จากชื่อฮอลลีวูดที่รู้จักในฐานะฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ในหุบเขา สู่การเข้าฮุบกิจการและก่อตั้งเป็นสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ในชื่อว่าฮอลลีวูดอีกครั้งหนึ่ง…
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าการเติบโตที่แสนจะดูธุรกิจมากๆ อย่างเมืองฮอลลีวูด ที่ในเวลาต่อมากลับกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์น้อยใหญ่รังสรรค์ความพิเศษบางอย่างที่ทำเหมือนเมืองนี้นั้น ‘ต้องมนตร์เสน่ห์’ บางอย่างที่ทำให้ทั้งบ้านเมือง ผู้คน และกิจวัตรอันมากมายในฮอลลีวูด ช่างดูน่าหลงใหลและยั่วยวนใจให้ใครต่อหลายคนก้าวเข้ามายิ่งนัก เหมือนกับ เควนติน แทแรนติโน ที่นอกจากจะเป็นผู้กำกับชื่อก้องโลกแล้ว เขายังเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ตกอยู่ในหลุมพรางของโลกมายานามว่าฮอลลีวูดเช่นกัน
ย้อนกลับไปในยุค 60s เขาคือเด็กน้อยผู้หลงใหลแสงสีในฮอลลีวูดทุกครั้งยามนั่งรถเล่น “ผมได้รู้จักมักจี่กับฮอลลีวูดจริงๆ ก็ตอนผมอายุ 6-7 ขวบ ผมอยู่บนรถแบบเดียวกับคลิฟฟ์ในเรื่องกับแม่และพ่อเลี้ยงผม พวกเขาขับรถไปรอบๆ เมือง เปิดวิทยุในรถเสียงดังซ่า… นั่นแหละครับ การตกหลุมรักฮอลลีวูดครั้งแรกของผม” และประสบการณ์อันแสนล้ำค่าเหล่านั้นเองที่เป็นเชื้อเพลิงช่วยผลักดันเขามาเป็นผู้กำกับแถวหน้าในเวลาต่อมา
และในวันนี้ มันก็ถึงเวลาแล้วที่เควนตินมอบจดหมายรักแห่งนครดาราแห่งนี้ด้วย Once Upon a Time in Hollywood ภาพยนตร์ลำดับที่ 9 ซึ่งตัวเขาเองสร้างเรื่องราวอันสุดโต่งของ ริก ดัลตัน (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) และ คลิฟฟ์ บูธ (แบรด พิตต์) โดยสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือการได้เห็นความรักในรูปแบบของ เควนติน แทแรนติโน ที่บรรจงใส่ ‘ความจริงของฮอลลีวูด’ ในช่วง 6-7 ขวบของเขาผ่าน Easter Egg ไว้ในหนังเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจยิ่งนัก
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ Once Upon a Time in Hollywood (2019)
ริก ดัลตัน และ คลิฟฟ์ บูธ ตัวจริงคือใคร?
ริก ดัลตัน คือตัวละครสมมติที่ดังเปรี้ยงปร้างมาจากทีวีซีรีส์ยุค 50s Bounty Law ในบทนักล่าค่าหัวที่พอจะสร้างชื่อเสียงอยู่บ้าง ก่อนที่ต่อมาความนิยมจะลดลงอย่างน่าใจหาย จึงเป็นเหตุให้ตัวละครริกไม่ได้ละม้ายคล้ายกับดาราคนไหนในยุค 60s เสียทีเดียว เพราะเขากลับคล้ายนักแสดงในยุคนั้นแทบทุกคนเลยทีเดียว!
