หากพูดถึงคำว่า ‘แฟชั่น’ คุณนึกถึงอะไร?
หลายๆ คนอาจจะนึกถึงเสื้อผ้าสวยงามไฮแฟชั่นบนรันเวย์ สิ่งประดับประดาร่างของเหล่าเซเลบบนพรมแดง หรือบนหน้าต่างร้านค้าแบรนด์ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
บางคนอาจจะนึกถึงของเล่นของชนชั้นสูง ความบันเทิงของเหล่าอีลิตที่ปุถุชนธรรมดาเข้าถึงไม่ได้ ฟังดูฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย
บางคนอาจจะนึกถึงเทรนด์มากมายที่มาแล้วก็ผ่านไป บนหน้าฟีดอินสตาแกรม หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ
ไม่แปลก, หากคุณจะมีคำถามว่าทำไมเรายังถึงต้องสนใจเรื่องแฟชั่น ในเมื่อโลกใบนี้เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ ทั้งการเมือง สิ่งแวดล้อม ความยากจน คนหิวโหย ไหนจะยังไวรัสโคโรนา และฝุ่นพิษ PM 2.5 อีก
ฉันเป็นคนหนึ่งที่เรียนจบด้านแฟชั่น และมักตั้งคำถามเช่นเดียวกัน มีหลายต่อหลายครั้งที่ฉันรู้สึกว่าแฟชั่นอาจไม่ใช่คำตอบในวันที่โลกมีปัญหานานัปการ และบางครั้งผู้คนก็มองว่าคนที่สนใจแฟชั่นเป็นคนที่ตื้นเขิน เช่นเดียวกับที่ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (Goerge Bernard Shaw) เคยกล่าวว่า “Fashion is nothing but an induced epidemic” หรือแฟชั่นเป็นเพียงโรคระบาดชนิดหนึ่งเท่านั้น
แต่หากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าล้านล้านเหรียญ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมการบริโภค และสร้างงานกว่าล้านๆ งานบนโลกนี้ จะตื้นเขิน มันคงเป็นความตื้นเขินที่น่าขบคิดทีเดียว
แท้จริงแล้วแฟชั่นฝังรากลึกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แฟชั่นเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งในระดับส่วนตัวและสังคม ทั้งยังเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ในสังคมมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เราจึงอยากตั้งคำถามชวนคิดถึงอิทธิพลของแฟชั่นที่มีต่อโลกของเรา จากมุมมองอันหลากหลาย ที่จะทำให้เรากลับมาใส่ใจแฟชั่นของเรามาขึ้นว่ามันมาจากไหน และเราจะใช้มันอย่างไรในยุคที่เปลี่ยนไปรวดเร็วเช่นนี้
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ แฟชั่นมีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่วันที่มนุษย์เริ่มอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน มีการถักทอเส้นใย นุ่งห่มเสื้อผ้า และสร้างวัฒนธรรมของตัวเอง ในทุกๆ วัฒนธรรม เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเป็นหลักฐานที่ใกล้ชิดผิวหนังของมนุษย์ที่สุด และบ่งชี้ถึงเผ่าพันธุ์ อายุ และฐานะของบุคคลที่เราขุดพบ
ในชีวิตประจำวัน คำถามที่เราทุกคนต้องตอบทุกวันคือ ‘วันนี้เราจะใส่อะไรดี?’ ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากพอๆ กับ วันนี้จะกินอะไร – เราอาจมีเสื้อผ้าเต็มตู้ แต่ไม่รู้จะใส่อะไร ก็เพราะทุกวันนี้ แฟชั่นเดินทางมาไกลเกินกว่าการเป็นแค่เครื่องนุ่งห่มเพื่อปกป้องร่างกาย กาลเทศะ หรือแม้แต่สถานะทางสังคมไปมาก หากจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือมันกลายเป็นเรื่องของ ‘สไตล์’ และรสนิยมส่วนบุคคลไปแล้ว พูดอย่างง่ายก็คือ หากแฟชั่นคือการเคลื่อนไหวที่ทันสมัยและรวดเร็ว สไตล์ก็คือตัวตนซึ่งหยั่งรากและไร้กาลเวลา ซึ่งทั้งสองสิ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เสื้อผ้า แต่คือ ‘การแสดงออกถึงตัวตน’
ในทางสังคมวิทยา มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มักตัดสินกันด้วยรูปลักษณ์ภายนอกอยู่เสมอแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เป็นธรรมชาติของคนเราที่จะห่วงใยภาพลักษณ์ของตัวเองเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป—เข้าฟิตเนสเพื่อดูแลรูปร่าง และใช้เวลานานตอนเช้าเพื่อตัดสินใจว่า วันนี้เราจะห่อหุ้มตัวเองด้วยเปลือกแบบไหน คนอื่นจะมองเราอย่างไร และเราจะดูดีขึ้นหรือมีอำนาจขึ้นในสายตาของพวกเขาหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นหรือสไตล์ สิ่งที่เราสวมใส่เป็นสิ่งแรกที่คนจะมองเห็นและตัดสิน หากเราใส่ใจ มันคือโอกาสสำหรับความประทับใจครั้งแรก ที่เราจะได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง รวมถึงทัศนคติ ความเชื่อ รสนิยมทางเพศ รสนิยมทางศิลปะ จุดยืนทางการเมือง ชาติพันธุ์ กลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่เราอยู่ หรือแม้แต่ศิลปินเกาหลีที่เราชื่นชอบ ทั้งหมดนี้คือสัญลักษณ์ เป็นภาษาลับที่คนในกลุ่มรู้กัน โดยไม่ต้องกล่าวแม้สักถ้อยคำ
ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งนี้ ตอบสนองตัวตนในระดับลึกที่ว่า เราต่างล้วนแสวงหาการเติบโตและความหมายของการดำรงอยู่ – เราต่าง ‘เลือก’ อยู่เสมอ ว่าเราอยากจะเป็นใครบนโลกนี้ ไม่ว่าจะอยากแตกต่างหรืออยากกลมกลืนกับฝูงชนที่รายล้อมตัวเรา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การเลือก’ นี้ จะต้องถูกนำเสนอออกสู่ภายนอกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แฟชั่นเป็นหนึ่งในหนทางที่จะทดลองค้นหาและปลดปล่อยตัวตนเหล่านั้น และมันทรงพลังอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับตัวตนที่ถูกบางวัฒนธรรม ในบางสังคมกดทับมานาน
เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียและเกม อุตสาหกรรมแฟชั่นสำเร็จได้ก็เพราะมันผลิตสิ่งที่ช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์เหล่านี้ภายใต้สังคมที่อาจไม่เปิดรับความหลากหลาย แฟชั่นมอบ ‘ทางเลือก’ ในการแสดงออกกับเรา (แม้ว่าจะการเลือกนั้นอาจจะไม่ได้เป็นของเราโดยแท้จริงเสมอไป เพราะเราก็ได้รับอิทธิพลจากสังคมและแฟชั่นที่อยู่เสมอ) – เฉกเช่นเดียวกับที่ การปฏิเสธแฟชั่น ก็คือการแสดงออกอย่างหนึ่งว่า ‘ฉันไม่สนใจสมัยนิยม’ ซึ่งก็คือแฟชั่นรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
หากแฟชั่นเกี่ยวโยงกับการเมือง เรื่องส่วนตัว และชีวิตประจำวันของเราทุกคนมากกว่าที่คิด ก่อนที่เราจะนึกถึงการแสดงออกทางการเมือง หรือเสื้อสีต่างๆ – แดง เหลือง ส้ม รุ้ง หรือขาว – จะดีกว่าไหมหากเราจะเริ่มต้นให้ความสำคัญกับการเลือกที่จะแต่งกายในวิถีที่ทำให้เรามีความสุขที่ได้แสดงออกถึงตัวเราจริงๆ ที่จะเริ่มจากการรู้จักและเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งว่าเราต้องการอะไร ให้คุณค่ากับอะไร เมื่อเชื่อมั่นและชัดเจนในตนเองจึงเลือกได้ และความสวยงามรูปลักษณ์ภายนอก และตัวตนภายในของเราจึงจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันได้
ถึงที่สุดแล้ว ฉันเชื่อว่าแฟชั่นคือหนึ่งในสัญลักษณ์ของเสรีภาพในการเลือกและความเป็นปัจเจกภาพ แฟชั่นจึงสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย เพราะมันแสดงออกซึ่งสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพภายในไว้ด้วย ‘เครื่องแบบ (Uniform)’ ของกลุ่มอย่างสิ้นเชิง
และตราบใดที่คนเรายังถูกกดทับจากเครื่องแบบ และถูกขับเคลื่อนด้วยกฎเกณฑ์ทางสังคม แฟชั่นก็จะยังคงเติบโตต่อไป
เพราะในยุคที่โลกกำลังป่วยทั้งกายและใจ แฟชั่นอาจจะเป็นทางออก
แหล่งข้อมูล: Global Fashion Market Size, UNECE