“ผมชอบจ้องมองรอยยิ้ม การเคลื่อนไหว วิธีการจับแก้วไวน์ หรือแม้กระทั่งการขยับลูกตาของคนที่รักกัน การเคลื่อนไหวเหล่านี้คือสิ่งที่น่าหลงใหล และจะยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นไปอีกสำหรับผม เมื่อท่าทีพวกเขาเปลี่ยนไปหลังจากเริ่มหย่ากัน”
จากแรงบันดาลใจของเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของ โนอาห์ บอมบัค ในขณะที่กำลังถ่ายทำหนังเรื่อง The Meyerowitz Stories (2017) ก่อนที่จะเริ่มเขียนบท Marriage Story (2019) ที่สอดแทรกเรื่องราวของชีวิตคู่หลากหลายความสัมพันธ์ซึ่งต้องจบลงด้วยการหย่าร้าง แม้ในใจลึกๆ พวกเขายังรักกันอยู่ รวมถึงตัวเขาเองที่ครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ในสถานการณ์ทั้งรักทั้งเลิกแบบนี้เช่นกัน
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Marriage Story (2019)
01 | Real Marriage Story
ที่มาที่ไปของบทหนัง Marriage Story ส่วนใหญ่คือการดัดแปลงมาจากประสบการณ์การหย่าร้างของ โนอาห์ บอมบัค กับ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ อดีตภรรยาของเขา เมื่อปี 2013 ทำให้การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือน ‘หนังส่วนตัวที่บันทึกเรื่องราวชีวิตครั้งหนึ่งของเขาไว้’ ตามคำบอกเล่าของโนอาห์ผู้กำกับคนนี้
02 | Marriage cast
อดัม ไดรเวอร์, สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน และ ลอรา เดิร์น คือนักแสดงหลักที่ถูกเลือกก่อนบทหนังของโนอาห์จะเสร็จสมบูรณ์เสียอีก การคัดเลือกนักแสดงเริ่มต้นจากโนอาห์ โดยอดัม เพื่อนสนิทของเขา มักจะออกไปกินข้าวเย็นกับโนอาห์และใช้ช่วงเวลานั้นแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตกันอยู่เป็นประจำ
แต่อยู่มาวันหนึ่งโนอาห์มีความคิดที่อยากจะสร้างหนังเกี่ยวกับการหย่าร้างขึ้นมา ซึ่งอดัมก็เห็นดีเห็นงามด้วย จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ทำให้ อดัม ไดรเวอร์ กลายเป็นผู้ช่วยพัฒนาบทและคัดเลือกนักแสดงหลักอีกสองคนสำหรับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือทั้งโนอาห์, ลอรา และสการ์เลตต์ เคยผ่านประสบการณ์หย่าร้างมาแล้ว รวมไปถึงอดัมเองก็ยังเป็นเด็กที่โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน ทำให้ Marriage Story คือหนังที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่พังทลาย เต็มไปด้วยนักแสดงที่เคยผ่านประสบการณ์การหย่าร้างจริงๆ มาแล้วทั้งนั้น
03 | แรงบันดาลใจจากหนังของ อิงมาร์ เบิร์กแมน
ต้องยกให้กับ Scenes from a Marriage (1973) ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ที่ว่าด้วยเรื่องราวการหย่าร้างของครอบครัวเล็กๆ ในสวีเดน ที่โนอาห์รักและประทับใจมาก ถึงขนาดที่ว่าในห้องครัวบ้านของนิโคลจะมีนิตยสารที่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ของเบิร์กแมนวางอยู่ในเรื่อง
ส่วนวิธีการเล่าเรื่อง โนอาห์ก็ให้เครดิตหนังจิตวิทยาของ อิงมาร์ เบิร์กแมน อีกเรื่องอย่าง Persona (1966) โดย Marriage Story เลือกถ่ายทำด้วยกล้องมุมแคบเพื่อให้เข้าไปอยู่ใกล้ตัวละครมากที่สุด ช่วยให้เราอยู่ใกล้ความสัมพันธ์อันผุพังของชาร์ลีและนิโคลตามความคิดของโนอาห์
04 | What I love About Nicole/Charlie
โนอาห์เคยให้สัมภาษณ์ว่า การที่เขาตัดสินใจใช้ฉากเปิดเป็นบทพูด (monologue) สำหรับตัวละครในประเด็น ‘สิ่งที่ฉันรักในตัวชาร์ลีและสิ่งที่ฉันรักในตัวนิโคล’ สำหรับเขาแล้วเป็นเหมือนเป็นการช่วยให้ผู้ชมเข้าใจว่า ต่อไปเราจะได้รับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่ครั้งหนึ่งเคยรักกันมากๆ ก่อนที่ต่อมาทุกอย่างจะพลิกจากหน้ามือกลายเป็นหลังมือ
อีกทั้งยังเป็นการตั้งต้นให้กับคนดูเข้าใจวิธีการเล่าของหนังเรื่องนี้ ว่าจะมีเทคนิคและลวดลายคลับคล้ายคลับคลากับละครเวทีที่เป็นอาชีพหลักของตัวละครผ่านดนตรีของ แรนดี้ นิวแมน ผู้ทำเพลงประกอบ ช่วยเสริมบรรยากาศให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี
05 | Being Alive เพลงสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตให้กับชาร์ลี
ในหนังเรื่องนี้จะมีฉากที่ตัวละครชาร์ลีร้องเพลงในบาร์ และเพลงที่เขาร้องคือ Being Alive จากละครเวทีแนวตลกมิวสิคัลเรื่อง Company
Company เป็นละครเวทีเล่าเรื่องของโรเบิร์ต ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่ใช้ชีวิตเพลย์บอยอยู่ในนิวยอร์ก จนมาถึงวันเกิดอายุสามสิบห้าของเขาที่เพื่อนๆ มารวมตัวกันและพยายามทำให้เขาหันมาจริงจังกับใครสักคน
โนอาห์เล่าว่า ทั้งเขาและอดัมคือแฟนตัวยงของละครเวทีเรื่องดังกล่าว นี่จึงเป็นฉากที่พวกเขาช่วยกันคิดและช่วยกันถ่ายทอดออกมา โดยหวังว่าเพลงนี้จะเป็นเหมือนบทสรุปความคิดทั้งหมดของตัวละครของชาร์ลีผ่านเสียงเพลง โดยที่พวกเขาไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมให้มากมายนัก
06 | เทคนิคการถ่ายทำแบบ ‘ละครเวที’
ในการถ่ายทำ โนอาห์มักใช้การเข้า-ออกของตัวละครที่จะมีความคล้ายละครเวที เพื่อให้สอดคล้องกับตัวละครในเรื่องที่เป็นผู้กำกับและนักแสดงละครเวที
ฉากที่เราจะเห็นเทคนิคนี้ชัดเจนที่สุดคือตอนที่ชาร์ลีกลับมาบ้านของแม่นิโคล ก่อนที่จะพบใบหย่าของเขาและเธอ จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของบ้านจะมีการเชื่อมระหว่างห้องต่างๆ โดยไม่มีประตูกั้นแต่อย่างใด (ทางเข้าออกหลังเวที) และฉากนั้นมีการถ่ายทำแบบลองเทก ปล่อยให้ตัวละครเดินเข้าออกฉากจากฝั่งซ้ายขวา มายังห้องครัวที่เป็นศูนย์กลางของฉาก (เวที) กลายเป็นวิธีเล่าในแบบละครเวทีตามความคิดของโนอาห์
07 | ทนายความ และ ลอรา เดิร์น
ตัวละคร โนรา แฟนชอว์ ทนายความของนิโคลที่แสดงโดย ลอรา เดิร์น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากทนายความของ สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน และ ลอรา เดิร์น ที่เคยช่วยคดีการหย่าร้างในชีวิตจริงของนักแสดงทั้งสอง
มีอีกข่าวลือหนึ่งที่บอกว่า แรงบันดาลใจหลักสำคัญจริงๆ ของตัวละครนี้คือ ลอรา วาสเซอร์ ทนายความชื่อดังที่เคยว่าความคดีหย่าร้างให้กับเซเลบชื่อดังในอเมริกาหลายคน รวมไปถึงคู่ของโนอาห์และเจนนิเฟอร์ด้วย แต่ข้อมูลนี้ไม่ได้รับการยืนยันจากโนอาห์แต่อย่างได้
08 | ครั้งที่ 3 ของ สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน
สำหรับ สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน นี่เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของเธอ ที่มาจากประสบการณ์ของผู้กำกับในเรื่องการหย่าร้างต่อจาก Lost in Translation (2003) ของ โซเฟีย คอปโปลา และ Her (2013) ของ สไปก์ โจนซ์
09 | David Bowie Costume
ฉากงานฮาโลวีนที่นิโคลแต่งตัวเป็น เดวิด โบวี ศิลปินร็อกแอนด์โรลชื่อดัง ในฉากนั้น ชาร์ลีทักนิโคลว่า “ใช่ชุด เดวิด โบวี จากอัลบั้ม Station to Station (1976) ใช่ไหม” แต่นิโคลกลับบอกว่ามาจากเพลง Let’s Dance ต่างหาก
ในความเป็นจริงแล้ว ชุดดังกล่าวคือชุดของ เดวิด โบวี จากทัวร์ Serious Moonlight ของเขาในปี 1983 ถึงแม้ว่าทัวร์นั้นจะมีชื่อทัวร์มาจากเนื้อเพลง Let’s Dance ก็ตาม แต่ชุดแต่งกายนี้ของโบวีก็ไม่ได้อยู่ในเพลงนี้แต่อย่างใด โบวีเพิ่งเอามาใส่ในช่วงออกทัวร์ภายหลัง
10 | การทะเลาะที่เตรียมการไว้ทุกอย่างแล้ว
ในฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องกับการระเบิดอารมณ์ของนิโคลและชาร์ลี เป็นฉากถ่ายทำที่ยากที่สุดในความคิดของโนอาห์ เขาเล่าว่า ฉากนี้ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 2 วัน และถ่ายทำไปมากถึง 50 ครั้ง โดยทุกครั้งต้องเปลี่ยนกำแพงของห้องใหม่เนื่องจากชาร์ลีต้องทุบกำแพงให้แตกในฉากนั้นด้วย (อดัม ไดรเวอร์ ก็ต้องทุบกำแพงถึง 50 ครั้งเช่นกัน กว่าผู้กำกับจะปล่อยให้ฉากนี้ผ่าน)
แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราคือบทสนทนาในการระเบิดอารมณ์ฉากนี้ ทั้งหมดเกิดจากการเขียนบทขึ้นมาของโนอาห์แทบทั้งสิ้น ไร้ซึ่งการด้นสดแต่อย่างใด โดยเขาเล่าว่า ในฉากนี้เขาใช้วิธีการยื่นบทที่แตกต่างกันให้กับนักแสดงทั้งสอง เพื่อหวังว่าทั้งคู่จะเซอร์ไพรส์ และได้การตอบสนองแบบช็อกจริงๆ ในการเข้าฉากครั้งนี้