“ริก ดัลตัน คือตัวแทนของดาราชายที่อยู่ในช่วงปลายยุค 50s จนถึงต้น 60s ที่เคยดังจากซีรีส์คาวบอยมาสักเรื่องหนึ่งก่อน แล้วเขาก็จะค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป” จากคำบอกเล่าของเควนติน ทำให้เรารับรู้ถึงตัวตนของริกที่ถูกก่อร่างขึ้นมาจากนักแสดงในยุคนั้นหลายคนตามที่เควนตินยกตัวอย่างไว้ เช่น จอร์จ มาฮาริส ที่ได้รับความนิยมจาก Route 66 (1960-1964), เอ็ดด์ บายร์เนส ที่โด่งดังจากบทนักสืบมาดเท่ใน 77 Sunset Strip (1958-1964) รวมไปถึง ไท ฮาร์ดิน จาก Bronco (1958-1962) ที่นอกจากเส้นทางชีวิตแล้ว บุคลิกผมเรียบแปล้ก็ยังถอดแบบมาจากชายคนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าต่อมาพวกเขาเหล่านี้ก็หายไปจากโลกมายาอย่างน่าใจหาย
แต่เมื่อมาวิเคราะห์ต่อ ในช่วงที่ Bounty Law เข้าฉายในปี 1969 นั้น มันดันไปตรงกับทีวีซีรีส์ (จริงๆ) เรื่องหนึ่งจากช่อง NBC อย่าง Wanted: Dead or Alive (1958-1961) ที่นำแสดงโดย สตีฟ แม็กควีน นักแสดงหน้าหล่อในยุคนั้น ที่ต่อมาเขาได้มีโอกาสเล่นหนังใหญ่อย่าง The Great Escape (1963) ซึ่งเป็นหนังที่ตัวริกเองใฝ่ฝันที่จะได้รับบทนำในเรื่องอย่างมาก ทำให้ สตีฟ แม็กควีน (ในเรื่อง) กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของริกอีกทอดหนึ่ง แม้มันจะต่างกันตรงที่ตัวริกกลับคว้าโอกาสในการเล่นหนังแบบที่แม็กควีนทำไม่ได้ ยิ่งช่วยตอกย้ำถึง ‘ชีวิตขาลง’ ของเขามากขึ้นไปอีก
ทางออกเดียวที่เหลืออยู่ คือถ้าไม่รับบทตัวประกอบในเรื่อง ก็ต้องหนีออกไปรับงานนอกประเทศเลย และจะให้ดีก็ต้องเป็นหนังคาวบอย-อิตาลี ที่เคยปลุกปั้นดาราทีวีจากอเมริกาอย่าง คลินต์ อีสต์วูด ให้เฉิดฉายมาแล้วในหนังตระกูล Dollars Trilogy ริกจึงตัดสินใจเล่นหนังคาวบอยอิตาลีอย่าง Nebraska Jim ที่สร้างชื่อเสียงฝั่งยุโรปให้เขาได้ในระดับหนึ่ง จึงทำให้คลินต์เป็นอีกหนึ่งตัวนักแสดงในร่างของริกด้วยเช่นกัน
ส่วนสตันต์แมนคู่หูอย่าง คลิฟฟ์ บูธ เควนตินเคยออกมาพูดเอาไว้แล้วว่า คนที่เป็นต้นแบบของตัวละครคลิฟฟ์เขามีอยู่จริงนะ เป็นสตันต์แมนจริงๆ ด้วย แต่เพื่อความเป็นส่วนตัวของสตันต์แมนคนนั้น เขาจึงขอไม่เอ่ยนามชายผู้เป็นแรงบันดาลใจคนนั้นออกมา นั่นจึงเป็นเหตุให้เหล่ากีค (Geek) ทั้งหลายต้องนำ คลิฟฟ์ บูธ ไปเทียบกับใครต่อใครอีกหลายคน จนสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาใกล้เคียงกับสตันต์แมนมาดเท่คนนี้ที่สุดคือ ฮัล นีดาม สตันต์แมนและเพื่อนคู่ใจตลอดกาลของ เบิร์ต เรย์โนลด์ส
