ปักผ้าบำบัด

ปักผ้าบำบัด: พลังแห่งการเยียวยาผ่านเข็ม ด้าย และมือ

ผ่านไปพริบตาเดียวก็เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2020 แล้ว

        หลายๆ คนอาจจะรู้สึกเหมือนปีนี้ผ่านไปชั่วพริบตา รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิด COVID-19 ก็ยังต้องตั้งการ์ด ไหนจะสถานการณ์คุกรุ่นรอบตัวทั้งการเมือง ความอยุติธรรม สภาวะเศรษฐกิจถดถอยและคนตกงานมากมาย ไม่แปลกเลยที่สังคมหลังยุค COVID-19 จะเกิดความสับสนอลหม่านไปทั่วโลก เพราะยอมรับว่าเราเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งทางร่างกายและจิตใจในปีนี้หลายอย่างจริงๆ

        สิ่งหนึ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ ในช่วงที่ถูกกักตัวหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่หลายๆ คนประสบกับปัญหาสุขภาพจิตและความไม่มั่นคง กิจกรรมทำมือและใช้ทักษะร่างกายต่างๆ กลับกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ลงมือปลูกและเลี้ยงต้นไม้ เย็บปักถักผ้า ปั้นเซรามิก หรือแม้แต่การเต้น TikTok ที่ช่วยให้สภาพจิตใจได้ผ่อนคลายจากความร้อนแรงรอบตัว การฝึกฝนการผ่อนคลายด้วยการยุ่งอยู่กับอะไรบางอย่าง ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหนทางที่ช่วยคลี่คลายความยากต่างๆ แบบเบื้องต้นที่เราสามารถทำอยู่ที่บ้านได้ 

        บทความนี้จึงอยากลองนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยเยียวยาสุขภาพใจและเยียวยาโลกไปพร้อมๆ กันนั่นก็คือ การเย็บ ปัก และซ่อมเสื้อผ้าด้วยมือ

        เคยไหม เวลาที่เราทำแอ็กชันอะไรบางอย่างด้วยมือโดยที่ไม่ต้องคิดอะไร แล้วรู้สึกพึงพอใจและผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก เช่น การลากเส้นวาดรูปไปเรื่อยๆ ในหนังสือเรียน การลงมือเย็บผ้าก็เช่นกัน เวลามือของเราได้สาละวนอยู่กับการทำแอ็กชันซ้ำๆ ที่ช่วยให้เราผ่อนคลาย เราได้จดจ่อร่างกายกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและใช้พลังสร้างสรรค์ที่มีทำให้เสื้อผ้าเรากลายเป็นชิ้นที่มีเรื่องราวเฉพาะตัว มันอาจเป็นชิ้นผ้าสีสดจากอินเดียวางทับด้วยตะเข็บสีตัดบนเสื้อยืดตัวเก่ง กางเกงยีนส์ที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์และลายปักบนรอยขาดรุ่ย หรือเส้นสายต่างๆ ที่เราปักทับบนรอยเปื้อนของกาแฟ

        ในโลกกระแสหลักที่ให้คุณค่ากับความเร็วและความใหม่มากกว่าเรื่องสำคัญอื่นๆ ของมนุษย์ การซื้อของใหม่มักถูกและดีกว่าของเก่าเสมอ การซ่อมแซมอะไรบางอย่างจึงอาจถูกมองเป็นเรื่องเสียเวลา แต่หากเรามองด้วยคุณค่าทางจิตใจ บางครั้งเวลาที่ใช้ไปกับการลงมือทำอาจเป็นเวลาที่มีคุณภาพมากกว่านั้น มีผลการวิจัยพบว่า การลงมือเย็บผ้าทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการจดจ่ออยู่กับงานทำมือทำให้ความคิดและสมองของเราอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับการฝึกปฏิบัติสมาธิ ที่ช่วยคลายความกดดันและฟื้นฟูระบบประสาทด้วย

        จริงๆ แล้ว การเย็บผ้าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการรับมือกับภาวะซึมเศร้า มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายงานที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับสุขภาพจิตที่ดี และพบว่าการทำงานด้วยมือมีประโยชน์มากต่อผู้ที่มีภาวะป่วยทางจิตใจ การจมจ่อมตัวเองและมืออยู่กับฝีเข็มตรงหน้าช่วยให้เราอยู่ในภาวะ flow ที่ช่วยลดความเครียดและทำให้ความขัดแย้งภายในสงบลงได้ การทำชิ้นงานเล็กๆ สำเร็จ ก็ช่วยให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าและบูสต์อัพระบบประสาทของเรา และนี่ก็เป็นวิธีที่เราใช้ด้วยเหมือนกันเวลาเศร้าหรือเจอกับพายุความกังวลในใจตัวเอง

