The Irishman

The Irishman: รู้จักแก๊งมาเฟียผู้คุมเบื้องหลังอเมริกา ผ่านสายตาของช่างทาสีบ้านชาวไอร์แลนด์

“สิ่งที่ผมอยากถ่ายทอดคือนรกแห่งหนึ่งที่อยู่ตอนเหนือของอเมริกาที่ชื่อกลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งเต็มไปด้วยการหักหลัง ก่อเหตุอาชญากรรม และคดีดำมืดอื่นๆ ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการชักใยของมาเฟียอยู่เป็นจำนวนมาก โดยผมเลือกที่จะเล่าผ่านตัวละครหนึ่งที่มีความภักดีต่อกลุ่มสหภาพแรงงาน ก่อนที่สุดท้ายเขาจะพบความจริงว่าเรื่องราวทั้งหมดมันเต็มไปด้วยผลประโยชน์ อำนาจ และการหักหลัง ความรักที่เขามีในตอนแรกไม่มีประโยชน์อะไรกับวงการนี้เท่าไหร่นัก”

        แรงบันดาลใจตั้งต้นของ มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับวัย 77 ปี ที่ทุกวันนี้เขายังไม่หมดไฟกับการหนังที่เขารักผ่านเรื่องราวมาเฟีย ที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา หลังจากเคยมีหนังแนวนี้ทั้ง Goodfellas (1990) และ Casino (1995) จนในครั้งนี้ เขาหยิบเรื่องราวของมาเฟียในย่านฟิลาเดเฟียมาบอกเล่าผ่านมุมมองของ ‘ช่างทาสี’ คนหนึ่งได้อย่างเรียบง่ายและมีชั้นเชิงที่สุดเรื่องหนึ่ง

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ The Irishman (2018) 

The Irishman

01 | โรเบิร์ต เดอ นิโร นักแสดงผู้มอบไอเดียนักฆ่าไอริชให้แก่ มาร์ติน สกอร์เซซี

        หากพูดถึงจุดเริ่มต้นกำเนิดโปรเจ็กต์ The Irishman จริงๆ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนที่ โรเบิร์ต เดอ นิโร นักแสดงคู่บุญของ มาร์ติน สกอร์เซซี ได้นำหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ I Heard You Paint Houses เขียนโดย ชาร์ลีส์ แบรนด์ต ที่เล่าถึงมือปืนนาม แฟรงก์ ชีแรน ชายไอริชที่มีตัวตนอยู่จริงในสหรัฐฯ ยุค 70s และข้องเกี่ยวกับอำนาจมืดมากมายที่โยงใยเข้าสู่ระบบการเมืองในเวลานั้น มาแนะนำให้กับมาร์ตินได้รู้จักเพื่อหวังว่าเขาจะสร้างหนังจากหนังสือเล่มโปรดของตน 

        และด้วยความที่มาร์ตินเอง ก็เป็นคนที่สร้างหนังสไตล์มาเฟียอยู่แล้ว ทำให้การเกลี้ยกล่อมของโรเบิร์ตครั้งนี้จึงไม่ยากเท่าไหร่นัก ทำให้มาร์ตินผลักดันเรื่องราวมาเฟียชาวไอริชออกมากลายเป็นหนังเรื่องนี้ในที่สุด

 

The Irishman

02 | I heard you paint houses

        “ฉันได้ยินว่าคุณรับทาสีบ้าน” ประโยคดังกล่าวไม่ใช่คำถามเพื่อหาช่างทาสีสำหรับตกแต่งบ้านได้แต่อย่างใด หากเป็นรหัสลับในการหา ‘นักฆ่า’ มืออาชีพที่ทำการปลิดชีวิตเหยื่อภายในบ้านจนเลือดกระเซ็นเต็มบ้าน 

        ที่มาที่ไปของวลีนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น จิมมี ฮอฟฟา ที่พูดกับ แฟรงก์ ชีแรน ครั้งหนึ่ง ก่อนที่ตำแหน่งช่างทาสีจะเป็นเหมือนรหัสลับของแฟรงก์ ที่หากใครต้องการใช้บริการก็มักจะทักเขาด้วยคำนี้ จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ถึงขนาดที่ ชาร์ลีส์ แบรนด์ต เอามาตั้งเป็นชื่อหนังสือต้นฉบับหนังเรื่องนี้ในภายหลัง

03 | The Irishman ตัวจริงและมาเฟียในเครือข่าย

Frank Sheeran (The Irishman)