ฮัล นีดาม เดิมทีเขาคือพลทหารสหรัฐฯ จากสงครามเกาหลี ที่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นสตันต์แมนให้กับ ริชาร์ด บูน ในซีรีส์คาวบอย Have Gun – Will Travel (1957–1963) ที่สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะสตันต์แมนน่าจับตามอง และช่วยผลักดันให้เขาได้มาร่วมงานกับ เบิร์ต เรย์โนลด์ส นักแสดงชื่อก้องในยุคนั้นจากซีรีส์ของช่อง NBC เรื่อง Riverboat (1959–1961) ด้วยนิสัยใจคอที่เข้าอกเข้าใจกัน ช่วยสร้างความสัมพันธ์แบบเพื่อนตายให้พวกเขาสนิทสนมกันมากขึ้น ความสนิทนี้เลยเถิดถึงขนาดที่ฮัลเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของเรย์โนลด์สนานถึง 12 ปี ซึ่งความสนิทสนมของทั้งคู่นี้เองที่ทำให้เหล่าแฟนคลับต่างลงมติแทบจะเป็นเอกฉันท์ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาแทบไม่ต่างอะไรกับริกและคลิฟฟ์ ที่สนิทสนมจนเหมือนเป็น ‘ตัวตายตัวแทน’ อยู่เคียงข้างกันมานานนับทศวรรษเลยทีเดียว
ฮอลลีวูดในฮอลลีวูด
ถ้าเรากำลังคุยกันถึงเรื่องฮอลลีวูดเราจะไม่พูดถึง ‘ภาพยนตร์’ ได้อย่างไรกัน ซึ่งในส่วนนี้เควนตินก็ไม่นิ่งนอนใจ จับภาพยนตร์จริงๆ ยัดเข้ามาชนิดที่ว่ากะเอาให้เห็นกันโต้งๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ดังต่อไปนี้
The Wrecking Crew (1968)
ภาพยนตร์สายลับ-คอเมดี้ กำกับโดย ฟิล คาร์ลสัน ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ในเรื่องนี้มี ชารอน เทต ตัวจริงแสดงอยู่ในเรื่องด้วยนี่แหละ ใช่ครับ The Wrecking Crew คือหนังที่ฉายในฉากที่ ชารอน เทต (มาร์โก ร็อบบี) เข้าไปดูการแสดงของตัวเองในโรงหนังพร้อมกับสอดส่องดูฟีดแบ็กของคนดูไปพร้อมกัน นี่จึงเหมือนเราเห็นภาพมายาซ้อนภาพมายาอีกทีหนึ่ง (พวกเราที่กำลังดูมาร์โกในร่าง ชารอน เทต ที่กำลังดู ชารอน เทต อีกทีหนึ่ง… งง!)
The Great Escape (1963)
ในฉากที่ ริก ดัลตัน กำลังเพ้อฝันว่าถ้าหากตัวเองไม่ใช่ตัวเลือกสำรอง แล้วได้เล่นหนังแทนที่ สตีฟ แม็กควีน จะเป็นอย่างไร และจากนั้นภาพก็ตัดมาเป็นฉากหนึ่งของ The Great Escape กำกับโดย จอห์น สเตอร์เจส และแสดงนำโดย สตีฟ แม็กควีน จริงๆ แต่ในเวอร์ชันที่เราเห็นนี้ จะเป็นหน้า ริก ดัลตัน ถูกสวมเข้าไปแทนที่อย่างหน้าตาเฉย
Lancer (1968–70)
“นี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดที่หนูเคยเห็นเลยล่ะ” จากคำพูดของนักแสดงเด็กในกองถ่าย ทำให้นี่เป็นฉากที่งดงามที่สุดสำหรับตัว ริก ดัลตัน ที่กำลังท้อแท้ได้ดีที่สุดสำหรับเขาจริง แต่ที่น่าสนใจกว่าคือซีรีส์ที่เขามารับบทแขกรับเชิญนั้นไม่ใช่เรื่องราวที่แต่งเติมขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะ Lancer คือซีรีส์คาวบอยเนื้อเรื่องข้นคลั่กจากช่อง CBS ในช่วง 70s โดยฉากนี้จะมีการดวลสิงห์ปืนไว ที่ได้นักแสดงฝีมือดีอย่าง ลูค เพอร์รี จากซีรีส์ Beverly Hills, 90210 (1990–2000) และ ทิโมธี โอลิแฟนต์ จาก Santa Clarita Diet (2017–2019) มารับบท
The F.B.I. (1965–74)
