CES 2022 สะท้อนแนวโน้มนวัตกรรมของโลกอย่างไร

งาน CES ครั้งที่ 55 กำลังจัดขึ้นที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นงานแสดงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก งานนี้เปรียบไปก็เหมือนงานที่จะบอกแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีว่าโลกเรากำลังจะไปทางไหน เราให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง

        หากเราย้อนกลับไปดูตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการจัดขึ้นเมื่อปี 1967 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิ่งที่เป็นดาวเด่นมาทุกยุคทุกสมัยก็คือ เครื่องใช้ไม้สอยที่เราเอาไว้ใช้ในการติดต่อกันและกัน ความก้าวหน้าของนวัตกรรมชิปเซต ตั้งแต่ทรานซิสเตอร์ มาจนถึงชิพระดับนาโนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้ามากๆ อย่าง EUV (Extreme Ultraviolet Lithography การยิงรังสีอัลตราไวโอเลตความเข้มข้นสูงลงบนแผ่นซิลิกา เป็นขั้นตอนหนึ่งของการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขนาดเล็ก)  

        เราลองมาดูกันว่า ในครั้งที่ 55 นี้ มีนวัตกรรมอะไรเด่นๆ กันบ้างที่สะท้อนให้เห็นความสนใจของมนุษย์เราเกี่ยวกับเทคโลยีในปัจจุบัน

รถไฟฟ้ามาแน่นอน 

        แต่ไหนแต่ไร งาน CES ไม่ได้มีรถยนต์เข้าร่วมเท่าไหร่นัก เนื่องจากค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับงานมอเตอร์โชว์เสียมากกว่า ซึ่งในสหรัฐอเมริกา มีงานใหญ่ๆ หลายๆ งานอย่างที่ดีทรอยต์ แต่ระยะหลัง ค่ายรถยนต์เริ่มมาจับจองพื้นที่ในการแสดงงานของตัวเองใน CES มากขึ้น ส่วนหนึ่งคือเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเริ่มจัดอยู่ใน ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’​ (ขนาดใหญ่และราคาแพง) และอีกส่วนหนึ่งก็คืออยากสร้างการรับรู้ของแบรนด์ว่า ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตยานพาหนะเท่านั้น แต่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการขนส่ง และอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนเช่นกัน  หลายแบรนด์จึงเลือก CES เป็นที่ประกาศทิศทางในอนาคตของตัวเอง 

        ปีที่แล้วเราได้เห็นการเปิดตัวแพลตฟอร์ม infotainment ของ Mercedes Benz ที่จะถูกนำมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ปีนี้เบนซ์ก็เลยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าคอนเซปต์ที่สามารถวิ่งได้ไกล หนึ่งพันกิโลเมตรออกมา นอกจากนี้เรายังได้เห็นความชัดเจนของแบรนด์ต่างๆ ที่เข้าร่วมงานว่าเอาจริงเอาจังกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการเปิดตัวหลายๆ แบรนด์ของบริษัท General Motor (GM) ที่น่าสนใจสำหรับผมคือ Chevrolet Colorado Pickup ด้วยราคาที่จับต้องได้ และความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนความเชื่อพฤติกรรมผู้บริโภคจากเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ มาสู่การใช้แบตเตอรี่แทน

        ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามูลค่าหมื่นล้านของ GM โดยคาดว่ารถจาก GM จะทยอยเปิดตัวภายในปี 2023 และจะเพิ่มความสามารถของแบตเตอรี่ให้วิ่งได้ไกลขึ้นเกือบ 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า 70% ของรถยนต์ที่นำไปจำหน่ายที่ยุโรปจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และ 40% ในสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ อีกทั้งยังประกาศความร่วมมือกับ LG ในการพัฒนาเซลล์แบตเตอรี่ใหม่อีกด้วย

        พูดถึง LG เขาก็มีการเปิดตัวแนวคิดใหม่เรื่องการเดินทางเช่นกัน โดยเปิดตัว Omipod Concept ซึ่งทางค่าย LG มองว่าอีกไม่นานการเดินทางบนถนน จะสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นคนขับแทนได้ ฉะนั้น พื้นที่ในรถ อาจกลายเป็นเหมือนห้องนั่งเล่น หรือพื้นที่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น  

        เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกแบรนด์อย่าง Sony ก็ดูได้รับความสนใจ เพราะเข้ามารุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลอย่างจริงจัง โดยประกาศอย่างเป็นทางการที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Sony Mobility ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ เพื่อนำรถไฟฟ้าของตัวเองเข้าสู่ตลาด มีการเปิดตัว Vision S เวอร์ชัน 2 ในรูปแบบ SUV ซึ่งคาดว่าเราน่าจะได้เห็นกันภายในช่วงเวลา 5 ปีต่อจากนี้แน่นอน 

        นอกเหนือจาก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ ยังมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากตุรกี TOGG โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 10 ปีนี้พวกเขาจะต้องขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้ 1 ล้านคัน นับเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจมาก ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเบื้องหลังมีการร่วมทุนกับบริษัทแบตเตอรี่จากประเทศจีนในการร่วมกันพัฒนา 

        สิ่งที่ท้าทายต่อจากนี้ก็คือ เราคงต้องไปดูโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศว่าจะพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มากแค่ไหน และที่สำคัญ ที่มาของพลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ชาร์จ มาจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดหรือไม่ หรือกลายเป็นว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเหล่านี้ กำลังเพิ่มแรงจูงใจให้หลายประเทศสร้างโรงงานถ่านหินมากขึ้น

การแข่งขันเรื่องชิปเซตน่าจะรุนแรงขึ้น 

        ดูเหมือนว่า Intel จะใช้เวทีนี้ในการกลับมาทวงบัลลังก์คืนในการเป็นผู้นำคอมพิวเตอร์ชิปเซตของโลกให้ได้ หลังจากที่โดน AMD นำหน้าไปหลายต่อหลายขุม โดยเปิดตัวสถาปัตยกรรมใหม่เอลเดอร์เลค (Alder Lake) อินเทลในเจนเนอเรชัน 12 กว่า 50 รุ่น ทั้งสำหรับสายเกม สายที่ต้องการใช้พลังงานสูง และสายที่ธุรกิจ ที่เน้นใช้ในโน้ตบุ๊กที่มีความบางและเบา โดยอินเทลอ้างว่า ทำความเร็วได้มากกว่ารุ่นเก่าไทเกอร์เลคถึง 40% และหากเป็นตัวท๊อปอย่าง Core i9 นั้นสามารถทำความเร็วชนะ Apple M1 ชิพที่ขึ้นชื่อว่าเร็วที่สุดในตลาดตอนนี้ด้วย อันนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไป    

        แน่นอนว่าในงานเดียวกัน AMD ก็เปิดตัวซีรีส์ใหม่อย่าง AMD Ryzen 6000 Series ซึ่งเอาใจสายเกมและสายที่ต้องการคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ด้วยนวัตกรรมการจัดวางชิพแบบใหม่ 3D Stacking Techonology ที่สามารถเพิ่มพื้นที่การอ่านข้อมูลได้มากขึ้น ซึ่ง AMD ทำได้ในระดับ 6 นาโนเมตร ขณะที่อินเทลตัวเลขนั้นยังห่าง

        การแข่งขันกันทั้งเรื่องประสิทธิภาพและการวางตลาดที่เร็วขึ้น  ในแง่หนึ่งน่าจะเป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจ แต่อีกแง่หนึ่งก็น่าคิดว่า ความรวดเร็วที่เพิ่มมากขึ้นนั้น จะนำพามนุษย์เราไปสู่จุดไหนในอนาคต  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการผูกขาดเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำที่จะตามมากับการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ  แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลดีสำหรับทุกคนบนโลก 

ไปทางไหนก็มีแต่จอ 

        เป็นที่รู้กันว่างาน CES เป็นหนึ่งในงานที่มีการเปิดตัวนวัตกรรมด้านโทรทัศน์มากที่สุดของโลก ปีนี้ก็เช่นกัน มีหลายบริษัทที่เปิดตัวนวัตกรรมจอมอนิเตอร์ทั้ง Smart TV ภายในบ้าน นำทีมด้วย LG เปิดตัว OLED EVO ทีวีที่อัพเกรดความชัดขึ้นไปอีก ด้วยการทำงานร่วมกันของชิปเซต แผงเม็ดสีและ AI อัลกิริธึมใหม่ของ LG ที่สามารถเพิ่มความสว่างให้กับจอได้ 

        นอกเหนือจากทีวีแล้ว หลายแบรนด์ยังนำเสนอจอในรูปแบบต่างๆ เช่น ซัมซุง ซึ่งเป็นผู้นำด้านจอของโลก นำเอาต้นแบบของสมาร์ตโฟนที่จอสามารถกาง ม้วน พับในรูปแบบต่างๆ มาแชร์ ทำให้เราเห็นแนวโน้มของการพัฒนาฟอร์มใหม่ๆ ของสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ในอนาคตว่า น่าจะมาทางนี้แน่นอน  หรือ TLC นำเสนอจอที่อยู่บนแว่นตาซึ่งสามารถแสดงผลได้เท่ากับจอ 164 นิ้ว ก็ทำให้เราพอเห็นแนวโน้มว่า ความบ้าคลั่งของมนุษย์เรื่องจอยังอยู่ไปอีกนาน 

        สิ่งที่เราจะเห็นแน่ๆ ในอีกไม่นานนี้ก็คือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่มีมากกว่า 1 จอ ไม่ว่าจะเป็น Lenovo ที่ออกแบบโน้ตบุ๊กแบบพับได้ที่มี 2 จอ หรือ Asus zenbook ใหม่ที่มีจออยู่บนคีย์บอร์ดทำหน้าที่เหมือนสมุดโน้ต ลองเข้าไปดู Virtual Exhibition ของเลอโนโว ได้ 

        การที่เรานั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ โดยเฉพาะที่บ้าน มีความเป็นไปได้สูงว่าจอเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน และเราใช้เวลาอยู่กับจอโดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าอย่างอื่น จึงไม่แปลกเลยที่ความต้องการในการพัฒนาจอต่างๆ ให้มีความคมชัดมากขึ้น เสียงดีขึ้น ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น จะกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่ทุกบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ให้ความสนใจ                

