริ่มทำการวิจัยเล็กๆ ของตัวเอง เธอดาวน์โหลดเกมยอดนิยมจำนวน 50 เกมเพื่อลองเล่นพร้อมกับเก็บข้อมูลว่าเกมใดบ้างที่มีตัวละครหญิงให้เลือกและต้องเสียเงินเท่าไหร่เพื่อปลดล็อคกตัวละครดังกล่าว
แมดดี้เขียนรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้เป็นตารางความยาว 5 หน้า อัดแน่นด้วยลายมือระบุรายละเอียดของแต่ละเกม ผลลัพธ์ที่เธอค้นพบนับว่าน่าตื่นตะลึง เพราะมี 37 เกมจากทั้งหมด 50 เกมที่เราสามารถเลือกตัวละครชายมาเล่นได้แบบฟรีๆ แต่มีเพียง 5 เกมเท่านั้นที่มีตัวละครหญิงที่เล่นได้แบบไม่ต้องเสียเงิน โดยราคาเฉลี่ยของตัวละครหญิงในเกมจะอยู่ที่ 7.5 ดอลลาร์ฯ โดยบางเกม เช่น เกมของค่ายดิสนีย์ที่มีตัวละครหญิงเพียงตัวเดียวแต่กลับวางขายในราคาสูงถึง 30 ดอลลาร์ฯ
เธอเล่าสิ่งที่เธอค้นพบให้กับพ่อแม่ฟัง ทั้งสองสนับสนุนให้เธอลองร้อยเรียงเป็นบทความเพื่อส่งไปเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Washington Post บทความของแมดดี้ปรากฎต่อสายตาสาธารณชนในชื่อว่า “ฉันเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี แต่ทำไมไม่มีตัวละครในแอพพลิเคชันที่หน้าตาเหมือนฉัน” และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงอภิปรายถึงการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ต่อผู้หญิงในวงการเกม
หนึ่งในคำตอบที่แมดดี้อยากได้ยินมาจาก นาตาลี ลุกเคียโนวา (Natalia Luckyanova) เธอและสามีคือผู้สร้างเกม Temple Run เมื่อได้อ่านบทความของแมดดี้ นาตาลีอดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘ละอายแก่ใจ’ พร้อมกับเล่าว่าที่ตัดสินใจใส่ตัวละครหญิงเข้าไปเพราะทราบดีว่าผู้เล่นที่เล่นเกมนี้เกินครึ่งเป็นผู้หญิง แต่ด้วยความที่เกม Temple Run เปิดให้ดาวน์โหลดไปเล่นแบบฟรีๆ และมีตัวละครชายเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เธอและสามีจึงตัดสินใจให้ผู้เล่นต้องจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการเล่นตัวละครหญิง การตัดสินใจครั้งนั้นสร้างรายได้ให้เธอเป็นกอบเป็นกำ
เทคนิคดังกล่าวไม่ใช่กลยุทธ์ทางธุรกิจที่แปลกใหม่อะไร ในทางเศรษฐศาสตร์มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า ‘การเลือกปฏิบัติด้านราคา (price discrimination)’ ซึ่งหมายถึงขายสินค้าที่แทบจะเหมือนกันในราคาที่แตกต่างกันให้กับคนแต่ละกลุ่ม มีการศึกษาในปี พ.ศ. 2558 พบว่าผู้หญิงจะต้องเผชิญกับสินค้าที่ราคาแพงกว่าอย่างไร้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว หรือแม้กระทั่งปากกาซึ่งโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ ‘สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ’ โดยสินค้าสำหรับผู้หญิงจะแพงกว่าประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหน้ากับผิวกาย ความแตกต่างจะสูงถึง 13 เปอร์เซ็นต์
คู่สามีภรรยาผู้สร้างเกม Temple Run ตัดสินใจให้ผู้เล่นสามารถเลือกตัวละครเพศหญิงมาเล่นแบบฟรีๆ เช่นเดียวกับอีกหลายเกมที่เริ่มใส่ใจเรื่องละเอียดอ่อนอย่างความเท่าเทียมทางเพศ
ผ่านมา 7 ปีหลังจากบทความของแมดดี้ตีพิมพ์ใน The Washington Post นักพัฒนาเกมก็เริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางของเพศตัวละครโดยเพิ่มความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น จากในอดีตที่ผู้หญิงเป็นเพียงเหยื่อหรือวัตถุทางเพศ แต่ตอนนี้พวกเธอได้โลดแล่นบนหน้าจอในฐานะตัวเอก โดยในปี 2020 มีการสำรวจพบว่าตัวเอกในเกมที่เป็นเพศหญิงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ นับว่าก้าวกระโดดจากค่าเฉลี่ยในอดีตเกือบสามเท่าตัว เช่นเดียวกับตัวละครที่ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นได้ทุกๆ 10 คนจะเป็นชาย 6 คนและหญิง 4 คนเรียกได้ว่าขยับเข้าใกล้สัดส่วนที่พอเหมาะ
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวก็ยังไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนัก เพราะหากเทียบกับจำนวนเกมเมอร์หญิงทั่วโลกที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่ง บทบาทของตัวละครหญิงในวงการเกมก็ยังต้องขยับเพิ่มขึ้นอีกมาก
หนึ่งในกำแพงที่ขัดขวางบทบาทของผู้หญิงทั้งเกมคือทัศนคติต่อวงการเกมที่คนจำนวนไม่น้อยยังมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเกม 9 ใน 10 มีผู้บริหารเป็นผู้ชาย อีกทั้งพนักงานหญิงในบริษัทก็มีสัดส่วนน้อยมากคือราว 2 คนจาก 10 คนเท่านั้น การสำรวจยังพบว่าผู้หญิงในวงการเกมกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าเพศของตนเองกลายเป็นอุปสรรคต่อการก้าวหน้าในอาชีพการงาน และราว 1 ใน 3 ถูกล่วงละเมิดหรือกลั่นแกล้งเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง
คำถามแสนธรรมดาและงานวิจัยที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังงานเด็กหญิงที่ชื่อว่าแมดดี้ นับเป็นการเผยปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมของวงการเกมที่ก่อนหน้านี้อาจไม่เคยมี ‘ผู้หญิง’ อยู่ในสมการ
อ้างอิง:
• https://diamondlobby.com/geeky-stuff/female-representation-in-games/
• https://geekgirlcon.com/why-dont-the-characters-in-my-apps-look-like-me-an-interview-with-maddie-messer/
• https://www.npr.org/sections/money/2015/04/08/398297737/a-12-year-old-girl-takes-on-the-video-game-industry
เรื่อง: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์