“กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้หรือยัง” นี่คือคำถามยอดฮิตในขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ลดลงอย่างมากในประเทศไทย และความยากลำบากของผู้คนในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้กำลังทวีคูณขึ้นทุกวันที่มาตรการล็อกดาวน์และการระงับธุรกิจบางประเภทยังคงมีผลอยู่
หากคำนวณความเสียหายจากพิษไวรัสนี้แบบหยาบๆ ด้วยหลัก Value of Statistical Life (VSL) ของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ชีวิตละ 9 ล้านบาท (TDRI) จะพบว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ไวรัสนี้คร่าชีวิตคนไทยไปไม่ถึง 60 คน หรือเทียบเป็นความเสียหายเชิงเม็ดเงินที่ราว 540 ล้านบาท (ไม่รวมผู้ติดเชื้อที่หายดีแต่ต้องทรมานหรือได้รับผลกระทบถาวร)
ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานี้ มีผู้ปลิดชีวิตตนเองเกือบเท่ากัน และยังไม่รวมถึงเรื่องราวความทุกข์ยากของผู้ที่กำลังลำบาก และแม้จะมีมาตรการเยียวยา ก็ยังเข้าไปไม่ถึงอย่างที่เราได้ยินกันมาโดยตลอด
นอกจากพิษต่อสาธารณสุขแล้ว พิษต่อระบบเศรษฐกิจเป็นเช่นไรก็คงไม่ต้องไปดู เพราะมันแย่กว่าแทบทุกวิกฤตในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา!
คำถามว่าเมื่อไหร่จะกลับมาใช้ชีวิตเมืองแบบเดิมได้ ร้านรวงไม่เจ๊ง จึงต้องตอบว่า “ต้องเร็วๆ นี้แล้ว”
ทว่า การตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้เปิดธุรกิจหรือให้กิจกรรมใดกลับมาเป็นปกติ หรือ ณ ท้องที่ใด ก่อนหลัง ไม่ใช่เรื่องง่าย
การผ่อนปรนที่เร็วหรือมากเกินไปจะทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดได้อีกระลอก อย่างที่เราเห็นในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยอยากเห็น เนื่องด้วยจำนวนประชากรของเราเทียบกับจำนวนอุปกรณ์การแพทย์ โรงพยาบาลแล้ว เราไม่สามารถทนการระบาดระลอกสองที่ใหญ่ๆ ได้
ดัชนีความเปราะบางเชิงสาธารณสุขและเชิงเศรษฐกิจ
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนและทีมงานที่บริษัท สยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง ได้พัฒนาดัชนี COVID-19 Vulnerability Index (CVI) ขึ้นมา เพื่อช่วยให้การเฝ้าระวังและควบคุมโรคกับการกระจายทรัพยากรเพื่อเยียวยาประชาชน ทั้งระหว่างและหลังวิกฤตนี้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Covid19.siametrics.com)
ในมุมสาธารณสุข Health CVI กำลังถูกใช้งานโดยกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยดัชนีจะสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากสามมิติ
1) ประชากรเสี่ยง ระดับอำเภอ โดยให้น้ำหนักผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวมากเป็นพิเศษ
2) ทรัพยากรสาธารณสุข ระดับโรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ
3) อัตราแพร่กระจายโรค ที่ปรับทุกวันตามจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งในท้องที่นั้นและรอบ ๆ
4) ความหนาแน่นและแออัดของประชากร จากคลังข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลสำรวจ
ส่วน Economic CVI ที่ชี้วัดความเปราะบางด้านเศรษฐกิจและปากท้อง ขณะนี้กำลังจะถูกใช้งานโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO) และแพลตฟอร์มการให้ เทใจ.com เพื่อใช้ในการตัดสินใจกระจายทรัพยากรให้เป็นไปตามหลักฐานเชิงข้อมูลมากขึ้น โดยดัชนีนี้จะดูจากสองมิติหลัก คือ
1) มิติความยากจนก่อนโควิด-19 เช่น ข้อมูลผู้มีรายได้น้อย ข้อมูลผู้ยากจน
2) มิติผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ข้อมูลตำแหน่ง ปริมาณ และฐานะการเงินของกิจการกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลคนตกงานจาก Google Trends และข้อมูลสัดส่วนแรงงานกลุ่มเปราะบางจากงานวิจัยของ ดร. เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ดร. ศุภนิจ ปิยะพรมดี, ดร. พรพจ ปรปักษ์ขาม และ ดร. นฎา วะสี
ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ จะพบว่าภาคใต้มีความเปราะบางทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจปากท้อง อีกทั้งยังอยู่ตรงชายแดนที่เพื่อนบ้านของเรายังคงระบาดอยู่
ทั้งนี้มิได้แปลว่าห้ามเปิดเมือง (เพราะเปราะบางเชิงเศรษฐกิจด้วย) แต่แปลว่าจำเป็นที่จะต้องถูกดูแลให้เข้มข้นเป็นพิเศษในระหว่างเปิดเมือง เพราะหากเกิดการระบาดระลอกสอง จะไปถึงจุดวิกฤตได้ง่ายกว่าท้องที่อื่นมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจังหวัดในบางภาคที่มีความเปราะบางเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังมีความยืดหยุ่นอยู่ตัวในเชิงสาธารณสุขมากกว่า เช่น เชียงใหม่
ที่น่าสนใจคือ แม้ในเมืองที่มิได้เปราะบางนัก ก็เป็นไปได้ที่จะมีตำบลหรืออำเภอที่เปราะบางในสองด้านนี้มากเป็นพิเศษ หรือมากเทียบเท่ากับท้องที่เล็กๆ ในจังหวัดที่เปราะบางที่สุดในประเทศไทยได้เหมือนกัน โดยเฉพาะตำบลที่แต่เดิมยากจนเป็นทุนเดิม และตำบลที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำ ทรัพยากร และถนนที่ดี หรือตำบลที่มีกลุ่มกิจการที่ไม่ค่อย diversified
ศิลปะ (และวิทย์) ในการเปิดเมืองและผ่อนปรน
หากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการตัดสินใจเปิดเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั่วโลกจะมีการพูดถึงโซลูชันที่ใช้ Contact Tracing ผ่านแอพพลิเคชัน หรือผ่าน wearables กันมาก และในบางประเทศอย่างไต้หวันก็มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ไอเดียที่น่าสนใจและใช้ประโยชน์จากโซลูชันนี้ก็คือ การค่อยๆ เปิดแบบเป็นหย่อมหญ้าสีเขียว เริ่มจาก Low Risk Economic Zones โดยไม่ได้ดูที่ลักษณะหรือประเภทของกิจกรรม แต่เริ่มจากการดูจากความเคลื่อนไหวของพนักงานส่วนใหญ่ เช่น พนักงาน 100% พักแถวโรงงาน ไม่ได้ไปไหน ก็เปิดก่อนเพื่อทำให้เกิดความเขียวปลอดภัยแบบชัวร์ๆ
ทำแบบนี้เป็นไปทีละหย่อม จากนั้นค่อยเริ่มไปที่ระดับการไปมาจากบ้านสู่ที่ทำงาน แล้วจึงค่อยไปที่ระดับการข้ามจังหวัด ไปทีละขั้นตอน โดยอาศัยการตรวจโรคและการทำ tracing ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีเคลื่อนที่
ในมุมมองผู้เขียน แม้จะเป็นโซลูชันที่สวยงาม แต่มันเป็นไปได้ค่อนข้างยากในประเทศไทย เนื่องจาก adoption ไม่ได้ทำขึ้นมาได้ง่ายๆ และ enforcement อาจไม่เข้มข้นพอ และประชาชนจำนวนมากที่ลำบากทนรอไม่ไหว
ดังนั้น ทางออกที่ผู้เขียนมองว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ ‘การเปิดให้มากที่สุด’ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ความเปราะบางเศรษฐกิจสูงแต่สาธารณสุขยังรองรับได้ ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้เชื้อระบาดมากขึ้น
และควรคำนึงถึงการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในยามที่สถานการณ์ภายในประเทศเราพอคุมได้ เนื่องจากหากเราจบ เขาไม่จบ วันหนึ่งเมื่อกิจการบ้านเรากลับมาเป็นปกติ ก็จะมีแรงงานไหลเข้ามาอยู่ดี
และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการโฟกัสความเข้มข้นของการกำชับมาตรการทำความสะอาดและ Physical Distancing ไปในท้องที่ที่จำเป็นที่สุด ซึ่งในประเด็นนี้เทคโนโลยีข้อมูลสามารถช่วยได้ในสามจุด
หนึ่ง – คือใช้ดัชนี CVI ดูถึงระดับความเปราะบางเชิงสาธารณสุข พื้นที่ใดเปราะบาง ต้องเข้มข้นขึ้น
สอง – คือใช้ข้อมูล Geo-spatial ดูว่ามีกิจการแต่ละประเภทอยู่มากน้อยเพียงใดในแต่ละท้องที่ พื้นที่ใดมีความหนาแน่นสูง ยิ่งต้องโฟกัส
สาม – คือใช้ข้อมูล mobility และ crowdedness ดูว่าในโซนเหล่านี้ ยิ่งโซนใดมีการกระจุกตัวมากเกินระดับที่เราต้องการ หรือมีการละเมิดเคอร์ฟิว ยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเข้าไปควบคุม
ข่าวร้ายในวันนี้คือเรายังไม่ใกล้จุดสิ้นสุดของวิกฤตนี้ ด้วยทั้งความไม่แน่นอนของการผลิตวัคซีน และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ถาวร
แต่ก็มีข่าวดีในวันนี้ที่เครื่องมือทั้งหมดในบทควรนี้ได้อยู่ในมือของหน่วยงานและองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อการคลี่คลายสถานการณ์นี้แล้ว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะไม่ต้องเห็นการระบาดอีกหลายๆ ระลอก และระบบเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาเป็นปกติดังเดิมอย่างเร็ววันเร็วคืน