the shining

The Shining: หนังผีที่ไม่มีผีฉบับของ สแตนลีย์ คูบริก

“คุณอาจคิดว่าหนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับความตาย เรื่องสยองขวัญและพลังวิเศษ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ผมต้องการบอกเล่าคือเรื่องราวเชิงจิตวิทยาที่สามารถเปลี่ยนมนุษย์คนหนึ่งให้กลายเป็นอีกคนหนึ่งได้อย่างสิ้นเชิง เหมือนที่ทุกคนเห็นในตอนจบของหนัง”

        คำบอกเล่าของ สแตนลีย์ คูบริก ผู้สร้างหนังสยองขวัญอย่าง The Shining (1980) คือคำอธิบายถึงความตั้งใจของเขาที่สนใจจะบอกเล่าเรื่องราวของจิตใจมากกว่าสิ่งอัศจรรย์และพลังวิเศษต่างๆ ดังที่นวนิยายต้นฉบับของ สตีเฟน คิง เคยบรรยายเอาไว้

        ทำให้สิ่งที่เห็นใน The Shining ตลอดทั้งเรื่องคือความอ้างว้างของโรงแรม Overlook ท่ามกลางหิมะขาวโพลน ที่ส่งผลต่อจิตใจของ แจ็ก ทอร์แรนซ์ นักเขียนหนุ่มผู้ได้รับการว่าจ้างเฝ้าโรงแรม ให้กลายเป็นคนวิปลาสและบ้าคลั่งถึงขนาดหยิบขวานออกมาทำร้ายลูกเมียได้อย่างเลือดเย็น 

        จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า สแตนลีย์ คูบริก มีวิธีการอย่างไรในการสร้างบรรยากาศของความเปลี่ยวเหงา วังเวง และน่าสะพรึงกลัว ให้ออกมาดูสมจริงสมจัง จนกลายเป็นความสยองขวัญและสร้างบรรทัดฐานของหนังผีที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภูตผีปีศาจได้ในที่สุด 

 

the shining

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหา The Shining (1980)*

        1. ตามเนื้อเรื่อง โรงแรมโอเวอร์ลุก (Overlook) ที่เป็นจุดเกิดเหตุสยองขวัญ หากอ้างอิงตามหนังสือต้นฉบับของ สตีเฟน คิง ที่บอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมากจากโรงแรมสแตนลีย์ (Stanley) ในรัฐโคโลราโด ที่ตัวเขาและภรรยาได้พักที่โรงแรมแห่งนี้ในช่วงก่อนที่โรงแรมจะหยุดให้บริการประจำปี อีกทั้งโรงแรมสแตนลีย์ยังมีชื่อด้านผีๆ สางๆ ด้วย มีคนเห็นผู้ก่อตั้งโรงแรมซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเดินอยู่ในโรงแรมบ้าง หรือมีเปียโนส่งเสียงขึ้นมาเองทั้งที่ไม่มีคนเล่นบ้าง

        ทำให้คิงเริ่มสร้างเรื่องราวของโรงแรมเขย่าขวัญที่เต็มไปด้วยพลังงานลึกลับอยู่ภายในจนเป็นนวนิยายเรื่อง The Shining ซึ่งชื่อดังกล่าวถูกตั้งโดยอ้างอิงมาจากเพลง Instant Karma ของ จอห์น เลนนอน อดีตสมาชิกวง The Beatles ซึ่งจะมีท่อนที่ร้องว่า ‘We all shine on’

the shining

 

        2. หลังจากที่ สแตนลีย์ คูบริก ได้สร้างหนังอย่าง Barry Lyndon (1975) ออกมา เขาก็เริ่มมองหาบทสำหรับหนังเรื่องต่อไป โดยเลขาส่วนตัวคูบริกในช่วงเวลานั้นเล่าว่า ในทุกๆ วันเธอมักจะได้ยินเสียงหนังสือถูกฟาดใส่กำแพงในห้องของเขา ซึ่งนั่นหมายความว่าหนังสือเล่มนั้นไม่ดีพอสำหรับเป็นบทหนังได้ (โหดจัง)

