ฮิโระ มุราอิ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำมิวสิกวิดีโอ This is America ว่ามาจากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้อพยพตั้งแต่เด็ก ซึ่งเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ไชล์ดิช แกมบิโน เจ้าของผลงานเพลงต้องการเล่าถึงความแปลกแยกในการเป็นคนผิวดำในดินแดนแห่งเสรีภาพนี้
“ผมไม่ต้องการจะอธิบายเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ของตัวเองเลย มันไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องมาทำอย่างนั้น ซึ่งจะดีกับพวกคุณมากกว่าหากคุณได้เข้ามาดูแล้วออกไปด้วยความรู้สึกนึกคิดของคุณเอง” ความเห็นของแกมบิโน เจ้าของผลงานเพลง ที่ไม่ยินดีเท่าไหร่ที่หลายคนอยากให้เขาเปิดเผยความจริงที่แฝงอยู่ในวิดีโอนี้
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราในฐานะคนดู ที่ถึงแม้จะตีความไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงในการสร้างมิวสิกวิดีโอก็ตาม แต่ถ้าหากมันทำให้เกิดการขบคิด ตั้งคำถาม และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ นั่นก็คงเป็นจุดหมายปลายทางของวิดีโอตัวนี้ที่แกมบิโนตั้งความหวังไว้ก็ได้
จุดเด่นอันเป็นสลักสำคัญของวิดีโอชิ้นนี้คือ ‘ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม’
ในฉากเปิดของมิวสิกวิดีโอ เราเห็นชายคนหนึ่งกำลังตั้งท่าเหนี่ยวไกปืนใส่ชายอีกคนที่ถูกคลุมหัวอยู่บนเก้าอี้ ซึ่งซีนดังกล่าวชวนให้เรานึกถึงการเสียชีวิตของ เทรย์วอน มาร์ติน เด็กหนุ่มอายุ 17 ที่ถูกยิงขณะเดินกลับบ้านในปี 2012 เพราะถูกอาสาสมัครป้องกันชุมชนเข้าใจผิดว่าจะเข้ามาขโมยของ (https://edition.cnn.com/2013/06/05/us/trayvon-martin-shooting-fast-facts/index.html)
ความรุนแรงของ This is America ยังดำเนินต่อไป ทั้งในฉากกราดยิงคนผิวดำที่กำลังร้องประสานเสียง ซึ่งอ้างอิงไปถึง เหตุการณ์การสังหารหมู่ในโบสถ์ชาร์ลสตัน ปี 2015 ที่มีชายผิวขาวกราดยิงเข้าไปภายในโบสถ์ ทำให้คนผิวดำเสียชีวิตทั้งหมด 9 ราย (www.blackpast.org/african-american-history/charleston-church-massacre-2015)
หรือในเนื้อเพลงท่อนหนึ่งอย่าง ‘this a celly / that’s a tool’ ก็มีนัยแอบแฝงอยู่ หลายคนตีความว่า เป็นการสื่อถึงกรณีของ Stephon Clark ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซาคราเมนโตยิงจนเสียชีวิต เพราะคิดว่าเขาพกพาอาวุธปืน ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่อยู่ในมือของเขาเป็นเพียงแค่โทรศัพท์มือถือเท่านั้น
แต่เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น หากว่ากันตามสัดส่วนของมิวสิกวิดีโอ ความจริงที่โลกต้องรู้เช่นนี้กลับถูกเผยแพร่ให้เห็นเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ก่อนที่กล้องจะกลับมาจับภาพ ไชล์ดิช แกมบิโน ที่ตอนนี้กลายเป็นตัวแทนของคนอเมริกาเรียบร้อยแล้ว สังเกตได้จากกางเกงที่เขากำลังสวม ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่สมาพันธรัฐอเมริกาเคยใส่ปราบจลาจลผู้ที่เรียกร้องความเป็นไทให้กับทาสเมื่อปี 1865 สร้อยทองบนคอที่อาจสื่อความหมายถึงระบบทุนนิยมของประเทศแห่งความฝัน แต่ที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นท่าทางของ จิม โครว์ ที่เขาหยิบมาใช้ในตอนต้นของมิวสิกวิดีโอนี้
‘จิม โครว์’ คือชื่อของนักแสดงในช่วงทศวรรษ 1830 ที่มักจะแกล้งเป็นคนผิวดำโดยทาใบหน้าตนเองด้วยถ่าน จากนั้นก็จะทำการล้อเลียนเหมือนกับว่าเขาเป็นคนผิวดำที่โง่เขลา กลายเป็นรอยร้าวสำคัญระหว่างคนทั้งสองสีผิวในสหรัฐอเมริกา จนถึงขนาดที่ว่า หลังจากนั้น จิม โครว์ ได้กลายเป็นชื่อกฎหมายด้านเชื้อชาติที่ใช้บังคับต่อคนผิวดำ (Jim Crow Laws) ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อห้ามและข้อจำกัดสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน โดยมีสาระสำคัญคือ ‘คนดำด้อยกว่าคนขาว’ ตีกรอบให้เขาเป็นอเมริกันชนในฐานะพลเมืองชนชั้นรองเพียงเท่านั้น
แต่ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรไม่มีใครสน เมื่อทุกอย่างกลับถูกเพิกเฉย คนในสังคมเองก็พยายามกลบฝังปัญหา ด้วยการสร้างภาพที่สวยงามของประเทศผ่าน ‘สื่อบันเทิง’
