joker

Joker: รวมแรงบันดาลใจสุดขมขื่น ที่ชวนให้หนังเรื่องนี้บ้าคลั่งกันแทบทุกนาที

“เขาคือชายที่พยายามค้นหาตัวเองมาโดยตลอด ก่อนที่จะพบตัวตนที่แท้จริงอย่างโจ๊กเกอร์ในแบบที่ไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้คาดหวังด้วยซ้ำว่าต้องมาเป็นสัญลักษณ์ของคนในเมืองกอตแธมแบบนี้ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของโจ๊กเกอร์มีแค่การทำให้ทุกคนหัวเราะและนำความสุข (ในแบบของเขา) กลับมาสู่โลกใบนี้แค่นั้นเอง”

        ทอดด์ ฟิลลิปส์ (Todd Phillips) อธิบายถึงตัวตนของโจ๊กเกอร์เวอร์ชัน 2019 แบบคร่าวๆ ก่อนที่จะบอกต่อว่าหนังเรื่องนี้จะไม่อยู่ในจักรวาลหนังฮีโร่ค่าย DC หรือแม้กระทั่งผูกอยู่กับแบตแมนคู่ปรับตลอดกาลอย่างแน่นอน (ถึงแม้สุดท้ายแล้วในเรื่องก็ยังคงโยงไปสู่เส้นเรื่องหลักของอัศวินรัตติกาลคนนี้ได้เหมือนกันก็ตาม)

        ทำให้เรื่องราวของ Joker (2019) คือการย้อนกลับไปในสมัยที่ตัวตลกเจ้าปัญหานี้ยังเป็นแค่ อาร์เธอร์ เฟล็ก (รับบทโดย วาคีน ฟีนิกซ์) ชายผู้มีความผิดปกติทางสมองจนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการหัวเราะออกมาแม้จะไม่ได้รู้สึกตลกก็ตาม และมักจะถูกสังคมภายนอกอันโหดร้ายรุมกระทืบซ้ำอยู่บ่อยครั้ง จนสุดท้ายเขาก็เริ่มเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ที่คับแค้นอยู่ในใจมาโดยตลอดไม่ใช่โศกนาฏกรรมอันเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่มันคือ ‘ความตลกร้าย’ ของสังคมมนุษย์ที่มีให้เห็นทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019)

 

joker

อาร์เธอร์ เฟล็ก: มนุษย์ผู้ถูกกระทืบด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคม’

        ในส่วนของงานสร้างนั้น ตัวฟิลลิปส์ผู้สร้างเองก็ไม่ได้เสริมแต่งและสร้างเรื่องราวของ อาร์เธอร์ เฟล็ก ขึ้นมาเพียงลำพัง แต่หลายๆ องค์ประกอบภายในเรื่องล้วนอ้างอิงมาจากหนังชื่อดังในอดีตมากมาย โดยเฉพาะหนังของผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่บอบช้ำจากสังคมภายนอก ซึ่งนั่นคือวัตถุดิบชั้นดีของอาร์เธอร์ในหนังเรื่องนี้จริงๆ

 

joker

Batman: The Killing Joke (1988)

        ถ้าพูดถึงแหล่งอ้างอิงที่ใกล้เคียงกับโจ๊กเกอร์เวอร์ชันนี้ที่สุดคงต้องหยิบคอมิกเล่มดังอย่าง Batman: The Killing Joke ที่เล่าชีวิตเบื้องหลังของโจ๊กเกอร์ในสมัยที่ยังเป็นดาราตลกตกอับ ก่อนที่จะได้พบเจอเหตุการณ์อันเส็งเคร็งของสังคมบางอย่าง ที่สุดท้ายได้พลิกชีวิตของเขาให้กลายเป็นผู้ก่อการร้ายชื่อกระฉ่อนในที่สุด 

        และแน่นอนว่าคอมิกเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นของคอนเซ็ปต์ “All it takes is one bad day. That is how far the world is from where I am. One bad day” (ทั้งหมดนี้คือวันแย่ๆ วันเดียว, ที่ฉันถลำมาไกลถึงเพียงนี้ มันเริ่มมาจากวันแย่ๆ วันเดียวเท่านั้น)

 

joker

The Man Who Laughs (1928)

        แต่ถ้าเป็นแรงบันดาลใจที่ออกมาจากปากของฟิลลิปส์เอง เขากลับเลือกที่จะพูดถึงหนังชั้นครูอย่าง The Man Who Laughs ภาพยนตร์เงียบขาวดำ ผลงานกำกับของ พอล เลนี (Paul Leni) ที่เล่าถึงชีวิตของกวินแปลน (Gwynplaine) เด็กชายที่ถูกจับกรีดหน้าโดยลัทธิมืด ก่อนจะต้องพบเจอกับโศกนาฏกรรม ที่สุดท้ายแล้วถึงแม้เขาจะเสียใจร้องไห้ฟูมฟายขนาดไหน แต่แผลบนในหน้าก็เป็นเหมือนรอยยิ้มที่คอยยัดเยียดความตลกร้ายให้กับกวินแปลนอย่างหดหู่

        ความน่ากลัวของรอยยิ้มที่ไม่สามารถเป็นตัวแทนของความสนุกได้อีกต่อไป นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้าง Joker (2019) แล้ว หนังเรื่องนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของโจ๊กเกอร์เวอร์ชันแรกในคอมิกเล่ม Batman ฉบับที่ 1 ในปี 1940 อีกด้วย

 

joker

Taxi Driver (1976)

        และหากมาพูดถึงตัว อาร์เธอร์ เฟล็ก ในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้ซึ่งเบื่อหน่ายและหันหลังให้กับสังคม ตัวละครในโลกภาพยนตร์ที่ใกล้เคียงกับเขาที่สุดคงหนีไม่พ้น ทราวิส บิกเคิล อดีตทหารผ่านศึกผู้ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมนิวยอร์กได้จากเรื่อง Taxi Driver ผลงานของ มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฟิลลิปส์อย่างที่ได้กล่าวไป 

        ด้วยนิสัย สถานการณ์ และบทสรุปที่เหมือนกันของทั้งคู่ ทำให้ในเรื่อง Joker เรามักจะเห็นอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันของทั้งสองคนนี้ เช่น การเพ้อฝันในสิ่งที่ตัวเองหมายปอง การล้อเล่นกับความผิดปกติทางจิตด้วยการทำมือเป็นท่ายิงปืนเป่าสมองตัวเอง รวมไปถึงการซักซ้อมวิธีการฆ่ามาจากบ้านอย่างที่เห็นได้จากหนังทั้งสองเรื่องเช่นกัน

 

joker

Psycho (1960)

        นอกจากพูดถึงเรื่องราวในใจแล้ว สถานะทางครอบครัวของอาร์เธอร์ก็ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก Psycho (1960) หนังขึ้นหิ้งของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ที่มีตัวร้ายอย่าง นอร์แมน เบตส์ ซึ่งถูกเลี้ยงดูโดยแม่ที่มีอาการทางจิตพยายามหล่อหลอมให้เขากลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครอันบ้าคลั่งและนำไปสู่เหตุฆาตกรรมชวนสยองในที่สุด

        แน่นอนว่า อาร์เธอร์ เฟล็ก ก็เช่นกัน เขาคือชายผู้ได้รับการเลี้ยงดูจาก เพนนี เฟล็ก แม่ที่มีอาการทางจิต และมักคิดว่า โทมัส เวย์น พ่อของแบตแมนและมหาเศรษฐีในเมืองกอตแธมคือพ่อของอาร์เธอร์ สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้อาร์เธอร์สร้างปมปัญหาเรื่องพ่อขึ้นมาอย่างหนักแน่น จนสุดท้ายปมดังกล่าวก็ได้สร้างจุดแตกหัก เปลี่ยนให้ลูกชายกลายเป็นโจ๊กเกอร์ในที่สุด

 

joker

วาคีน ฟีนิกซ์: สร้างโจ๊กเกอร์อย่างไรให้ออกมาดูคลั่งที่สุด

        ความซับซ้อนและดูยากเย็นของทั้ง อาเธอร์ เฟล็ก และโจ๊กเกอร์เอง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายนักแสดงซึ่งต้องมารับบทบาทอันหนักอึ้งนี้ รวมไปถึงทางทีมงานเช่นกัน ที่ต้องหานักแสดงที่เหมาะสมกับบทบาทอันวิปลาสจริงๆ สุดท้ายบทก็ตกไปอยู่ในมือของ วาคีน ฟินิกซ์ (Joaquin Phoenix) นักแสดงวัย 44 ปี เจ้าของผลงานอย่าง Gladiator (2000), The Master (2012) หรือหนังรักสุดเหงาชื่อดัง Her (2013) นอกจากนี้เขายังเคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถคว้ารางวัลดังกล่าวมาได้ แต่หลังจากการมารับบทโจ๊กเกอร์ครั้งนี้ของเขานั้น นี่อาจจะเป็นความหวังครั้งใหม่สำหรับการคว้ารางวัลใหญ่ที่แลกมาด้วยความทุ่มเทอันแสนรากเลือดของเขาก็เป็นได้

 

joker

 

        ถ้าพูดถึงความยากเย็นของการเป็นโจ๊กเกอร์ อันดับแรกสำหรับวาคีนเอง คือการลดน้ำหนักจากชายร่างท้วมให้ดูผอมแกร็นเหมือนคนป่วยเป็นโรคจริงๆ วาคีนเล่าว่าเขาใช้วิธีลดปริมาณแคลอรีอาหารต่อวัน ที่ถึงแม้จะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่เป็นวิธีการที่ทรมานยิ่งนักกับการรีดน้ำหนักให้หายไป 25 กิโลกรัมในไม่กี่เดือน “มันแทบทำให้ผมเป็นบ้าเลย คุณรู้ไหม ผมต้องชั่งน้ำหนักแทบทุกวัน แล้วก็จะมาตัดพ้อกับตัวเองว่าทำไมแค่ 0.3 ปอนด์ถึงลดไม่ได้ล่ะ แล้วผมก็มักจะโมโหตัวเองเป็นฟืนเป็นไฟเลย นอกจากนี้ การที่ผมต้องมีอาหารส่วนตัวทุกมื้อ มันทำให้ผมแทบไม่ได้คุยกับใครเลย เพราะเวลากินข้าวผมก็ต้องไปนั่งกินเงียบๆ คนเดียว”

        สิ่งต่อมาคือสิ่งที่ดูยากที่สุดกับการเป็นโจ๊กเกอร์ นั่นคือวิธีการหัวเราะอันน่าขนลุกของมัน วาคีนเล่าว่า ตอนแรกเขาต้องศึกษาวิธีหัวเราะจากผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่สามารถควบคุมเสียงหัวเราะได้ (Pathological Laughter and Crying: PLC) แต่ผู้ป่วยไม่สามารถคุยกับเขาได้อย่างเป็นธรรมชาติจากการสังเกตพฤติกรรม ทำให้เขาต้องศึกษาผู้ป่วยประเภทนี้จากวิดีโอในยูทูบแทน (โคตรเซอร์เลยครับพี่) 

        เหตุที่ต้องเป็นการหัวเราะแบบนี้ เพราะเขาต้องการให้คนดูไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวละครหัวเราะอยู่จริงๆ หรือเปล่า ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือการเห็น อาร์เธอร์ เฟล็ก มักจะมีอาการกึ่งหัวเราะกึ่งสำลักตลอดเวลา วาคีนเล่าว่า มันคือวิธีที่ผู้ป่วยพยายามจะหยุดการหัวเราะของตัวเองที่เขาเองก็รู้ตัวว่าไม่มีทางทำได้ แต่เขาก็พยายามแล้วจริงๆ

 

joker

 

        สิ่งสุดท้ายคือวิธีการเต้นที่เป็นเหมือนการแสดงออกถึงความสุขอีกอย่างของโจ๊กเกอร์ นอกจากเสียงหัวเราะ ซึ่งวาคีนก็ให้ความสำคัญกับส่วนนี้เป็นอย่างมาก เขาเล่าว่า แรงบันดาลใจหลักของเขาคือ เรย์ โบลเกอร์ นักแสดงที่เคยเต้นท่าทางเหล่านี้ไว้ในเพลง The Old Soft Shoe เมื่อปี 1957

        “ผมคิดว่าสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุดก็คือ เรย์ โบลเกอร์ มีเพลงหนึ่งที่เรียกว่า The Old Soft Shoe ที่เขาแสดง และผมเห็นวิดีโอนั้น มันมีความเย่อหยิ่งแปลกๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเขา ผมเลยพยายามเอาการเต้นแบบนั้นมาใช้เองบ้าง”

 

บ้าดีเดือดแบบนี้ เคยอยู่ในหนังเรื่องไหนบ้าง?