หลังจากพวกใช้เวลาในกองถ่าย Lancer ทั้งวัน ทั้งริกและคลิฟฟ์ (ที่มัวแต่เปลี่ยนเสาไฟอยู่บ้าน) ก็มานั่งดู F.B.I. ซีรีส์สายลับที่กำลังเป็นกระแส หลังจากผู้คนเริ่มเบื่อกับซีรีส์คาวบอยกันแล้ว โดยตอนที่ F.B.I. ฉายในเรื่องคือตอน All the Streets Are Silent ที่ตัวร้ายในตอนนั้นแสดงโดย เบิร์ต เรย์โนลด์ส แต่เควนตินก็จัดการปรับเปลี่ยนเสียใหม่ให้ ริก ดัลตัน เข้ามาแทนที่พร้อมทั้งเติมแต่งความทะเล้นเข้าไปอีกหน่อยผ่านบทพูดของคลิฟฟ์ที่ว่า “All the streets are silent …not when Rick Dalton has a fucking shotgun”
Hullabaloo (1965–66)
และสุดท้ายในฉาก End Credit สุดท้าย เราจะเห็นริกออกมาร้องเพลง Green Door และเต้นไปพร้อมกับเหล่าแดนเซอร์ที่ดูเหมือนจะถูกอ้างอิงมาจากรายการทีวีช่องหนึ่ง… ซึ่งก็ถูกครับ เพราะฉากนี้ถูกถอดแบบมาจาก Hullabaloo รายการดนตรี-วาไรตี้ ช่วงหนึ่งในยุค 60s นั่นเอง
ชาร์ล แมนสัน กับเรื่องราวที่ถูกบิดเบี้ยวไป
อีกหนึ่งเส้นเรื่องสำคัญที่ช่วยเติมแต่งเรื่องราวของเควนตินให้ดูวูบวาบมากยิ่งขึ้นคือคดีฆาตกรรมดาราสาว ชารอน เทต ซึ่งหากอ้างอิงตามคดีที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เหยื่อของกลุ่มสาวกแมนสันที่ถูกต้องคือ ชารอน เทต และผองเพื่อน
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจากตัว ชาร์ลส์ แมนสัน เจ้าลัทธินั้น ได้รู้จักมักจี่กับ เทอรี เมลเชอร์ (โปรดิวเซอร์ที่อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันก่อน โรมัน โปลันสกี จะเข้ามา) โดยหลังจากที่เขาได้มีเหตุอันต้องบาดหมางกับ ชาร์ลส์ แมนสัน (จะเห็นได้จากฉากเดียวในเรื่องที่ ชาร์ลส์ แมนสัน ปรากฏตัว เขาถามถึง เทอรี แมลเชอร์ ในบ้านของ ชารอน เทต) ด้วยความหวาดกลัวในลัทธิคลั่งของแมนสัน เขาจึงปล่อยเช่าบ้านหลังดังกล่าวให้แก่ โรมัน โปลันสกี ผู้กำกับหนุ่มจาก Baby Rosemary (1976) และ ชารอน เทต นักแสดงและแฟนสาว แต่ด้วยความคับแค้นใจที่เทอรีตราหน้าชาร์ลส์ว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง เขาจึงสั่งให้เหล่าสาวกฆ่าทุกคนที่อยู่ในบ้านของเทอรีให้สิ้นซาก เคราะห์กรรมจึงตกแก ชารอน เทต และเพื่อนของเธอในคืนนั้น ซึ่งนำมาสู่เหตุฆาตกรรมเขย่าขวัญในฮอลลีวูด
แต่ในเรื่องนี้ เควนตินได้หยิบจับคดีดังกล่าวพลิกแพลงและเล่าใหม่ ที่ในทีแรกเหมือนจะเดินตามรอยคดีฆาตกรรม แต่ในเวลาต่อมาแรงจูงใจของเหล่าสาวกกลับถูกชักจูงใหม่ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับ ‘ความรุนแรงในทีวี’ น่าสนใจดีว่าแท้จริงแล้วเควนตินต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ในประเด็นนี้?
สุดท้าย นี่เป็นฮอลลีวูดเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นที่เควนตินหยิบจับเข้าไปในเรื่อง เพราะยังมีอีกหลายตัวละคร อีกหลายสถานที่ และอีกหลายเรื่องราว ถูกหยิบยกมาอ้างไว้ในเรื่องมากมายเต็มไปหมด ซึ่งเราจะขอทิ้งร่องรอยที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านทุกท่านได้ตามติดและค้นหาความพิศวงที่ ‘ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นในฮอลลีวูด’ กันต่อไป