การไม่อ่านข่าวเป็นบาป
คุณมีความเชื่อแบบนี้อยู่ไหมครับ – ว่าถ้าไม่อ่านข่าวแล้วจะรู้สึกผิด, รู้สึกบาป, รู้สึกไม่มีส่วนร่วมต่อสังคม, ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตย, คนที่ไม่อ่านข่าวนั้นคือคนเพิกเฉยที่สนแต่ตัวเอง, ไม่สนว่าโลกนี้ดำเนินไปถึงไหนต่อไหนแล้ว, ข่าวเป็นดังอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราทันต่อโลก, เป็นสิ่งแสนวิเศษที่ทำให้เราเชื่อมโยงกัน, วิเศษประเสริฐ, เป็นดัง…
โอ๊ยเหนื่อย!
ไม่ใช่แค่เหนื่อยกับย่อหน้าข้างบนนะครับ – แต่ผมเหนื่อยกับการอ่านข่าวโดยรวมด้วย ที่ผ่านมา ผมเข้าใจว่าการอ่านข่าวคือหน้าที่ของพลเมือง มันคือคุณสมบัติที่ดีของผู้เจริญแล้ว (จริง!) แต่พักหลัง ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่หน้าที่แล้วล่ะ มันเป็นภาระหนักหนาต่างหากที่ต้องอ่าน สารภาพ, ผมเคยติดข่าวอย่างหนักหน่วงมาก่อนด้วยหน้าที่การงาน มีช่วงที่อ่านถึงวันละห้าชั่วโมงอย่างต่ำ – แล้วสุดท้ายก็เบิร์นเอาต์ ต้องดีท็อกซ์ด้วยการไม่อัพเดตตัวเองไปสักสัปดาห์หนึ่ง ก่อนจะกลับมาอ่านใหม่ด้วยความเข้มข้นที่มากกว่าเดิม เป็นวงจรอุบาทว์แห่งการอ่านๆ เลิกๆ เหมือนคนติดยา
แล้วก็เกิดคำถาม เราไม่อ่านข่าวได้ไหม? เราเลิกอ่านไปเลยจะดีไหม? เราไม่อ่านข่าวโดยไม่รู้สึกผิดได้ไหม?
รอล์ฟ โดเบลลี (Rolf Dobelli) บอกผมว่า – ได้, ได้สิ ไม่อ่านข่าวสิดี
รอล์ฟ โดเบลลี เป็นใคร? เขาเป็นนักเขียนและนักธุรกิจชาวสวิส ที่โด่งดังจากหนังสือที่คุณก็อาจจะรู้จักชื่อ The Art of Thinking Clearly (แปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Welearn ในชื่อ 52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม) เขาถูกขนานนามจากหนังสือพิมพ์ The Times ว่าเป็น ‘กูรูด้านเซลฟ์เฮลป์ที่ชาวเยอรมันจะต้องหลงรัก’ – นั่นไม่ใช่คำชมที่ดูเบาได้เลยนะครับ การที่ชาวเยอรมันจะหลงรักอะไรได้นั่นแปลว่าสิ่งนั้นต้อง ‘เป็นระบบ’ อย่างยิ่ง
ในภาคต่อของหนังสือ The Art of Thinking Clearly ชื่อ The Art of a Good Life โดเบลลีเคยเขียนไว้ว่าศิลปะแห่งการใช้ชีวิตให้ดีข้อหนึ่งคือการไม่ต้องอ่านข่าว – เลิกอ่านข่าวเสียเป็นดี – นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับแนวคิดนี้, เขาขยายความเชื่อนี้ให้กระจ่างขึ้นในหนังสือชื่อ Stop Reading The News ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว
ตำนานหนึ่งของโดเบลลีที่ผมชอบคือ เขาไปบรรยายเรื่องการหยุดอ่านข่าวให้กองบรรณาธิกาสำนักข่าวอย่าง The Guardian ฟัง ลองคิดดูสิครับว่าถ้าคุณต้องไปบรรยายในสิ่งที่ขัดแย้งกับอาชีพของคนฟังทั้งฮอลล์ คุณจะทำอย่างไร ถ้าเป็นผม ผมคงเหงื่อแตกพลั่กและใจฝ่อ โดเบลลีก็เช่นกัน เขาตื่นเต้นจนพูดไม่ถูก แต่ผลสุดท้าย การบรรยายครั้งนั้นก็น่าสนใจจนบรรณาธิการของ The Guardian ขออัญเชิญบทความ ‘หยุดอ่านข่าวกันเถอะ’ ของโดเบลลี มาไว้บนเว็บไซต์เพื่อให้ถกเถียงกัน
ในหนังสือ Stop Reading The News โดเบลลีพูดถึงเหตุผลในการหยุดอ่านข่าวมาประมาณ 20 ข้อ ผมแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็นสองด้าน คือเหตุผลส่วนตัวและเหตุผลเชิงสังคม
สำหรับเหตุผลส่วนตัว โดเบลลีมองว่า การอ่านข่าวทำให้สมองเราไม่นิ่ง เขาเปรียบเทียบว่าข่าวก็เหมือนกับน้ำตาล ร่างกายเราอาจต้องการและกระสันอยากน้ำตาลตลอดเวลาที่มีสติ แต่การบริโภคน้ำตาลมากๆ ก็นำมาซึ่งปัญหาทางสุขภาพ เช่นกันกับข่าว เมื่อเราบริโภคข่าว เราก็จะอยากบริโภคข่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่นั่นเป็นการอัญเชิญความว้าวุ่นเข้ามาสู่จิตใจ
โดเบลลีตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วข่าวต่างๆ นั้นมีความ relevant หรือ ‘เกี่ยวข้อง’ กับชีวิตเรามากแค่ไหน เขาอยากให้เราทดสอบโดยนึกย้อนไปในปีที่แล้วว่ามีกี่ข่าวที่ทำให้เราตัดสินใจได้อย่างเฉียบคมและฉลาดขึ้น เขาคิดว่าคงมีแค่หนึ่งหรือสองข่าวเท่านั้น (สำหรับตัวเขาเองมีแค่ข่าวเดียว คือข่าวการยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้เขาจองตั๋วใหม่ได้ทันควัน) เมื่อเปรียบกับเวลาที่ลงทุนไป โดเบลลีคิดว่าไม่คุ้มเลย เขาคำนวณคร่าวๆ ว่าหากเราอ่านข่าววันละหนึ่งชั่วโมง (สิบห้านาทีตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง) นั่นเท่ากับว่าปีหนึ่งๆ เราจะเสียเวลาไปประมาณหนึ่งเดือน (นับเฉพาะเวลาทำงาน) เขาจึงบอกว่า “ถ้าเราอ่านข่าว เท่ากับว่าปีหนึ่งของเรามีสิบเอ็ดเดือนเท่านั้น”
นอกจากนั้น โดเบลลียังเชิญให้เราคิดตามด้วยว่าข่าวทำให้เราเกิดอคติต่างๆ มากมายแค่ไหน ทั้งอคติด้าน Hindsight Bias (การให้เหตุผลตามหลัง) และ Availability Bias (การทึกทักว่าข้อมูลที่เห็นคือทั้งหมด)
ส่วนเหตุผลทางด้านสังคมนั้น โดเบลลีมีความเห็นเฉียบคมในเรื่องนี้ เขามองว่าข่าวคือธุรกิจที่มีเป้าหมายหนึ่งเดียวคือการแย่งชิงความสนใจจากผู้ชม เขาตั้งคำถามว่าหากหนังสือพิมพ์รายงานเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ หนังสือพิมพ์นั้นไม่ควรจะมีความหนาเท่ากันทุกฉบับในทุกวัน เพราะบางวันเรื่องสำคัญก็น้อย บางวันเรื่องสำคัญก็มากแตกต่างกันไป เขาเห็นว่าข่าวสร้างชื่อเสียงปลอมๆ ให้กับเซเลบที่ไม่ได้ทำอะไรให้โลก นัก ข่าวสร้างเรื่องราว (narrative) ผิดเพี้ยนให้เราเชื่อ และร้ายที่สุดคือข่าวมีส่วนสนับสนุนการก่อการร้าย เพราะขบวนการก่อการร้ายต้องพึ่งสื่อในการกระจายความเชื่อหรือข้อเรียกร้องของตนเอง
เอาล่ะ – มาถึงตรงนี้ต้องมีหมายเหตุตัวโตๆ ก่อนที่จะไปกันใหญ่
โดเบลลีไม่ได้ปฏิเสธข่าวทุกประเภท เขาปฏิเสธข่าวเฉพาะแบบที่มาเร็ว – ไปเร็วเช่น Breaking News หรือข่าวแบบ ‘เขียนไปอย่างนั้น’ เท่านั้น เขายังสนับสนุนข่าวสองประเภทใหญ่ ประเภทแรกคือข่าวประเภทสืบสวน (Investigative) โดยเฉพาะข่าวที่เปิดโปงการใช้อำนาจไม่ซื่อของผู้ได้เปรียบในสังคม (เจ้าหน้าที่รัฐ, มหาเศรษฐี ฯลฯ) เพราะมันทำหน้าที่เป็นตุ้มถ่วงน้ำหนักให้สังคมยังดำเนินต่อไปได้ ประเภทที่สองคือข่าวที่ช่วยอธิบาย (Explainer) ให้ผู้ชมทั่วไปรับรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่งๆ อย่างรอบด้าน
โดเบลลีไม่ได้พร่ำสอนปากเปล่าเท่านั้น – เขายังเชื่อแนวคิดนี้และนำไปปฏิบัติเองด้วย ปัจจุบันเขาไม่อ่านข่าวมาแล้วเกือบสิบปี และเชื่อว่านั่นทำให้ความคิดของเขาสว่างกระจ่างใจมลมากขึ้น เหมือนร่างกายที่ไม่กินน้ำตาลหรืออาหารแปรรูป
เนื่องจาก Stop Reading The News เป็นหนังสือแบบเผยแพร่แนวคิด (Manifesto) มันจึงอาจ ‘สุดโต่ง’ ไปบ้างในบางประโยคและบางจังหวะ แต่ผมคิดว่ามันก็ทำหน้าที่เป็นหมุดยึดให้เรารักษาสมดุลในการเสพสื่อของตนเอง
ไม่ใช่แค่เราต้องเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณเท่านั้น แต่เราต้องตั้งคำถามกับปริมาณและชนิดของสารที่จะผ่านเข้าสมองด้วย เพราะแท้จริง บางเรื่อง บางข้อความก็ไม่ควรค่าแม้แต่จะผ่านตา ผ่านจิต ผ่านการคิดใดๆ และเป็นเพียงการสูญเปล่าของบิตและไบต์ในการเก็บและประมวลผล