การจากไปของสกาล่าน่าจะทำให้หลายคนใจหาย
แทบพูดได้ว่า สกาล่าเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่โรงสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ มันคือมรดกของยุคสมัยที่ได้ถูกกาลเวลากลืนกินจนลับหาย แต่ในกระบวนการลับหายนั้นก็ได้ฉุดรั้งเอาบางเสี้ยวส่วนความทรงจำและประวัติศาสตร์ส่วนตัวของใครต่อใครหลายคนตามไปด้วย
ประวัติศาสตร์โรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ นั้น โดยเนื้อแท้แล้วคือประวัติศาสตร์ของ ‘เนื้อเมือง’ เพราะโรงภาพยนตร์คือที่ที่ผู้คนออกมาใช้จ่ายวันเวลาว่าง สร้างความบันเทิงให้กับตัวเองและครอบครัว โรงภาพยนตร์จึงมักก่อร่างสร้างตัวขึ้นตรงพื้นที่ที่มีลักษณะเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของเมืองเสมอ และในกระบวนการก่อร่างสร้างตัวนั้น มันก็ได้ช่วยสร้างเนื้อเมืองรายรอบขึ้นมาด้วย
ย้อนกลับไปในอดีตอันไกลโพ้น ในยุคแรกเริ่ม คือราวปี 2470-2490 ความบันเทิงยังอยู่ใน ‘โรงละคร’ แม้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนโรงละครให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์กันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็น ‘วิกสังกะสี’ คือเป็นคล้ายๆ หนังกลางแปลงที่มีการนำสังกะสีมากั้น ภายในมีเก้าอี้ยาวให้นั่ง แต่ยังมีลักษณะกลางแจ้งอยู่
ในยุคแรกๆ โรงหนังยังไม่ค่อยใหญ่โตอลังการนัก โดยเฉพาะโรงหนังกึ่งโรงละคร (ที่บางแห่งก็ยังฉายและเล่นละครปะปนกันอยู่) ในย่านเวิ้งนาครเขษมที่ ‘บูม’ ขึ้นมาเพราะมีการตัดถนนเยาวราชผ่านที่ เช่น โรงหนังญี่ปุ่น โรงหนังรัตนปีระกา ฯลฯ
แต่ในยุคหลัง 2490 เป็นต้นมา เกิดมีนักธุรกิจโรงหนังคนสำคัญอยู่สองคน ได้แก่บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ และ พิสิฐ ตันสัจจา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนักธุรกิจบันเทิงคนแรกๆ ของไทยก็ได้ที่นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสู่วิถีชีวิตและการเสพความบันเทิงให้สังคมไทย รวมทั้งสร้างความโอ่อ่าอลังการให้กับการดูภาพยนตร์ และจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม – ทั้งคู่มีส่วนร่วมสร้างเนื้อเมืองของกรุงเทพฯ ขึ้นมาในลักษณะที่แนบแน่นกับวิถีชีวิตผู้คนด้วย
แรกทีเดียว บัณฑูรย์เริ่มจากการไปปลุกปั้น ‘ศาลาเฉลิมไทย’ (ที่สร้างในปี 2483 แต่พอเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เลยถูกทิ้งร้างกลายเป็นโกดังเก็บของ) ให้กลายมาเป็นโรงละครที่ได้รับความนิยม แต่เกิดมีปัญหากับหุ้นส่วน จึงขายหุ้นให้กับพิสิฐ แล้วบัณฑูรย์ก็หันมาขอเช่าพื้นที่ที่ด้านหลังวังบูรพา จนเกิดเป็นศูนย์การค้าที่มีโรงหนังสามโรง คือ คิงส์ ควีนส์ และโรงหนังแกรนด์ ทว่าตอนหลังเขาขายโรงหนังแกรนด์ให้คนอื่นไป จึงเหลืออยู่เฉพาะโรงหนังคิงส์และควีนส์เท่านั้น
โรงหนังเหล่านี้เกิดในราวปี 2496-2497 และกลายเป็นศูนย์กลางเมืองที่ทันสมัยอย่างยิ่งของยุค ทำให้เกิดคำว่า ‘โก๋หลังวัง’ ขึ้นมา ซึ่งก็หมายถึงเหล่า ‘วัยรุ่น’ ในยุคนั้นที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นกันอยู่ในแถบหลังวังบูรพา ย่านนั้นจึงเป็นย่านฮิปไม่ผิดอะไรกับสยามสแควร์ในยุคต่อมา
ถ้าเราไปดูชีวิตของ ‘โก๋หลังวัง’ เราจะพบว่าเหล่าโก๋หลังวังนั้น ‘บูม’ จริงๆ เป็นระยะเวลาราวหนึ่งทศวรรษ คือระหว่างปี 2497 ถึง 2507 ซึ่งแปลว่าเหล่าโก๋หลังวังเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วมาโตเป็นวัยรุ่นในช่วงนี้พอดี
แต่แน่นอนว่าเมืองย่อมไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ กรุงเทพฯ มีการเติบใหญ่ขยายตัวออกมาเรื่อยๆ และนั่นเองที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทีละเล็กละน้อย
ในช่วงปี 2505 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนแออัดแห่งหนึ่งขึ้น ชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนแห่งนั้นจึงต้องออกจากพื้นที่ไป พื้นที่แห่งนั้นอยู่ในความครอบครองของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีในตอนนั้นคือนายทหารที่มีชื่อว่า พล.อ. ประภาส จารุเสถียร (ก่อนหน้าที่จะเป็นจอมพล) เขาเกิดมีดำริขึ้นมาว่าน่าจะพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นให้กลายเป็นแหล่งค้าขายใหม่ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านในชุมชนแออัดเดิมกลับเข้ามาอยู่
และนั่นเองที่คือจุดเริ่มต้นของ ‘สยามสแควร์’
สยามสแควร์มุ่งหมายให้เป็นศูนย์การค้าแนวราบ มีการออกแบบและก่อสร้างจนเสร็จในปี 2507 ซึ่งประจวบเหมาะพ้องพานอย่างยิ่งกับยุคล่มสลายของโก๋หลังวังพอดี นั่นเป็นเพราะพวกเขาเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเนื้อเมืองที่ขยายตัวออก เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว การออกไป ‘ซ่า’ ในย่านบันเทิงจึงค่อยๆ คลายลง ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น ก็เห็นว่าพื้นที่เดิมที่คนรุ่นก่อนไปแฮงเอาต์กันนั้นมีสัญญะของความเชยไปเสียแล้ว พวกเขาต้องการสถานที่ใหม่อื่นๆ ที่ไม่ใช่วังบูรพา และไม่ใช่เวิ้งนาครเขษม
การเกิดขึ้นของสยามสแควร์จึงสอดรับกับเทรนด์และความต้องการใหม่ของผู้คนหน้าใหม่ๆ ทำให้เนื้อเมืองและศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา
คนที่จับเทรนด์นี้ได้รวดเร็วและแม่นยำ ก็คือ พิสิฐ ตันสัจจา
เมื่อรับช่วงเฉลิมไทยมาในตอนแรกนั้น พิสิฐลงทุนไปถึงหนึ่งล้านบาทกับการปรับปรุงเฉลิมไทยให้เป็นโรงละครชั้นเลิศของกรุงเทพฯ แต่กระนั้น เทรนด์โรงละครก็ต้องถือถือว่าอยู่ในช่วงท้ายๆ แล้ว เพราะโรงภาพยนตร์กำลังมา แต่พิสิฐจับเทรนด์ได้เร็วมาก เมื่อเห็นว่าความนิยมดูละครเสื่อมลง เขาก็ปรับโรงละครให้กลายมาเป็นโรงภาพยนตร์ โดยเปิดเฉลิมไทยในฐานะโรงภาพยนตร์ในยุคไล่เลี่ยกับโรงหนังคิงส์และควีนส์ แต่สร้างความฮือฮานำสมัยในเชิงวัฒนธรรม ด้วยการขาย ‘ป๊อบคอร์น’ หน้าโรงหนังเป็นที่แรก และทำให้เฉลิมไทยได้รับความนิยมอย่างสูง
