อุตสาหกรรมเทคโนโลยี กับวีถีหมากล้อมในเกมไต้หวัน-จีน

ผมไม่แน่ใจนักว่าการมาเยือนของ แนนซี เพโลซี นั้นลึกๆ แล้วไต้หวันยินดีกับการมาเยือนนี้จริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงเกมของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการยั่วยุจีน โดยหวังผลทางการเมือง ที่สร้างภาพลบให้กับจีน ทว่าในความเป็นจริงความสัมพันธ์ระหว่างจีน สหรัฐอเมริกาและไต้หวันนั้นมีหลายมิติอย่างมาก ภาพที่เราเห็นกับความเป็นจริงนั้นอาจแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ วันนี้เราลองมาไล่เรียงกันดูครับว่า สถานการณ์ ณ ตอนนี้ จะพาเราไปถึงไหน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค ที่เกี่ยวข้องกับสามประเทศนี้อย่างมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง 

 

ภาพ: AFP

เบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน อย่างที่ผมเกริ่นไปว่า ท่าทีของไตัหวันอาจดูแข็งกร้าวกับจีนในฉากหน้า ดูไม่ค่อยเป็นมิตร แต่เนื้อในหลังบ้านทั้งสองประเทศเป็นคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไต้หวันในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมประมง ไปจนถึงสินค้าไฮเทคอย่างชิพเซมิคอนดักเตอร์ การส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 42.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน และยังขยายตัวสูงถึง 24.8% เมื่อเทียบปีต่อปี (2565) เมื่อเทียบกับการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 14.7% ในปี 2564 เป็น 15.2% ในปีนี้ เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าการพึ่งพิงของทั้งสองประเทศมีสูง เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าจากไต้หวันก็ไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ในมุมนี้ การมาเยือนของ แนนซี เพโลซี อาจกลายเป็นการเร่งกระบวนการการรวมชาติให้เร็วขึ้นมากกว่าเดิม เพราะลึกๆ แล้วสองประเทศนี้พึ่งพิงเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าไต้หวันจะอยากหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ว่า ท้ายที่สุดเราอาจหนีเรื่องนี้ไม่ได้  

ภาพ: AFP

2 

        ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์ ต้องใช้แร่ซิลิโคนบริสุทธิ์ ซึ่งต้องอาศัยทรายบริสุทธิ์ ที่นำไปแปรรูปเป็นแร่ควอร์ซเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบต้นทางในการทำชิพคอมพิวเตอร์ ตลาดซื้อขายทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่ประเทศจีน จีนเป็นหนึ่งในประเทศนำเข้าทรายรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าจีนอาจไม่ใช่ผู้ผลิตทรายรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่เป็นศูนย์กลางของการส่งออกและกระจายทรายบริสุทธิ์ที่ใหญ่ที่สุด จีนจึงกลายเป็นศูนย์กลางซื้อขายทรายในเอเชีย โดยทรายจากจีนนั้น มีการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และออสเตรเลียเป็นหลัก ตลาดการซื้อขายทรายของจีนมีมูลค่ากว่า 8,296 ล้านบาทเลยทีเดียว มีข่าวว่าจีนระงับการส่งทรายไปให้กับไต้หวัน แต่เกมนี้ดูเหมือนว่าไต้หวันมีการนำเข้าควอร์ซบริสุทธ์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งถลุงแร่ควอร์ซที่ดีที่สุดของโลก เรื่องนี้ต้องดูกันในระยะยาวว่า อาจทำให้ต้นทุนของสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีอาจปรับราคาสูงขึ้นแน่นอน 

3

        แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือสินแร่หายากหรือแรร์เอิร์ธ (rare earth) ได้แก่ กลุ่มแร่นีโอไดเมียม (Neodymium) เพรซีโอดิเมียม (Praseodymium) ไดสโปรเซียม (Dysprosium) แร่เหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างแม่เหล็กขนาดเล็กในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จีนเป็นประเทศที่มีคลังสำรองของแร่แรร์เอิร์ธอยู่มากที่สุดในโลก คิดเป็น 35% ของทั้งโลก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกซึ่งมีมูลค่ากว่า 26 ล้านล้านบาท ต้องพึ่งพิงแร่แรร์เอิร์ธจากจีนเป็นหลัก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างไต้หวันกับจีนเป็นเรื่องที่น่าหนักใจมากสำหรับประเทศที่ต้องนำเข้าแร่แรร์เอิร์ธทั้งหมดจากประเทศจีน ซึ่งตอนนี้จีนประกาศระงับการส่งออกไปไต้หวัน ทางเลือกของไต้หวันคือต้องนำเข้าจากประเทศอื่นแทน อาจเป็นเวียดนาม บราซิล หรือรัสเซีย แต่ทุกประเทศที่ว่ามาลูกค้ารายใหญ่ก็คือจีนและเมื่อดูจากสายสัมพันธ์การจะเจียดออร์เดอร์ไปให้กับไต้หวันนั้นก็ไม่ได้ง่ายนัก หรือมีก็คงไม่พอกับความต้องการใช้งาน เพราะไต้หวันซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลก สองบริษัทใหญ่อย่าง Acer และ ASUS มูลค่ารวมกันสองบริษัทมีมากกว่าสามหมื่นล้านบาท พนักงานอีกเกือบ 30,000 คน และผลิตคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดจำนวนมหาศาล Statista รายงานว่าเมื่อปีที่แล้ว ไต้หวันผลิตคอมพิวเตอร์รูปแบบต่างออกสู่ตลาดราว 4.5 ล้านเครื่อง ประเด็นนี้เป็นผลกระทบที่น่าหนักใจมากสำหรับไต้หวัน ไม่เพียงเท่านั้นสหรัฐอเมริกา และทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ไปด้วย

