Go Big or Go Home? วลีเด็ดที่เอาไว้ท้าทายเหล่าผู้กล้าและนักสู้ทั้งหลายด้วยข้อความที่ประมาณว่า ‘ถ้าพวกเอ็งไม่เล่นใหญ่ก็เก็บของกลับบ้านไปซะ’
แต่สำหรับโคลัมบัสและกลุ่มสมาชิกผู้รอดชีวิตใน Zombieland ภาคแรกนั้น พวกเขาเลือกที่จะ Go Big เล่นใหญ่ด้วยการไปถล่มเหล่าซอมบี้เพื่อช่วยชีวิตสองพี่น้องวิชิตาและลิตเติลร็อกเรียบร้อยแล้ว และเลือก Go Home กลับมายังใจกลางอเมริกาโดยมีจุดมุ่งหมายคือทำเนียบขาวที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของพวกเขา ก่อนที่การตัดสินใจนั้นจะนำมาสู่เรื่องราวในหนังภาคต่ออย่าง Zombieland: Double Tap (2019)
“หลังจากยุคโลกล่มสลาย ผมคิดว่าทำเนียบขาวน่าจะเป็นสถานที่น่าพูดถึงมากที่สุด เพราะในโลกที่เราไม่สามารถเข้าถึงสถานที่แห่งนั้นได้ ซอมบี้แลนด์อาจเป็นโลกใบเดียวคุณจะได้เห็นความลับที่ซ่อนอยู่ภายใต้บ้านสีขาวหลังนั้น ที่มีอยู่เต็มไปหมด” แรงบันดาลใจสำคัญจากปากของ รูเบน เฟลสเชอร์ ผู้กำกับ เล่าถึงความตั้งใจแรกที่อยากสร้างลูกเล่นต่างๆ ให้กับทำเนียบขาวดูออกมาสดและแปลกใหม่
จึงเป็นเหตุให้ในช่วงแรกของหนังที่ตัวละครอยู่ในทำเนียบขาว เรามักจะได้เห็นการกระทำอันแปลกประหลาดที่ไม่สามารถจะเห็นได้ในโลกปัจจุบัน ทั้งการปิดตารูป อับราฮัม ลินคอล์น ในห้องนอนเพราะกลัวจะนอนไม่หลับ การแต่งรถยนตร์ของตัวเองด้วยอะไหล่ระดับรถคุ้มกันประธานาธิบดี หรือแม้กระทั้งการได้เห็นสิ่งของหายากในทำเนียบขาวที่ถูกหยิบออกมาใช้เหมือนของเล่นชิ้นหนึ่งเท่านั้น
แต่ลูกเล่นของรูเบนเองก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่ในทำเนียบขาว เพราะหลังจากหนังเริ่มเดินหน้าและตัวละครเริ่มเดินเรื่อง ของเล่นชิ้นอื่นที่อยู่นอกทำเนียบขาวก็เริ่มปรากฏให้เห็นตามความตั้งใจของรูเบนตลอดทั้งเรื่องเช่นกัน
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหา Zombieland : Double Tap (2019)*
1. เริ่มตั้งแต่ชื่อเรื่องในภาคนี้เลยกับคำว่า Double Tap ที่เป็นการหยิบยืมมาจากกฎการเอาชีวิตรอดในซอมบี้แลนด์ข้อที่ 2 ของโคลัมบัสที่บอกว่า ต้องยิงซอมบี้ซ้ำ 2 ครั้งเพื่อความชัวร์!
2. ในภาคนี้ชื่อของประเภทซอมบี้แต่ละประเภทล้วนมีที่มาเจ๋งๆ ทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ซอมบี้ที่เงอะงะที่สุดอย่าง โฮเมอร์ (Homer) ก็มีที่มาจากตัวละครสุดบื้ออย่าง โฮเมอร์ ซิมป์สัน ในทีวีซีรีส์ The Simpsons
ต่อมาคือ ฮอว์กิง (Hawking) ซอมบี้ที่มีความเฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหา แน่นอนว่าชื่อนี้อ้างอิงมาจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก สตีเฟน ฮอว์กิง แต่มีอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือถ้าย้อนกลับไปที่จักรวาลของซิมป์สันแล้ว ฮอว์กิงยังเป็นชื่อญาติของ โฮเมอร์ ซิมป์สัน ที่ฉลาดกว่าเขาอีกด้วย
ส่วนซอมบี้ที่รวดเร็ว ว่องไว และจู่โจมอย่างฉับพลันชนิดไม่ทันรู้ตัว สมองก็ถูกแทะไปแล้วที่ชื่อนินจา (Ninja) ก็ไม่รู้ว่าเพราะความรวดเร็วเกินไปของมันหรือเปล่าที่ทำให้เราไม่เห็นพวกมันอีกเลยในหนังหลังจากเปิดตัว (ฮา)
3. สำหรับซอมบี้เหนือห่วงโซ่อาหารที่เร็วและอึดที่สุดจนโคลัมบัสต้องตั้งชื่อให้ว่า T-800 นั้น ก็ถูกตั้งชื่อตามหุ่นรบปัญญาประดิษฐ์อันทรงพลังจาก The Terminator แฟรนไชส์หนังเรื่องโปรดของโคลัมบัส ที่แสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์
ความน่าสนใจอีกอย่างคือนอกจากชื่อของ T-800 จะเป็นสิ่งที่ถูกอ้างอิงจากหนังเรื่องนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดเล็กน้อยอีกหลายส่วนที่อ้างอิงมาจากหนังเรื่องนี้เช่น ในฉากสุดท้ายของหนัง เสียงบรรยายประกอบเลือกใช้คำว่า Hasta la vista ภาษาสเปนที่แปลว่า ลาก่อน แทนภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นอ้างอิงมาจากวลีเด็ดของ T-800 ที่จอห์น คอนเนอร์ ได้สอนเขาภายในเรื่อง Terminator 2: Judgment Day (1991) หรือการจิกกัดอันเจ็บแสบที่ตัวละครในเรื่องต่างชอบ The Terminator ภาคสองมากกว่าภาคแรก (ในภาคแรก T-800 ยังเป็นเพียงตัวร้ายของเรื่องเท่านั้น จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าภาคสองที่เขากลายมาเป็นตัวเอกของเรื่อง)
4. หลังจากในภาคนี้กลุ่มตัวละครหลักได้มาหลบภัยอยู่ที่ทำเนียบขาว สิ่งแรกที่เราได้เห็นคือแทลลาแฮสซี (รับบทโดย วูดดี แฮร์เรลสัน) ได้ทำการประกอบร่าง เดอะ บีสต์ รถประจัญบานคู่ใจของเขาขึ้นใหม่ โดยใช้อะไหล่ซึ่งเป็นของใช้ภายในทำเนียบขาว
ซึ่งหากเราย้อนกลับไปในสมัยที่ บารัก โอบามา ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รถคันหน้าสุดในขบวนคุ้มกันความปลอดภัยด่านแรกของเขามีชื่อว่า The Beasts ซึ่งเป็นคันที่มีความปลอดภัยและอาวุธครบเครื่องที่สุด นี่จึงเป็นเหมือนการเสริมแต่งรถของแทลลาแฮสซีในระดับเดียวกับรถคุ้มกันประธานาธิบดีกันเลย
5. ในทำเนียบขาวเราจะได้เห็นสิ่งของหลายอย่างภายในนั้น แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นปืนโคลต์ .45 ที่แทลลาแฮสซีมอบให้ลิตเติลร็อก (อาบีเกล เบรสลิน) ซึ่งเป็นของขวัญจาก เอลวิส เพรสลีย์ ถึง ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในปี 1970
6. การพบเจอแมดิสันครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าของแทลลาแฮสซีและโคลัมบัส เธอเรียกแทลลาแฮสซีหลังจากที่เขาปรากฏตัวพร้อมกับเซกเวย์ (รถสองล้อสำหรับยืนขับ) ว่า พอล บลาร์ต เป็นการกล่าวถึงตัวละครหนึ่งจากเรื่อง Paul Blart: Mall Cop (2009) หนังตลกสุดป่วนที่ตัวเอกมีอาชีพเป็นตำรวจในห้างสรรพสินค้าที่มักขี่เซกเวย์คู่ใจให้เราเห็นจนเป็นภาพจำ
มีเกร็ดเล็กน้อยในช่วงถ่ายทำฉากนี้ที่ เจสซี ไอเซนเบิร์ก (โคลัมบัส) เคยกล่าวออกมาว่า นักแสดงอย่าง โซอี้ ดอยช์ (แมดิสัน) ตัวจริงเธอคือผู้หญิงที่ทรงเสน่ห์มากจนถึงขนาดเขาไม่กล้าสบตาเธอตรงๆ ในระหว่างเข้าฉากเลยทีเดียว
7. เราได้เห็นความรักของแทลลาแฮสซี ที่มีต่อ เอลวิส เพรสลีย์ หลายอย่างทั้ง Blue Suede shoes รองเท้าสีฟ้าคู่เก่งและยังเป็นชื่อเพลงดังที่ทำให้เอลวิสมีชื่อเสียง, Elvis Presley’s Pink Cadillac รถยนตร์สีชมพูคู่ใจที่ภายหลังจะเป็นต้นแบบให้กับวัยรุ่นในยุคนั้นขับตามอย่างมากมาย และ Elvis Presley’s Jumpsuits ขุดสีขาวตัวเก่งที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาไปแล้ว
แต่สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดที่เรากลับไม่มีโอกาสได้เห็นคือ Graceland คฤหาสน์หลังสำคัญของราชาเพลงร็อกแอนโรลล์ ที่ในเรื่องได้แปรเปลี่ยนสภาพเป็นซากปรักหักพังไปแล้ว
8. ฉากที่ต้องกำจัดแมดิสันทิ้ง โคลัมบัสได้กล่าวเป็นวลีว่า “ถึงเวลาแล้ว… ที่ต้องสอนเลนีเกี่ยวกับกระต่าย” นั่นเป็นบทพูดที่อ้างอิงถึงนิยายเรื่อง of Mice and Men (1937) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของสองหนุ่มจอร์จและเลนีที่ต้องอพยพจากชาวไร่ในแรงงานมุ่งสู่การหางานในเมืองหลวง ซึ่งวลีดังกล่าวเกิดขึ้นในฉากที่จอร์จต้องกำจัดเลนี เนื่องจากเขาไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวได้
9. ฉากสุดท้ายที่หอคอยบาบิลอน มีต้นกำเนิดความพินาศที่ถูกหยิบยืมมาจากฉากหนึ่งของ World War Z (2013) ที่ค่ายกักกันในเรื่องนั้นถูกซอมบี้โจมตีจากการก่อเสียงดังของคนในค่าย
นอกจากนี้ตัวหอคอยเองยังถูกอ้างอิงมาจากหนังซอมบี้บู๊แหลกอย่าง Resident Evil: The Final Chapter (2016) ที่ทั้งสองเรื่องนั้นต่างดำเนินเรื่องในตอนท้ายบนหอคอยเช่นกัน
10. ในตอนจบ แทลลาแฮสซีได้ใช้แผนวิ่งล่อให้ฝูงซอมบี้วิ่งตกจากหอคอยบาบีลอนทั้งฝูง ซึ่งนั่นอ้างอิงมาจากแผนของชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองที่จะล่าควายป่าด้วยการวิ่งล่อให้พวกมันวิ่งตกหน้าผา และใช่แล้ว… เขาได้แผนนี้มาจากการที่ตัวเองมีสายเลือดอเมริกันพื้นเมืองดังที่เคยกล่าวไว้ในตอนต้นของเรื่อง
11.ในฉาก End Credit ได้เปิดเผยวันเริ่มต้นของการระบาดซอมบี้ คือวันเดียวกันกับที่ บิล เมอร์เรย์ สัมภาษณ์ถึงการเปิดตัว Garfield 3: Flabby Tabby ในปี 2009 ซึ่งเป็นหนังที่เขาเกลียดที่สุดเหมือนที่เคยกล่าวเอาไว้ในภาคแรก นี่จึงเป็นเหมือนการพยายามลบล้างภาคต่อของการ์ฟีลด์ว่า สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะเกิดเหตุการณ์ซอมบี้ระบาดขึ้นก่อน
รวมถึงยังมีแก๊กเล็กน้อยให้เห็นในฉากนั้นทั้งวลีเด็ดอย่าง ‘ฉันเกลียดวันจันทร์’ ที่นอกจากจะเป็นคำพูดในเรื่องการ์ฟีลด์แล้ว ยังแอบโยงถึงหนังเรื่อง Groundhog Day (1993) ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีการทำเสียงล้อเลียนฉากแมวการ์ฟีลด์ขย้อนลูกบอลออกมาอีกด้วย