หุ่นยนต์

        หุ่นยนต์ได้รับความสนใจไม่น้อยในงาน CES ช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ หลายแบรนด์ให้ความสำคัญอย่างมากในการนำหุ่นยนต์ที่ใช้ภายในบ้านมาเป็นไฮไลต์สำหรับการนำเสนอวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ๆ เช่น ซัมซุงนำเสนอหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนบัตเลอร์ภายในบ้าน คอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อยให้กับผู้เป็นเจ้าของ 

        ด้าน LG เพิ่งประกาศเปิดตัวหุ่นยนต์ LG CLOi สำหรับการขนส่งระยะสั้นที่สามารถควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรกในงาน นอกเหนือจากนั้นยังมีการนำเสนอนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ที่ล้ำเข้าไปอีก เช่น Bosch ของเยอรมนี นำเสนอนิทรรศการโปรเจกต์หุ่นยนต์ที่ทำร่วมกับนาซ่า เพื่อให้หุ่นยนต์เหล่านี้เป็นผู้ช่วยของนักบินอวกาศในอนาคตอันใกล้ ฮุนไดเองก็ประกาศความร่วมมือกับ Boston Dynamics ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการขนส่งโดยการสำรวจในสถานที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปถึงได้ เช่น พื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี หรือในถ้ำที่มีความลึกมากๆ 

        ที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดในงานครั้งนี้ก็น่าจะเป็น Ameca หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ที่ผลิตโดย Britain’s Engineer Arts ความพิเศษของอเมริกาอยู่ที่ความสามารถในการแสดงสีหน้าที่ทำได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ยิ้ม หัวเราะ หรือทำหน้าสงสัยได้แนบเนียนมากขึ้น รวมถึงมันยังมีฟันอีกด้วย ผู้ผลิตตั้งใจจะให้อเมริกาถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบันเทิง การสื่อสาร และการติดต่อกับผู้คน แน่นอนว่ามันยังจะไม่ถูกผลิตมาใช้จริง ต้องใช้เวลาพัฒนากันอีกพักใหญ่ แต่ก็เห็นแนวโน้มของความน่าสนใจของหุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานมนุษย์ ที่อาจจะขาดแคลนในช่วง 50 ปีต่อจากนี้ รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ที่อาจทำให้บทบาทของหุ่นยนต์เหล่านี้มีมากขึ้นก็เป็นได้

เครื่องใช้ที่แสวงหาพลังงานใหม่ๆ

        สำหรับผม ปีนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่ากับรีโมตคอนโทรลจากซัมซุงซึ่งพัฒนาไปอีกขั้น จากปีที่แล้วที่ซัมซุงเสนอไอเดียรีโมตทีวีที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ แต่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์แทน ปีนี้นอกเหนือจากความสามารถของรีโมตคอนโทรลที่ชาร์จแบตเตอรี่ได้เองจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดมากับรีโมตแล้ว รีโมตเวอร์ชันใหม่นี้ยังสามารถชาร์จไฟได้จากคลื่นวิทยุที่ถูกปล่อยออกมาจาก Wi-Fi Router ได้อีกด้วย

        สิ่งที่ทำให้ซัมซุงสนใจในการพัฒนารีโมตคอนโทรลที่ใช้พลังงานทดแทนจากถ่านไฟฉาย ก็เพราะมีข้อมูลที่ซัมซุงเก็บรวบรวมมา โดยพบว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้แบตเตอรี่ขนาด AAA เพื่อใส่ในรีโมตคอนโทรลจำนวนมากกว่า 100 ล้านก้อน ซึ่งหากสามารถหาแหล่งพลังงานมาทดแทนได้ น่าจะเป็นการดีกับทั้งแบรนด์และโลกอย่างแน่นอน 

        หัวข้อพลังงานทางเลือกเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้จัดงานมีการจัดสัมมนาเรื่องของการหาพลังงานทางเลือก โดยผู้จัดเชิญคีย์เมกเกอร์สำคัญๆ ในธุรกิจนี้มาแสดงความคิดเห็น เช่น รามยา สวามินาธาน (Ramya Swaminathan) ซีอีโอบริษัท Malta บริษัทลูกในเครือของอัลฟาเบธจากกูเกิล, เจเนต ลิน (Janet Lin) Energy and Digital Director ของพานาโซนิก เธอเคยได้รับรางวัลด้าน Clean Energy Prize สมัยที่เธอเรียนที่ MIT ก่อนที่จะมาร่วมงานกับพานาโซนิก ที่หันมาเอาจริงเอาจังเรื่องพลังงานสะอาด พลังงานทดแทนใหม่ๆ มากกว่าการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น 

        โดยรวมแล้วปีนี้ แต่ละแบรนด์ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน รวมถึงความสะดวกสบายในการใช้งาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกแบรนด์ให้ความสำคัญ อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่เกิดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างที่เปิดตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังไม่ได้ถูกผลิตจริงก็มีเช่นกัน ซึ่งปีนี้ก็คงไม่แตกต่างกัน 


เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง