“ระดับความเจ๋งของหนัง ความจริงนั้นวัดจากบาดแผลครับ” นี่คือคำอธิบายจากปากของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน นักแสดงที่ถูกต่อยหน้าอกจนหัวใจเกือบหยุดเต้นในหนังไตรภาค The Expendables ไปจนถึงการเล่นฉากสตันต์ที่เขาต้องกระโดดลงมาจากต้นไม้ทำให้ซี่โครงหักใน First Blood (1982) ซึ่งบาดแผลเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเข็ดหลาบอย่างใด แต่กลับคอยกระตุ้นให้รู้สึกท้าทายที่จะสร้างเสน่ห์ของภาพยนตร์แบบนี้อยู่เสมอ
ถึงจะดูบ้าดีเดือดเกินเบอร์ขนาดไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคติประจำใจเช่นนี้คือเคล็ดลับที่เขาใช้ผลักดันตัวละครขวัญใจมหาชนออกมาจำนวนมากทั้ง ร็อคกี้ บัลบัว นักมวยผู้ไม่เคยยอมแพ้ จอห์น แรมโบ ทหารผ่านศึกสุดคลั่งดีเดือด รวมไปถึง บาร์นีย์ รอส หนึ่งในทีมช่วยเหลือตัวประกันมาดเท่อย่างดิ เอ็กซ์เพ็นเดเบิลส์
แต่เหนือจากบทบาทอันทรงพลังมากมายของเขาแล้วนั้น สิ่งที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่ที่สุดกลับเป็นชีวิตและเส้นทางอาชีพจริงของตัว ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน มากกว่าที่น่าคาราวะเป็นอย่างมาก เพราะกว่าสตอลโลนจะก้าวมาเป็นนักแสดงระดับไอคอนิก อยู่คู่ค้ำฟ้าได้งดงามขนาดนี้ จุดเริ่มต้นของเขานั้นกลับเต็มไปด้วยบาดแผลที่เหวอะหวะมากยิ่งกว่า ชนิดที่ว่าตัวละครในภาพยนตร์ของเขากลับดูแข็งแรงเกินไปเสียด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปในสมัยเด็กของสตอลโลน เขาคือมนุษย์ผู้มีชีวิตที่ดิบห่ามและเต็มไปด้วยบาดแผลกันตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่เลยทีเดียว เพราะผลพวงจากภาวะแทรกซ้อนของ แจ็กกี้ สตอลโลน แม่ของเขา ทำให้ระหว่างคลอด สูติแพทย์ต้องใช้คีมสองคู่ช่วยในการทำคลอดเขา ซึ่งทำให้เส้นประสาทบางส่วนได้รับความเสียหายและส่งผลให้ใบหน้ารวมถึงริมฝีปากและลิ้นบางส่วนมีความผิดปกติ ดังที่เราได้เห็นจากวิธีการพูดของเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็รู้สึกภูมิใจในบุคลิกนี้ของเขา และแน่นอนว่าเขาคิดถูก เพราะต่อมาสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเสน่ห์ในแบบของเขาไปโดยปริยาย
“ผมรู้สึกว่าตัวเองหล่อนะ แค่มันไม่ใช่แบบพิมพ์นิยม ดวงตาที่เหี่ยวเฉา ปากก็คดเคี้ยว ฟันไม่ตรงเสียงที่ฟัง แต่รวมๆ แล้วก็ยังดูเท่อยู่ดี”