The Irishman

        แฟรงก์ ชีแรน คือชาวไอริชผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่เคยร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะหันเหตัวเองมาเป็นพนักงานขับรถส่งเนื้อสเต๊ก จนรู้จักกับเหล่ามาเฟียทั้ง รัสเซล บัฟฟาลิโน และผู้มีอิทธิพลระดับสูงขึ้นไปอีกอย่าง อังเจโล บรูโน ก่อนที่เขาจะเริ่มฝึกหัดรับทาสีบ้านตามใบสั่งของมาเฟียรุ่นใหญในอเมริกา แต่ว่ากันว่า ด้วยความที่แฟรงก์ไม่ใช่คนอิตาลีทำให้เขาไม่ถูกยอมรับในแวดวงมาเฟียเท่าไหร่นัก เขาจึงได้งานหลักคือการเป็นมือขวาของ จิมมี ฮอฟฟา ประธานสหภาพแรงงาน บุคคลผู้มีอิทธิพลในสังคมอเมริกัน

 

Jimmy Hoffa

The Irishman

        จิมมี ฮอฟฟา หรือ เจมส์ ริดเดิล ฮอฟฟา เดิมทีเขาคือเด็กอายุ 14 ที่ออกจากโรงเรียนมาทำงานในร้านขายของชำเต็มเวลา วีรกรรมของเขาคือการชักชวนพนักงานในร้านต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของนายจ้าง เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม ต่อมาในปี 1932 เขาจึงได้เข้าร่วมกลุ่ม The International Brotherhood of Teamsters (IBT) หรือกลุ่มสหภาพแรงงาน ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพภราดรภาพผู้ขับรถบรรทุก ที่มีสมาชิกสูงถึง 2.3 ล้านคน 

        ในช่วงนั้นจิมมีคือชายผู้โด่งดังและปังมาก คำโปรยในหนังเรื่องนี้ที่บอกว่า เขาโด่งดังกว่า เอลวิส เพรสลีย์ หรือวงเดอะบีเทิลส์ ศิลปินก้องโลกทั้งสองไม่ได้เกินเลยแต่อย่างใด แต่สุดท้ายด้วยนิสัยส่วนตัวและความหลงใหลในอำนาจของประธานสหภาพทำให้เขาถูกหักหลังจนต้องติดคุกอยู่ช่วงหนึ่ง หลังได้รับการปล่อยตัวออกมาเขาก็ถูกอุ้มหายไปจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในย่านดีทรอยต์ไปตลอดกาล

 

Russell Bufalino

The Irishman

        รัสเซล บัฟฟาลิโน หรือนามแฝงในวงการว่า The Old Man มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ย่านมาเฟียในซิซิเลีย ประเทศอิตาลี ที่ต่อมาได้ย้ายมาอยู่เมืองบัฟฟาโลในรัฐนิวยอร์ก และเริ่มก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้นำของมาเฟียในตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย และฟิลาเดลเฟีย

        วีรกรรมอื้อฉาวส่วนใหญ่ของรัสเซลจะไม่ใช่การสังหารหรือฆาตกรรม (เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของช่างทาสีบ้านอย่างแฟรงก์) แต่เขามักเป็นผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจอันดำมืดของกองกำลังทหารสหรัฐฯ มากกว่า ทั้งการซื้อขายอาวุธปืนอย่างลับๆ ให้กับปฏิบัติการบุกอ่าวหมู การปะทะกับประเทศคิวบา หรือแม้กระทั้งความพยายามในการลอบสังหาร ฟิเดล กัสโตร และ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ก็เช่นกัน 

        ตลอดชีวิตการเป็นมาเฟีย รัสเซลถูกจับกุมอยู่หลายครั้งแต่ก็มักจะเป็นคดีเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่ทำให้เขาเสียฐานอำนาจเหมือนกับจิมมี แต่สุดท้ายเขาถูกจำคุกฐานสมรู้ร่วมคิดในการพยายามฆ่าพยานคนหนึ่งในคดีของเขา แต่ด้วยวัยที่ชรามากทำให้สุดท้ายเขาเสียชีวิตขณะถูกคุมขังในวัย 90 ปี

        ในหนังเรื่อง The Irishman ได้ โจ เปรสซี มารับบทเป็นรัสเซล มีข่าวลือว่ากว่าเขาจะยอมรับบทดังกล่าว (เนื่องจากโจได้ลาวงการนักแสดงไปแล้ว) มาร์ตินต้องขอร้องให้เขารับงานนี้มากกว่า 50 ครั้งด้วยกัน เขาถึงยอมใจอ่อนร่วมเล่นหนังเรื่องนี้ด้วย