ครั้นเมื่อเกิดสยามสแควร์ขึ้น พิสิฐหันมาจับตลาดใหม่นี้ด้วยการเปิดโรงหนังสยามก่อน เขาเป็นคนที่มองการณ์ไกล และสร้างโรงหนังสยามโดยใช้ความทันสมัยเป็นเครื่องนำทาง ดังนั้น โรงหนังสยามจึงกลายเป็นโรงหนังแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อน (แต่เป็นอาคารแห่งที่สอง เพราะแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนก่อนคือห้างไดมารู)
แต่แน่นอน การบุกเบิกอะไรใหม่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนปูพรมแดง ความ ‘ใหม่’ ของเนื้อเมือง ทำให้เขาต้องพยายามโปรโมตให้คนมาใช้บริการ เช่น ทำสูจิบัตรโดยให้คอลัมนิสต์ดังๆ มาเขียน แล้วนำสูจิบัตรนี้ไปแจกที่เฉลิมไทยคล้ายๆ เป็นฟรีแมกกาซีน เพื่อการดึงดูดคนหนุ่มสาวในยุคนั้นให้ขยับขยายมายังเนื้อเมืองแห่งใหม่
แน่นอน – ด้วยหลายปัจจัย โรงหนังสยามจึงประสบความสำเร็จ ทำให้พิสิฐเปิดโรงหนังแห่งที่สองตามมา นั่นคือลิโดในปี 2511 และสกาล่าในปีรุ่งขึ้น ซึ่งหากฟังจากชื่อ จะเห็นว่าเขาพิถีพิถัน หรูหรา และนำเทรนด์มาก ลิโดคือชื่อที่มีที่มาจากปารีส ฝรั่งเศส ส่วนสกาล่ามีที่มาจากมิลาน อิตาลี และเนื่องจากสกาล่าเป็นลูกเหมือนคนล่าสุด เขาจึงใส่ใจตกแต่งให้ออกมาในรูปแบบอาร์ตเดโคที่สง่างาม แชนเดอเลียร์ที่ประดับประดานั้นหนักถึง 3 ตัน และสั่งมาจากอิตาลี โดยมีงานปูนปั้นประดับประดาเรียงราย
ด้วยเหตุนี้ โรงภาพยนตร์ของพิสิฐ (คือโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์) จึงได้ขยายตัวออกมาพร้อมกับการขยายเนื้อเมือง และทำหน้าที่ช่วยสร้างศูนย์กลางเมืองใหม่ไปด้วยในตัว
แต่โรงหนังที่ทำหน้าที่สร้างเมืองไปด้วยในตัวนี้ ไม่ได้มีแต่คิงส์ ควีนส์ แกรนด์ เฉลิมไทย เฉลิมกรุง สยาม ลิโด สกาล่า เท่านั้น ที่จริงแล้ว โรงภาพยนตร์กับเมืองยังสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกันแน่นแฟ้นในอีกหลายพื้นที่ เช่น โคลีเซียมแถบแยกยมราช, ฮอลลีวู้ดตรงถนนเพชรบุรี, แมคเคนน่าตรงสะพานหัวช้าง, คาเธ่ย์ตรงเยาวราช, หรือโรงภาพยนตร์ในศูนย์การค้า อย่างเช่นอินทราในศูนย์การค้าอินทราที่ทันสมัยมากในยุคก่อนโน้น หรือโรงหน้าอย่างดาดาและพอลลี่ ในศูนย์การค้าเมโทรตรงแถบประตูน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ เมืองยังขยายออกไปอีก ทำให้เกิดโรงหนังใหม่ๆ มากมาย เช่น โรงหนังในแถบประดิพัทธ์และสะพานควาย โรงหนังในย่านสุทธิสารไล่ไปจนถึงลาดพร้าว โรงหนังในย่านพระโขนงจนถึงสำโรง ซึ่งถ้าไปดูรายชื่อโรงภาพยนตร์ที่ปิดตัวไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีนับร้อยโรงเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่า – ประวัติศาสตร์โรงหนังนั้นเกี่ยวพันกับพัฒนาการและความเจริญของเมืองอย่างแนบแน่น
แต่ด้วยยุคสมัย – โรงหนังเหล่านี้ค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง ก่อเกิดสถานที่ใหม่ๆ ซ้อนทับลงไปบนพื้นที่เดิม คล้ายมิติแห่งกาลเวลาเล่นสนุกไปกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแท้จริงก็คือเรื่องปกติอย่างหนึ่ง
ไม่มีคืนวันอันเป็นนิรันดร์หรอก – การจากไปของสกาล่ากำลังบอกเราเช่นนั้น
ไม่ว่าอาลัยอาวรณ์เพียงใด บางสิ่งก็ต้องจากไปเสมอ
สกาล่าเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง