ความเสียหายจากความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกาและอิหร่านไม่ได้ส่งผลต่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเพียงเท่านั้น
เพราะประชาชนและนักศึกษาชาวอิหร่านเริ่มโกรธแค้นอเมริกันชนทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินของพวกเขา เกิดเป็นการขับไล่ชาวอเมริกันครั้งใหญ่ในประเทศอิหร่าน
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเอาชีวิตรอดออกมาจากมรสุมทางการเมืองนี้ได้ทัน นักการทูต 6 คน จากสถานทูตอเมริกา จำเป็นต้องรอถึงวินาทีสุดท้าย เพราะพวกเขากำลังทำลายหลักฐานสำคัญต่างๆ ในสถานทูต ก่อนที่จะหลบหนีไปพึ่งพิงสถานทูตแคนนาดา และรอหน่วยช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่ลักลอบเข้าแดนอิหร่านในฐานะกองถ่ายหนังปลอมๆ ที่ใช้ชื่อว่า Argo อย่างมีความหวังอยู่หลายสัปดาห์
01 | Argo
เดิมที Argo คือบทหนังที่ถูกดองไว้ตั้งแต่ปี 1967 ของ จิม ลี เป็นเรื่องราวแฟนตาซีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยาย Lord of Light ของ Roger Zelazn อีกทอดหนึ่ง สุดท้ายก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเรื่องราวแท้จริงของ Argo นั้นเป็นอย่างไร เพราะมันได้กลายมาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของปฏิบัติการลี้ภัยที่ใช้ชื่อว่า The Canadian Caper ไปเสียก่อน
02 | Iranian Revolution
ย้อนกลับไปก่อนปฏิบัติการ The Canadian Caper เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 1953 หลังจากที่สหรัฐฯ ได้เข้าไปสนับสนุนการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่นำโดย นายโมฮัมหมัด โมซาเดกห์ เนื่องจากเขาดำเนินนโยบายหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก อีกทั้งยังสนับสนุน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ให้ขึ้นมามีอำนาจภายหลัง ทำให้ในช่วงนั้นอิหร่านภายใต้การปกครองของพระเจ้าชาห์และสหรัฐฯ มีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น (โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ในน้ำมันใต้แผ่นดินของอิหร่านที่เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่สหรัฐฯ ต้องการในขณะนั้น)
ต่อมาประชาชนและนักศึกษาอิหร่านเริ่มตื่นตัวในเรื่องชาตินิยมมากขึ้น พวกเขาสัมผัสได้ถึง ‘การถูกสูบผลประโยชน์’ ไปจากแผ่นดินบ้านเกิดของตน จึงออกมาประท้วงและเรียกร้อง จนนำไปสู่การปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ทำให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบบกษัตริย์มาเป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อีกทั้งยังทำให้พระเจ้าชาห์ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้น อะยา ตอลลาห์ โคมัยนี ผู้นำทางศาสนาที่เคยถูกพระเจ้าชาห์เนรเทศออกจากอิหร่านไปเมื่อ 15 ปีก่อน ได้ตรงดิ่งจากฝรั่งเศสกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนในอีกไม่กี่เดือนถัดมา และเนื่องจากเขาเองก็เป็นที่เคารพรักของชาวอิหร่านในยุคนั้น ทำให้เขามีกองกำลังผู้สนับสนุนอยู่ในมือจำนวนมาก ซึ่งภายหลังกลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านี้เริ่มก่อจลาจลกับฝ่ายกองทัพและรัฐบาลที่ยังอยู่ข้างเดียวกับสหรัฐอเมริกา (รวมไปถึงการจับตัวประกันชาวอเมริกัน จนทำให้เกิดปฏิบัติการ The Canadian Caper) สุดท้ายในช่วงปลายปี 1979 โคมัยนีก็สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ และประกาศการปฏิวัติอิสลามไปทั่วอิหร่าน โดยหันมายึดถือแนวทางของศาสนาอิสลามในการปกครองประเทศแทนระบอบทุนนิยม
03 | Tony Mendez
โทนี เมนเดส คือชายผู้หลงใหลในศิลปะในแขนงต่างๆ แต่ทว่าหลังจบมหาวิทยาลัยออกมา เขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางอาชีพมาเป็นเจ้าหน้าที่ CIA แต่ยังคงทำงานด้านศิลปะอยู่เรื่อยเพื่ออำพรางอาชีพสายลับที่แท้จริงของเขา
ผลงานที่สร้างชื่อให้โทนีคือปฏิบัติการ ‘The Canadian Caper’ ในช่วงวิกฤตตัวประกันที่อิหร่าน ซึ่งเป็นปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ CIA และรัฐบาลแคนาดา ที่ใช้การปลอมแปลงตัวตนเข้าไปในอิหร่านในฐานะกองถ่ายภาพยนตร์ ก่อนจะลักลอบนำตัวประกันอเมริกัน 6 คนออกจากอิหร่านได้สำเร็จ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว โทนีได้เขียนเล่าประสบการณ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า Argo ก่อนที่จะถูกดัดแปลงไปเป็นซีรีส์อย่าง Escape from Iran: The Canadian Caper (1981) และหนังอย่าง Argo (2012)
04 | Ben Affleck
การที่ เบน แอฟเฟล็ก จะกลายเป็น โทนี เมนเดส เจ้าของปฏิบัติการได้อย่างแนบเนียน จำเป็นอย่างยิ่งที่เขาต้องพบเจอกับอดีตสายลับ CIA ผู้นี้เพื่อเรียนรู้บุคลิกและทัศนคติของเขา
ในปี 2011 พวกเขานัดเจอกันอย่างเงียบๆ ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในวอชิงตัน ดี.ซี. การพูดคุยครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือสิทธิพิเศษที่ เบน แอฟเฟล็ก ได้รับหลังจากการนัดเจอกันของพวกเขา คือการได้เข้าไปเยี่ยมชมสำนักงาน CIA ของจริง แน่นอนว่าเขาได้นำประสบการณ์ครั้งนั้นมาถ่ายทอดเป็นสำนักงาน CIA ภายในเรื่องได้อย่างครบถ้วน
พูดถึงเรื่องความสมจริงที่เบนวางมาตรฐานไว้แล้ว อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือการอาศัยอยู่ร่วมกันของผู้ลี้ภัยทั้ง 6 คนในสถานทูต สำหรับเบนแล้ว เขาคิดว่าการลี้ภัยอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นเวลานาน มันต้องไม่เหมือนกับผู้อาศัยทั่วไปที่แค่กิน ดื่ม นอน ไปวันๆ แต่มันต้องมีความกังวล ความหวังและสิ้นหวังอยู่ในเวลาเดียวกัน เขาจึงจับนักแสดงที่รับบทผู้ลี้ภัยในเรื่องทั้งหมดมาอยู่ด้วยกันในห้องพักแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม สำหรับการเตรียมตัวเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องอาศัยร่วมกันในหนัง
05 | Exclusive Opening
ในฉากเปิดเรื่องที่เป็นการชุมนุมของชาวอิหร่าน เบน แอฟเฟล็ก ได้มอบกล้องขนาดเล็กให้กับผู้ชุมนุมคนหนึ่งสำหรับถ่ายทำการชุมนุมที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่คล้ายคลึงกับคลิปวิดีโอจากผู้ชุมนุมจริงมากที่สุด
แต่ถึงอย่างนั้นทั้งวิดีโอ การชุมนุม และเหตุการณ์ทุกอย่างทั้งหมดในฉากล้วนเป็นการสร้างขึ้นใหม่จากกองถ่ายแทบทั้งสิ้น แม้กระทั่งผู้ถ่ายคลิปดังกล่าวก็เป็นนักแสดงประกอบด้วยเช่นกัน
06 | No Iran for This Movie
แม้จะเป็นหนังที่ว่าด้วยการหลบหนีออกจากประเทศอิหร่านของชาวอเมริกัน แต่ไม่มีฉากไหนเลยในหนังเรื่องนี้ที่ถ่ายทำในประเทศอิหร่าน
07 | More Real Story
แม้หนังจะอ้างว่าสร้างมาจากเหตุการณ์จริง (Based on a True Story) แต่ก็มีเนื้อหาอยู่หลายส่วนที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่น ผู้ลี้ภัยทั้ง 6 คน ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางสถานทูตแคนาดาแต่แรกเริ่ม พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในสถานทูตอังกฤษพักหนึ่งก่อนที่ทางสถานทูตจะให้ความช่วยเหลือในเวลาต่อมา
รวมไปถึงฉากไคลแม็กซ์ กับการหลบหนีผู้ก่อการร้ายและตำรวจสุดระทึกในสนามบิน ในความเป็นจริงแล้วหนึ่งในผู้ลี้ภัยได้เปิดเผยว่า ช่วงเวลานั้น การหลบหนีเกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย พวกเขาผ่านด่านตรวจอย่างปลอดภัย และไม่มีใครกำลังไล่ตามมาทั้งนั้น