อย่าเป็นคนมีปัญหา จงเต้น สะบัดต่อ อย่าไปรออะไรทั้งนั้น
I know you wanna party
Party just for free
Girl, you got me dancin’ (girl, you got me dancin’)
Dance and shake the frame
เนื้อร้องช่วงต้นคลิปที่ดูเหมือนจะชวนทุกคนออกมาเต้นเขย่าโลกและสนุกไปกับมัน แต่แท้จริงกลับมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น เมื่อมิวสิกวิดีโอนี้พยายามจะสื่อสารกับผู้ชมว่า แม้จะมีเนื้อหาที่รุนแรงขนาดไหน ทุกอย่างกลายเป็นสีพาสเทลและดูซอฟต์ลง เมื่อทุกคน ‘เต้น’ เพื่อที่จะลืมมัน
ท่าเต้นที่แกมบิโนใช้เต้นในวิดีโอคือการเต้นที่เรียกว่า ‘Gwara Gwara’ โดย เชอร์ลีน ซิลเวอร์ นักออกแบบท่าเต้นให้กับมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ ได้อธิบายเอาไว้ว่าการเต้นของ ไชล์ดิช แกมบิโน นั้น ช่วยดึงความสนใจของพวกเราให้ห่างไกลออกไปจากความบ้าคลั่งที่เกิดขึ้นในฉากหลัง และนี่คือสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อออกมา
หากเทียบตามหลักการที่เชอรีนอธิบายไว้จริง ตลอดเวลาที่มิวสิกวิดีโอเต็มไปด้วยเสียงปืน เลือด กองเพลิง และความรุนแรง ทุกอย่างดูจะถูกบดบังไป เมื่อเราเห็นแกมบิโนและเหล่าแดนเซอร์ของเขาออกมาร้องรำทำเพลงกันอย่างหน้าตาเฉย และยังทำให้พวกเราคนดูเองเลือกที่จะรับ ‘มหรสพจอมปลอม’ ที่แกมบิโนใช้บดบัง แทนที่จะมองเห็นความรุนแรงอันเป็นฉากหลังมากกว่า
ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมสื่อของอเมริกา ที่เลือกใช้สื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ และรายการทีวีประโคมเนื้อหาให้คนภายนอกเข้าใจว่าสหรัฐอเมริกาคือดินแดนแห่งเสรีภาพและความฝัน แม้ในโลกความจริงนั้นจะตรงกันข้ามและแตกต่างจนแทบไม่มีวันเข้าใกล้สิ่งที่สื่อกำลังกล่อมหูคนภายนอกเลยเพียงสักนิด
การที่เราเห็นเด็กจำนวนหนึ่งกำลังใช้โทรศัพท์มือถืออัดเหตุการณ์ทั้งหมดในมิวสิกวิดีโอนี้ อาจเป็นการตอบโต้ของคนในประเทศที่พยายามบอกกับคนดูว่า ’สื่อ’ ที่แท้จริงในประเทศนี้กลับเป็นวิดีโอคลิปจากโทรศัพท์ของประชาชน ซึ่งเป็นสายตาที่สามารถตีแผ่ความจริงที่เกิดขึ้นตามท้องถนน แม้แต่ในตรอกซอกซอย ในบ้านที่มีการข่มเหง และอีกหลายแห่งที่สื่อหลักของประเทศไม่มีวันจะหันกล้องมามองเลยสักครั้ง
ขอให้ความเจ็บปวดจากอเมริกา เป็นบทเรียนให้กับมนุษย์โลกทุกคน
ว่ากันตามตรง ตัวผมเองก็ยังคงนั่งเขียนบทความนี้จากประเทศไทย โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอเมริกาแต่อย่างใด แต่การที่ผมตัดสินใจหยิบคำบอกเล่าของ ไชล์ดิช แกมบิโน ในฐานะคนผิวดำอเมริกาคนหนึ่งที่ต้องเจอปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดูจะเป็นกระบอกเสียงที่เหมาะสมยิ่งกว่าในการบอกเล่าความเจ็บปวด (จริงๆ) ที่คนผิวดำได้รับจากความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์จากสังคมที่เกิดขึ้นในอเมริกา
การถ่ายทอด ‘ความบันเทิง’ ซึ่งเป็นฉากหน้าที่กำลังบดบัง ‘สังคมเมืองและผู้คนตามท้องถนน’ อันเป็นฉากหลังของอเมริกา ด้วยมิวสิกวิดีโอซึ่งเป็นสื่อบันเทิงแบบหนึ่งมาล้อเลียนอีกทีเช่นนี้คือประเด็นสำคัญที่เราควรตั้งคำถามถึง ว่าความบริสุทธิ์ของอเมริกาที่เป็นดินแดนเสรีภาพและความฝันนั้นจริงหรือไม่
ในฉากสุดท้ายของมิวสิกวิดีโอ ไชล์ดิช แกมบิโน กำลังวิ่งหนีคนบางกลุ่มอยู่ ที่มีความคล้ายกับฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Get Out (2017) ที่ตัวเอกกำลังหนีความผิดปกติของคนบางกลุ่มที่เห็นคุณค่าชีวิตไม่เท่ากัน ซึ่งคนกลุ่มนั้นอาจเป็นสื่ออเมริกันใน This is America ก็เป็นได้
มนุษย์ทุกคนบนโลก ณ ปัจจุบัน ล้วนมีสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะมีผิวสีอะไร หากพวกเราอยากเห็นสังคมที่กลายเป็น #Alllivesmatter ได้จริง เราอาจจะต้องมองเห็นปัญหาของ #Blacklivesmatter ให้แตกฉานและช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่สังคมในอุดมคติที่ทุกคนได้รับสิทธิและการยอมรับอย่างเท่าเทียมให้เกิดในทุกประเทศทั่วทุกมุมโลก
You just a black man in this world
You just a barcode
.
.
I kenneled him in the backyard
No probably ain’t life to a dog
For a big dog