หนังอวกาศ

Easter List: 9 หนังอวกาศที่คุณควรดู หากอยากรู้ว่าบรรยากาศนอกโลกเป็นอย่างไร

หลังจากยานอวกาศ Vostox 1 พลิกวงการอวกาศด้วยการพา ยูริ กาการิน ขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี 1961 อีก 7 ปีต่อมา สแตนลีย์ คูบริก ก็พลิกโฉมหนังอวกาศ ด้วยการสร้าง 2001: A Space Odyssey ขึ้นมา…

        สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมาโดยตลอดต่อเรื่องราวของอวกาศคือความไม่มีสิ้นสุดของมัน เพราะในทุกวันนี้ ไม่ว่ามนุษย์จะเดินทางห่างไกลออกไปจากโลกได้มากเท่าไหร่ จักรวาลก็มีแต่จะยิ่งกว้างไกลออกไปเท่านั้น

        ความน่าอัศจรรย์ใจเช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้สร้างหนังมากหน้าหลายตาได้เติมแต่งจินตนาการเข้าไปตามแต่ใจต้องการ เพราะในเมื่อสิ่งเหล่านี้ยังเป็นปริศนาอยู่ ความถูก-ผิด คงไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาพูดกันเท่าใดนักสำหรับหนังประเภทนี้ 

        นี่จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคนดู ผู้อาศัยบนดาวโลกแบบพวกเราเป็นอย่างมาก ที่จะได้มองออก ไปสู่สถานอันห่างไกลผ่านกระสวยลำเล็กที่เรียกว่าหน้าจอ ซึ่งก็ตามแต่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือโรงภาพยนตร์ก็ตาม แต่ในเมื่อเรามีเวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคน การจะตามไปเก็บทุกจักรวาลที่เกิดขึ้นคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น หนังอวกาศ 9 เรื่องนี้ จึงเป็นเหมือนลายแทงของผู้เขียนเอง ที่เดินทางท่องอวกาศมาพอสมควร อยากแนะนำให้ทุกท่านได้ลิสต์เก็บไว้เผื่อยามใดเกิดอาการอยากจะ ‘ท่องจักรวาลผ่านหน้าจอหนัง’ กันอีก

 

หนังอวกาศ

2001: A Space Odyssey (1968)

        หากพูดถึงจุดกำเนิดของภาพยนตร์จักรวาลกันแบบจริงจัง ชื่อของ 2001: A Space Odyssey คงต้องถูกหยิบมาตั้งต้นเป็นหมุดหมายแรกของการท่องอวกาศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างแน่นอน

        เพราะด้วยยุคสมัยที่ยังไม่มีต้นแบบของคำว่า ‘อวกาศ’ ให้เห็นเป็นภาพเป็นวิดีโอ หรือแม้กระทั่งเสียงให้มนุษย์ได้สัมผัสเท่าใดนัก แต่ สแตนลีย์ คูบริก ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยอ้างอิงจากงานเขียนในชื่อเดียวกับหนังของ อาเธอร์ ซี คลาร์ก ที่เล่าถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ชาติตั้งแต่จุดเริ่มต้นสมัยยังเป็นลิงไปจนถึงยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตบนยานอวกาศและมีสิ่งมีชีวิตอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นมาได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งถ้ามองกลับไปถึงความเป็นหนังยุค 60s คงไม่มีใครกล้าเถียงว่าหนังเรื่องนี้ได้สร้างสรรค์ความล้ำยุคออกมาได้อย่างงดงามและยิ่งใหญ่สมเป็นต้นฉบับของอวกาศเป็นที่สุด 

        ที่ใช้คำว่าต้นฉบับก็เพราะองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ ที่คูบริคได้สอดแทรกและแต่งเติมเข้าไปในเรื่องช่างดูล้ำสมัย แปลกใหม่ และที่สำคัญดันคล้ายคลึงกับเรื่องราวบนโลกมนุษย์จริง เมื่อกาลเวลาได้เวียนมาสู่ยุค 2000s ตามช่วงเวลาภายในเรื่อง 

        และนี่เองจึงเป็นเหตุให้เราได้เห็นหนังอวกาศต่างๆ อีกมากหยิบยืมต้นฉบับเรื่องนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งระบบ AI โครงสร้างยานอวกาศ ชุดนักบินอวกาศ รวมไปถึงองค์ประกอบภาพ สีและแสง ฉูดฉาดมากมายอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา

 

หนังอวกาศ

Solaris (1972)

        อีกหนึ่งหนังอวกาศที่สร้างมาจากหนังสือในชื่อเดียวกันของ สตาญิสวัฟ แลม กำกับโดย อันเดรย์ ทาร์คอฟสกี แต่จะมีความแตกต่างกับหนังท่าทีโอ่อ่าอย่าง 2001: A Space Odyssey ตรงที่หนังเรื่องนี้เลือกที่จะถอดเปลือกที่ไม่จำเป็นเสียเท่าไหร่กับงานสร้างอันแสนอัศจรรย์ของอวกาศ แล้วพูดถึงเรื่องราวปรัชญาของมนุษย์บนอวกาศกันอย่างจริงจัง

        หนังเล่าถึงความเจ็บปวดของ ดร. เคลวิน (โดนาทัส แบนออเนียส) นายแพทย์ผู้สูญเสียภรรยา โดยหนังอาศัยจุดเด่นของความเล้นรับในห้วงอวกาศสร้างร่างโคลนภรรยาของเขาขึ้นมา ซึ่งนั่นทำให้หนังพยายามล้อเล่นกับคนดูด้วยการตั้งคำถามเชิงปรัญชาถึงศีลธรรม ความรัก และอวกาศ ออกมาได้อย่างน่าสนใจและแปลกใหม่เป็นอย่างมาก หากเรามองกลับไปถึงหนังที่เกิดขึ้นในยุค 70s

 

หนังอวกาศ

Apollo 13 (1995)

        อีกหนึ่งหนังอวกาศคลาสสิกที่สร้างมาจากเรื่องราวของของ จิม โลเวลล์ ที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ของยานอวกาศ Apollo 13 ที่เคยหวังไว้ว่าจะเป็นยานลำที่ 2 ที่ร่อนจอดลงบนดวงจันทร์ แต่ในประวัติศาสตร์ความเป็นจริงไม่ได้สวยหรูอย่างนั้น เนื่องจากอุบัติเหตุบางอย่างที่เกิดขึ้นบนยานอวกาศ ซึ่งนำไปสู่การเอาชีวิตรอดของลูกเรือ Apollo 13 

        นอกจากจะได้ รอน ฮาวเวิร์ด ที่ถึงแม้จะมีผลงาน The Da Vinci Code เมื่อปี 2006 ออกมาทีหลัง (ช่วงทำ Apollo 13 มีไฟที่แรงกว่าเรื่องนี้… ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) แต่หากใครยังไม่เคยดู Apollo 13 ก็สามารถคาดเดาความสนุกตื่นเต้นในแบบเดียวกันกับหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในเรื่องยังได้ดาราขวัญใจมหาชนอย่าง ทอม แฮงก์ ในบท จิม โลเวลล์  ที่ในช่วงนั้นสามารถบอกได้ว่า ทอม แฮงก์ คือนักแสดงเบอร์ต้นของโลกก็ย่อมได้ หลังจากที่เขาดังเป็นพลุแตกมาจากเรื่อง Forrest Gump (1994) หนึ่งปีก่อนหน้าที่จะมารับบทนำในเรื่องนี้

        แน่นอนว่าด้วยพล็อตเรื่องแบบนี้ ผู้กำกับไฟแรงและดารานำเบอร์ใหญ่ที่พร้อมจะกลายเป็นหนัง Blockbuster ทำให้หนังเรื่องนี้เข้าสู่สูตรสำเร็จของหนังอวกาศที่แท้จริง ทั้งความปั่นป่วนของสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการแก้ปัญหากันฉุกละหุก ความสติแตกของตัวละครจากภาวะที่อยู่นอกโลก จึงนำหนังเรื่องนี้ไปสู่การเล่าเรื่องที่ดูง่าย สนุกและลุ้นระทึก ชนิดที่ว่าเราขอยกให้ Apollo 13 คือหนังที่สนุกที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่กล่าวอ้างขึ้นมาในบทความนี้เลยทีเดียว 

 

หนังอวกาศ

Contact (1997)

        ถ้าย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มของหนังอวกาศ คำถามแรกที่พร้อมจะเป็นวัตถุดิบเติมแต่งเรื่องราวให้น่าค้นหาได้เป็นอย่างดีที่สุดคงเป็น นอกจากเราแล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาลนี้อีกไหม? และนั่นก็กลายเป็นที่มาของ Contact หนังที่พยายามติดต่อกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้อย่างน่าสนใจ

        แรกเริ่มถึงแม้เราจะไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้มากเท่าใดนัก แต่หากเราเหลือบไปดูชื่อผู้กำกับอย่าง โรเบิร์ต เซเม็กคิส ที่เคยฝากผลงานอย่าง Forrest Gump (1994) และ Cast Away (2000)  เอาไว้ แค่นี้ก็เป็นเชื้อเพลิงที่เพียงพอแล้วที่จะลองหยืบหนังที่สร้างโดยผู้กำกับมากความสามารถคนนี้มาลองดูอีกสักเรื่องหนึ่ง

