“Don’t f**k with Peaky Blinders”
นี่คือประโยคเด็ดสำคัญของ Peaky Blinders ซีรีส์ Crime-Gangster ของ BBC ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะนอกจากคำพูดคำจาที่เชือดเฉือนแสดงถึงอำนาจระหว่างกลุ่มนักเลงกันอย่างสะอกสะใจผู้ชมแล้ว มนตร์ขลังของความเป็นนักเลงข้างถนนที่ถูกถ่ายทอดโดย คิลเลียน เมอร์ฟี (รับบท โทมัส เชลบี), พอล แอนเดอร์สัน (รับบท อาเธอร์ เชลบี) และ โจ โคล (รับบท จอห์น เชลบี) ก็แสดงให้เห็นถึงพลัง อำนาจ ความดุเดือด ในระดับที่ไม่ต้องเวอร์วังแบบเจ้าพ่อมาเฟีย แต่ก็ยังดูสนุกในแบบฉบับที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้เช่นกัน
แต่สำหรับเราแล้ว สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าความดิบเถื่อนคือความใฝ่รู้ถึงตัวตนของพวกเขา เพราะในเมื่อหนังมาเฟียและอันธพาลทั้งหลาย ทั้ง Goodfellas (1990) Casino (1995) หรือแม้กระทั่ง The Godfather (1972) เหล่านี้ล้วนเป็นหนังที่อ้างอิงมาจากเหล่าขาใหญ่ที่มีชีวิตจริงอยู่ในโลกกันแทบทั้งนั้น เราจึงอดคิดไม่ได้ว่าในถนนเบอร์มิงแฮมจะมีชื่อของ Peaky Blinders บ้างหรือไม่
ดังนั้น ในวันนี้เราจึงขอพาทุกท่านลงพื้นที่สำรวจประวัติศาสตร์ของถนนเบอร์มิงแฮม ไปตามหาความจริงถึงตัวตนของพวกเขา รวมไปถึงที่มาและแรงบันดาลใจของ สตีเวน ไนต์ ว่าสุดท้ายแล้วทำไมเขาถึงหยิบเรื่องราวอันธพาลข้างถนนแบบนี้มาสร้างเป็นซีรีส์สุดมันให้เราได้รับชม
ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของแก๊ง Peaky Blinders จริงๆ คงต้องย้อนกลับตั้งแต่สมัยเมืองเบอร์มิงแฮมในศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว ตามคำอธิบายของ ฟิลิป กูเดอร์สัน ผู้เขียนหนังสือ The Gangs of Birmingham – ที่เกี่ยวกับเรื่องราวมาเฟียในเมืองเบอร์มิงแฮม ได้เล่าว่า หลังจากที่ยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟูในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ประชาชนเริ่มเข้าสู่ภาวะยากจนจากการเข้ามาของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่างๆ ผู้คนเริ่มตกงาน ไร้ซึ่งเงินในการดำรงชีพ จนสุดท้ายปัญหาเหล่านี้ลุกลามไปจนถึงการตั้งตัวเป็นหัวขโมย เกิดการปล้นจี้ตามท้องถนนมากยิ่งขึ้น ก่อนที่คนเหล่านี้จะรวมตัวกันและตั้งตนเป็นกลุ่มอันธพาลในที่สุด
กูเดอร์สันเล่าต่อว่า นอกจากอันธพาลเหล่านี้จะใช้กำลังในการปล้นชิงวิ่งทรัพย์ทุกอย่างแล้ว กิจกรรมอีกอย่างที่มักได้เห็นกันตลอดตามท้องถนนคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอันธพาลด้วยกันเอง ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเรื่องช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งและผลประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ในย่านสมอลล์ฮีธ และชีปไซด์
มีรายงานหนึ่งของกูเดอร์สันอธิบายไว้ว่า ในช่วงนั้นมีอันธพาลกลุ่มหนึ่งที่นำโดย จอห์น เอเดรียน ซึ่งจุดเด่นของเขาคือการใช้เข็มขัดทุบตีผู้คนอย่างสนุกมือ เรียกได้ว่าในช่วงนั้นกลุ่มของเอเดรียนคือแก๊งที่โหดเหี้ยมที่สุด คุมย่านเบอร์มิงแฮมชนิดที่ว่าไม่มีใครกล้าหืออือกับพวกเขาแม้แต่คนเดียว