        ในทุกๆ ฝีเข็ม หากเราอนุญาตให้ตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบันและมีสติกับความรู้สึก รับรู้สัมผัสทางกายหรือความคิดที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น แอ็กชันเล็กๆ อย่างการนำเข็มปักลงไปในเนิ้อผ้าแบบที่เรารับรู้อย่างเต็มเปี่ยม กลายเป็นของขวัญให้สมองเราได้เพิ่มเซโรโทนินหรือฮอร์โมนแห่งความสุขมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน มันก็บังคับให้เราได้ช้าลงและมีช่วงเวลาที่สงบเงียบกับตัวเอง เมื่อความคิดเงียบเพราะมือกำลังยุ่ง ก็ได้เห็นแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตของเราที่ต้องการการซ่อมแซมหรือแสดงออกเช่นกัน ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ หรือสิ่งแวดล้อมบางอย่างที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราอีกต่อไป

        การลงมือเย็บ ปัก และซ่อมผ้า จึงเป็นทั้งหนทางในการแสดงออก บางครั้งระบาย บางครั้งแก้แค้น ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ไม่อาจแสดงออกมาด้วยคำพูดหรือแสดงออกในชีวิตจริงได้

        เช่นกัน การลงมือทำในช่วงขณะเล็กๆ เหล่านี้ จึงช่วยให้เรากลับมาโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า อยู่กับปัจจุบัน และช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลในโลกอันโกลาหลได้เป็นอย่างดี

        พูดให้เห็นภาพก็อย่างเช่น เวลาแทงฝีเข็มและด้ายเข้าไปในผ้า หากเราจดจ่อกับภาษาทางการสัมผัสนั้นๆ มากพอ อาจทำให้หลายความรู้สึกปรากฏในตัวเรา พื้นผิวสัมผัสของผ้า เสียงของเส้นด้ายที่สอดทะลุเข้าไป กลิ่นของเสื้อผ้าตัวเก่งที่คุ้นเคย สิ่งธรรมดาเหล่านี้อาจเป็นเรื่องพิเศษเมื่อเรากลับมามองดูมันด้วยความใส่ใจ และทำให้เราผ่อนคลายและโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น และความรู้สึกคลี่คลายนี้แหละที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดกระแสนี้ไปทั่วโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา

        อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะงานปักและซ่อมผ้าด้วยมือเป็นกระบวนการการบำบัดเยียวยาจิตใจที่มีการค้นพบตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

        ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มผู้หญิงในค่ายกักกันคนยิวที่รับบทบาทการต่อผ้าควิลต์ให้กับคนในค่าย พวกเธอไม่ได้มานั่งทำด้วยกันอย่างสังสรรค์ แต่กลับเลือกทำงานนี้ในพื้นที่ส่วนตัว โดยเลือกให้เวลากับตัวเองและสุดท้ายก็สามารถผ่านพ้นเงามืดของช่วงเวลานั้นไปด้วยการลงมือเย็บและปักลายเซ็นชื่อตัวเองเพื่อแสดงออก ยืนหยัดและทวงคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ถูกลิดรอนในบรรยากาศที่น่าหดหู่ของค่ายกักกันสงคราม

        เช่นเดียวกัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมอที่รักษากลุ่มทหารผ่านศึกได้ทดลองให้พวกเขาลงมือปักผ้าในการที่จะรักษาบาดแผลทางจิตใจ ในตอนนั้นใครจะรู้ว่าทหารผ่านศึกกับงานผ้าปักจะไปด้วยกันได้ แต่ Ernest Thesiger ผู้ริเริ่มแนวทางนี้ ก็พบว่าการปักผ้าเป็นหนทางที่ได้ช่วยให้ทหารสามารถจดจ่ออยู่กับมือและอยู่กับตัวเองในปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม เข็มและด้ายช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากอดีตที่เหมือนฝันร้ายและช่วยให้พวกเขารับมือกับความรู้สึกเจ็บปวดและความน่าเบื่อหน่ายบนเตียงโรงพยาบาลเพื่อผ่านเวลาอันโหดร้ายไปได้ การทดลองของเขาได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ และหลังจากนั้น Ernest ก็ได้ลองให้ทหารหัดทำลวดลายที่ซับซ้อนขึ้น จนสามารถตั้งองค์กร The Disabled Soldiers’ Embroidery Industry ที่ช่วยให้ทหารผ่านศึกที่พิการสามารถหารายได้ พร้อมๆ กับเยียวยาร่างกายและจิตใจ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตนเองไปด้วยได้

        จากสิ่งที่ดูไม่น่าจะเข้ากันได้อย่างทหารผ่านศึกกับเข็มเย็บผ้าอันจิ๋ว ศาสตร์การบำบัดแขนงใหม่ที่เรียกว่า  Occupational Therapy ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือรักษาจวบจนทุกวันนี้

        อีกมูลนิธิและกิจการเพื่อสังคมที่น่าสนใจที่มาจากศาสตร์นี้เช่นกันก็คือ Fine Cell Work ที่ฝึกให้นักโทษชายในเรือนจำหลายร้อยคนทั่วสหราชอาณาจักรทำงานปักผ้าที่มีลวดลายวิจิตรซับซ้อนเพื่อนำฝีมือของพวกเขาไปขายและสร้างรายได้เสริมให้พวกเขาบนช่องทางออนไลน์ได้ นักโทษชายเหล่านี้ทำงานด้วยความสงบในพื้นที่ของตัวเอง จังหวะซ้ำๆ ของฝีเข็มและการใช้ประสาทสัมผัสกับวัสดุอย่างผ้าหลากหลายชนิด เป็นเหมือนยาถอนพิษและโอเอซิสที่ให้ความคิดได้สงบนิ่ง และเปิดพื้นที่ทางจิตใจให้ได้หลบหนีจากความรุนแรงและระบบอำนาจในสิ่งแวดล้อมเรือนจำโดยรอบ มากไปกว่านั้น การทำงานที่มีคุณค่าในคุกยังทำให้พวกเขาตื่นจากความรู้สึกสิ้นหวัง ลดทอนความหนักอึ้งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ และช่วยให้พวกเขาทำความเข้าใจกับอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น เหมือนได้ออกกำลังของความคิดและจิตใจ จนสุดท้ายสามารถกลับมามองเห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเองได้อีกครั้ง

        ในปัจจุบัน มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้หลายที่ในต่างประเทศ มีกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันทำงานผ้าหรือเย็บมือเกิดขึ้นมากมาย เช่น กลุ่ม Craftivist ที่ลงมือเย็บผ้าเพื่อการประท้วงต่อต้านพลังอำนาจเรื่องต่างๆ ด้วยสันติวิธี และ กลุ่ม The Sewcialists ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับคนที่รวมตัวกันเพื่อเย็บผ้าโดยเชื่อในพลังของการลงมือเย็บผ้าที่มีผลต่อสุขภาพจิต โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่เกิดระหว่างกระบวนการ เท่าๆ กับผลลัพธ์ คนส่วนใหญ่ในชุมชนผู้เคยผ่านประสบการณ์เชิงบวกจากการเย็บผ้า และผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้ ก็รู้สึกเกิดแรงบันดาลใจที่จะเล่าเรื่องและแบ่งปันให้ผู้อื่นต่อไป จนกลุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

        ในฝั่งการแพทย์สมัยใหม่ก็เช่นกัน มีการวิจัยที่พบว่า เมื่อผู้ป่วยโรคภาวะสมองเสื่อมกระบวนการต่อและเย็บชิ้นส่วนจากความทรงจำต่างๆ เป็นผืนผ้าที่จับต้อง ถืออยู่ในมือได้ มันจะช่วยกระตุ้นความทรงจำและช่วยให้ผู้ป่วยเริ่มบทสนทนากับญาติๆ ได้เป็นอย่างดี

        เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเริ่มลงมือทำเล็กๆ ที่นำมาสู่การเยียวยา ฟื้นฟู และการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว และระดับสังคม

        เช่นเดียวกันกับในยุคสมัยอื่นๆ โลกและสังคมของเราตอนนี้มีอะไรมากมายที่ต้องการการซ่อมแซม แต่ส่วนใหญ่ต้นเหตุของการพังมักอยู่เหนือการควบคุมของเราเพราะประกอบไปด้วยปัจจัยต่างๆ มากมายที่ต้องใช้เวลาและกำลังในการซ่อม ความจริงนี้อาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อย สิ้นหวัง ไร้อำนาจ จนมองว่าตนเองไม่สามารถลงมือทำอะไรได้ แต่ครั้งต่อไปที่รู้สึกแบบนี้ เราอาจลองเริ่มจากการหยิบจับเครื่องมือสามัญประจำบ้านอย่างเข็มและด้ายมาลองเริ่มทำอะไรบางอย่างดูโดยลองหยุดใช้ตรรกะและสมองคิดหาทางออก เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก หลังจากความหนักอึ้งเริ่มเบาลงผ่านการขยับเคลื่อนมือ เราก็อาจพบว่า การทำอะไรที่เราสามารถเริ่มได้เลยที่ตัวเรา ในที่ที่เราอยู่ ด้วยทรัพยากรที่เรามี อาจเผยให้เห็นถึงอำนาจภายในของเราที่มีอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องไปควานหาที่ไหนเลย

        แม้วันนี้ หลายๆ คนจะเริ่มกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน แต่ในจังหวะเวลาที่ตระหนักรู้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤต งานทำมือจะช่วยให้เรายอมรับได้ว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกที่ทุกอย่างสามารถคาดการณ์ได้อีกต่อไป

        เมื่อเราลงมือซ่อมผ้าเก่าที่ขาด เปื้อน มีร่องรอยบอบช้ำตามกาลเวลา เรามีโอกาสได้เปิดใจ มองเห็น ยอมรับ และยินดีกับความไม่สมบูรณ์แบบของทั้งประสบการณ์และความทรงจำที่ผ่านมาของเรา การซ่อมแซมอะไรบางอย่างด้วยมือ จะกลายเป็นสิ่งเตือนใจให้เราใส่ใจสิ่งที่มีอยู่ และไม่ล้มเลิกไปกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต เพราะทุกอย่างสามารถเยียวยาและซ่อมแซมได้

        เพียงเรากลับมานิ่ง นั่งลง และอยู่กับมือของเรา

        เราจะเห็นทางออกเสมอ