Planned Obsolescence

ทำไมเสื้อผ้าของเราจึง ‘เก่า’ และ ‘ตกเทรนด์’ อย่างรวดเร็ว

เคยเป็นมั้ย มีเสื้อผ้าอยู่เต็มตู้ แต่ไม่รู้จะใส่อะไร

        เพิ่งซื้อตัวใหม่มาไม่นาน แต่ใส่แป๊บเดียวก็เชย จนต้องนอนกองให้ฝุ่นเกาะในตู้ หรือซักไม่กี่ทีก็หดยุ่ย จนบางครั้งต้องทิ้งลงถังขยะไปอย่างน่าเสียดาย

        ในยุคสมัยที่ข้าวของราคาถูกจนการใช้แล้วทิ้งเป็นเรื่องธรรมดา การพังหรือตกเทรนด์อย่างรวดเร็วจึงกลายเป็น default feature ของสินค้าที่เราเคยชินและยอมรับได้ พังก็โยนทิ้ง เพราะซื้อใหม่ถูกกว่าซ่อม แถมบางครั้งถูกกว่ากินข้าวมื้อหนึ่งเสียอีก

        ทุกวันนี้ทั่วโลกผลิตเสื้อผ้ามากถึง 1.5 แสนล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในเวลาเพียง 2 ทศวรรษ (ในปี 2014 เทียบกับปี 2000) ส่วนฝั่งผู้บริโภคก็เช่นกัน ตู้เสื้อผ้าของผู้หญิงยุคนี้แน่นกว่าสมัยปี 1980 ถึง 4 เท่า แต่ที่น่าคิดคือความถี่ในการใช้งานเสื้อผ้าเหล่านั้นโดยเฉลี่ยกลับลดเหลือเพียงครึ่ง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตกที่ผู้คนใช้เสื้อผ้าแค่ตัวละ 4-7 ครั้ง แล้วก็โยนทิ้ง ในขณะที่ 95% ของเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งสามารถนำมารีไซเคิลได้ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล

        แล้วอะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้?

        ความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมบริโภคนิยมตั้งแต่ช่วงปี 1980s เป็นต้นมา ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจ ‘ฟาสต์แฟชั่น’ (Fast Fashion) ที่เน้นความรวดเร็วและปริมาณ เพื่อทำกำไรสูงสุด โดยสร้างคอลเลกชันใหม่ออกมาจำนวนมากในอัตราเร่งที่แรงแซงโค้งทุกห้องเสื้อ แบรนด์เหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญ ราคาถูก พูดให้เห็นภาพคือ ดีไซเนอร์แบรนด์อาจเคยผลิตเสื้อผ้า 2-4 คอลเลกชันต่อปี ปัจจุบัน ฟาสต์แฟชั่นแบรนด์อาจผลิตมากถึง 36-52 คอลเลกชันต่อไป หรือเกือบทุก 1-2 อาทิตย์ ทำให้ตอนนี้เหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ต้องแข่งกับความเร็วราวเป็นหนูถีบจักรในเกมส์ที่ดูจะชนะได้ยาก

        แล้วฟาสต์แฟชั่นมีเคล็ดลับอะไรที่ไม่เคยบอกเรา?

        ในวงการออกแบบอุตสาหกรรม กลยุทธ์หนึ่งที่ธุรกิจใช้ก็คือ ‘Planned Obsolesence’ หรือ การออกแบบสินค้าให้หมดอายุขัย อันเป็นเกมส์ที่สินค้าถูกออกแบบและผลิตมาเพื่อให้เสื่อมสภาพลงภายในระยะเวลาที่วางแผนไว้ ทำให้สินค้าซ่อมแซมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่อย่างเดียว

        ไม่ว่าจะเป็นวัสดุคุณภาพแย่ ตะเข็บลุ่ย, เสื้อหด หรือกระเป๋าหนังเทียมที่ผิวลอกเป็นแผ่นๆ ล้วนเป็นอาการของ Planned Obsolescence ในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น บางทริก เช่น หากใช้เส้นด้ายที่หยาบมาเย็บกับผ้าโปร่งบาง เวลาซักและปั่นไปเรื่อยๆ จะทำให้ผ้าขาดง่าย  แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะแบรนด์อาจโทษเครื่องซักผ้า และก็จะได้มั่นใจว่า ไม่ช้าก็เร็วลูกค้าจะต้องกลับมาซื้อใหม่เพื่อทดแทน

        ที่เห็นได้ชัดอีกวงการก็คือ เทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ที่แกะแบตเตอรี่มาซ่อมไม่ได้, หาอะไหล่มาเปลี่ยนไม่ได้เมื่อตกรุ่น หรือการอัพเกรดรุ่นเพียงเล็กน้อย ทำให้รุ่นที่แล้วๆ ดูเก่าไปในพริบตา ทั้งๆ ที่ยังดีอยู่

 

Planned Obsolescence

 

        อีกกลวิธี ก็คือ ‘Perceived Obsolescence’ หรือการทำให้สินค้านั้นเก่าหรือล้าสมัยในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นแผนการแยบยลที่เล่นกับจิตใจของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม โดยมีเครื่องมือหลักคือเทรนด์ หรือ ‘กระแส’ ซึ่งเราจะเห็นได้มากจากสินค้าที่มีรูปแบบหวือหวาน่าตื่นเต้น แต่พอหมดฤดูกาลก็ล้าสมัยไป เพื่อหลอกล่อให้ผู้บริโภคไปวิ่งหาของใหม่ต่อเพื่อไม่ให้ตัวเอง ‘เอาต์’ จากวัฏจักรแฟชั่น

        ถ้าทำนานๆ ครั้งก็คงทำให้ชีวิตมีสีสันดี แต่ในยุคที่เทคโนโลยีหมุนไวมาก ถ้าวิ่งตามกระแสตลอดเวลาก็คงมีเหนื่อยกันบ้างแหละ

        แล้วค่านิยมในความเร็วนี้มันทำให้เกิดอะไรบ้าง? 

        ขณะที่ของใหม่มา ของเดิมก็ไร้ค่า ทั้งที่จริงแล้วสร้างมูลค่ามหาศาล งานวิจัยในอังกฤษพบว่า เสื้อผ้าในกองขยะสิ่งทอปริมาณ 92 ล้านตันที่ถูกทิ้งทุกปี คิดเป็นมูลค่าถึง 182 ล้านเหรียญฯ และในจำนวนนี้ เสื้อผ้ากว่า 60% ทำจากโพลีเอสเตอร์ ใยสังเคราะห์ที่มีต้นกำเนิดเดียวกับพลาสติก และใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลายไป

        ที่มองข้ามไปไม่ได้เลย คือเหล่าคนทำงานเย็บผ้าหน้าจักร ผู้รับเคราะห์ที่แท้จริงในประเทศโลกที่สาม ที่อาจได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 1.5 ปอนด์ ภายใต้ความกดดันของออร์เดอร์ การกดขี่ของผู้มีอำนาจ และเวลาการทำงานที่มากถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน คุณภาพของการตัดเย็บก็ยิ่งถูกลดลงไป เพราะคนทำงานที่ความเป็นอยู่ไม่ดี คงทำงานฝีมือที่ออกมาดีไม่ได้

        เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่เคยมีในประวัติศาสตร์มนุษย์ ก่อนจะมีฟาสต์แฟชั่นที่อุตสาหกรรมถูกเร่ง ทรัพยากรถูกใช้ในอัตราสูงสุด คนส่วนใหญ่ใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเองหรือใส่ส่งทอดต่อกันมาในครอบครัว ที่อังกฤษ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อผ้าถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมในแคมเปญระดับชาติ ‘Make Do and Mend’ ที่ชวนผู้คนมาซ่อมแซมเสื้อผ้า ให้ใส่ได้นานขึ้น หรือนำไป upcycle เพื่อประโยชน์อื่นๆ แต่ปัจจุบันเมื่อเสื้อผ้าใหม่ ดูใหม่มากๆ ทำให้ของที่เรามีอยู่หรือใช้มานานกลับดู ‘เก่า’ ลง ยิ่งกว่าเดิม ในอุดมคติแบบตะวันตก เสื้อผ้าเก่าเท่ากับจน ทำให้ค่านิยมแง่ลบของแฟชั่นมือสองยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการรับรู้ของสังคม

 

Planned Obsolescence

 

        แล้วคนธรรมดาอย่างเรา ทำอะไรได้บ้าง?

