money heist

Money Heist: ทำความรู้จักหน้ากากและบทเพลงที่ไม่เอาทรราช สัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลและบ้านเมือง

ถ้าพูดถึงซีรีส์โจรกรรมที่น่าจับตามองที่สุดในเวลานี้ ชื่อของ Money Heist หรือ La Casa de Papel ซีรีส์จากค่าย Netflix คงเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ต้องถูกเอ่ยถึงอย่างแน่นอน เพราะด้วยแผนการปล้นที่เหนือคาดของศาสตราจารย์ การแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าของทีมปล้นในโรงกษาปณ์ รวมไปถึงการเชือดเฉือนคารมกันระหว่างฝ่ายโจรและตำรวจ ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีทั้งความระทึกและสดใหม่ ชวนให้ติดตามกันไปตลอดจนจบซีซันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

        แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้เนื้อเรื่องอันเข้มข้นดังที่ได้กล่าวไปคือ ‘การแฝงสัญลักษณ์การต่อต้าน’ เอาไว้ได้อย่างแยบยล เพราะหากนำแผนการปล้นโรงกษาปณ์ออกมาชำแหละดู จะพบว่าทั้งหน้ากากที่ใช้อำพรางตัวและบทเพลงที่ใช้ปลุกใจประจำกลุ่มปล้นนั้น ต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านต่อระบบทุนนิยมที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลภายในเรื่องนี้แทบทั้งสิ้น

 

money heist

 

หน้ากาก: ไม่เอาระบบที่อยุติธรรมภายใต้ใบหน้าของดาลี

เดนเวอร์: ไอ้คนไว้หนวดในหน้ากากนี่ใคร? 

มอสโก: ดาลีน่ะลูก นักวาดภาพชาวสเปน เขาเก่งมาก 

เดนเวอร์: นักวาดภาพที่ระบายสีอะนะ?

 

        จากบทสนทนาในซีซันแรกระหว่างเดนเวอร์และมอสโก – สองโจรปล้นโรงกษาปณ์ภายในเรื่อง ได้ช่วยไขข้อสงสัยว่าใบหน้าของชายหนุ่มวัยกลางคนกับหนวดชี้แหลมของหน้ากากที่ใช้ในการปล้นครั้งนี้คือหน้าตาของ ซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) ศิลปินชื่อดังชาวสเปน ผู้มีความแปลกใหม่และไม่เหมือนใคร!

        ย้อนกลับไปในช่วงปี 1931 ซัลบาโด ดาลี คือศิลปินที่จัดว่าเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ที่มีผลงานชื่อดังอย่างภาพ The Persistence of Memory ภาพนาฬิกาหลอมเหลวสุดแปลกประหลาดที่ฉีกขนบของการสร้างงานศิลปะในช่วงเวลานั้นที่ส่วนใหญ่มักอ้างอิงถึงความสมจริงบนโลกเป็นอย่างมาก ประกอบกับผลงานล้ำยุคอื่นๆ ส่งผลให้ดาลีเป็นจิตรกรที่มีผลงานโดดเด่นและมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะมากที่สุดในศตวรรษที่ 20

        นอกจากผลงานแล้ว ความ ‘เซอร์เรียลิซึม’ ของดาลี ก็ยังรวมไปถึงบุคลิกและอุปนิสัยที่สุดพิลึกพิลั่นของเขาที่แสดงออกมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเข้าเรียนสถาบันศิลปะแต่กลับไม่ยอมเข้าสอบ เพราะเขาคิดว่าไม่มีใครสามารถตัดสินงานศิลปะได้ หรือการไปร่วมงานเลี้ยงต่างๆ ในชุดแปลกประหลาด ตั้งแต่การแต่งตัวเป็นลูกชายของ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) ที่ถูกฆาตกรรม ไปจนถึงชุดนักประดาน้ำที่ทำให้เขาเกือบขาดใจตาย เนื่องจากหายใจไม่ออกจากการสวมหน้ากาก