        และก็เป็นไปตามคาด เพราะนอกจากหนังจะตั้งคำถามต่อวิทยาศาสตร์และศาสนา (ในเรื่องมีการพูดถึงพระเจ้ากับจักรวาล) ได้อย่างเจ็บปวดแล้ว ตัวหนังเองก็ยังหยิบยกเอาทฤษฎีรูหนอนและเรื่องมิติที่ 5 มาอ้างอิงในเรื่องด้วย…ใช่ครับ นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Interstellar (2014) ที่จะกล่าวในตอนต่อไปของบทความเช่นกัน

 

หนังอวกาศ

Moon (2009)

        อีกหนึ่งหนังอวกาศที่พล็อตล้ำขึ้นหิ้ง จนพล็อตเรื่องนี้ล้ำกว่าจักรวาลหรือสถานีอวกาศภายในเรื่องเสียอีก เพราะ Moon เล่าเรื่องราวของโลกในยุคที่ต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานจากดวงจันทร์ ทำให้แซม เบล (แซม ร็อกเวล) ต้องมาประจำอยู่สถานีอวกาศบนดวงจันทร์ ก่อนที่เขาจะพบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับร่างกายของเขาที่แทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง

        ที่บอกว่าพล็อตมันล้ำก็เพราะด้วยการกำกับของ ดันแคน โจนส์ ที่มีเอกลักษณ์ในการเนรมิตตรรกะและเหตุผลที่ดูผิดธรรมชาติกับการสร้างลูปจิตวิญญาณขึ้นมาแล้วอย่างใน Source Code (2011) ทำให้ในเรื่องนี้ ดันแคนได้ผนวกจิตวิญญาณของมนุษย์และหุ่นยนต์ผสมด้วยเรื่องราวภายในจิตใจเอาไว้ได้อย่างแยบยล แต่ว่าพล็อตในเรื่องนี้จะดูล้ำขนาดไหนคงบอกเล่ากันตรงนี้เลยไม่ได้ ต้องปล่อยให้ทุกท่านได้ลองค้นหากันคำตอบกันเอาเอง

 

หนังอวกาศ

Gravity (2013)

        ความน่าสนใจที่ทำให้เราหยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาแนะนำ คือเทคนิคในงานภาพที่มีชั้นเชิงอย่างโดดเด่นเรื่องหนึ่งที่หนังอวกาศควรจะมี เพราะในขณะที่หนังเรื่องอื่นพยายามใช้ลูกเล่นทั้งความโอ่อ่าของตัวยาน หรือลำแสงอันเจิดจ้าของดวงดาวต่างๆ Gravity กลับเลือกใช้วัตถุดิบพวกนี้อย่างเรียบง่ายและธรรมดาให้มากที่สุด ด้วยการใช้มุมกล้องและจังหวะ long take ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องในทุกอิริยาบถของหนัง

        หนังเล่าเรื่องถึง ดร. สโตน (แซนดรา บุลล็อก) และ แม็ตต์ โควาสกี (จอร์จ คลูนีย์) ซึ่งมีหน้าที่ในการซ่อมแซมดาวเทียม ซึ่งในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่พวกเขาเจอสถานการณ์เสี่ยงตายภายนอกยานอวกาศ นำมาสู่เรื่องราวการแก้ไขปัญหาท่ามกลางจักรวาลอันลึกลับได้อย่างน่าขนลุก

        ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมฝีไม้ลายมือของ อัลฟอนโซ กัวรอน ผู้กำกับสายงานภาพที่เพิ่งคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีที่ผ่านมาจาก Roma (2019) โดยในเรื่องนี้เขาก็หยิบทฤษฎีของหนังอวกาศมาถอดให้เปลือยเปล่าทั้งหมด เหลือไว้เพียงบรรยากาศอันดำมืดและไร้ซึ่งเสียงอื่นใดของอวกาศเพียงเท่านั้น 

 

หนังอวกาศ

Interstellar (2014)

        อีกหนึ่งหนังอวกาศที่ท้าทายความสามารถในการรับชมภาพยนตร์ของเรามากอย่าง Interstellar  หนังอวกาศมากทฤษฎีของ คริสโตเฟอร์ โนแลน หลังจากที่เขาเคยสร้างชื่อมาแล้วใน Memento (2000) และ Inception (2010)

        ที่เราบอกว่ามากทฤษฎีนั้น เพราะหนังเต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเรื่องทั้ง ทฤษฎีการเดินทางแบบรูหนอน, ทฤษฎี 5 มิติ และทฤษฎีความแตกต่างของระยะเวลาบนดาวเคราะห์ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุที่เราบอกว่ามันช่างท้าทายความสามารถในการรับชมภาพยนตร์อวกาศของเราเสียจริง

