econocity

ความรักและความชังในตรอกซอย

ตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ปิดเมืองมานานหลายเดือน เชื่อว่าหลายคนคงได้ใช้เวลากับอยู่กับเพื่อนบ้านมากกว่าที่เคย

        สำหรับบางคน มันอาจเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น ว่าคนที่อยู่อาศัยเพียงสองสามกำแพงถัดไปนั้นเขาเป็นใคร ทำอะไรกันบ้าง จากที่ไม่เคยได้เอ่ยปากสวัสดีกันเลย อาจได้เห็นหน้าเห็นตา เดินแกว่งแขนในซอยสวนกัน ได้ทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันมากขึ้น จนคำว่า ‘เพื่อน’ เริ่มมีความหมายมากขึ้นในคำว่า ‘เพื่อนบ้าน’

        ผมขอเรียกความรู้สึกดีๆ แบบนี้ว่า ‘ความรักระหว่างเพื่อนบ้าน’ เช่น การทักทาย การช่วยมองลาดเลาเวลาเราไม่อยู่ หรือการไปร้องเรียนเทศบาลด้วยกัน

        แต่เท่าที่ได้ยินมาก็คงไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้จากเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 เพราะในเมืองใหญ่ๆ น้อยครั้งที่เราจะได้อยู่อาศัยติดกันกับ ‘เพื่อน’ จริงๆ จนบางครั้งเราอาจได้ยินวีรกรรมเพื่อนบ้านของคนรู้จักที่ถึงขั้นที่ว่าขอให้ต่างคนต่างอยู่ รั้วใครรั้วมัน ก็สมปรารถนาแล้ว ไม่ขอให้ยิ้มแย้มหรือมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ จะเรียกว่าความคาดหวังในตัวเพื่อนบ้านต่ำก็คงไม่ผิดนัก

        ‘ความชังระหว่างเพื่อนบ้าน’ แบบนี้มีได้ตั้งแต่ความไม่พอใจที่ใบไม้ร่วงไปตกในบ้านข้างๆ สุนัขออกมาทำธุระเรี่ยราดในซอย การแย่งชิงผลไม้ที่ยื่นออกไปนอกรั้ว (เรื่องจริง) จอดรถขวางประตูบ้าน ไปจนถึงการค้ายาเสพติดและการกลั่นแกล้งกันแบบเรื่องไม่เป็นเรื่อง

        ความรักและความชังที่เกิดขึ้นในซอยเล็กซอยใหญ่ หารู้ไม่ว่ามันเป็นตัวอย่างที่น่าหลงใหลในสาขาเศรษฐศาสตร์

        นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ความรักความชังนี้ผ่านเลนส์คอนเซ็ปต์หนึ่งที่เรียกว่า ‘externality’ หรือ ‘ผลกระทบเชิงนอก’ อันเป็นหลักการสำคัญเพื่อหาทางลดระดับความชังและส่งเสริมความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่ต้องมาอยู่ร่วมกันในเมือง

        บ่อเกิดของ externality เช่นความรักความชังเหล่านี้ คือการที่เรื่องบางเรื่อง กิจกรรมบางกิจกรรมที่อาจก่อผลดีหรือผลเสียต่อผู้อื่น มันไม่หนักหัวผู้กระทำ หรือพูดง่ายๆ ก็คือผู้กระทำไม่ได้ต้องรับผิดชอบอะไรใดๆ จากการกระทำนั้น

        การที่สุนัขของคุณไปทำธุระเรี่ยราดแถวๆ หน้าบ้านคนอื่น (ความชัง) อันที่จริงไม่ได้สร้างต้นทุนต่อตัวคุณเลย (เผลอๆ ดีกับคุณ เพราะคุณไม่ต้องเก็บกวาด) หรือการที่คุณเป็นคนยิ้มแย้มต่อผู้อื่น (ความรัก) ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่หนักหนาสำหรับคุณเช่นกัน

        การที่กิจกรรมเหล่านี้มันไม่หนักหัวคุณเลย ทำให้ในระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มักเกิดการกระฉอกไปกระฉอกมา ไม่ราบรื่น และต้องการ ‘มือที่สาม’ เข้ามาเกลี่ยให้น้ำไม่กระเพื่อมในบึงบึงนี้

        มือที่สามที่ว่านี้มักเป็นบทบาทของภาครัฐ ซึ่งมักจะมาในคราบเจ้าหน้าที่อย่างทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้มีหน้าที่คอยกำกับมิให้เกิดความไม่สงบที่กระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชน

        ที่น่าวิตกคือ อำนาจและประสิทธิภาพของภาครัฐมักเข้าไปแก้ไขความรักความชังในซอกซอยได้ไม่ทั่วถึง หรือไม่ทันเวลา เนื่องด้วยจำนวนซอยอันนับไม่ถ้วน และความไม่มีระบบของการร้องเรียนปัญหาจุกจิกเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มันเป็น externality ประเภทที่ใกล้ตัวพวกเราที่สุด เกิดขึ้นทุกวัน ทุกเวลา

