traffic accident

อุบัติเหตุทางถนน ภัยเงียบที่คนเมืองชินชา

ชีวิตเมืองของพวกเรามีความอันตรายอย่างผิดปกติ และอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

        ในขณะที่คนไทยกำลังเริ่มชินกับการสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกเช้า หารู้ไม่ว่ายังมีภัยอันตรายอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนอาจลืมนึกถึงไป หรือชินชากับมันไปเรียบร้อยแล้ว

        นั่นคือความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ที่ทุกๆ วันจะคร่าชีวิตคนไทยราว 50-60 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทั้งหมดในประเทศไทยในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาเสียอีก

        หากจะเทียบกับไวรัสร้าย ในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เพียงวันเดียวหลังการคลายล็อกดาวน์ให้ผู้คนออกมาใช้ถนนช่วงกลางคืนได้ ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในวันถัดมาถึง 69 ราย

        สำหรับ 69 รายนี้และครอบครัว มันเป็นการจากไปแบบไม่มีการติดเชื้อ การกักตัว การประกาศ การตั้งคณะกรรมาธิการมาดูแล หรือการบอกลาใดๆ 69 ชีวิตนี้สูญสิ้นภายในเสี้ยววินาทีบนถนนที่พวกเราเติบโต เดินทาง และสร้างครอบครัวขึ้นมา

        และเมื่อหันมามองยอดผู้เสียชีวิตสะสมจากอุบัติเหตุของปีนี้ที่เฉียด 7,000 ราย ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า อุบัติเหตุทางถนนคือความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของชีวิตคนเมืองในประเทศไทย ที่สังคมยังหาหนทางมาร่วมแรงร่วมใจในการแก้ไขอย่างมีประสิทธิผลมิได้สักที

        ที่น่าเป็นห่วง คือทุกคน ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่ แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเอง ทั้งหมดกำลังเข้าสู่ ‘ภาวะชินชา’ กับความเสี่ยงนี้ไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นทุกวันจนเป็นกิจวัตร

ภาวะศพล้อมโลก

        ต่อไปนี้เป็นการกล่าวถึงภาพที่หดหู่ แต่คิดว่าจำเป็นที่จะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความไม่ปกติของชีวิตเมืองของพวกเรา

        ให้ท่านลองนึกดูว่าหากแต่ละศพที่นอนอยู่บนถนนมีความยาว 1.6 เมตร เพียงแค่หนึ่งวันเราจะมี ‘เส้นศพจากการใช้ถนนในประเทศไทย’ ยาวถึง 96 เมตร

        แปลว่าใน 1 ปี เส้นศพจากประเทศไทยจะมีความยาวถึง 35,000 เมตร หรือประมาณระยะทางจากพุทธมณฑลไปฉะเชิงเทราได้สบายๆ

        หากรวมกันทั้งโลก ใน 1 ปี จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 1.25 ล้านคน (เทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ขณะนี้ทั้งหมดที่ราว 7 แสนราย) ทำให้ใน 1 ปี เส้นศพนี้จะมีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร และหากไม่มีการแก้ไขไปนานสิบปี เส้นศพนี้จะมีความยาวพอที่จะล้อมโลกได้สบายๆ ที่ความยาว 20,000 กิโลเมตร

        เชื่อว่าหลังจากที่ท่านจินตนาการตามแล้ว ก็คงไม่อยากนิ่งเฉยกับภาวะ ‘ศพล้อมโลก’ ที่ล้วนเสียชีวิตจากสาเหตุที่หลีกเลี่ยงป้องกันได้ และมันคงยาวไปถึงดาวอังคาร หากเราหวังแต่จะรอรถยนต์ไร้คนขับมาบรรเทาปัญหานี้

จากข้อมูล สู่เส้นทางข้างหน้าที่ปลอดภัยขึ้น

        ถือเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่เมื่อปี 2561 คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะ (iTic) ให้โอกาสผู้เขียนและทีมงานเข้าไปริเริ่มมองปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากมุมมองใหม่ ที่มีที่มาที่ไปบนพื้นฐานของข้อมูล จากการนำชุดข้อมูลอุบัติเหตุจากหลากหลายหน่วยงานมารวมกันสร้างเป็นฐานข้อมูลที่มองอุบัติเหตุได้ครบมิติขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมิติของสภาพถนน อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

        หนึ่งในผลวิจัยที่เราพบคือ อุบัติเหตุในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในตำแหน่งเดิมๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่ร้อยละ 90 ของอุบัติเหตุทั้งหมด เกิดขึ้นในเพียง ร้อยละ 5 ของพื้นที่ (อ่านบทสรุปได้ที่นี่)

        ที่น่าสนใจคือ จุดใดเป็นจุดเสี่ยงอันดับต้นๆ ของเมืองในเดือนนี้ จะมีโอกาสกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ที่จะยังคงเป็นจุดเสี่ยงอันดับต้นๆ ในเดือนหน้า แปลว่าไม่มีใครเข้าไปแก้ไขสำเร็จสักที

        ที่ผ่านมาสังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริง แต่ไม่ว่าอุบัติเหตุเหล่านี้จะเกิดจากอิทธิพลของสุรา ผับบาร์ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อม การที่อุบัติเหตุเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในมุมเดิมๆ ปีละหลายสิบครั้ง บ่งบอกชัดเจนว่ามีอะไรบางอย่างไม่ปกติเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมนั้นและกระบวนการแก้ไขปัญหาของเมือง

บทเรียนจากสะพานมรณะ

        “เดี๋ยวๆ ก็จะมีอวัยวะหล่นลงมาค่ะ” แม่ค้าใต้สะพานข้ามแยกคลองตัน อธิบายความเป็นจริงของชีวิตในเมืองหลวงให้กับทีมสืบสวน ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และผู้เชี่ยวชาญจากหลากองค์กร

        ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ได้เกิดเรื่องสะเทือนขวัญขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวกรณีมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์เสียหลักบนสะพานข้ามแยกคลองตัน ชนกับการ์ดเรล แล้วคอสะบัดขาดกระเด็นออกจากร่าง

        ที่น่าพิศวงกว่า คือภายในไม่กี่อาทิตย์ถัดมา ในเดือนตุลาคม และธันวาคมของปีเดียวกัน และอีกครั้งในเดือนมกราคม ปี 2563 ก็ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่มีลักษณะคล้ายกับกรณีนี้บนสะพานเดียวกันไม่ห่างกันนัก

        การที่มีผู้เสียชีวิตในลักษณะเดียวกัน 4 ครั้งในที่เดิม ภายในเวลาไม่ถึง 6 เดือน สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า เพราะเหตุใดภาครัฐจึงยังปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้

        โชคดีที่สังคมไทยมีทีมสืบสวนและอาสาสมัครที่รวมพลังกันเสาะหาวิธีแก้ไขปัญหาอันน่าอับอายนี้ จนพบกับต้นตอและแนวทางต่อไป เช่น

        1) ลักษณะเชิงกายภาพบนสะพานมีโค้งอันตรายมากมาย บวกกับความเป็นสะพานยุคเก่า ไม่ได้ออกแบบมาโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเท่าสะพานสมัยใหม่ จะต้องห้ามมิให้จักรยานยนต์ขึ้นสะพานนี้อย่างจริงจัง

        2) หากห้ามให้ขึ้นสะพานไม่ได้ ก็จะต้องจัดการการ์ดเรลใหม่ เพื่อที่หากมีผู้ขับขี่ล้มเข้าใส่ จะต้องไม่มีตอเสาโผล่ขึ้นมาแล้วกระทบกับบริเวณศีรษะ ที่ต่อให้สวมหมวกนิรภัย ก็จะทะลุ

        3) ต้องเพิ่มแสงสว่างบนสะพาน เนื่องจากเป็นทางโค้งที่ราบ เสาไฟฟ้าที่ห่างกันเกินไปทำให้ผู้ขับขี่จะรับรู้ได้ยากว่ากำลังจะมีทางโค้ง

 

        สะพานข้ามแยกคลองตันไม่ใช้เพียงแค่จุดเสี่ยงเดียวในเมือง และจากการวิจัยก็ไม่ได้เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนที่บ่อยที่สุดอีกด้วย

        ยังมีอีกหลายร้อยจุดในกรุงเทพฯ และอีกหลายๆ เมืองทั่วประเทศไทยที่ยังคงรอการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเจาะลึกอย่างในกรณีของสะพานข้ามแยกคลองตันนี้

        เรื่องที่น่ายินดีก็คือ เราได้เห็นแล้วว่า การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อค้นหาจุดเสี่ยง แล้วลงมือสืบสวนเชิงลึกอย่างเฉพาะจุด เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมันเป็นงานที่เป็นไปได้  ไม่ไกลเกินเอื้อม ไม่ใช่พยายามทำทั้งประเทศพร้อมๆ กัน

        ทีละจุด ทีละจุด แล้วชีวิตเมืองของพวกเราก็จะเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหนึ่ง