ถึงเขาจะรู้สึกมั่นอกมั่นใจในใบหน้าขนาดไหน แต่ในตอนนั้นเขาก็ยังไม่ฉายแววของนักแสดงออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย เขายังเป็นเพียง ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เด็กน้อยผู้น่าสงสารที่ได้รับผลกระทบจากการทะเลาะอันหนักหน่วงของพ่อแม่ เป็นเหตุให้ในชีวิต 5 ขวบแรก จึงต้องดิ้นรนไปอาศัยอยู่ในบ้านอุปถัมภ์ ก่อนที่จะทำให้เขาเริ่มรู้จักการแสดงจริงๆ ผ่านการแสดงอากัปกิริยาต่างๆ อันน่าสงสาร เพียงเพื่อหวังว่าจะได้รับความรักจากคนรอบข้างรวมไปถึงพ่อแม่ของเขา
ต่อมา สตอลโลนได้รับทุนการศึกษาด้านกีฬาสำหรับวิทยาลัยอเมริกันแห่งสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากสำเร็จการศึกษาซึ่งเขาทำงานเป็นโค้ชกีฬาหญิงขณะที่เรียนอยู่ ในช่วงเวลาว่างเขาได้แสดงเรื่อง Death of a Salesman ผลงานการผลิตของ Arthur Miller ซึ่งเป็นเหตุผลให้เข้าตัดสินใจเข้าศึกษาละครที่มหาวิทยาลัยไมอามี
Rocky: ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ยิ่งกว่าร็อคกี้ บัลบัว
หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนละคร ความจริงแรกที่เขาต้องเผชิญในฐานะนักแสดงหน้าใหม่คือชีวิตในโลกมายาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแบบในภาพยนตร์ทั่วไปเท่าใดนัก เพราะในช่วงแรกของอาชีพ เขาคือนักแสดงที่จะใช้คำว่าตกอับก็คงไม่ผิดแปลกเท่าไหร่ ถึงแม้เขาจะมีงานแสดงอยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินอันน้อยนิดสำหรับบทตัวประกอบที่ได้รับนั้นไม่เคยพอเลยสำหรับเขา แล้วยิ่งด้วยนิสัยเสเพลของเขาเองด้วยนั้น เรียกได้ว่านี่คือช่วงวิกฤติทางการเงินของเขาแบบสุดๆ
ช่วงนั้นเขาต้องไปอาศัยหลับนอนอยู่ในสถานีขนส่งท่าเรือในนิวยอร์กซิตีถึง 3 สัปดาห์ ความขัดสนผลักดันให้เขาทำอะไรที่บ้าบิ่นหลายอย่างทั้งการเล่นหนังโป๊เรื่อง The Party at Kitty and Stud’s รวมไปถึงการขายสุนัขให้กับคนแปลกหน้าที่บาร์ในราคา 25 ดอลลาร์ฯ เท่านั้น
แต่แล้วชีวิตของดาราตกอับก็เริ่มไปสู่ลู่ทางที่ดีขึ้นเมื่อเขาได้ดูแมตช์การชกระหว่าง มูฮัมหมัด อาลี ชกกับ ชัก เว็บเนอร์ ในปี 1975 และได้เห็นช็อตที่อาลีสามารถเอาชนะน็อกเว็บเนอร์ได้สำเร็จ การชกนัดนั้นสร้างแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้เขาเป็นอย่างมาก
จากนั้นเขาจึงกลับมาที่บ้านและใช้เวลาเพียง 3 วันในการต่อยอดจากมวยคู่นั้นเป็นบทภาพยนตร์ที่ชื่อว่า Rocky จนสำเร็จ และเริ่มมองหาสตูดิโอผู้ผลิตสำหรับจำหน่ายบทเรื่องนี้ของเขา ซึ่งทางผู้สร้างแต่ละเจ้าก็ต่างพอใจกับตัวบทเป็นอย่างมากและพร้อมทุ่มเม็ดเงินอันมหาศาลสำหรับบทหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ
“ถ้าผมยอมขายมันโดยที่ไม่มีผมอยู่ในเรื่องนี้ มันจะเป็นตราบาปของผมไปตลอดชีวิต ถึงผมจะได้เงินเยอะแต่ถ้าผมไม่ได้แสดงมัน มันก็ไม่ใช่ร็อคกี้ของผม แน่นอนว่าตอนนั้นผมเครียด จน ไม่มีเงิน แต่ผมไม่มีความลังเลที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว”
เพราะสำหรับเขาแล้ว ร็อคกี้ บัลบัว คือตัวละครที่กลั่นกรองมาจากตัวตนของเขา เขาจึงคิดว่าคงไม่มีนักแสดงคนไหน (เขาเองก็เป็นนักแสดงคนหนึ่ง ถึงตอนนั้นจะไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ก็เถอะ) ที่จะเหมาะสมกับบทบาทนี้ไปมากกว่าเขาอีกแล้ว
แต่ด้วยเพราะท่าทียียวนที่ดู ‘ตลก’ สำหรับผู้สร้าง สตอลโลนจึงไม่ใช่แม้กระทั่งตัวเลือกสำหรับบทนี้แม้แต่น้อย แต่นักแสดงหนุ่มก็ยังหัวแข็งยืนกรานว่าถ้าเขาไม่ได้แสดงคุณก็จะไม่ได้บทเรื่องนี้ สุดท้ายสตอลโลนสามารถตกลงกับทางผู้สร้างได้ในราคา 1 ล้านเหรียญฯ สำหรับให้เขาไปสร้างหนังทั้งเรื่องเอาเองเลย ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว เงิน 1 ล้านกับหนัง 1 เรื่อง เป็นสิ่งที่ดูเป็นไปได้ยากสำหรับบทฟอร์มยักษ์ของร็อคกี้แบบนั้น
ทำให้สตอลโลนต้องพยายามสร้างร็อคกี้ขึ้นมาแบบประหยัดที่สุด ทั้งการเรียกเพื่อนและครอบครัวมาร่วมแสดงผ่านการถ่ายด้วยกล้องวิดีโอธรรมดา ก่อนที่จะนำฉากต่างๆ รวมกันจนได้ออกมาเป็นหนัง Rocky ภาคแรกในปี 1976
และจากที่เขาคิดว่าหนังคงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่กลายเป็นว่า Rocky กลายเป็นภาพยนตร์ยอดฮิตที่ทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศไปทั่วโลกถึง 225 ล้านเหรียญฯ เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปี 1976 และได้รับรางวัลออสการ์ 3 รางวัล ได้แก่ Best Picture, Best Director และ Best Film Editing
ความสำเร็จนั้นสร้างชื่อให้เขาเป็นอย่างมากทั้งในฐานะดาราหน้าใหม่ขวัญใจมหาชน ก่อนที่จะกลายเป็นใบเบิกทางสำหรับหนังบู๊ล้างผลาญฟอร์มยักษ์นามว่า Rambo
Rambo:บาดแผลของ จอห์น แรมโบ คือเสน่ห์ของภาพยนตร์
“เขารู้ว่าสิ่งที่ได้รับจากสงครามที่ฝังอยู่ในเลือดคืออะไร เขารู้ตัวว่าการฆ่าไม่ใช่เพื่อประเทศชาติอีกต่อไป แต่กลายเป็นการฆ่าเพื่อสนองตัณหาภายในใจของเรา เขาทำให้การฆ่าเป็นเรื่องที่ง่ายเหมือนการหายใจ” คำพูดสตอลโลนคือคำอธิบายเรื่องราวได้ดีถึง จอห์น แรมโบ ตัวละครที่มีฉากหน้าคือความดิบเถื่อน เลือดสาด ตามสไตล์หนังแอ็กชันดุเดือด แต่เบื้องหลังของเขากับแฝงไปด้วยการต่อต้านสงครามและภาวะอาการป่วยจากสงครามได้อย่างแยบยล
First Blood (1982) คือหนังเรื่องแรกของแฟรนไชส์แรมโบ ที่กำกับโดย เท็ด คอตเชฟฟ์ ซึ่งอ้างอิงจากหนังสือชื่อ First Blood ของ เดวิด มอร์เรลล์ ที่เล่าถึง จอห์น แรมโบ อดีตทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนามที่ตั้งใจจะหันหลังให้สงคราม แต่กลับต้องมาเอาชีวิตรอดจากกองทัพและห่ากระสุนจากป่าแห่งหนึ่งอันเยือกเย็น โดยในตอนแรกทางสตูดิโอยังไม่ได้วางตัวนักแสดงที่จะมารับบทดังกล่าวแต่อย่างใดนั่นทำให้มีนักแสดงมากมายต่างวนเวียนมาแคสต์บท จอห์น แรมโบ จำนวนมากทั้ง สตีฟ แม็กควีน, พอลล์ นิวแทน, คลิน อีสต์วูด, อัล ปาชิโน,โรเบิร์ต เดนีโร, จอห์น ทราโวตา และ ดัสติน ฮอฟแมน
ก่อนที่บทจะตกมาถึงมือของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน หลังจากที่เขาเริ่มสร้างชื่อให้ตัวเองจากบทร็อคกี้ โดยในตอนแรกนั้นเขาปฏิเสธบท จอห์น แรมโบ เพราะด้วยความช้ำของตัวละครที่นักแสดงหลายคนต่างวนเวียนมาแคสติงบท ทำให้เขามองไม่ออกว่าแรมโบในแบบของเขาจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจเลือกรับบทดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่าตัวละครนี้มีสภาวะ PTSD
ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) คือสภาวะความแปรปรวนทางจิตหลังจากได้ประสบกับเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งสามารถพบได้มากในหมู่ทหารผ่านศึก ซึ่งนั่นตรงกับประวัติของ จอห์น แรมโบ ทุกอย่าง เพราะถึงแม้เขาจะเป็นทหารมือฉมังอันดับต้นในเรื่อง แต่เขาคือมนุษย์ผู้ผ่านสงครามและการทรมานจากการถูกจับเป็นเชลยสงครามมาอย่างโชกโชน สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หล่อหลอมให้เขามีสภาวะทางจิตที่แปรปรวน เริ่มมองหาความสงบและการขจัดความรุนแรงต่างๆ ด้วยความรุนแรงอันเป็นจุดเด่นของเขาอีกด้วย (ความลักลั่นย้อนแย้งแบบนี้แหละที่ทำให้แรมโบดูเตะตาขึ้นมาสำหรับตัวเขา)
First Blood ประสบความสำเร็จมากในฐานะหนังแอ็กชันดีเดือดก่อนที่ทางสตูดิโอจะสานเรื่องราวต่อออกมาเป็น Rambo: First Blood Part II (1985), Rambo III (1988) และ Rambo (2008) ตามลำดับ
และในปีนี้ที่เขามีอายุ 73 ปี ก็ยังเดินหน้าสานเรื่องราวของทหารคนนี้ต่อจนถึงบทสรุปส่งท้ายอย่าง Rambo: Last Blood (2019) ที่เขาได้เอ่ยปากบอกเองว่าการเล่นฉากบู๊ด้วยอายุขนาดเขานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“ผมเข้าโรงยิมมาไม่ได้สักพักใหญ่แล้ว นั่นไม่ใช่เพราะผมขี้เกียจ แต่เป็นเพราะผมกำลังแสดงใน Rambo ซึ่งมันได้สร้างความเสียหายและอาการบาดเจ็บกับร่างกายของผมเป็นอย่างมาก” สตอลโลนได้เผยข้อความดังกล่าวผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา “การกลับมารับบทนี้ ถ้าว่ากันตามความจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ใครล่ะที่ไม่อยากจะนอนนิ่งๆ สบายๆ อยู่บนเตียง แต่ฟังผมนะ ชีวิตมันก็เหมือนกับภาพยนตร์นั่นล่ะ คุณคือนักแสดงที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนั้น และถ้าคุณอยากจะได้บทตัวเอก คุณก็จะต้องออกไปไขว่คว้ามันมาให้ได้ด้วยมือของคุณเอง”