 

The Irishman

04 | Frank Sheeran’s-eye View

        ตลอดเรื่องเราจะเห็นว่าหนังถูกดำเนินผ่านการบอกเล่าของ แฟรงก์ ชีแรน ในช่วงชีวิตที่แก่หง่อมเอามากๆ ผ่านการให้สัมภาษณ์แก่ใครสักคนหนึ่ง นั่นคือ ชาร์ลีส์ แบรนด์ต ที่กำลังสัมภาษณ์นักฆ่าวัยชราสำหรับเขียนหนังสือ I Heard You Paint Houses 

        ทำให้หนังเรื่องนี้เลือกใช้วิธีเล่าผ่านคำพูดของแฟรงก์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถูกกำกับด้วยปากของเขาอีกทีหนึ่ง ทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ช่วงต้นเรื่องมีการขึ้นข้อความตัวใหญ่ว่า I Heard You Paint Houses เพื่อกล่าวอ้างว่าหนังดำเนินตามหนังสือเล่มนี้ของชาร์ลีส์ โดยการสัมภาษณ์ครั้งนั้นเป็นช่วงเวลาหนึ่งเดือนสุดท้ายของแฟรงก์ ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2003

 

The Irishman

05 | เบื้องหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี

        จากคำบอกเล่าของแฟรงก์ หนึ่งในลูกหนี้จากกองทุนสหภาพแรงงานของ จิมมี ฮอฟฟา คือเพื่อนสนิทของโจ เคนเนดี (พ่อของจอห์น เอฟ. เคนเนดี) ทำให้ตระกูลเคนเนดีจึงมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับฮอฟฟาและเหล่ามาเฟียที่มีอิทธิพลในหลายรัฐ จนมีข่าวลือว่าฮอฟฟาและมาเฟียกลุ่มนี้คือเบื้องหลังที่ช่วยโกงผลการเลือกตั้งให้ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา (การที่กลุ่มมาเฟียเข้าช่วยเหลือจอห์นทำให้พวกเขาเป็นนายทุนหลักในการซื้อขายอาวุธที่ใช้ในการปฏิบัติการบุกอ่าวหมูของสหรัฐฯ)

        แต่แทนที่ JFK จะตอบแทนบุญคุณเขากลับแต่งตั้ง ‘คณะล่าฮอฟฟา’ ขึ้นมาจัดการฮอฟฟาโดยเฉพาะ (เพื่อหวังล้างมลทินในการโกงเลือกตั้งออกไป) ทำให้สุดท้ายครอบครัวเคนเนดีต้องถูกกำจัดทิ้งออกจากระบบมาเฟีย จนกลายเป็นเหตุฆาตกรรม จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในที่สุด

        *ข้อมูลนี้อ้างอิงจากคำบอกเล่าของ แฟรงก์ ชีแรน จากหนังสือเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับการยอมรับอย่างเปิดเผยแต่อย่างใด

 

The Irishman

06 | ปมปริศนาคดีของฮอฟฟา 

        หลังจาก จอห์น เอฟ. เคนเนดี แต่งตั้ง โรเบิร์ต เคนเนดี เป็นอัยการสูงสุดในปี 1961 ชื่อของ จิมมี ฮอฟฟา จึงพุ่งไปอยู่อันดับบนสุดในลิสต์เป้าหมายในการกำจัดทิ้งของอัยการสูงสุด ฮอฟฟาถูกกล่าวหาว่าปล่อยเงินกู้ให้มาเฟียทั่วประเทศ สุดท้ายเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจากข้อหาฉ้อโกง และติดสินบน ต้องถูกพิพากษาให้จำคุก 13 ปีในเรือนจำของรัฐ แต่หลังจากการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ฮอฟฟาพยายามหาทางกลับคืนสู่อำนาจสู่สหภาพแรงงานอยู่หลายครั้ง

        แต่ในขณะนั้น ผู้นำของสหภาพคือ แฟรงก์ ฟิตซ์ซิมมอนส์ ทำให้การที่จะมายึดอำนาจตามใจฉันของฮอฟฟาย่อมส่งผลต่อระบบของมาเฟียที่วางการสืบทอดอำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว เขาจึงกลายเป็นที่หมายหัวอีกครั้งโดยกลุ่มมาเฟียอิตาลีแทน แต่ถึงอย่างนั้น ฮอฟฟาก็ยังทะนงตัวและหยิ่งในศักดิ์ศรีของอดีตผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานตลอดเวลา จึงเกิดเป็นเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างเขาและกลุ่มมาเฟียอย่างรุนแรง