ภาพ: AFP

4

        ในมุมของสหรัฐอเมริกาก็ได้รับผลกระทบ ปัญหาเรื่องการผลิตไอโฟนและไอแพดที่โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ ในเมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน อาจสะดุดเนื่องจากชิพทั้ง Apple A series และ Apple M series ล้วนแล้วแต่ผลิตที่ TSMC ในไต้หวัน ซึ่งไม่สามารถนำเข้ามาประกอบที่ประเทศจีนได้ นั่นทำให้แผนการเปิดตัวของ Apple iPhone ในช่วงเดือนกันยายนนี้อาจต้องเลื่อนออกไปและยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะลากยาวไปถึงไหน แชร์แมนของ TSMC มาร์ล หลิว (Marl Liu) ผู้ซึ่งเก็บตัวเงียบมาตลอด ออกสื่อน้อยมาก ยังต้องออกมาให้สัมภาษณ์กับ CNN เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่า หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจไม่มีใครชนะ “เราทุกคนล้วนเป็นผู้สูญเสียด้วยกันทั้งนั้น” โดยให้เหตุผลว่าอุตสาหกรรมผลิตชิพเซมิคอนดักเตอร์นั้นมีความละเอียดอ่อน เพราะชิพเหล่านี้ถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและในหลายประเทศทั่วโลกในการผลิตเครื่องจักรต้นทางที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอีกหลายอย่าง ทั้งเครื่องจักรในโรงงานผลิตยา เครื่องมือแพทย์ ซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องจักรและอื่นๆ อีกหลากหลายแขนง และแม้ว่าจะมีการไปตั้งโรงงานนอกไต้หวันทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและจีน แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะสร้างโรงงานเหล่านี้ได้สำเร็จ ความหมายโดยนัยก็คือ อุตสาหกรรมผลิตชิพเซต กลายเป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของโลกไปแล้ว ทางที่ดีอย่านำเอาเรื่องนี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเกมการเมืองเลย แต่ก็พูดยาก เพราะดูเหมือนสองประเทศยักษ์ใหญ่ ยังเล่นสงครามจิตวิทยาเพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจ โดยใช้ไต้หวันเป็นหมากตัวสำคัญ 

5

        นอกเหนือจากชิพเซต อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ จีนเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากนับสิบอันดับของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และในรถยนต์ไฟฟ้า 8 บริษัทเป็นบริษัทของจีน 2 บริษัทมาจากญี่ปุ่น (Panasonic) และเกาหลีใต้ (LG Battery) นอกเหนือจากลูกค้าในประเทศจีนแล้ว บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่เหล่านี้มีลูกค้าอยู่ทั่วโลกแน่นอนว่ารวมถึงไต้หวันและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการลงทุนระหว่างกัน ปัญหาความขัดแย้งนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศงดการทำธุรกรรมกับหลายบริษัทในไต้หวัน ทั้ง Speedtech Energy, Hyweb Technology, Skyla และ SkyEyes GPS Technology รวมไปถึงการระงับการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ในการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่มูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ (ราวๆ 850 ล้านบาท) ในโครงการความร่วมมือกับบริษัทรถยนต์อย่าง GM และ Ford Motors ซึ่งแน่นอนว่าสร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะ 43% ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้นมาจากผู้ผลิตในประเทศจีน และสหรัฐอเมริกาผลิตได้เพียงครึ่งหนึ่งที่จีนสามารถผลิตได้

ภาพ: AFP

6

        ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้ามากที่สุดและเป็นแหล่งซัพพลายของอุตสาหกรรมนี้มากที่สุดในโลก บริษัทของสหรัฐอเมริกาทั้งแอมะซอน แอปเปิ้ล และอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาต่างลงทุนในจีนเยอะมาก รวมถึงไต้หวันกับจีนเองก็ต้องบอกว่าจีนเป็นลูกค้าอันดับหนึ่งของไต้หวัน พูดได้ว่าเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นพึ่งพาจีนมากกว่าสหรัฐอเมริกาเกือบเท่าตัว  

        และหากมองในภาพกว้างกว่านั้น จีนครองสัดส่วนของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ราว 18% ซึ่งหากเกิดสงครามขึ้นมาจริงๆ ความรุนแรงของผลกระทบนั้น พูดได้ว่าคนละเรื่องกับปัญหารัสเซียกับยูเครน ซึ่งรัสเซียมีสัดส่วนเศรษฐกิจของโลกเพียง 2% เท่านั้น     

        กลยุทธการยั่วยุของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับการใช้ความอดทนอดกลั้นและกลยุทธหมากล้อมของจีน เราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดจริงๆ ว่าปริมณฑลแห่งความสงบอาจพบกับการเปลี่ยนแปลง เป็นสมรภูมิแห่งความขัดแย้ง หมากเกมนี้จะลงเอยอย่างไร  

        เราทุกคนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  


เรื่อง: เอกศาสตร์ สรรพช่าง