        แต่นั่นก็ยังไม่มีสิ่งใดที่โดดเด่นเท่าการไว้หนวดชี้โด่ชี้เด่เหมือนเข็มนาฬิกาเวลา 10.10 น. ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปโดยปริยาย (เคยมีการให้สัมภาษณ์โดยพยานในช่วงเวลาที่ขุดศพของดาลีตามคำสั่งศาลเอาไว้ว่า ถึงแม้ดาลีจะเสียชีวิตไปนานถึง 28 ปีแล้ว แต่หนวดของเขายังคงสภาพเหมือนเดิมอย่างน่าประหลาดใจ) และนั่นจึงทำให้หนวดของดาลีมักจะถูกใช้เป็นภาพจำของตัวเขา ก่อนที่จะกลายมาเป็นลวดลายบนหน้ากากของซีรีส์ Money Heist ในที่สุด

 

money heist

 

        ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเหตุใด อเล็กซ์ พีนา (Álex Pina) – ผู้อำนวยการสร้างซีรีส์ ถึงได้เลือกใช้ใบหน้าและหนวดของ ซัลบาโด ดาลี มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหน้ากาก แต่ก็มีการตั้งสมมติฐานโดยเหล่าแฟนคลับที่มีความเป็นไปได้และใกล้เคียงที่สุดคือมันถูกใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านทางการเมือง เพราะเมื่อเจาะลึกถึงมุมมองทางการเมืองของตัวดาลีเองแล้ว ก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทฤษฎี ดังนี้

        1) ย้อนกลับไปในช่วงที่เขาเริ่มเป็นจิตรกร แรงบันดาลใจสำคัญที่ส่งผลให้เขาสร้างสรรค์งานศิลปะแบบเหนือจริงคือลัทธิดาดา – กลุ่มความคิดในการสร้างศิลปะเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านกฎเกณฑ์เดิมที่เคยสร้างมาต่องานศิลปะและการเมือง แน่นอนว่าดาลีคือหนึ่งในสมาชิกของลัทธินี้เช่นกัน ส่งผลให้ในช่วงนั้นเขาจึงไม่เห็นด้วยต่อระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ในประเทศสเปน และฝักใฝ่ถึงความเท่าเทียมตามแนวคิดคอมมิวนิสต์ (ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติ ความคอมมิวนิสต์จะไม่ได้เท่าเทียมกันอย่างที่แนวคิดว่าไว้ก็เถอะ) 

        ซึ่งนั่นตรงกับอุดมการณ์ของศาสตราจารย์ (รับบทโดย อัลวาโร มอร์เต) หัวหน้ากลุ่มปล้นที่ต้องการล้มล้างระบบทุนนิยมและการเมืองสุดสกปรกในซีรีส์ โดยการบุกยึดโรงกษาปณ์เพื่อผลิตธนบัตรของรัฐบาลออกมาใช้จ่ายแทน ซึ่งนั่นจะทำให้ในสเปนเกิดภาวะเงินเฟ้อและส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างหนัก จนสุดท้ายระบบทุนนิยมก็จะล่มจมไปตามความตั้งใจในที่สุด เขาจึงใช้ใบหน้าของดาลีเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลประเทศสเปนภายในเรื่อง

        2) แต่ภายหลังจากสงครามกลางเมืองสเปนในปี 1936-1939 ดาลีได้ลี้ภัยจากสเปนไปอยู่ฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมกับลัทธิฟาสซิสต์ ก่อนที่จะเอ่ยปากสนับสนุนระบบทุนนิยมและเผด็จการ อีกทั้งยังเห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลในการใช้อำนาจกวาดล้างความรุนแรงในสเปนอีกต่างหาก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นขั้วตรงข้ามกับแนวคิดของลัทธิดาดาในช่วงแรกของตัวเขาอย่างสิ้นเชิง

 

บทเพลง: เพื่อความแน่วแน่ในอุดมการณ์ การปลุกใจจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ

        นอกจากหน้ากากแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านคือบทเพลง Bella Ciao ของ มานู พลาส ที่มักได้ยินมันบรรเลงอยู่ตลอดในซีรีส์ โดยเนื้อหาเพลงมีการอุปมาถึงความเหลื่อมล้ำของชนชั้นทางสังคมเอาไว้อย่างเฉียบขาด รวมถึงประวัติศาสตร์ของตัวเพลงที่น่าสนใจและดูเหมาะสมกับแนวคิดการต่อต้านในซีรีส์เรื่องนี้ยิ่งนัก

