พระสันตะปาปาคือผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก ที่สืบตำแหน่งจากนักบุญซีโมนเปโตร อัครทูตของพระเยซู โดยมีหน้าที่หลักในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์และตัดสินข้อขัดแย้งด้านความเชื่อภายในคริสตจักร
การเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงสมัยของคริสตจักรจะแตกต่างกันไปตามแนวคิดของพระสันตะปาปาในสมัยนั้น จึงทำให้มีหลายเหตุการณ์ที่ในช่วงเวลาหนึ่งคริสตจักรมองเป็นเรื่องผิดบาปก็กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในเวลาต่อมา
แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อในช่วงเวลาหนึ่ง กลับมีผู้นำที่เหล่าสาวกต้องศรัทธาถึง 2 พระองค์ในช่วงเวลาเดียวกัน และที่สำคัญ ทั้งสองพระองค์ยังมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ที่นอกจากจะนำไปสู่ความขัดแย้งในทิศทางของคริสตจักรแล้ว ยังสร้างข้อสงสัยให้กับเหล่าศาสนิกชนอีกว่า เราควรนับถือโป๊ปพระองค์ไหนกันแน่
01 | ความสำคัญในรอบ 600 ปี
ที่มาของชื่อ The Two Popes อ้างอิงมาจากเหตุการณ์สำคัญหลังจากที่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 สิ้นพระชนม์ในปี 2005 การคัดเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่มีผู้เข้าชิงอยู่สองท่านคือ พระคาร์ดินัลโยเซฟ รัทซิงเงอร์ และ พระคาร์ดินัลฮอร์เฮ มาริโอ เบร์โกกลิโอ ผลคือ พระคาร์ดินัลโยเซฟ รัทซิงเงอร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
ต่อมาในปี 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ประกาศลาออก โดยท่านให้เหตุผลว่า ‘ตนเองขาดความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจ’ ทำให้ต้องมีการหารือคัดเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ จนสุดท้าย พระคาร์ดินัลฮอร์เฮ มาริโอ เบร์โกกลิโอ ได้รับการคัดเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ถือเป็นเหตุการณ์ในรอบ 600 ปีที่มีพระสันตะปาปาถึง 2 พระองค์ในช่วงเวลาเดียวกัน (ถึงแม้สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์จะลาออกแล้ว แต่ก็ยังถือว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญ และมีผู้นับถืออยู่มาก) นับตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 12 ถูกอเล็กซานเดอร์ที่ 5 อ้างตนว่าเป็นพระสันตะปาปาเช่นเดียวกันในปี 1409
02 | Pope Benedict XVI
หลังจากการมารับตำแหน่งพระสันตะปาปาในปี 2005 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ถูกมองว่าเป็นพระสันตะปาปาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง
พระองค์ทรงมองว่ายุค 1960 เป็นช่วงเวลาที่มาตรฐานในสังคมสมัยก่อนเกี่ยวกับเรื่องเพศล่มสลายอย่างสิ้นเชิง ภาพยนตร์เกี่ยวกับเพศ ภาพโป๊ และแฟชั่นเสื้อผ้าในขณะนั้น นำไปสู่การล่มสลายทางจิตใจและความรุนแรง ทำให้ในเวลาที่คริสตจักรอ่อนแอ ไร้ทางต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทางออกเพียงทางเดียวของปัญหานี้ก็คือการเชื่อฟังคำสอนและรักพระเยซู ทำให้แนวคิดสมัยใหม่ อาทิ การรักร่วมเพศ หรือความรุนแรงทางเชื้อชาติ กลายเป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามในยุคสมัยของพระองค์
03 | Pope Francis
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส หรือพระนามเดิม ฆอร์เฆ หลุยส์ บอร์เกกลีโอ หลังจากรับตำแหน่ง ท่านทรงเทศนาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงแนวคิด ตลอดจนธรรมเนียมเก่าแก่ในคริสตจักร และมุ่งมั่นในการตรวจสอบแก้ไขความผิดพลาดของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการเงินบริจาคและทรัพย์สินของสำนักวาติกัน (The Vatican leaks scandal) การหาทางเยียวยาผู้ที่เคยถูกบาทหลวงและผู้เกี่ยวข้องกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศ สื่อบางแห่งเรียกพระองค์ว่า ‘โป๊ปนักปฏิวัติ’ ซึ่งถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่เป็นอนุรักษนิยมแบบสุดโต่งองค์หนึ่งในคริสตจักร
04 | The Vatican leaks scandal
ข่าวอื้อฉาวภายในคริสตจักร หลังจากที่นักข่าวชาวอิตาเลียน จิอานลุยจิ นุซซี ได้รับเอกสารภายในของสำนักวาติกันจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งมีเนื้อหาเปิดโปงเบื้องหลังสุดฉาวของศาสนจักรภายใต้การดูแลของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และนำออกมาเปิดเผย ทั้งการคอร์รัปชันภายใน รับฟอกเงินให้กับมาเฟียชาวซิซิลี หรือสั่งโยกย้ายใครก็ตามที่พยายามขัดขวางการทุจริต เป็นต้น
ภายหลังสำนักวาติกันออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าว และในเดือนตุลาคม 2012 ศาลวาติกันตัดสินให้ เปาโล กาเบรียลเล คนรับใช้คนสนิทของโป๊ปเบเนดิกต์ต้องโทษจำคุก 18 เดือน ข้อหานำเอกสารลับไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่สุดท้าย พระองค์ได้ให้อภัยโทษเปาโลเพราะเห็นแก่ที่เขาเคยเฝ้ารับใช้มานานหลายปี
05 | Search Google for New Pope
เฟอร์นันโด เมเรลเลส ผู้กำกับเรื่องนี้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่เขาตัดสินใจเลือก โจนาธาน ไพรซ์ มารับบทสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส จุดเริ่มต้นในช่วงแรกมาจากการที่เขายังไม่มีตัวเลือกนักแสดงใดสำหรับบทนี้ เขาจึงเริ่มค้นหารูปภาพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในกูเกิล สำหรับหานักแสดงที่มีหน้าตาใกล้เคียง
แต่ปรากฏว่านอกจากรูปของพระสันตะปาปาแล้ว รูปของ โจนาธาน ไพรซ์ มักจะปรากฏเวลาเขาค้นหารูปของท่านอยู่เสมอ เฟอร์นันโดจึงตัดสินใจลองนัดโจนาธานมาสัมภาษณ์ดู
06 | To be a Pope
ไม่ใช่เพียงแค่เฟอร์นันโดเท่านั้น ที่เห็นโจนาธานปรากฏอยู่ในกูเกิล เพราะตัวโจนาธานเองก็ยังเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโตเขากล่าวว่า
“ในวันที่พระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา ในอินเทอร์เน็ตก็เต็มไปด้วยภาพของท่านและตัวผม มันเยอะถึงขนาดที่ลูกชายของผมทักมาว่า พ่อเป็นพระสันตะปาปาเหรอ และแน่นอนว่าผมฝึกซ้อมการแสดงสำหรับบทดังกล่าวผ่านการดูรูปภาพในกูเกิลและคลิปสัมภาษณ์ต่างๆ ทางยูทูบด้วยเช่นกัน”
07 | Bella Ciao
ฉากที่หนังเล่าถึงภูมิหลังที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเผด็จการของทหารในอาร์เจนติน่า Bella Ciao เป็นเพลงที่ถูกบรรเลงประกอบเรื่องราวในช่วงนั้น
นั่นเป็นเพราะ Bella Ciao มักถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านต่อระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมในยุคต่างๆ โดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 1943-1945 เพลงนี้ถูกใช้ปลุกใจโดยกลุ่มกองกำลังต่อต้านต่อลัทธิฟาสซิสต์ รวมไปถึงการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องของฝ่ายนาซี (สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่เป็นชาวเยอรมัน ส่วนพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นชาวอาร์เจนตินา)
ปัจจุบันตัวเนื้อเพลงเองก็ยังถูกแปลออกไปอีกหลายภาษา เพื่อใช้แสดงออกถึงการต่อต้านในท้องที่และยุคสมัยอื่นๆ อีกจำนวนมาก รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยในบ้านเราได้ถูกขับร้องโดยวงไฟเย็น สำหรับเป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบอบเผด็จการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง
08 | บทเก่งของ โจนาธาน ไพรซ์
The Two Popes เป็นผลงานเรื่องที่ 4 ของ โจนาธาน ไพรซ์ ที่รับบทเป็นพระคาร์ดินัลต่อจาก Stigmata (1999), The Affair of the Necklace (2001) และ Wolf Hall (2015)
09 | ประวัติศาสตร์ที่ถูกแต้มเพิ่มเติม
แม้หนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่เหตุการณ์จะดำเนินตามประวัติศาสตร์และเหตุการณ์จริงทั้งจากบันทึกหรือคำสุนทรพจน์ต่างๆ ของพระสันตะปาปาทั้งสองพระองค์ แต่ทุกบทสนทนาที่เกิดขึ้นแบบลับๆ ระหว่างนักบุญทั้งสองล้วนเป็นการแต่งเติมจากจินตนาการของเฟอร์นันโดเองทั้งสิ้น
10 | ความสนิทสนมที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
มีการวิเคราะห์ในหลายๆ ฉากที่เกิดจากการแต่งเติมเองทั้งการกินพิซซ่าและแฟนต้า รวมไปถึงการรับชมฟุตบอลโลกระหว่างทีมชาติเยอรมนีและอาร์เจนตินาด้วย
เฟอร์นันโดผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า “การพบปะกันระหว่างพระสันตะปาปาทั้งสองคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (ตามที่ได้เห็นจากคลิปวิดีโอจริงในหนัง) แต่ทุกสิ่งที่อยู่ภายหลังประตูและอาคารต่างๆ นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ผมจินตนาการขึ้นมาทั้งสิ้น ผมเป็นแฟนตัวยงของพิซซ่าและแฟนต้า ผมเลยเลือกที่หยิบมาใช้ในเรื่องเท่านั้น และการนั่งดูฟุตบอลหรือลีลาการเต้นแทงโก้ของท่าน ทั้งหมดนี้ล้วนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด”
ในช่วงก่อนเปิดกล้อง ตอนแรกเฟอร์นันโดตั้งใจจะตัดเรื่องราวพวกนี้ทิ้งด้วยซ้ำ เขามองว่า ‘มันเป็นสิ่งไร้สาระเกินไป และคงไม่ทำงานกับหนังเรื่องนี้’ แต่พอหลังจากเขาปล่อยให้ แอนโทนี ฮ็อปกินส์ และ โจนาธาน ไพรซ์ ลองเล่นฉากนี้ ปรากฏว่ามันกลับใช้งานได้อย่างเหลือเชื่อ ทุกครั้งที่มีการพูดถึงฉากนี้ เฟอร์นันโดก็ยังให้เครดิตกับความสามารถของนักแสดงทั้งสองอยู่เสมอ