        กลับมาเลือกคุณภาพ: ในสังคมที่ให้น้ำหนักกับภายนอก ลองกลับมาซื้อเสื้อผ้าที่ตะเข็บ ผ้า หรือคุณภาพที่เห็นกระบวนการและที่มา รู้ไหมว่า ในสมัยก่อนผู้คนใช้จ่ายกับเสื้อผ้ามากกว่าปัจจุบัน เพราะเสื้อผ้าสมัยนั้นทำด้วยผ้าใยธรรมชาติที่ทนทานและยั่งยืนกว่าเช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ลินินและขนแกะ และตัดเย็บด้วยเทคนิค การซับใน และฝีเข็มที่ละเอียดและแข็งแรงกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเสื้อผ้าวินเทจหลายๆ ชิ้นถึงยังอยู่ทนมาถึงทุกวันนี้ แถมยังสภาพดีกว่าเสื้อผ้าสมัยนี้อีกด้วย

        กลับมาเลือกตัวเอง: การเดินตามกระแสนิยมแบบไม่เคยหยุดคิดหรือตั้งคำถาม อาจทำให้เราพลาดโอกาสในการรู้จักและแสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างลึกซึ้ง ในขณะที่แฟชั่นเป็นแพลตฟอร์ม เป็นพลังเอื้อให้คนเราสร้างอัตลักษณ์และค้นหาตัวตนได้ตามใจอยาก แต่ฟาสต์แฟชั่นคือการเดินตามความสำเร็จรูปที่คนอื่นสร้างให้ เหมือนฟาสต์ฟู้ดที่พอกินบ่อยๆ อาจทำให้การรับรู้รสของเราบกพร่องไป เพราะจริงๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะเลือกและเติมเต็มตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาความสำเร็จรูปตลอดเวลา

        กลับมาหาที่มา: เป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจะอ่านป้าย Care Label บนเสื้อผ้าแล้วรู้ข้อมูลครบถ้วนว่า เส้นใยมาจากไหน ผลิตจากที่ไหน ใครเป็นคนทำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เกี่ยวพันกับแรงงานทั่วโลก แม้สินค้าบางไลน์นำเสนอว่าดีกับสิ่งแวดล้อม แต่หากเราไม่เห็นความจริงเบื้องหลังก็ยากที่จะรู้ เพราะมันอาจเป็นเพียงการ ‘ฟอกเขียว’ (Green Marketing) ของแบรนด์ใหญ่ ที่มาดึงความสนใจให้เราตื่นเต้น ในขณะที่โมเดลธุรกิจหลักยังไร้ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก และผลิตด้วยกลยุทธ์ Planned กับ Perceived Obsolescence เหมือนเดิม

        ในโลกที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ถูกตัดขาดจากความเชื่อมโยงต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับที่มาที่ไป แต่เยื่อใยระหว่างคนใส่ คนทำ และคนทอนี้เองคือสิ่งสำคัญมากที่เราจะต้องกลับมาใส่ใจ ลองเริ่มหัดอ่าน care label ก่อนที่จะตัดสินใจ และหันมาซื้อผ้าที่มาจากเส้นใยธรรมชาติ หรือซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง เพราะเมื่อความสัมพันธ์ที่เรามีต่อเสื้อผ้าของเราเปลี่ยนไป เมื่อเราได้เชื่อมโยงกับคนทำ เมื่อนั้น ‘แฟชั่นยั่งยืน’ ที่แท้จริงจะเกิด

        สุดท้าย กลับมาตั้งคำถาม: ก่อนจะตัดสินใจ ลองให้เวลาถามกับตัวเองดูว่าของชิ้นนี้ ถูกผลิตด้วย Planned หรือ Perceived Obsolescence หรือไม่ ? และใครเป็นคนทำ ? คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นต้องได้ยิน ในระดับโลก มีการเคลื่อนไหวร่วมกันของผู้บริโภคผ่านแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes แคมเปญรณรงค์เรียกร้องให้แบรนด์เปิดเผยข้อมูลการผลิตอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม นำโดยกลุ่ม Fashion Revolution เครือข่ายเคลื่อนไหวเพื่อแฟชั่นยั่งยืนที่มีอยู่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย

        เพียงแค่เรารู้ทันทริกเหล่านี้ นอกจากจะช่วยประหยัด ลดการทิ้งขยะ และลดมลพิษในโลกแล้ว เงินของเราก็จะเหลือเยอะพอที่จะนำไปช่วยสนับสนุนธุรกิจของนักออกแบบหน้าใหม่ ทำสินค้าที่มีคุณภาพคงทนและยั่งยืน เพราะ Slow Decision คือ Slow Fashion ที่แท้จริง

 


ที่มา: