Lady Bird

ย้อนดู Lady Bird แล้วกลับมาทบทวนว่าเราคือตัวเองเวอร์ชันดีที่สุดแล้วหรือยัง

“ถ้าเกิดหนูในตอนนี้คือตัวเองในเวอร์ชันดีที่สุดแล้วล่ะ แม่จะรับได้ไหม”       

        คำถามจากคริสทีนถึงแม่ของเธอ ในวันที่ได้ก่อเรื่องให้ครอบครัวมากมาย ทั้งความดื้อรั้นจะออกไปจากเมืองแซคราเมนโตอันเป็นบ้านเกิด มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งที่โรงเรียนจนถูกพักการเรียน รวมไปถึงปัญหาที่เกิดกับครอบครัวจนถึงขั้นจะหาเงินมาใช้หนี้บุญคุณให้กับพ่อแม่เพื่อที่จะเลิกแล้วต่อกัน 

        ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วยสะท้อนถึง ‘การไม่ยอมรับตัวตน’ ในฐานะคริสทีนจนเธอต้องตั้งชื่อใหม่เอาเองว่า เลดี้เบิร์ด กลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ตัวเธอกำลังสร้างปีกที่เรียกว่าอนาคตในแบบของเธอเอง ก่อนที่เธอจะเริ่มสยายปีก บินออกจากถิ่นกำเนิดไปค้นหาตัวตนบนโลกใบใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน 

        Coming of age หรือ การเติบโตของวัยรุ่น เป็นสารหลักที่หนังบอกเล่าผ่านตัวละครเอกของเรื่อง แต่สิ่งที่ผู้กำกับอย่าง เกรตา เกอร์วิก ได้สะท้อนให้น่าสนใจยิ่งกว่าคือ จริงๆ การตั้งคำถามถึงการเติบโตเช่นนั้นว่า จำเป็นไหมที่เราต้องเติบโตเพื่อค้นหาตัวตนในแบบของเรา, จำเป็นไหมที่ต้องกลายเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม และเป็นไปได้ไหม ที่เราจะยอมเป็นมนุษย์คนเดิมที่ไม่พัฒนาไปไหน แล้วยอมรับว่าฉันคือตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุดแล้วเช่นกัน 

 

Lady Bird

Choose Life

        ความตั้งใจของ เกรตา เกอร์วิก คือการให้ตัวละครเลดี้เบิร์ดเป็นตัวแทนของ ‘การปฏิเสธตัวตน’ ในวัยรุ่น โดยไอเดียทั้งหมดเริ่มขึ้นในช่วงเขียนบท ที่เธอเห็นภาพตัวละครในเรื่องเป็นคนที่ไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองมาจากเมืองแซคราเมนโต จึงบอกคนอื่นว่าเธอมาจากซานฟรานซิสโกแทน

        จากนั้นเธอจึงนำแนวคิดของตัวละครไปต่อยอด จนกลายเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่พยายามผลักตัวเองออกจากสิ่งที่เธอไม่เคยได้เลือกเองในตอนเด็ก ทั้งการใช้ชื่อ สถานที่อยู่ และสังคมรอบข้าง และขอเลือกชีวิตในแบบของตัวเองในนามว่า เลดี้เบิร์ด

Behind the Name

        เหตุผลที่คริสทีนตัวละครหลักต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นเลดี้เบิร์ด เรื่องนี้ เกรตา เกอร์วิก อธิบายเอาไว้ว่าเป็นการแสดงออกถึง ‘การปฏิเสธต่อสังคมและก่อสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่’ โดยเลดี้เบิร์ดไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อเรียกของเด็กผู้หญิงผมแดงคนหนึ่ง แต่ยังช่วยสร้างทัศนคติ โดยเฉพาะในส่วนของความทะเยอทะยานที่ต้องการเติบโตและดีกว่าที่เป็นอยู่ของเธอให้รุนแรงยิ่งขึ้น

        ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้คำว่าเลดี้เบิร์ด เกรตาตอบติดตลกว่า เธอเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ก่อนจะเล่าต่อว่า ในช่วงเขียนบทขณะที่ไอเดียยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ เธอเขียนประโยคหนึ่งไว้บนสุดของหัวกระดาษว่า “ทำไมแม่ไม่เรียกหนูว่าเลดี้เบิร์ด แม่สัญญาว่าจะเรียกหนูด้วยชื่อนี้” ซึ่งเธอเองก็ตอบไม่ได้ว่าประโยคนี้มาจากส่วนไหนในสมอง แต่พอได้เขียนออกมาแล้ว และพิจารณาดูก็กลับรู้สึกว่ามันเหมาะสมกับสิ่งที่คิดไว้ในหัวมาก เลดี้เบิร์ดจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ และต่อยอดกลายเป็นตัวละครคริสทีนในเวลาต่อมา

Real Lady Bird

        คำถามที่ถกเถียงอย่างมากว่าตัวละครเลดี้เบิร์ดนั้น แท้จริงสร้างมาจากชีวิตของ เกรตา เกอร์วิก หรือไม่ เนื่องจากเธอเป็นเด็กที่เติบโตในเมืองแซคราเมนโต และจบจากโรงเรียนศาสนาเช่นเดียวกับตัวละครเลดี้เบิร์ด

        แต่ในประเด็นนี้เกรตาได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า แท้จริงชีวิตเธอแตกต่างจากเลดี้เบิร์ดโดยสิ้นเชิง เธอในวัยเยาว์คือเด็กผู้หญิงที่ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัด ไม่เคยย้อมผมแดง ไม่เคยก่อเรื่องที่โรงเรียน รวมไปถึงเชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครองอยู่ตลอด 

       ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังมีอีกหลายสื่อที่วิเคราะห์บทสัมภาษณ์นี้ต่ออีกว่า หรือแท้จริงแล้ว Lady Bird จะเป็นหนังที่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงภายในใจที่เกรตาอยากปลดปล่อยออกมากันแน่

 

Lady Bird

Imperfect Skin is Beautiful 

        สภาพอากาศร้อนระอุของหน้าร้อนทำให้ เซอร์ชา โรแนน นักแสดงนำผู้รับบท เลดี้เบิร์ด เกิดสิวขึ้นที่ใบหน้าในระหว่างการถ่ายทำ แต่แทนที่เกรตาจะให้ช่างแต่งหน้าใช้เครื่องสำอางปิดบังรอยสิวดังกล่าว เธอเลือกที่จะบังคับให้เซอร์ชาทำการแสดงต่อทั้งๆ ที่มีสิวขึ้นมาโดยทันที เพราะสำหรับเธอแล้ว เธอเชื่อว่านี่ถือเป็นหลักฐานการเติบโตขึ้นของตัวละครเลดี้เบิร์ดอีกอย่างที่ผู้ชมสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด

Everybody Says Don’t

        หลายคนคงตราตรึงกับเพลงละครเวทีอย่าง Being Alive จากวง Company ไปแล้วใน Marriage Story (2019) แต่รู้หรือไม่ว่าก่อนที่เพลงดังกล่าวจะโด่งดังผ่านเสียงร้องของ อดัม ไดรเวอร์ Lady Bird ได้หยิบเพลงดนี้มาใช้ก่อน ซึ่งปรากฏอยู่ในฉากที่คริสทีนต้องประกวดละครเวที โดยเป็นเพลงที่ผู้สมัครคนก่อนหน้าใช้ทำการแสดง

        ก่อนที่เธอจะหยิบเพลง Everybody says don’t ของ บาร์บรา สไตรแซนด์ มาใช้ประกวด ในเรื่องเรายังได้ยินเพลง Merrily We Roll Along จากละครเวทีชื่อเดียวกัน และ Giants in the Sky จากหนังเรื่อง Into the Woods (2014) อีกด้วย

 

A People’s History of the United States 

        หนังสือที่ ไคลล์ (รับบทโดย ทิโมธี ชาลาเมต์) อ่านอยู่ตลอดเวลาในเรื่องคือ A People’s History of the United States เขียนโดย โฮเวิร์ด ซินน์ ซึ่งพูดถึงอีกด้านหนึ่งของอเมริกา ที่เบื้องหน้าคือดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยความเน่าเฟะของระบบทุนนิยม ความอยุติธรรมของระบอบการปกครอง จึงเป็นที่มาของบุคลิกของไคลล์ ที่ไม่เชื่อมั่นในประเทศที่ตัวเองอาศัยอยู่เท่าไหร่นัก

Sunday Activity

          ในฉากที่เลดี้เบิร์ดกำลังเสียใจอย่างหนัก แม่ของเธอได้พูดขึ้นมาว่า เราไปทำกิจกรรมสุดโปรดในสุดสัปดาห์กันไหม ก่อนที่พวกเขาจะขับรถไปรอบหมู่บ้านที่กำลังประกาศขาย แสร้งเป็นเศรษฐีผู้มั่งมีเตรียมจะซื้อบ้านในละแวกนั้น 

        ซึ่งฉากนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก Anywhere But Here (1999) ที่สองแม่ลูกในเรื่องก็มีฉากขับรถเล่นในเมืองลอสแองเจลิส เล่นละครรับบทเป็นมหาเศรษฐีเตรียมมากว้านซื้อบ้านเช่นเดียวกัน

 

Lady Bird

Sacramento Proud 

         จากหนังที่เกรตาทำด้วยความเข้าอกเข้าใจอย่างถ่องแท้และสะท้อนสิ่งที่อยู่ในหัวของเธอออกมาได้ชัดเจน ทำให้ Lady Bird ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 สาขา และคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีลูกโลกทองคำมาถึง 2 รางวัล ในปี 2018

        กลายเป็นผลงานแจ้งเกิดของ เกรตา เกอร์วิก สำหรับการกำกับหนังใหญ่เรื่องแรกของเธอ

        ส่วนอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ที่ตามมาหลังจากที่หนังคว้ารางวัลและสร้างชื่อให้เธอ คือมันส่งผลให้เมืองแซคราเมนโตได้รับความนิยม มีผู้คนหลั่งไหลมาตามรอยสถานที่ในหนังเป็นจำนวนมาก จนสุดท้ายทางเทศบาลบางพื้นที่ถึงกับขึ้นป้ายบิลด์บอร์ดขอบคุณทีมงานและนักแสดงกันยกใหญ่ ต่อยอดมาถึงโลกออนไลน์กลายเป็นปรากฏการณ์ #SacramentoProud ในเวลาต่อมา