        แต่หากคุณกลัวว่าหนังจะต้องออกมาเนิร์ด ชวนน่าเบื่อแน่ๆ ไม่ต้องกังวลครับ เพราะ Interstellar ยังสอดแทรกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคูเปอร์ (แมทธิว แม็คคอนาเฮย์) และ เมิร์ฟ (เจสสิกา แชสเทน) ได้อย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ฉากฟังวิดีโอเสียงสุดท้ายของคูเปอร์ได้อย่างงดงาม

 

หนังอวกาศ

The Martian (2015)

        จะขาดหนังเรื่องนี้ไปไม่ได้เลย สำหรับภาพยนตร์ดีกรีรางวัลออสการ์อย่าง The Martian งานกำกับของ ริดลีย์ สก็อตต์ จาก Alien (1979) และ Blade Runner (1982) ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวบนดาวอังคารของ มาร์ก วัทนีย์ (แมตต์ เดมอน) ที่ต้องเอาชีวิตรอดเพียงลำพัง หลังจากถูกเพื่อนร่วมทีมทิ้งเขาไว้บนดาวอังคารเพราะคิดว่าเขาเสียชีวิตจากพายุบนดาวไปแล้ว 

        หนังเรื่องนี้จะแปลกประหลาดก็ตรงที่มีความกึ่ง survival กับ space movie เพราะด้วยความที่หนังไม่ได้ท้าทายถึงการตั้งคำถามต่อมนุษย์ ดวงดาว หรือสิ่งมีชีวิตนอกโลกเท่าไหร่นัก หนังจึงมีความเอาชีวิตรอดบนดาวอังคารที่ดูแล้วคลับคล้ายกับหนังเอาชีวิตรอดขึ้นหิ้งอย่าง Cast Away (2000) ยิ่งนัก 

        และนั่นก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกที่สดใหม่กับการท้าทายบรรยากาศนอกโลก ทั้งการปลูกผัก สร้างเชื้อเพลิง ไปจนถึงการสร้างออกซิเจนเพื่อเอาไว้หายใจ ความท้าทายเล็กน้อยเหล่านี้ช่วยดึงดูดให้ผู้ชมอย่างเราต้องคอยเอาใจช่วยนักบินอวกาศคนนี้ว่าสุดท้ายแล้วเขานั้นจะมีชีวิตรอดกลับมาดาวโลกได้หรือไม่

 

หนังอวกาศ

Ad Astar (2019)

        และสุดท้ายหนังอวกาศฟอร์มยักษ์ของปีนี้อย่าง Ad Astar ผลงานกำกับของ เจมส์ เกรย์ ที่ตั้งใจจะสร้างหนังอวกาศให้ออกมาสมจริงที่สุด โดยเรื่องนี้ได้ดาราเบอร์ใหญ่อย่าง แบรด พิตต์ ที่เป็นทั้งพระเอกและผู้อำนวยการสร้างภายในเรื่อง

        หนังเล่าเรื่องราวของ รอย แม็กไบรต์  (แบรด พิตต์) นักบินอวกาศที่มีความเป็นมืออาชีพในตัวสูงมาก ไม่ใช่แค่ทางใจที่ภาวะการตัดสินใจหนักแน่นและเฉียบขาด แต่ทางร่างกายเขาคือมนุษย์ผู้ไม่มีเคยมีชีพจรเต้นเกิน 80 ครั้งต่อวินาที และแน่นอนว่าเขาไม่เคยเป็นคนที่อยู่ในภาวะตกใจเลยสักครั้งเดียว 

        จากนั้นหนังอาศัยคอนเซ็ปต์อันแข็งแกร่งของตัวรอย พาเราไปดูภารกิจสำคัญของเขากับการเดินทางไปพบกับ คลิฟฟอร์ด แม็กไบรต์ (ทอมมี ลีโจนส์) ซึ่งเป็นเหมือนปมเดียวในใจของรอย ที่ถูกพ่อของเขาทอดทิ้งจากการเดินทางผ่านอวกาศ 

        แน่นอน จนถึงวันนี้ที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมากแล้ว ทำให้งานภาพและแสงสีได้ถูกพัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีจนได้ภาพที่สวยสดและงดงามเป็นอย่างมาก แต่อย่างที่กล่าวไปว่า Ad Astar เป็นหนังที่เลือกจะสนใจคอนเซ็ปต์มากกว่าวิธีการทางภาพยนตร์พอสมควร ทำให้บรรยากาศนอกโลกในเรื่องนี้จึงดูเป็นไปอย่างสมจริงสมจังเอามากๆ นับว่าเป็นความแปลกใหม่ในการเติมแต่งจินตนาการที่ดูไม่ฟู่ฟ่าและหรูหราจนเกินไป