        ไม่เพียงตัวโจ๊กเกอร์เท่านั้นที่ถูกสร้างโดยการอ้างอิงจากหนังบันดาลใจอันมากมายของฟิลลิปส์ เพราะเส้นเรื่องของตัวหนังเองก็ยังหยิบยืมความคลุ้มคลั่งในแบบต่างๆ ของหนังแต่ละเรื่องมาใช้อยู่เหมือนกัน

 

joker

The King of Comedy (1982)

        หนังอีกเรื่องของ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่ว่าด้วยเรื่องของรูเพิร์ต (รับบทโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร) ชายอีกหนึ่งคนที่ล้มเหลวในสังคมเมืองที่เขาอาศัยในทุกมิติ สิ่งเดียวที่คอยยึดเหนี่ยวให้เขายังเป็นผู้เป็นคนอยู่คือการเห็นตัวเองเป็น เจอร์รี แลงฟอร์ด (พิธีกรรายการทอล์กโชว์ชื่อดังที่รูเพิร์ตใฝ่ฝัน ก่อนที่ความคลั่งในรายการนี้จะสั่งสมให้เขาก่อเรื่องอันแสนอุกอาจในที่สุด 

        ความน่าสนใจคือรายการโชว์ภายในเรื่อง Joker นั้น มีพิธีกรอย่าง เมอร์เรย์ แฟรงคลิน ที่แสดงโดย โรเบิร์ต เดอ นีโร เหมือนกัน ดังนั้น นี่จึงเป็นการคารวะงานของผู้กำกับมาร์ตินโดยการนำเรื่องราวของรูเพิร์ตมาขยายต่อ โดยเปลี่ยนให้คนที่บ้าฝันเป็น อาร์เธอร์ เฟล็ก แทน (ความน่าสนใจอีกอย่างที่เราคิดเล่นๆ คือนี่อาจเป็นการล้อเลียนกับหนังของมาร์ติน ว่าสุดท้ายแล้วรูเพิร์ตก็สามารถทำตามความฝันตัวเองได้สำเร็จ หรือไม่นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งจินตนาการของรูเพิร์ตเช่นกัน ที่กำลังสร้างรายการโชว์ของตัวเองแล้วมีอาร์เธอร์เป็นแขกรับเชิญในความฝันของเขา)

 

Batman: The Dark Knight Returns Part 2 (2013)

        นอกจากวิธีการก่อตั้งรายการขึ้นมาแล้ว วิธีการสร้างเรื่องราวที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องในรายการนั้นก็ยังถูกอ้างอิงมาจากโจ๊กเกอร์ตอนหนึ่งอีกด้วย

        Batman: The Dark Knight Returns Part 2 เป็นการ์ตูนที่ดัดแปลงมาจากคอมิกชื่อเดียวกันในปี 1986 ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ (Frank Miller ) ซึ่งสร้างต่อมาจากพาร์ตแรกในปี 2012 ความน่าสนใจในพาร์ตนี้คือฉากที่โจ๊กเกอร์ไปให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งถึงชีวิตการเป็นโจ๊กเกอร์ที่ต้องพัวพันกับการฆ่า ก่อนที่คืนนั้นเขาจะตอบคำถามดังกล่าวว่า “ฉันต้องการให้ทุกคนรู้จักตัวตนของฉัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ฉันจะฆ่าทุกคนในห้องส่งนี้” ก่อนที่เขาจะฆ่าทุกคนในห้องส่งด้วยการรมแก๊สขณะออกอากาศแบบสดๆ 

        แน่นอนว่าความบ้าดีเดือดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ฟิลลิปส์หยิบวิธีฆาตกรรมโฉดกลางรายการนี้มาใช้ในเรื่องอย่างอุกอาจ เพื่อตอกย้ำว่าการฆ่าแกงกันไม่ใช่เรื่องน่าละอายใจแต่อย่างใดสำหรับ อาร์เธอร์ เฟล็ก ที่กลายเป็นโจ๊กเกอร์ไปแล้ว

 

joker

Modern Times (1936) 

        “ผมคิดว่าพวกคุณควรดู Modern Times กันด้วยนะ เพราะระหว่าง ชาร์ลี แชปลิน กับ อาร์เธอร์ เฟล็ก ทั้งสองคนมีอะไรหลายอย่างเหมือนกันจริงๆ” 

        จากคำแนะนำของฟิลลิปส์ที่ให้เราลองหาหนังเงียบเมื่อ 90 ปีที่แล้วมาดูกัน เพราะนอกจากหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังที่ฉายในฉากโรงละครที่ อาร์เธอร์ เฟล็ก ปลอมตัวเป็นพนักงานโรงหนังเพื่อรอพบ โทมัส เวย์น ในเรื่องแล้ว ตัวหนังเองยังเล่าถึงเรื่องราวของกลุ่มคนใช้แรงงานระดับฝีมือที่ถูกปฏิวัติด้วยอุตสาหกรรม จนทำให้เขากลายเป็นคนที่ไร้ค่าในสังคมอย่างน่าใจหาย ซึ่งเป็นสถานการณ์อันไม่ต่างกับอาร์เธอร์ที่ในตอนนั้นแทบจะเรียกได้ว่า นี่คือ ‘มนุษย์ตกขอบ’ ของสังคมเมืองกอตแธมแล้ว

 

joker

Joker จบ คนดูไม่จบ

        จนถึงตอนนี้ สำหรับคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว คงต้องเกิดคำถามให้คิดต่ออย่างแน่นอนว่าสรุปแล้วอาร์เธอร์เป็นลูกของ โทมัส เวย์น หรือไม่

        สำหรับวาคีนในฐานะคนที่รับบทอาเธอร์เอง เขามั่นใจว่าโจ๊กเกอร์ในเวอร์ชันนี้คือลูกของ โทมัส เวย์น แน่นอน แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ หากเราไปถามฝั่ง ทอดด์ ฟิลลิปส์ ผู้กำกับ เขากลับไม่ตอบให้ตรงคำถาม แต่ทิ้งคำโปรยไว้เพียงว่า “ผมแค่สร้างให้โจ๊กเกอร์เขาเชื่ออย่างหมดหัวใจว่า โทมัส เวย์น คือพ่อของเขาแค่นั่นแหละ” ถึงตอนนี้อาจสรุปไม่ได้ว่าพ่อของอาร์เธอร์คือใคร แต่สิ่งหนึ่งที่เราเพิ่งได้รู้คือบทหนังเรื่องนี้มันทำงานกับวาคีนจริงๆ ผ่านการชักใยเบื้องหลังอยู่ตลอดของ ทอดด์ ฟิลลิปส์ 

        และสุดท้ายแล้วคำถามที่น่าสงสัยที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ ทั้งหมดนี้คือความฝันของอาร์เธอร์หรือไม่? เพราะตลอดเวลาในหนัง เราจะเห็นอาร์เธอร์มีอาการเห็นภาพในความฝันตลอดเวลา เช่น ฉากที่เขาไปอยู่ในรายการของเมอร์ฟีย์ หรือการที่คิดว่าโซฟีกับเขาคือคู่รัก ซึ่งบางทีก็แนบเนียนจนถึงขนาดเราแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนความฝัน อันไหนความจริง

        โดยในส่วนนี้ยังคงไม่มีใครออกมาอธิบายถึงเรื่องราวทั้งหมด แต่สำหรับเราแล้ว คิดว่านี่คือเรื่องที่วิเศษมากที่สามารถเปิดโอกาสให้คนดูได้แต่งแต้มจินตนาการกันต่อไปเอง ว่าสุดท้ายแล้วมันมีอะไรจริงอยู่ในเรื่องนี้บ้าง?