ซึ่งทาง เบน แอฟเฟล็ก ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า แม้จะเป็นหนังที่สร้างมาจากเรื่องจริง แต่เขาก็ต้องมีการแต่งเติมเและตัดเรื่องราวบางส่วนทิ้งไปบ้างเพื่อความสนุกในแง่ของภาพยนตร์
08 | American Feedback
หลังจากที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย จิม คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่พระเจ้าชาห์หลบหนีมาลี้ภัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความเห็นต่อหนังเรื่องว่านี้ เป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมและสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้เขายังให้เครดิตความดีความชอบแก่ทางเอกอัครราชทูตแคนาดาด้วยว่าเป็น ‘ฮีโร่ที่แท้จริง’ ในแผนการนี้ทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่ CIA ของตนเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
09 | Iran Feedback
มีเรื่องดราม่าวุ่นวายเล็กน้อยหลังจากที่หนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้สักพัก ด้วยความที่หนังมีเนื้อหาที่โจมตีภาพลักษณ์ของประเทศอิหร่านอย่างหนักหน่วง
ทำให้มีนายทุนอิหร่านบางคนถึงกับจ้างทนายความจากฝรั่งเศสฟ้องร้องหนังเรื่องนี้โดยอ้างว่า ‘หนังออกแบบมาเพื่อปูทางสำหรับการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ กับอิหร่าน โดยอาศัยความโกรธแค้นที่มีต่อเตหะรานและโคมัยนี’ โดยทนายยื่นคำร้องโดยกล่าวว่า เบน แอฟเฟล็ก มีความผิดฐานก่ออาชญากรรม
แต่สุดท้ายศาลมองว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีน้ำหนักไม่เพียงพอจึงมีคำสั่งยกฟ้องคดีนี้ไป
10 | Somchai Sriweawnetr
แม้จะเป็นเรื่องราวระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน แต่ก็มีเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเล็กน้อย เมื่อมีชาวไทยคนหนึ่งออกมาประกาศตนว่า เขาคือหนึ่งผู้ให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการครั้งนี้เช่นกัน
ในรายการตีสิบเทปวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีแขกรับเชิญท่านหนึ่งนามว่า สมใจ ศรีแววเนตร อายุ 75 ปี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเวลาที่ตนประกอบอาชีพเชฟที่สถานทูตไทยในอิหร่าน เขาได้รับโทรศัพท์จากนักการทูตท่านหนึ่งที่มีภริยาเป็นชาวไทย ให้ช่วยดูแลผู้ลี้ภัยทั้ง 6 คนที่ยังติดอยู่ในอิหร่าน
เขาจึงขับรถไปรับนักการทูตทั้งหมดและดูแลพวกเขาในอพาร์ตเมนต์ของตัวเอง ก่อนที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสถานทูตแคนาดา หลังจากที่เขาเริ่มถูกชาวอิหร่านในละแวกนั้นสงสัย โดยลุงสมใจยังเล่าอีกว่า เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น กลุ่มนักศึกษาก็ได้เข้าค้นบ้านพักของลุงหลังจากที่มีคนแจ้งว่าอาจจะมีชาวอเมริกันอาศัยอยู่ที่นี่
ภายหลังปฏิบัติการเสร็จสิ้น คุณลุงสมใจได้รับการยกย่องจากสหรัฐอเมริกาอย่างมาก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งดีที่กับเขาเท่าไหร่ เพราะการมีชื่อเสียงขึ้นมา ทำให้เขาถูกตามล่าตัวโดยกลุ่มนักศึกษาชาวอิหร่าน คุณลุงต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ กว่า 1 ปี แต่โชคดี ในขณะที่นักศึกษาเข้าตรวจค้นห้องพักของเขา คุณลุงได้แจ้งกับเหล่านักศึกษาว่าเขาชื่อ Somjai Sriweaw (สมใจ ศรีแวว) ทั้งที่ชื่อจริงของเขาคือ Somchai Sriweawnetr (สมใจ ศรีแววเนตร) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขาสามารถหลบหนีกลับประเทศไทยได้สำเร็จ