        ตามบันทึกจากคำให้การของพยานหลายปาก ฮอฟฟาน่าจะถูกสังหารหลังจากการพบปะกับใครคนหนึ่งในย่านดีทรอยต์ ร่างกายที่ไร้วิญญาณของเขาคงถูกฝังหรือกลบเกลื่อนร่องรอยทันที แต่สุดท้ายก็ไม่มีพยานบุคคลหรือหลักฐานใดมีน้ำหนักมากพอว่าใครเป็นผู้ฆาตกรรม แม้ แฟรงก์ ชีแรน จะรับสารภาพว่าเขาเป็นผู้ปลิดชีพฮอฟฟาก็ตาม

 

The Irishman

07 | Russell Bufalino สั่งฆ่า Jimmy Hoffa หรือไม่?   

        จากรายงานของกลุ่มสหภาพแรงงานรถบรรทุกเคยพูดถึงเรื่องราวของ จิมมี ฮอฟฟา ไว้ว่า หลังจากที่เขาพ้นโทษจำคุกและตั้งใจกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในฐานะหัวหน้าสหภาพแรงงานอีกครั้งตามเนื้อเรื่องของ The Irishman  รายงานเล่าว่า หลังจากที่คนในองค์กรไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของจิมมี เขาจึงเริ่มหันไปร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหวังเปิดโปงบุคคลเบื้องหลังสหภาพแรงงานอีกมากมายทั้งนายทุน นักการเมือง รวมไปถึงมาเฟีย ทำให้ รัสเซลล์ บัลฟาลิโน กับมาเฟียอิตาลีอาวุโสอีกสองคน (ผู้ที่สวมแหวนตามเนื้อเรื่องในหนังก่อนที่จะตกมาถึงแฟรงก์) จึงตัดสินใจปิดปากเขาเสียก่อน โดยการนัดฮอฟฟาให้มาเจอกันที่ร้านอาหารในชานเมืองดีทรอยต์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2518 ก่อนที่เขาจะหายตัวไปในที่สุด

 

The Irishman

08 | ปลาสด สัญลักษณ์แห่งความตาย

        หนึ่งเรื่องราวที่ยังคงเป็นปริศนาในฉากเข้มข้นช่วงสุดท้ายของเรื่องคือการที่ ชักกี้ โอไบรอัน ลูกชายของ จิมมี ฮอฟฟา นำปลามาไว้บนรถตามคำสั่งของมาเฟียอิตาลี 

        เรื่องนี้มีคนวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหนังมาเฟียชื่อดังอย่าง The Godfather (1972) ในตอนที่ซันนีไม่สามารถติดต่อ ลูกา บราซี ได้ จนกระทั่งเขาได้รับพัสดุเป็นปลาห่อกระดาษส่งมาถึงบ้าน เขาจึงรู้ว่า ลูกา บราซี นอนอยู่ใต้ท้องทะเลกับปลาเรียบร้อยแล้ว เพราะปลาสดๆ ตามความหมายในหมู่มาเฟียย่านซิซิเลีย เป็นสารที่สื่อถึง ‘ความตายที่กำลังมาเยือน’ ทำให้ใน The Irishman การนำปลามาส่งให้ลูกชายคนสนิทของจิมมีอย่างชักกี้ ก็เป็นเหมือนลางบอกเหตุอย่างหนึ่งว่าพ่อของเขา ‘ถึงเวลา’ แล้วเช่นกัน

        อีกรายละเอียดเล็กน้อยในฉากนี้ที่อยากเสริมคือเหตุผลแท้จริงของแฟรงก์ที่ไม่ยอมนั่งที่เบาะหน้า เพราะเขารู้ดีว่าคนที่นั่งเบาะหน้าย่อมจะถูกรัดคอจากเบาะหลังได้แน่ๆ หากเขาไม่ยอมทำตามแผนครั้งนี้ (ในต้นเรื่องจะมีการรัดคอแบบนี้เกิดขึ้นให้เห็นเช่นกัน)

 

The Irishman

09 | แท้จริงแล้ว The Irishman อาจไม่ใช่ฆาตกร

        แม้สุดท้ายบทสรุปของ จิมมี ฮอฟฟา ในหนังเรื่องนี้จะถูก แฟรงก์ ชีแรน ทำการทาสีบ้าน (ปลิดชีวิต)ในฉากสุดท้าย แต่หากพูดถึง จิมมี ฮอฟฟา ตัวจริง ตามแฟ้มคดีการเสียชีวิตของเขา มีการลงบันทึกว่า จิมมี ฮอฟฟา หายตัวไปอย่างเป็นปริศนา โดยที่ไม่มีใครทราบว่าใครเป็นผู้ร้ายในคดีนี้ด้วยซ้ำ

        เพราะบทสรุปตามหนังเรื่องนี้อ้างอิงตามคำบอกเล่าของ แฟรงก์ ชีแรน ที่ให้สัมภาษณ์กับ ชาร์ลีส์ แบรนด์ต เอาไว้ในหนังสือต้นฉบับ ทำให้ยังมีอีกหลายฝ่ายที่เชื่อว่าแฟรงก์ตั้งใจโกหกเพียงหวังเพื่อปลุกกระแสให้หนังสือเล่มนี้โด่งดังขึ้นมาเท่านั้น (เพราะผู้มีสิทธิ์รับรายได้จากหนังสือเล่มนี้มีชื่อลูกของแฟรงก์อยู่)

        จอห์น คาร์ล เบเกอรี หนึ่งในมาเฟียย่านฟิลาเดลเฟียเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า เขารู้จักกับแฟรงก์ดี และยืนยันว่าเขาไม่ใช่คนฆ่าจิมมีแน่นอน “แม้แต่แมลงวันสักตัวเขายังไม่เคยฆ่าเลย” จอห์นกล่าว เช่นเดียวกับ จอห์น แทมม์ อดีตเจ้าหน้าที่ FBI ในฟิลาเดลเฟียผู้เคยสอบสวนแฟรงก์ ก็พูดถึงคำให้การของเขาว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่เกินจะเชื่อถือ เพราะว่ากันตามตรง ข้อมูลของแฟรงก์ในแฟ้มคดีอาชญากรรมไม่เคยปรากฏว่า เขาเคยลงมือฆ่าใครได้จริงๆ แม้แต่คนเดียว

 

The Irishman

10 | เทคโนโลยี De-Aging CGI

        ในส่วนของงานสร้าง เทคโนโลยี De-Aging CGI คือเทคนิคพิเศษที่เกิดจากความรั้นของมาร์ตินเอง ที่เขาไม่ต้องการให้นักแสดงคนอื่นมารับบทแทน 3 นักแสดงหลักของเขาในช่วงอายุอื่นๆ ทั้งในวัยหนุ่มและวัยชรากว่าปัจจุบัน เขาจึงสนใจเทคนิคพิเศษนี้ในการทั้งลดและเพิ่มอายุของนักแสดงหลักแทน โดยวิธีการคือให้ตากล้องของหนังใช้กล้อง 3 ตัวในการถ่ายทำพร้อมกัน โดยใช้กล้องฟิล์มเป็นกล้องหลัก และกล้องดิจิตอลอีกสองตัวที่มาพร้อม CGI ที่สามารถทำเอฟเฟ็กต์ลดอายุแบบคร่าวๆ ได้

        แต่การจะได้มาซึ่งภาพที่อ่อนกว่าวัยของนักแสดงในเรื่องนั้นก็ต้องแลกมาด้วยงบประมาณมหาศาลจนทำให้นายทุนแรกเริ่มอย่าง Paramount Pictures ถอดใจกับโปรเจ็กต์นี้ ก่อนที่ Netflix จะกลายเป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาซื้อลิขสิทธิ์ต่อด้วยเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่จะทุ่มเงินให้กับมาร์ตินอีกกว่า 159 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับเทคโนโลยี De-Aging CGI ที่เขาต้องการ

11 | สถิติตัวเลขที่น่ากลัวของมาร์ติน 

        ความน่าสนใจในขั้นตอนการสร้างหนังเรื่องนี้ที่ทำให้แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ ของมาร์ตินคือการทุ่มทุนสร้างให้กับ The Irishman อย่างมหาศาล 

        สถิติตัวเลขอันบ้าคลั่งของหนังเรื่องนี้มีให้เห็นตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมงานที่กินเวลานานถึง 10 ปี จนได้หนังที่มีความยาว 220 นาที ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 160 วัน ใช้กล้องมากถึง 9 ตัว ฉากในหนังมีทั้งหมด 309 ฉาก จากการเปลี่ยนสถานที่ถ่ายทำมากถึง 117 แห่ง และมีนักแสดงในเรื่องทั้งหมดถึง 200 คนด้วยกัน