        และคงเป็นไม่ได้ที่เราจะพึ่งพากฎหมาย วัฒนธรรม หรือศีลธรรมอย่างเดียว เนื่องจากหากเครื่องมือเหล่านี้มีประสิทธิภาพจริง ก็คงไม่เกิดความชังระหว่างเพื่อนบ้าน และที่จริงการฟ้องร้องเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แถมยังเป็นตัวถ่วงความมีผลิตภาพของประชาชนและศาลเองด้วย

        จะดีกว่าไหมหากเรามีระบบที่ดีกว่านี้?

        ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือการนำข้อมูลร้องทุกข์เพื่อแก้ปัญหาร้องทุกข์จุกจิกในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปัญหาส่งเสียงดัง ทิ้งขยะเรี่ยราด ไปจนถึงปัญหาคนทำลับๆ ล่อๆ

        ในอดีต นครนิวยอร์กเคยแบ่งช่องทางการร้องทุกข์เป็นหลายๆ เบอร์โทรศัพท์ โดยแต่ละเบอร์เป็นสำหรับแต่ละหน่วยงาน ถนนเบอร์นี้ ขยะเบอร์นี้ ก่อสร้างเสียงดังเบอร์นี้ ไฟฟ้าอีกเบอร์ เนื่องจากการแก้ปัญหานั้นแบ่งความรับผิดชอบกันระหว่างหน่วยงานอย่างชัดเจน

        ระบบโทรศัพท์แบบเก่ามันเป็นระบบที่สะดวกเทศบาล แต่ปัญหาคือมันไม่ใช่ระบบที่สะดวกต่อประชาชน โดยเฉพาะบางเบอร์โทร.ไปก็ไม่มีคนรับสาย

        ดังนั้น ในปี 2003 นายกเทศมนตรี (ในขณะนั้น) ไมเคิล บลูมเบิร์ก จึงได้เปิดระบบเก็บข้อมูลปัญหาสาธารณะใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบ 311’ ซึ่งเป็นทั้งเบอร์โทรศัพท์และแอพพลิเคชันหนึ่งเดียวกัน ที่หากประชาชนพบเห็นปัญหาใดๆ เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ในเมือง ก็สามารถแจ้งร้องทุกข์เข้ามาที่ช่องทางนี้ได้

        เมื่อประชาชนแจ้งปัญหาเข้าไป ในเว็บไซด์ Open Data ของนครนิวยอร์กก็จะปรากฏตั๋วปัญหา (ticket) ว่าปัญหานี้อยู่ที่ถนนเส้นนี้ มีละติจูด ลองจิจูด เวลาที่แจ้ง มีทั้งหมด

        ยิ่งไปกว่านั้นยังบอกด้วยว่าหน่วยงานไหนมีหน้าที่รับผิดชอบ และบอกไปถึงว่าหน่วยงานนี้ให้คำมั่นว่าเส้นตายในการแก้ปัญหานี้กี่วัน

        เมื่อเวลาผ่านไป และปัญหานี้ถูกแก้ไข หน่วยงานนั้นจึงจะมาปิด ticket นี้ได้ ระบบก็จะบันทึกว่าหน่วยงานนี้ใช้เวลากี่วันในการปิดงานชิ้นนี้ ประสิทธิภาพในการทำงานนี้ก็จะสะท้อนไปยัง KPI ของหน่วยงานนั้นในภายหลัง ทำให้เกิด accountability ในการรับใช้ประชาชน

        การแก้ปัญหาความรักความชังในตรอกซอยเหล่านี้ อาจดูเหมือนเป็นงานเล็กๆ ที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีมากมาย

        ทว่า การเกลี่ยความสะดุดในชีวิตประจำวันให้เรียบ แก้ปัญหาง่ายๆ ให้เรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เป็นธรรมต่อประชาชนทุกพื้นที่อาศัย ทุกชนชั้น คงทำไม่ได้แน่นอนหากไม่มีการเชื่อมต่อเพื่อเก็บข้อมูลไปวางแผนทุกเช้า ว่าจะส่งทีมออกไปแก้ไขอย่างไรแบบนี้

        เมื่อนั้น เราทุกคนจะได้เริ่มโฟกัสกับการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีขึ้นเสียที เพราะอย่างที่เขาว่ากันว่าความสุขเกิดจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิต ที่ค่อยๆ ทยอยสะสมทุกวัน แม้ว่าแต่ละครั้งมันจะเป็นเพียงแค่รอยยิ้มหรือคำทักทายจากเพื่อนบ้านเท่านั้นเอง