แต่ถ้าพูดกันตามสัจธรรมของนักเลง ‘ไม่เคยมีใครอยู่ค้ำฟ้า ทุกคนต่างรอวันตายไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม’ สุดท้ายเอเดรียนถูกจับกุมตั้งแต่อายุ 15 และนั่นเปิดโอกาสให้แก๊งที่ชื่อว่า Peaky Blinders มีชื่อปรากฏอยู่ในตำนานเมืองเบอร์มิงแฮม
ไม่เคยมีใครรับรู้ถึงที่มาของนักเลงกลุ่มนี้อย่างแน่ชัด เดิมที Peaky Blinders เป็นที่รู้จักในฐานะอันธพาลเด็กที่มักจะก่อเหตุเล็กน้อยประจำวัน เช่น ขโมยของ การพนัน ทะเลาะวิวาทเล็กน้อยในบางครั้ง ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือคิดการใหญ่แบบในซีรีส์เท่าใดนัก เคยมีรายงานจากศาลในช่วงนั้นอ้างอิงถึงลักษณะของสมาชิกเอาไว้ว่าพวกเขาเป็นเพียง ‘ชายหนุ่มปากเหม็นที่เดินตามถนนในกลุ่ม เมาเหล้า ดูถูก และโจมตีผู้คนเล็กน้อย’
นั่นไม่ใช่ประเด็นสำหรับอันธพาลกลุ่มนี้เท่าไหร่นัก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สร้างเสน่ห์ให้กับ Peaky Blinders จริงๆ กลับเป็นบุคลิกการแต่งตัวอันเป็นที่จดจำตามย่านถนนเบอร์มิงแฮม ซึ่งถูกพูดถึงมากกว่าความน่าเกรงขามเสียด้วยซ้ำ
ใบมีดโกนอันเป็นสัญลักษณ์
หนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของกลุ่มที่เห็นได้ชัดคือการฝังใบมีดกดไว้ใต้หมวกเพื่อใช้เป็นอาวุธประจำตัวของพวกเขาสำหรับการต่อสู้ และรวมไปถึงการทำให้คู่ต่อสู้ตาบอดด้วยการฟาดหมวกไปที่ดวงตา ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นที่มาของชื่อแก๊งอย่าง Peaky Blinders
แต่ก็มีความเห็นอีกฝั่งจากนักประวัติศาสตร์ในเมืองเบอร์มิงแฮมที่อธิบายไว้ว่า ย้อนกลับไปในยุค 1980s นั้น ใบมีดโกนคือสิ่งของที่มีราคาพอสมควร ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กตามถนนอย่างพวกเขาจะมีใบมีดติดอยู่ในหมวกกันได้ พร้อมทั้งยังอธิบายถึงคำว่า Blinders อาจเป็นเพียงศัพท์สแลงอันหมายถึงการแต่งตัวที่ดูดีของพวกเขา
มาเฟียมาดเนี้ยบข้างถนน
ในความเป็นจริงแก๊งที่อาศัยอยู่ข้างถนนแบบ Peaky Blinders คงไม่สามารถมีชุดสูทมาดเนี้ยบเข้ารูปใส่ให้เราเห็นแบบในซีรีส์อย่างแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม พวกเขาเองก็ยังมีรสนิยมในการแต่งตัวที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อย่างมากสำหรับมาเฟียข้างถนนแบบพวกเขา
เพราะนอกเหนือจากหมวกทรงแบนที่กลัดด้วยใบมีดโกนแล้ว พวกเขามักจะเป็นที่จดจำในเสื้อเชิ้ตทรงเข้ารูป กางเกงทรงขากระดิ่ง สวมทับด้วยเสื้อแจ็กเก็ตกระดุมทองเหลือง สำหรับเป็นสัญลักษณ์ของแก๊ง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากความใส่ใจในการแต่งตัวของพวกเขา บางรายงานกล่าวต่อไปว่าสมาชิกบางคนในแก๊งที่รักการแต่งตัวเป็นพิเศษอาจจะมีใช้ผ้าเช็ดหน้าพันรอบคอของพวกเขา ไปจนถึงการสวมใส่สร้อยไข่มุกบริเวณคอเลยทีเดียว
ซึ่งรสนิยมการแต่งตัวจัดแบบนี้ก็ลามไปถึงเหล่าสมาชิกสาวในแก๊งด้วยเช่นกัน แต่สำหรับพวกหล่อนแล้ว จะเลือกหยิบจับเสื้อผ้าราคาแพงเพียงเท่านั้น โดยกูเดอร์สันอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ว่า นอกจากพวกเธอจะใช้ผ้าเช็ดหน้าทำเป็นผ้าพันคอและสวมสร้อยไข่มุกเหมือนพวกผู้ชายแล้ว พวกเธอยังเป็นผู้หญิงที่มีอิทธิพลมาก แม้กระทั่งกับผู้ชายในแก๊งเองพวกเธอยังมีปากเสียงสามารถต่อกรกับชายหนุ่มได้ในหลายครั้ง
จากแรงบันดาลใจสุดเท่ สู่การต่อยอดเรื่องราวที่เท่กว่า
“เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมอยากหยิบเรื่องราวของ Peaky Blinders มาเล่าคือพ่อของผม มีครั้งหนึ่งพ่อใช้ให้ผมเอาข้อความบางอย่างไปให้กับพวกเขา ผมเคาะประตูเข้าไปในบาร์แห่งหนึ่ง ได้เจอผู้ชายประมาณ 8 คน แต่งตัวดี สวมหมวกทรงแบน พกปืนและเงินสดเต็มไปหมด …แค่ภาพนั้นเลยครับ ทั้งหมดที่ผมเห็น ผมคิดว่าตำนานของสลัมในเบอร์มิงแฮมที่มีแต่บุหรี่ เหล้า การแต่งตัว คือเรื่องที่ควรจะถูกบอกเล่า นี่คือสิ่งแรกในความคิดของผมสำหรับการเริ่มงาน”
จากคำสารภาพของ สตีเวน ไนต์ ผู้สร้างซีรีส์ Peaky Blinders เล่าถึงความผูกพันกับแก๊งมาเฟียข้างถนนนี้ผ่านทางพ่อของเขาที่เป็นเจ้ามือรับแทงพนันประจำให้กับสมาชิกแก๊ง รวมไปถึงเป็นหนึ่งในผู้ที่รับมรดกตกทอดจากแก๊งด้วยเช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้นการสร้างซีรีส์ของ สตีเวน ไนต์ ก็ไม่ได้เหมือนกับแก๊งมาเฟียที่เขาเห็นในตอนเด็กเท่าไหร่นัก อย่างแรกเลยคือในซีรีส์ แก๊ง Peaky Blinders จะอยู่ในยุค 20s แต่ในความเป็นจริงพวกเขาคือมาเฟียที่มีชื่อเสียงอยู่ในช่วงปี 1980 ก่อนหน้านั้น
ต่อมาคือสมาชิก เพราะในความเป็นจริงแล้วสมาชิกส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 15-20 ปี เคยมีการซักประวัติผู้ต้องหาที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้ มีอายุมากที่สุดแค่ 38 ปี และอายุน้อยที่สุดเพียงแค่ 12 ปีเท่านั้น
และสุดท้าย ความแตกต่างของทั้งสองเวอร์ชันคือเป้าหมายในการตั้งกลุ่ม โดยในซีรีส์จะมีการนำเรื่องราวไปผูกโยงถึงการเมือง อาวุธสงคราม การค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง สตีเวน ไนต์ ก็ออกมายอมรับเองว่าเขาต้องการยกระดับแก๊งย่านเบอร์มิงแฮมนี้ให้ดูมีอิทธิพลและดูน่าเกรงขามมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเหตุผลในการสร้างเนื้อเรื่องให้เข้มข้น ซึ่งต่างจาก Peaky Blinders เวอร์ชันของจริงเหลือเกิน ที่พวกเขามีเป้าหมายแค่ลักขโมยเพื่อหาเศษตังค์เพียงเท่านั้น
ดังนั้น เราขอสรุปเลยว่าเรื่องราวในซีรีส์นั้นจะแตกต่างไปจากชีวิตจริงแน่อน และตัวละครอันแสนทรงเสน่ห์อย่าง โทมัส, อาเธอร์ และ จอห์น เชลบี ไม่มีตัวตนจริงอยู่ในถนนเบอร์มิงแฮมแต่อย่างใด
ไม่มีคำว่าตลอดไปสำหรับการเป็นนักเลง
เพราะถึงแม้ Peaky Blinders จะยืนยงอยู่ในย่านเบอร์มิงแฮมมาได้หลายทศวรรษ แต่สุดท้ายในปี 1910 พวกเขาก็เสียอำนาจให้กับกลุ่มอื่นที่มีไฟมากกว่าอย่างกลุ่ม Birmingham Boys ในที่สุด (กลุ่มเบอร์มิงแฮมบอยส์ปรากฏตัวในซีรีส์ Peaky Blinders ซีซันที่ 1 โดยมีหัวหน้าคือ บิลลี คิมเบอร์ ที่แสดงโดย ชาร์ลี ครีด-ไมล์ส)
และอย่างที่กล่าวไปว่าสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเขาโตขึ้นและเริ่มเข้าใจว่า Peaky Blinders ไม่ใช่ชีวิตของเขา พวกเขาจึงละทิ้งกลุ่มและเริ่มตั้งใจเรียนหนังสือ หาอาชีพทำแทนที่จะมาเดินมั่วสุมตามถนน และนั่นก็ทำให้ตำนานของกลุ่ม Peaky Blinders จบลงในที่สุด