        แต่วันหนึ่งหลังจากที่คูบริกเริ่มอ่านนวนิยายของ สตีเฟน คิง อย่าง The Shining เธอก็ไม่เคยได้ยินเสียงหนังสือกระทบกำแพงอีกเลย นั่นทำให้เธอรู้ทันทีว่าหนังเรื่องต่อไปของเขาต้องถูกดัดแปลงมาจากนวนิยายเล่มนี้แน่นอน

        โดยในเวอร์ชันภาพยนตร์ ​คูบริกยกกองไปถ่ายทำกันที่โรงแรม Timberline Lodge ในรัฐออเรกอน และมีการเปลี่ยนเลขห้องจาก 217 ตามหนังสือ เป็น 237 แทนเพราะทางโรงแรมขอให้ใช้เลขห้องที่ไม่มีอยู่จริง เพราะกลัวลูกค้าจะไม่กล้าเช่าห้องดังกล่าวหลังจากหนังเรื่องนี้ฉายออกไป (ฝรั่งก็เชื่อเรื่องอะไรแบบนี้เหมือนกัน)

 

the shining

 

        3. หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จสิ้นและปิดกล้องเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงโปรโมตภาพยนตร์มีบทสัมภาษณ์ของนักแสดงในเรื่องมากมาย ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความเฮี้ยนของโรงแรมโอเวอร์ลุกที่พวกคุณเห็น เทียบกับความเฮี้ยนของ สแตนลีย์ คูบริก แล้วเด็กน้อยมากๆ

        เพราะในการกำกับหนัง ผู้กำกับเจ้าระเบียบคนนี้พยายามใส่รายละเอียดเล็กน้อยต่างๆ เพื่อให้ออกมาสมบูรณ์ตามใจของเขามากที่สุด ความลำบากจึงตกไปอยู่กับนักแสดงและทีมงานที่ต้องถ่ายทอดออกมาให้ตรงกับสิ่งที่อยู่ในหัวเขา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างฉากกินแซนด์วิชของ แจ็ก ทอร์แรนซ์​ ที่เขาให้ แจ็ก นิโคลสัน ผู้ซึ่งเกลียดแซนด์วิชเข้าไส้ กินมันจริงๆ เพื่อหวังว่านักแสดงคนนี้จะแสดงสีหน้าขยะแขยงออกมา 

 

the shining

 

        ไปจนถึงความเจ้าระเบียบที่บ้าคลั่งมากๆ อย่างฉากที่เวนดี้ต้องหวดแจ็ก สามีของเขา เชลลีย์ ดูวัลล์ ผู้รับบทเวนดี้เล่าว่า พวกเขาต้องถ่ายฉากนี้ซ้ำๆ หวดไม้ซ้ำๆ ไปจนกว่าคูบริกจะพอใจ ซึ่งกว่าจะได้ฉากนั้นมา ใช้เวลาถ่ายทำนานถึง 3 อาทิตย์​ และมีจำนวนซีซันที่ถ่ายไปมากถึง 127 ครั้ง! จนทำให้ฉากนี้ได้รับการบันทึกโดยกินเนสส์บุ๊ก ว่าเป็นฉากที่มีการถ่ายทำมากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่บ้าคลั่งจนทำให้เธอในฐานะนักแสดงมีอาการเครียดจนผมร่วงออกมาอย่างเห็นได้ชัด

        นอกจากนี้ยังมีความเฮี้ยนของคูบริกอีกมากมายถูกบอกเล่าเอาไว้ ทั้งฉากเลือดทะลักออกมาจากลิฟต์ก็ใช้เวลาในการถ่ายทำถึง 9 วัน เพราะคูบริกมักจะสั่งให้ถ่ายใหม่พร้อมกับความเห็นที่ว่า “มันไม่เห็นเหมือนเลือดเลย” ไปจนถึงการเลือกโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ที่คูบริกสั่งให้บริษัทผู้สร้างแก้ไขมากกว่า 300 เวอร์ชัน จนได้แบบที่เขาพอใจในที่สุด

 

the shining

the shining

 

        4. ในฉากสุดคลาสสิกที่ แจ็ก นิโคลสัน ใช้ขวานจามประตูห้องน้ำแล้วโผล่หน้าสุดจิตแล้วพูดว่า “Here’s Johnny!” ที่ในหนังเป็นฉากสั้นๆ แต่ เชลลีย์ ดูวัลล์ เคยให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นอีกหนึ่งฉากที่อยู่ในคอลเลกชันความเฮี้ยนของคูบริกเหมือนกัน เพราะกว่าจะได้เทกที่สมบูรณ์แบบ ต้องใช้เวลาถ่ายถึง 3 วัน และใช้ประตูถึง 60 บานด้วยกัน ซึ่งในตอนแรกฝ่ายทำฉากได้ออกแบบประตูให้ใช้ขวานจามพังได้ง่ายๆ แต่ทว่า แจ็ก นิโคลสัน เคยเป็นอาสาสมัครดับเพลิงมาก่อน จึงใช้ขวานได้คล่องและกลายเป็นว่าเขาทำประตูพังง่ายจนเกินไป ทางฝ่ายทำฉากเลยต้องทำประตูให้แข็งแรงเพื่อให้ได้อารมณ์แบบที่คูบริกต้องการ

        ส่วนประโยคสุดคลาสสิกอย่าง “Here’s Johnny!” ในความเป็นจริงแล้ว คูบริกไม่เคยเขียนลงไปในบทแต่อย่างใด แต่เป็น แจ็ก นิโคลสัน เองต่างหากที่ด้นสดแต่งเติมลงไป โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1960 เมื่อ จอห์นนี แคช นักร้องชื่อดัง ใช้ขวานทำลายประตูที่เชื่อมต่อระหว่างห้องพักสองห้องที่เขาและสมาชิกวงใช้ขณะทัวร์ จากนั้นก็เจาะประตูหนึ่งจากทางเดินเพื่อให้มันดูราวกับว่าโจรได้บุกเข้าไปในห้องแล้ว

 

the shining

 

        5. สแตนลีย์ คูบริก ใช้เวลาหาประโยคบนงานเขียนของแจ็ก อย่างเช่น “A stitch in time (รีบแก้ไขก่อนจะสาย)” อยู่นานมาก จนสุดท้ายมาลงเอยที่ “All work and no play make Jake a dull boy” นอกจากนั้นในเวอร์ชันสำหรับฉายต่างประเทศ ก็ยังใช้ข้อความที่แตกต่างกันไป เช่น ในเวอร์ชันอิตาลี ใช้ “ll mattino ha I’ oro in bocca” (เขา ผู้ซึ่งตื่นแต่เช้าและพบวันที่สดใส) ในเวอร์ชันเยอรมันใช้ประโยค “Was Du heute kannst besorgen, das verschiebe nicht auf Morgen (อย่าผัดวันประกันพรุ่งในสิ่งที่ทำได้ในวันนี้) ในเวอร์ชันสเปนใช้ “No por mucho madrugar amamece ms temparno (แม้ว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นแต่เช้า แต่ฟ้าก็ยังไม่สว่างในทันที)

        ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษดั้งเดิมที่เห็นเป็นตัวพิมพ์ดีด แจ็ก นิโคลสัน เป็นคนอาสาพิมพ์เองทั้งหมดเพื่อให้อินกับบท

 

the shining

 

        6. ในฉากที่ เวนดี้ ทอร์แรนซ์ ต้องมาขัดช่วงเวลาทำงานของ แจ็ก ทอร์แรนซ์ จนเขาต้องระเบิดอารมณ์ออกมา สตีเฟน คิง เล่าว่า เขาได้แรงบันดาลใจมากจากเวลาที่ลูกชายของเขาชอบเข้าไปเล่นในห้องทำงานและรื้องานเขียนของเขา คิงเล่าว่ามันทำให้เขารู้สึก ‘อยากฆ่าลูกชายตัวเองเลยทีเดียว’

the shining

 

        7. ในช่วงถ่ายทำ สแตนลีย์ คูบริก กลัวว่าการที่ แดนนี ลอยด์ (ผู้รับบท แดนนี ทอร์แรนซ์) ที่ต้องมาแสดงในหนังสยองขวัญในวัยเพียง 6 ขวบ จะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็กให้กับหนุ่มน้อยคนนี้ เขาจึงตัดสินใจหลอกแดนนีว่า ทุกฉากที่เขาแสดงเป็นฉากหนึ่งในหนังดราม่า และหลอกล่อให้เขาทำท่ากรี๊ด กลัว ตกใจ โดยไม่บอกว่าตรงหน้านั้นเป็นผี ทำให้ในเรื่องนี้เราจะไม่เห็นเจ้าหนูแดนนีร่วมฉากกับผีแม้แต่ตนเดียว

 

        8. อีกหนึ่งตัวละครที่เป็นปริศนาอย่าง โทนี ทอร์แรนซ์ หรือเพื่อนในจินตนาการของแดนนี ที่ในหนัง คูบริกไม่ได้อธิบายการมีอยู่ของตัวการนี้เท่าใดนัก แต่ในเวอร์ชันหนังสือ โทนีคือแดนนีตอนโตที่พยายามสื่อสารกับเขาจากโลกอนาคต (ในหนังสือชื่อกลางของแดนนีคือ แอนโทนี)

 

the shining

 

        9. ถึงหนังจะประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์ขนาดไหน แต่ผู้ให้กำเนิดเรื่องราวอย่าง สตีเฟน คิง กลับมีคำวิจารณ์ต่อหนังเรื่องนี้ไม่ดีเท่าไหร่ เขามักจะบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือน ‘รถแฟนซีที่ไม่มีเครื่องยนต์’ ทุกอย่างดูวูบวาบไร้ซึ่งแก่นใดๆ อีกทั้งเขายังไม่เข้าใจคนที่ชื่นชมหนังเรื่องนี้ด้วยว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงคิดว่านี่เป็นหนังที่น่ากลัว

 
the shining

 

      10. ในช่วงการถ่ายทำภาพยนตร์ ถึงแม้ The Shining จะเป็นเรื่องราวในช่วงมรสุมหนาวจัดที่เต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง แต่ในความเป็นจริง หนังเรื่องนี้ถ่ายทำกันในสตูดิโอในช่วงฤดูร้อน นั่นทำให้ทุกสิ่งที่เราเห็นในเรื่องนั้นไม่ได้มีความหนาวเหน็บเกิดขึ้นแต่อย่างใด และอุณหภูมิในสตูดิโอก็ร้อนจัด ในระดับที่ทำให้นักแสดงรวมถึงทีมงานจะสวมเสื้อผ้าเฉพาะเวลาที่พวกเขาต้องเข้าฉากจริงๆ เพียงเท่านั้น

   
        11. สำหรับใครที่ยังสงสัยในฉากสุดท้ายกับรูปภาพงานปาร์ตี้ของโรงแรมในวันชาติอเมริกา ได้มีทฤษฎีหนึ่งของออกมาสนับสนุนว่า เรื่องทั้งหมดในฉากนั้นคือการสื่อถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของอเมริกันอินเดีย ก่อนที่คนผิวขาวชาวอเมริกันจะยึดอาณาจักรและแต่งตั้งเป็นอเมริกาในภายหลัง เพราะหากมาพิจารณาต่อตำแหน่งที่ตั้งของโรงแรมสแตนลีย์ที่อยู่ในโคโรลาโด ยังเป็นที่ตั้งของชนเผ่าเก่าชาวอินเดียแดงนั้นเอง