post pandemic

ในยุค Post-Pandemic เมืองยังจำเป็นอยู่ไหม?

‘เมือง’ คือใจกลางของวิกฤตโควิด-19 และวิถีชีวิตคนเมืองยุคใหม่

        ด้วยเสน่ห์ รสชาติ ความหลากหลาย และโอกาสที่ยากจะหาได้จากที่ไหน จึงไม่แปลกที่เมืองสามารถดึงดูดคนจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัยกันอย่างแสนแออัด

        การมากระจุกตัวรวมตัวกันในพื้นที่แคบๆ กันอยู่ในเมืองเช่นนี้ ที่จริงนับว่าเป็น ‘จุดขาย’ ของเมืองก็ว่าได้ เพราะมันทำให้เกิดความสะดวกสบาย และง่ายต่อการผสมผสานหลากความคิดหลายมุมมอง จนออกมาเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากกว่าที่ผู้คนกลุ่มเดียวกันนี้จะทำได้ในพื้นที่ชนบท

       แต่หลังจากพิษโรคระบาดโควิด-19 คำถามสำคัญสำหรับผู้นำและผู้มีอำนาจในการขับเคลื่อนนโยบายขณะนี้ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นกับเมือง? ชีวิตคนเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

        โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของ ‘การเชื่อมต่อ’ ซึ่งแต่เดิมทำให้เมืองได้รับประโยชน์จากความใกล้ชิดระหว่างผู้คนอันหลากหลายและได้รับประสิทธิภาพที่สูงกว่าในการใช้สอยพื้นที่และการจัดสรรทรัพยากร  ทว่า บัดนี้คุณลักษณะพิเศษนี้กลับกลายเป็นดาบสองคม และกำลังพบกับแรงกดดันให้ผลักถอยทุกสิ่งอย่าง ทั้งคน ทั้งของ ให้ถอยแยกห่างออกจากกัน จะเรียกว่าเป็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่แรงพอจะทวนหรือแม้กระทั่งหยุดกระแส urbanization ที่เคยมีมาหลายสิบปีก็ว่าได้

        ทุกคำทำนายในอดีต ว่าเราจะเห็นจุดจบของเมือง ล้วนผิดพลาดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในสมัย Spanish Flu ที่คร่าชีวิตคนไปหลายสิบล้านคน หรือจะเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดกระแสผู้คนผวาการอยู่ในตึกสูงและการขึ้นเดินทางทางอากาศ 

        แน่นอนว่าก็มีบางเมือง อย่างเมืองดีทรอยต์ อดีตอาณาจักรอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกา ที่ดูท่าทีน่าจะล่มสลายไปเร็วกว่ากำหนด ด้วยทั้งกรรมเก่าก่อนวิกฤตและกรรมใหม่ที่ถูกกระทบด้วยทั้งพิษไวรัสและพิษเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

        แต่ด้วยข้อได้เปรียบในสมการเศรษฐศาสตร์ อย่างที่ได้ถูกพิสูจน์กันมาหลายร้อยปี เมืองก็จะยังคงเป็นสิ่งสำคัญแม้ในยุค Post-Pandemic

        หากแต่ว่าเมืองที่ผงาดขึ้นมาหลังวิกฤตนี้จะมีการปรับตัว รูปลักษณ์ และจุดมุ่งหมาย อย่างน่าสนใจ

เมืองที่กระจายขึ้น

        วิกฤตโควิด-19 ทำลายงานหลายประเภท โดยเฉพาะงานบริการในระยะใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ เสริมสวย นวดผ่อนคลาย และอีกหลายๆ อย่างที่เติมเต็มชีวิตคนเมือง 

        แต่วิกฤตเดียวกันนี้ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับหน่วยงาน องค์กร บริษัท และพนักงานจำนวนไม่น้อย ว่าที่จริงแล้ว ความใกล้ชิดอาจไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นแล้ว ใน job functions จำนวนมาก และไม่ใช่ในอุตสาหกรรมจำนวนหยิบมือเดียว

        นั่นแปลว่าอุปสงค์ของการใช้สอยพื้นที่ในเมืองโดยทั้งภาคธุรกิจและภาคแรงงานมีโอกาสจะเปลี่ยนไปในทิศทางใหม่

        สำหรับองค์กรที่ค้นพบความไม่จำเป็นนี้โดยบังเอิญ จะมีความต้องการในการสร้างหรือเช่าพื้นที่เพื่อออฟฟิศน้อยลง จากเดิมที่จำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับพนักงานทุกเหล่าฝ่าย อาจสลัดออกได้ 10-20% หรือมากกว่านั้น ส่วนพนักงานระดับผู้บริหารอาจไม่ต้องมีออฟฟิศประจำตัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ

        สำหรับพนักงานหลายล้านคน การเปลี่ยนแปลงนี้อาจมีผลมากกว่าฝั่งธุรกิจอีกก็เป็นได้ เนื่องจากจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ความต้องการอยู่ใกล้สถานีขนส่งมวลชนหรือห้างสรรพสินค้าลดลง และต้องการย้ายไปใกล้ที่ทำงานมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นย้ายออกไปนอกตัวเมืองเลยสำหรับที่ทำงานที่อนุญาตให้ work-from-home ได้สะดวก หรือไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันอีกต่อไป

        สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย หรือ micro entrepreneurs กระแส local effect นี้อาจรุนแรงถึงขั้นย้ายจังหวัด ไปสู่ที่ที่ต้นทุนต่ำกว่า และไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องลำบากเข้ามาในเมืองขนาดใหญ่อีกต่อไป

        น่าสนใจทีเดียว ว่าลมกลไกตลาดใหม่ที่กำลังพัดเข้ามานี้จะพัดให้เกิดการขยายและกระจายตัวออกห่างจากใจกลางเมืองได้มากน้อยแค่ไหน

เมืองที่เขียวขึ้น

        ณ ขณะนี้ถือเป็นโอกาสของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่

        ในบางเมืองอย่างกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ได้มีการประกาศที่จะถือโอกาสใช้ประโยชน์จากวิกฤตนี้เพื่อดำเนินแผนการทำให้เมืองเขียวขึ้นเร็วขึ้น 10 ปี ด้วยการสร้างเลนปั่นจักรยานยาว 35 กิโลเมตร (ประมาณสถานีรถไฟบางซื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ) และการขยายทางเท้า หรืออย่างประเทศปากีสถานที่สนับสนุนจ้างให้ผู้คนออกมาทำงานเป็นคนปลูกต้นไม้ตั้งเป้าให้ครบ 1 หมื่นล้านต้น รวมถึงความเคลื่อนไหวในรูปแบบเดียวกันในอีกหลายเมืองอย่างนิวยอร์ก เอเธนส์ ดับลิน และบูดาเปสต์

        เมืองในประเทศไทยควรเอาเป็นแบบอย่าง เนื่องจากหากไม่นับสนามกอล์ฟ บ้านเมืองเรามีพื้นที่สีเขียวน้อยมากในตัวเมือง พื้นที่สีเขียว ความเขียวไม่เพียงแต่สร้างความสวยงาม แต่ยังคอยเป็นตัวช่วยฟอกอากาศและดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้เวลาให้ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

        และที่สำคัญที่สุด ขณะนี้เป็นเวลาที่ดีในการพิจารณาความจำเป็นของถนนบางเส้นและที่จอดรถบางแห่ง ว่ายังมีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ในวันที่ผู้คนออกไปไหนมาไหนกันน้อยลง เพราะขณะนี้พื้นที่สำหรับคนเดินเท้านั้นมีไม่พอ และมีแต่ทางเท้าจะแคบลงทุกวี่วัน เป็นอันตรายอย่างมากด้วยจำนวนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนที่แทบจะวิ่งอยู่บนเลนเดียวกับทางเท้า 

        โลกหลังโควิด-19 อาจเป็นโลกที่ผู้คนสัญจรด้วยวิถีใหม่ ปลีกวิเวกกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้า ปั่นจักรยาน ขี่จักรยานยนต์  ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การปรับถนนบางเส้นให้กลายเป็น ‘ถนนคนเดิน’ หรือถนนจักรยาน เป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยทีเดียว เพราะเป็นการคืนสิทธิ์ให้กับคนทุกชนชั้นที่เดินถนนไปพร้อมๆ กับการคืนสุขภาพและต่อชีวิตคนเมืองได้อีกหลายล้านคน เพราะในหลายๆ เมืองทั่วโลก ธุรกิจตามที่ที่คนเดิน ไม่ได้ตามที่ที่รถวิ่งผ่านแล้ว

กลับมาที่ประเทศไทย

        การกระจายตัวของเมือง หรือทางจักรยานยาวๆ ในเมือง อาจฟังดูเป็นเรื่องในฝันสำหรับหลายเมืองในประเทศไทยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร และอาจมีบางคนตั้งคำถามว่ามันจะดีจริงหรือไม่

        ผู้เขียนเชื่อในพลังของการกระจุกตัวในการทำให้สมการเศรษฐศาสตร์มันทำงานในระบบทุนนิยม แต่สำหรับหลายๆ เมืองในประเทศไทย เราได้กระจุกตัวจนเลยจุดอิ่มตัวไปนานแล้ว น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกระจายความเจริญและโครงสร้างพื้นฐานออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น

        ส่วนการต่อสู้เพื่อเส้นทางสีเขียว การเจริญแบบกระจาย และการสร้างไลฟ์สไตล์คนเมืองที่มีความสุข ผู้เขียนเคยเห็นมันเกิดขึ้นที่เมืองมินนีแอโพลิส มลรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ในรูปแบบของเส้นทางที่ชื่อว่า ‘Greenway’ มันเป็นการแปลงเส้นทางรถไฟเก่าให้เป็นทางเท้าและทางจักรยานพาดทะลุเมือง เส้นทางที่ความยาวราวๆ 9 กิโเมตร พาดผ่านโซนที่อยู่อาศัยและโซนทำงาน ผ่านทะเลสาบ ผ่านมหาวิทยาลัย มีคนวิ่ง เดิน โรลเลอร์เบลดไปไหนมาไหน เรียกได้ว่าการปั่นจักรยานไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะร้อน 38 องศา หรือจะหนาวติดลบ 38 องศา กลายเป็นเรื่องปกติของชาวเมืองมินนีแอโพลิส  และนำมาสู่ความเจริญที่กระจายออก บางโซนมีร้านเล็กๆ ที่น่ารักผุดขึ้นมากมาย 

        มีทั้งการค้า มีทั้งเสน่ห์ มีทั้งความงดงามบนทางรถไฟเก่าเส้นนี้

        การตัดสินใจแปลงสภาพรางรถไฟที่เคยถูกถกเถียงกันมากในสมัยหนึ่ง บัดนี้มันได้นำมาสู่เส้นเลือดขนส่งผู้คนเส้นสำคัญของเมืองมินนีแอโพลิส และยิ่งกว่านั้น มันได้ก่อกำเนิดวิถีชีวิตของผู้คนเมืองนี้ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม สวยงาม และสุขภาพดีไปเรียบร้อย จนเป็นเรื่องน่าขันสำหรับคนรุ่นใหม่ว่าจะถกเถียงกันทำไมในสมัยนั้น และทำไมยังคงมีเมืองใหญ่ที่ยังไม่ได้ริเริ่มสร้างเส้นทางแบบนี้อยู่อีก