        “สำหรับผม เพลงนี้มันเป็นเพลงประจำตัวของผมตลอดกาลไปแล้ว” อเล็กซ์ พีนา กล่าว “เพลงนี้ถูกใช้เป็นตัวแทนของการต่อต้านในซีรีส์ ผมมักจะหยิบมาใช้ในช่วงเวลาที่กลุ่มโจรเริ่มเจอปัญหาและยังแก้มันไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าพวกเขายังมีศรัทธาต่ออุดมการณ์ในการต่อต้านรัฐบาลสเปนอยู่ ก็จะดิ้นรนและหาทางออกจนได้ นี่จึงเหมือนเป็นเพลงปลุกใจสำหรับพวกเขา”

        เพราะหากมาดูถึงประวัติศาสตร์ของเพลงดังกล่าว เดิมที Bella Ciao คือเพลงโฟล์กพื้นบ้านของอิตาลีที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มแรงงานที่ต้องกำจัดวัชพืชในทุ่งข้าวโพด แต่ด้วยสภาพการทำงานแบบเท้าเปล่าในน้ำและการก้มหน้าจนหลังงอเป็นเวลาหลายชั่วโมง ประกอบกับการได้ค่าแรงต่ำกว่าปริมาณงานที่ทำอย่างมาก จึงนำไปสู่ความไม่พอใจและการก่อจลาจลในที่สุด

        ทำให้เพลง Bella Ciao มักจะถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านต่อระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมในยุคต่างๆ ในช่วง ค.ศ. 1943-1945 เพลงนี้ถูกใช้โดยกลุ่มกองกำลังต่อต้านของอิตาลีต่อลัทธิฟาสซิสต์ รวมไปถึงการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องของฝ่ายนาซี โดยในปัจจุบันตัวเนื้อเพลงเองก็ยังถูกแปลออกไปอีกหลายภาษา เพื่อใช้แสดงออกถึงการต่อต้านในท้องที่และยุคสมัยอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยในบ้านเราได้ถูกขับร้องโดยวงไฟเย็น สำหรับเป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบอบเผด็จการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง

 

money heist

 

        ส่วนในซีรีส์นั้น ตามคำบอกเล่าของโตเกียว (เออซูรา คอร์เบโร) ตัวละครที่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องราว (Narrator) เคยอธิบายไว้ว่า ในช่วงหนึ่งที่ปู่ของศาสตราจารย์ได้ต่อสู่กับลัทธิฟาสซิสต์ เขาได้สอนเพลงนี้แก่โปรเฟสเซอร์ ก่อนตัวเขาจะนำมาสอนแก่คนในกลุ่มปล้นต่อ เพื่อใช้เป็นตัวแทนของการต่อต้านระบบทุนนิยมภายในประเทศสเปน รวมไปถึงเป็นเพลงประจำกลุ่มดังที่ผู้ชมจะเห็นพวกเขาร้องรับส่งกันเพื่อปลุกใจในตลอดทั้งซีซัน เพื่อระลึกและเตือนใจไว้เสมอว่าคนที่เรามาปล้นนั้นคือ ‘รัฐบาล’

        สำหรับเราแล้ว คิดว่านี่เป็นความสดใหม่ในการสร้างซีรีส์โจรกรรมอย่างมาก เพราะกลายเป็นว่าด้วยวิธีการที่ผิด (การปล้น) ที่เกิดจากอุดมการณ์ที่ถูกต้อง (เพื่อล้มล้างระบบไม่เป็นธรรม) ทำให้ผู้ชมอย่างเราเลือกที่จะเอาใจช่วยอาชญากรในการทำความผิดไปเสียอย่างนั้น ประกอบกับความแปลกใหม่ในเบื้องลึกเบื้องหลังของสัญลักษณ์ที่ ‘แอบแฝง’ เอาไว้ที่นานวันเข้าก็ยิ่งเริ่มจะ ‘ไม่แอบแฝง’ และค่อยปรากฏให้เราเห็นถึงการต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด น่าสนใจว่าในพาร์ตต่อไป (พาร์ตที่ 4) เราจะได้เห็นอะไรที่ชัดเจนมากกว่านี้อีกหรือไม่ ในเมื่อการปล้นนี้ได้ยกระดับกลายเป็น ‘สงคราม’ กับรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว