ชีวิตคนเมืองกำลังจะเปลี่ยน
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกจะอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ – ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แต่ชีวิตคนเมืองจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำว่าจะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรอันจำกัดเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้ประชากรได้มากน้อยแค่ไหน
เรื่องสำคัญอยู่ตรงที่ ‘ทรัพยากรอันจำกัด’ เพราะทุกเมืองในโลกล้วนมีจุดตั้งต้นที่ไม่เหมือนกัน
บางเมืองเคยเป็นเมืองแสนธรรมดา ก่อนนโยบายการท่องเที่ยวจะถมมันด้วยทรายขาวแสนเทียมตัดกับทะเลสีอัญมณีเทอร์ควอยส์ จนทุกวันนี้กลายเป็นเมืองหาดปาร์ตี้ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ในเม็กซิโก
บางเมืองได้รับอิทธิพลทหารในภาวะสงครามยุคเรอเนซองส์ จนเกิดการวางผังเมืองเป็นบล็อกๆ และเกิดการตัดถนนอย่างเป็นระเบียบเพื่อประสิทธิภาพของการจราจร ก่อนจะกลายมาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ในอิตาลี
แต่สิ่งที่จะชี้ว่าสุดท้ายแล้วเมืองไหนดีหรือเมืองไหนไม่ดี คือความสามารถในการทำให้เมืองดีขึ้นที่สุด ‘เท่าที่ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดจะบันดาลได้’
นิยามของ ‘เมืองที่ดี’ ในสายตาผมคือ เมืองที่สุดท้ายแล้วประชากรตัดสินใจเลือกที่จะอยู่อาศัยในเมืองนี้ แม้ว่าเขาจะมีความสามารถย้ายไปอยู่ที่ใดก็ได้ในโลกอย่างไร้ต้นทุน
ถ้าคุณย้ายไปที่ไหนก็ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คุณยังจะอยู่เมืองที่ขณะนี้คุณอาศัยอยู่ใช่หรือเปล่า?
เมืองที่ดีคือเมืองที่พ่อแม่มือใหม่เชื่อมั่นในสินค้าสาธารณะ เช่น อากาศบริสุทธิ์ ความปลอดโรค ระบบการศึกษา ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ ว่ามันมีคุณภาพและปริมาณมากพอที่จะทำให้ลูกน้อยได้มีวัยเด็กที่สมบูรณ์
เมืองที่ดีคือเมืองที่คนรุ่นใหม่มีอิสระในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกกดเงินเดือนและเสรีภาพทางความคิด พร้อมกับยังได้เติบโตในหน้าที่การงาน (ที่ตัวเองสนใจ) อย่างมั่นคง
เมืองที่ดีคือเมืองที่ไม่ได้แปลว่าทุกคนเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจทั้งหมด แต่เป็นเมืองที่คนมีทรัพย์สินน้อยที่สุดยังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสุข ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี
เมืองที่ดีคือเมืองที่ผู้คนมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่แพง (และไม่ตาย)
เมืองที่ดีคือเมืองที่คนชราได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม เพียงพอ และสามารถใช้เวลาบั้นปลายชีวิตได้อย่างคุ้มค่าและไม่โดดเดี่ยว
เมืองที่ดีในนิยามนี้ ไม่ได้เข้มแข็งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่เป็นเมืองที่สิ่งของ ผู้คน และระบบบริหารจัดการต่างๆ ประกอบกันขึ้นมาร่วมกันเพื่อก่อให้เกิด ‘ความน่าอยู่ที่สมดุล’ จนทำให้เมืองนี้น่าอยู่กว่าเมืองอื่นๆ ทั่วไป
และต้องเป็นไปได้ มิใช่การเพ้อฝันหรือการสักแต่ว่าจะสร้างตึกที่สูงที่สุดในโลกหรือโรงแรมใต้น้ำท่ามกลางทะเลทรายไปเรื่อยๆ
เมื่อมองออกไปข้างนอก ดูเหมือนว่าเมืองของเราจะยังห่างไกลจากภาพของเมืองในอุดมคตินี้ เราพบว่าเรายังอยู่ใน ‘เมืองที่ไม่ make sense’ ซึ่งกลายเป็นหัวข้อที่ทำให้คนเป็นล้านสบถลงบนโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้ง
โชคดีที่ประสบการณ์ของการได้อยู่อาศัยใน 10 กว่าเมืองของผม รวมถึงการทำงานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ และการสร้างบริษัทเทคโนโลยี Big Data ที่เปลี่ยนข้อมูลเป็นคุณค่าเพื่อการต่อยอดองค์กร ทำให้ผมเห็นว่าเส้นทางและหลักความคิดสู่การสร้าง ‘เมืองดีๆ ที่เป็นไปได้’ ถูกวางเป็นภาพไว้อย่างชัดเจนเกือบหมดแล้ว
พบกันในคอลัมน์ Econocity ที่จะหยิบเรื่องราวชีวิตคนเมืองมาตีแผ่และสาดใส่ด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ๆ และความหวังในการขยับออกจากความไม่ make sense นี้ด้วยกัน